พรรครัฐบาลผนึกฝ่ายค้าน ทำ ‘พปชร.’ พ่ายศึก ชิง ปธ.กมธ.กม.ลูก ‘ธรรมนัส’ เขย่าซ้ำ ‘260 เสียง’ หนุนแค่ฝัน/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

พรรครัฐบาลผนึกฝ่ายค้าน

ทำ ‘พปชร.’ พ่ายศึก

ชิง ปธ.กมธ.กม.ลูก

‘ธรรมนัส’ เขย่าซ้ำ ‘260 เสียง’ หนุนแค่ฝัน

 

ที่ผ่านมาปรากฏรอยร้าวเล็กๆ อันเนื่องมาจากการทำงานที่ ‘หมุดหมาย’ ภายในรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ไม่สุดท้ายพอปิดห้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน ‘ผล’ ก็จบได้เสมอเพื่อเดินหน้าต่อร่วมกัน

แม้บางครั้ง ‘ผล’ ของบางเรื่องจะติดอยู่ในใจ แต่การเมืองคือการยอมถอยเพื่อเดินหน้าในบางครั้ง

ช่วงที่ผ่านมาภาพของรัฐบาลที่ปรากฏให้สังคมเห็นจึงเป็นการ ปิดห้องคุย แล้วออกมาเดินจับมือกัน พูดเหน็บกัน แล้วออกมาบอกรักกัน เป็นอยู่แบบนี้ตลอด

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมครั้งที่ผ่านมาก็เช่นกัน มีหลายเรื่องที่ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ เห็นไม่ตรงกัน แต่ผลสุดท้ายที่สรุปออกมาก็เป็นไปตามแนวทางที่พรรคใหญ่ฝ่ายรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

และแน่นอนไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจะติดใจกันอย่างไรก็ต้องยอมถอยเพื่อเดินหน้าต่อในการเป็นรัฐบาลร่วมกัน

แต่แผลในใจเก็บลึกรอวันปะทุ

และภาพความร้อนแรงก็มาปรากฏเอาในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง วาระแรก การลงมติตั้ง ‘ประธาน กมธ.’

 

ต้องย้อนความก่อนว่า ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมนัดแรกวาระการแต่งตั้งประธาน กมธ. และตำแหน่งอื่นๆ ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ‘ฝ่ายรัฐบาล’ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดหน้าดันชื่อ ‘นายไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นตัวเต็งในการชิงเก้าอี้หัวโต๊ะในการประชุมมาโดยตลอด

ขณะที่ ‘ฝ่ายค้าน’ นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ก็ได้ ‘ส่งสัญญาณ’ สะกิดเตือนให้ได้ยินเช่นกันว่า “ถ้าเขา (ฟากรัฐบาล) เสนอรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธาน กมธ. เรา (ฟากฝ่ายค้าน) อาจจะไม่คัดค้าน เพราะเป็นกติกามารยาททางการเมือง

แต่หากรัฐมนตรีไม่รับแล้วจะเสนอเป็นชื่อบุคคลอื่น ตรงนี้ก็อาจจะเป็นข้อพิจารณาที่เราจะเสนอแข่ง

บวกกับสัญญาณจากกุนซือมือ 1 ด้านกฎหมายของพรรคพี่ใหญ่ฝ่ายค้านอย่าง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. ในฐานะ กมธ. ก็มีสัญญาณเตือนในวันถัดมาติดๆ กันว่า “การเสนอชื่อบุคคลนั่งเป็นประธาน กมธ.เพื่อพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ได้พูดคุยกันนอกรอบในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาไปพอสมควร

เบื้องต้นรู้สึกแปลกใจว่า กมธ.ในซีกของรัฐบาลทำไมไม่มีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เป็นผู้เสนอร่างในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหากเป็นนายวิเชียร เข้าใจว่าจะสามารถทำหน้าที่ประธาน กมธ.ได้ดีและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายวิเชียรไม่ได้เป็น กมธ. และข่าวที่ปรากฏว่ามีการกำหนดตัวบุคคลเป็นประธานไว้แล้วจากซีกรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง โอกาสที่จะเป็นไปตามนั้นก็น่าจะมีมาก เพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากบวกกับเสียง ส.ว.ซึ่งมีอยู่ถึง 14 เสียง หากเป็นไปตามที่กล่าวมาก็หารือกันว่าอาจจะมีการลงแข่งประธาน กมธ. เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแสดงถึงจุดยืนบางอย่าง แม้จะรู้ว่าแข่งแล้วอาจจะแพ้ก็ตาม”

ถึงอย่างนั้น ชื่อของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ยังคงเป็นเต็งหนึ่งชื่อเดียวมาตลอด

จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 1 มีนาคม ที่จะมีการลงมติเลือกตั้งประธาน กมธ.

‘หมอชลน่าน’ ก็ยังส่งสัญญาณต่อเนื่องผ่านการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ว่า

“หากซีกรัฐบาลเสนอนายไพบูลย์ขึ้นมาเป็นประธาน กมธ. ทางพรรคฝ่ายค้านจะเสนอชื่อนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท.ลงไปแข่งขัน แต่หากมีผู้เสนอชื่อนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทางพรรคฝ่ายค้านก็จะสนับสนุน และขอให้ทุกพรรคช่วยกันสนับสนุนด้วย เพราะเป็นวิธีปฏิบัติที่ทำกันมาตลอด”

“แต่ถ้า ครม.ชุดนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐมนตรีที่ตัวเองแต่งตั้งมา แล้วเสนอคนอื่นมาเป็นประธาน เราไม่เห็นด้วย เพราะจะทำลายวิธีการปฏิบัติที่ควรจะเป็นและเป็นมาตลอด เราจึงเสนอชื่อคนอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมมาสู้กับคนที่เขาเสนอ”

 

เรื่องนี้มีกลิ่นแปลกๆ มาตั้งแต่วันที่มีการอภิปราย พ.ร.ป.ร่างสุดท้ายแล้ว โดยก่อนหน้า ฝั่งรัฐบาลมีชื่อนายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพปชร. และนายวิเชียรเป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ฟากรัฐบาล แต่มีปัญหากันเองในฝั่งพรรค พปชร. ทำให้นายสุรสิทธิ์ซึ่งเป็นคนสบายๆ ได้ถอนตัวไป

แหล่งข่าวใน กมธ.เล่าให้ฟังว่า การที่ฝ่ายค้านเทคะแนนให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็น กมธ.ในสัดส่วน ครม.นั้น เป็นจังหวะที่เกิดขึ้นรวดเร็วในช่วงเช้าก่อนจะมีการลงมติลับเพื่อโหวตเลือกประธาน กมธ.ไม่นาน ด้วยก่อนหน้านี้ทั้งคนจากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วน ไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายไพบูลย์เมื่อครั้งเป็นประธาน กมธ.พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เพราะนายไพบูลย์มักรวบรัดในขณะที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยไม่ยอมฟังข้อมูล หรือข้อคิดเห็นของ กมธ.ท่านอื่นเท่าใดนัก หากความเห็นดังกล่าวไม่ตรงกับเป้าที่ตนเองต้องการ

ก่อนการประชุมเพื่อลงมติจึงมีการจับกลุ่มพูดคุย ซึ่งฝั่งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยก็เสนอชื่อบุคคลอื่นแข่งออกมา ฝ่ายค้านเห็นว่า ตัวเองไม่ได้ไม่เสีย เพราะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่แล้ว และเห็นภาพฝ่ายรัฐบาลขัดแย้งกันเองในที จึงตกลงเอาด้วยว่าจะหนุนนายสาธิต

จากนั้นจึงได้มีการพยายามโทร.ติดต่อนายสาธิตว่าจะรับตำแหน่งประธาน กมธ.นี้หรือไม่ แรกๆ ติดต่อไม่ได้ อาจเพราะติดประชุม ครม. คนที่ประสงค์จะเสนอชื่อนายสาธิตสู้ก็ยังไม่ถอดใจ คนในที่ประชุมได้พยายามช่วยกันโทร.ติดต่อนายสาธิตหลายคนจนช่วงสายๆ จึงติดต่อได้

ซึ่งนายสาธิตให้คำตอบว่า แล้วแต่ที่ประชุม ถ้าที่ประชุมเสนอก็ไม่ถอนตัว

กระบวนการเสนอชื่อจึงเกิดขึ้น โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอชื่อนายไพบูลย์ ขณะที่นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอชื่อนายสาธิต และใช้วิธีการลงคะแนนเสียงแบบลับ ผลปรากฏนายสาธิตชนะนายไพบูลย์ไปด้วยคะแนน 22 ต่อ 21 จากนั้นฝ่ายเลขาฯ กมธ.ได้โทรศัพท์โฟนอินไปหานายสาธิตซึ่งประชุม ครม.อยู่ ว่าผลคะแนนการเลือกประธาน กมธ.นายสาธิตชนะจะรับหรือไม่

นายสาธิตตอบว่ารับ

 

เป็นอีกหนึ่งเกมการเมือง ที่ผู้มีอำนาจจากฝั่งรัฐบาลเสียเหลี่ยมให้กับกลเกมของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านผนึกกำลังกัน ชิงความได้เปรียบผ่านการประชุม กมธ.พิจารณากฎหมายลูก

จากภาพความขัดแย้ง และความหักหาญกันในทีของฟากรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้นึกไปถึงการให้สัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย ที่บอกว่า ฝันไปหรือเปล่า ที่จะมีตัวเลข 260 เสียงหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัยประชุมหน้า ดูท่าจะเป็นอย่างว่าจริงๆ

หากตัวนายกฯ และกลุ่มคนที่สนับสนุนใน พปชร. ยังไม่เดินหน้าแก้เกมและกระชับความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ปฏิกิริยาแรงๆ ที่พรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันสะท้อนผ่านการโหวตตัวประธาน กมธ.ลูกสำคัญ 2 ฉบับในครั้งนี้

น่าจะพอบอกความไม่มั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลให้เห็นได้ชัด จนสัมผัสได้แล้ว