รัสเซียเจอ ‘นิวเคลียร์เศรษฐกิจ’ ถูกตัดขาดระบบการเงิน-การค้าโลก ‘ราคาของสงคราม’ ที่โลกต้องจ่าย/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

รัสเซียเจอ ‘นิวเคลียร์เศรษฐกิจ’

ถูกตัดขาดระบบการเงิน-การค้าโลก

‘ราคาของสงคราม’ ที่โลกต้องจ่าย

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่คุกรุ่นในขณะนี้ ไม่เป็นเพียงแค่ความขัดแย้งระหว่างสองชาติที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาเท่านั้น

แต่ความรุนแรงยังลุกลามบานปลายจนผลักดันให้โลกเข้าใกล้สงครามใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจากวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาปี 2505

หากเทียบกันแล้วทั้งสองเหตุการณ์มีความคล้ายกันจนแทบจะเป็นหนังม้วนเดิม “คู่ขัดแย้งคู่เดิม” ต่างกันที่คราวนี้เรื่องเกิดในยูเครน จากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกในหลายมาตรการ ที่หนึ่งในนั้นคือ การตัดรัสเซียออกจากระบบสื่อสารระหว่างธนาคาร หรือ SWIFT เรียกว่าเป็นการโดดเดี่ยวรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก

โดยระบบ SWIFT มีการเชื่อมต่อระหว่างธนาคารต่างๆ กว่า 11,000 แห่ง มูลค่าธุรกรรมกว่าล้านล้านดอลลาร์

การตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT แทบไม่ต่างจากการ “ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์” โจมตีเศรษฐกิจของรัสเซียโดยตรง

 

หลังตะวันตกทิ้งบอมบ์เศรษฐกิจรัสเซีย “วลาดิมีร์ ปูติน” ใช้วีธีโต้กลับแบบ swift ซึ่งแปลว่า “ฉับพลันทันที” ด้วยการสั่งให้กองยุทธการด้านอาวุธนิวเคลียร์ เตรียมพร้อมสถานะ “ขั้นสูงสุด”

พูดง่ายๆ เมื่อชาติตะวันตกทิ้งนิวเคลียร์เศรษฐกิจรัสเซีย ผู้นำรัสเซียจึงขู่โต้กลับด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของจริง

การคว่ำบาตรนี้ทำให้รัสเซียชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 11 ถูกปิดกั้นทั้งจากระบบการเงินและการค้าของโลกทันที

เพราะระบบ SWIFT ถือเป็นกลไกสำคัญยิ่งของรัสเซีย ในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหนักเพราะขาดเม็ดเงินสนับสนุน เงินที่เคยไหลเข้าออกประเทศได้ง่ายๆ ก็ถูกปิดชะงักงัน

รัสเซียไม่เพียงเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ยังเป็นผู้ผลิตโลหะสำคัญอย่างนิกเกิล, อะลูมิเนียม และพาลาเดียม (ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์และอัญมณี) ทั้งยังเป็นผู้ผลิตโพแทช วัตถุดิบสำหรับผลิตปุ๋ยรายสำคัญ

นอกจากนั้น “รัสเซียและยูเครน” ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายสำคัญของโลก

ขณะที่รัสเซียอาจตอบโต้ด้วยการตัดการขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้กับชาติตะวันตก ซึ่งแม้จะทำร้ายเศรษฐกิจของตัวเองมากขึ้น แต่ก็จะส่งผลให้ราคาพลังงานโลกถีบตัวสูงขึ้น ซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งเรื้อรังอยู่แล้วจากผลกระทบของโควิด-19

เมื่อธนาคารรัสเซียถูกลอยแพจากระบบการเงินโลก ความโกลาหลเกิดขึ้นทันที ชาวรัสเซียจำนวนมากมาต่อคิวยาวเหยียดแห่ถอนเงินสดตามตู้เอทีเอ็มต่างๆ

ขณะที่ธนาคารกลางรัสเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายพรวดเดียวถึง 10.5% จากระดับ 9.5% สู่ระดับ 20% เพื่อรับมือต่อการทรุดตัวของค่าเงินรูเบิลและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากภาวะสงครามยูเครน และผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

และไม่เพียงแค่การประกาศขึ้นดอกเบี้ยเท่านั้น เพื่อประคองค่าเงินรูเบิล แบงก์ชาติรัสเซียยังสั่งให้ผู้ส่งออกรัสเซียต้องนำเงินรายได้เงินตราต่างประเทศอย่างน้อย 80% กลับเข้ามาถือครองรูเบิล รวมถึงการไม่เปิดตลาดหุ้นมอสโก เพื่อป้องกันไม่ให้คนขายหุ้นทิ้ง

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจยักษ์จากตะวันตกจำนวนมาก ประกาศถอนการลงทุนจากในรัสเซีย

ตั้งแต่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สองแห่งคือ BP ของอังกฤษ และ Shell ของเนเธอร์แลนด์ ประกาศจุดยืนถอนตัวจากอุตสาหกรรมพลังงานรัสเซียแล้ว โดย BP ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนกับบริษัทน้ำมัน Rosneft ของรัสเซียมานาน 30 ปี ประกาศถอนหุ้นจำนวน 19.75% ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 8 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม Rosneft ก็มีความสำคัญกับ BP เช่นกันเนื่องจากมีสัดส่วนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองของ BP เกือบ 1 ใน 3

ขณะที่บริษัท Shell ที่สะบั้นสัมพันธ์กับบริษัท Gazprom รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตก๊าซของรัสเซีย โดยประณามการรุกรานยูเครนว่าเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ Equinor ASA รัฐวิสาหกิจพลังงานของนอร์เวย์ เป็นอีกบริษัทที่เตรียมถอนการลงทุนมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ออกจากรัสเซีย

การคว่ำบาตรยังลามมาถึงวงการ “ฮอลลีวู้ด” เมื่อ Warner Bros. ประกาศยกเลิกฉายภาพยนตร์ “The Batman” ที่เตรียมเข้าฉายในสัปดาห์นี้ รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง Sonic the Hedgehog 2 ของพาราเมาท์ พิคเจอร์ส ที่มีกำหนดเปิดตัวทั่วโลกในวันที่ 8 เมษายนนี้

เช่นเดียวกับ Walt Disney เป็นอีกค่ายประกาศระงับให้บริการสตรีมมิ่งในรัสเซียชั่วคราว รวมถึง” โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ออกแถลงการณ์ว่า จะหยุดแผนการฉายภาพยนตร์ในรัสเซีย โดยรัสเซียถือเป็นตลาดสำคัญของอุตสาหกรรมฮอลลีวู้ด ซึ่งเมื่อปี 2564 ทำรายได้มากถึง 600 ล้านดอลลาร์ เกือบ 2 หมื่นล้านบาทในบ็อกซ์ออฟฟิศ ด้านสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอย่าง “เน็ตฟลิกซ์” ได้ตอบโต้ว่า จะไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับใหม่ของรัสเซียที่ให้สตรีมมิ่งช่องของรัฐบาลกลางรัสเซีย 20 ช่อง

ขณะที่ “เฟซบุ๊ก” ยักษ์โซเชียลมีเดีย ประกาศจำกัดการนำเสนอข่าวของสื่อทางการรัสเซีย ส่วนกูเกิลและยูทูบจำกัดไม่ให้สื่อทางการรัสเซียสามารถหารายได้จากโฆษณา

ไม่ต่างจากติ๊กต็อก (TikTok) ได้บล็อกสองสำนักข่าวรัสเซีย ซึ่งผู้ใช้ติ๊กต็อกในสหภาพยุโรปจะไม่สามารถเข้าถึงสำนักข่าวอาร์ทีหรือสปุตนิก ซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของเครมลินได้

ขณะที่เกิดความปั่นป่วนในระบบขนส่งเกิดขึ้นทันทีเมื่อ Google Pay และ Apple Pay ที่คนรัสเซียนิยมใช้จ่ายค่ารถไฟผ่านมือถือหยุดให้บริการทั้งหมด

กระแสบอยคอตยังลามถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ร่วมทุนกับรัสเซียอย่าง Daimler Truck Holding AG หนึ่งในผู้ผลิตรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ กล่าวว่า จะหยุดกิจกรรมทางธุรกิจในรัสเซียจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม และอาจทบทวนความสัมพันธ์กับ Kamaz PJSC ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในท้องถิ่น ด้าน Volvo Car AB ผู้ผลิตรถบรรทุกอีกรายประกาศว่าจะหยุดการขายและการผลิตในรัสเซีย ส่วนบริษัท General Motors ได้ระงับการจัดส่งรถยนต์ไปยังรัสเซีย

ไม่มีใครรู้ว่าสงครามรอบนี้จะจบลงเช่นไร แต่เท่าที่รู้ ดูเหมือนปูตินสะกดคำว่า “Globalization” ยังไม่เป็น แม้ปกครองรัสเซียมานานกว่า 2 ทศวรรษ ความเพ้อฝันหวังให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่เหมือนยุคโซเวียตอีกครั้ง สะท้อนความคิดล้าหลังของผู้นำ ที่ผลลัพธ์สุดท้าย ทั้งคนรัสเซียและคนยูเครนต่างต้องบอบช้ำ

 

ขณะที่โจทย์ใหญ่ที่ประชาชนและธุรกิจทั่วโลกต้องแบกรับคือต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 ปี โดยล่าสุด (2 มีนาคม) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ดีดทะลุ 107 เหรียญต่อบาร์เรล รวมถึงการขยับขึ้นของราคาก๊าซ และวัตถุดิบอีกหลายๆ ตัวที่กลายเป็นต้นทุนธุรกิจที่เข้ามาซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สำหรับประเทศไทยคงไม่ถูกผลกระทบตรงๆ แต่จะมีผลทางอ้อมค่อนข้างมาก 3 ทางหลักคือ

1) ผลกระทบเรื่อง “เงินเฟ้อ” ต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างใหญ่ที่จะซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของคนไทยให้ยิ่งหนักขึ้นไปอีก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน-โลหะสำคัญ รายใหญ่ของโลก

2) การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบกับยุโรปโดยตรง เพราะยุโรปต้องซื้อก๊าซจากรัสเซีย หากมีการปิดท่อส่งก๊าซ เศรษฐกิจยุโรปก็จะมีปัญหา ขณะที่ยุโรปเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ของไทย ส่วนส่งออกไทยไปรัสเซียไม่มาก แต่ก็คงทำให้ผู้ที่ส่งออกไปรัสเซียได้รับผลกระทบไปด้วย

3) จากความกังวลเกิดสงครามมีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงไปอยู่สินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน

ขณะที่ผลจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นก็จะมีผลกระทบลามไปอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่ง ราคาก๊าซหุงต้ม รวมถึงเงินเฟ้อของไทยก็ต้องพุ่งขึ้นด้วย รวมทั้งภาระรัฐบาลก็จะมากขึ้น จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคาพลังงานอยู่ราวเดือนละ 10,000 ล้านบาท หรือปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะรับมือไหวหรือไม่

และนี่คงเป็นราคาของสงครามที่ทั่วโลกต้องจ่าย