รามเกียรติ์/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

รามเกียรติ์

 

รามเกียรติ์จะเล็กหรือใหญ่กว่าประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่าจะวัดกันด้วยวิธีไหน

อุดมการณ์ชาตินิยมแบบทหารซึ่งครอบงำสังคมไทยมานาน ผนวกเอาหลักการนามธรรมทุกอย่างเข้ามาอยู่ในอาณาเขตของชาติไทยหมด ถ้ายัดมันลงสู่ชาติไทยไม่ลง ก็บิดเบี้ยวมันให้ยัดลงไปให้ได้ เหตุดังนั้น เราจึงมี “ประชาธิปไตยแบบไทย” ซึ่งไม่เหมือนประชาธิปไตยที่ไหนในโลก มีสันติภาพแบบไทย มีการควบคุมฝูงชนตามหลักสากลแบบไทย และอะไรที่ “ไทยๆ” เต็มไปทั้งเมือง

แต่ถ้าเราอ่านรามเกียรติ์แบบแขก ซึ่งไทยโบราณก็รับหลักการนั้นมาใช้ด้วยในระดับหนึ่ง รามเกียรติ์เป็นเรื่องใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเปลี่ยนราชวงศ์ หรือเปลี่ยนราชธานีไปอย่างไรก็ตาม รามเกียรติ์หรือหลักการของรามเกียรติ์ต้องดำรงอยู่ตลอดไป ไม่อย่างนั้น อำนาจทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจกฎหมาย อำนาจที่มาจากกำลังอื่นๆ ทั้งหมด ก็ไร้ความหมายแก่ชีวิตของคนทั้งหมด จะอยู่ในซ่องโจรหรือในราชอาณาจักร ก็คุ้มกันความปลอดภัยให้ผู้คนได้เท่าๆ กัน

หลักการของรามเกียรติ์คือความแตกต่างระหว่างความดีและความชั่ว พระรามนั้นเป็นตัวแทนของความดี-ลูกที่ดี, ผัวที่ดี, แม่ทัพที่ดี, กษัตริย์ที่ดี-ในขณะที่ทศกัณฐ์เป็นตัวแทนของความชั่ว และชั่วไปเสียทุกสถานะ เมื่ออำนาจของความดีและความชั่วมาปะทะกัน อย่างไรเสียความดีก็ต้องได้ชัยชนะ เพราะนี่เป็นหลักการของพระเจ้า และด้วยเหตุดังนั้นพระเจ้าจึงมีหน้าที่ช่วยผดุงหลักการนี้ไว้ด้วยการลงมือกระทำด้วยพระองค์เองทีเดียว คืออวตารลงมาปราบปรามความชั่ว ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าสูงสุดเท่านั้น พระเจ้าชั้นรองๆ ก็ส่งกำลังลงมาช่วยกันเป็นทิวแถว

การอวตารลงมาเป็นมนุษย์หรือลิงค่างบ่างชะนีอะไรก็ตามนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อแสดงอานุภาพของพระเจ้า แต่เกิดขึ้นเพราะพระเจ้าทรงพระเมตตาทยาธิคุณต่อมนุษย์ สู้ลำบากลงมารับข้อจำกัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจตามธรรมชาติของมนุษย์ เพื่อเอาชนะความชั่วด้วยกำลังของความเป็นมนุษย์นั้นเอง (เพราะนั่งเป่ามนต์เพี่ยงเดียวลงมาจากสวรรค์เสียก็หมดเรื่อง) และวิธีเอาชนะความชั่วภายใต้ข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ก็คือ ความรุนแรง, การลงโทษ และการตกรางวัล

อย่างที่พระรามทำกับทศกัณฐ์และบริวาร และทำกับบริวารของพระรามเองเมื่อได้ชัยชนะแล้ว

พระรามจึง “ศักดิ์สิทธิ์” อย่างยิ่งในทัศนะของแขกและไทยโบราณ ไม่ใช่เพราะพระรามเป็นอวตารของพระเจ้าเพียงอย่างเดียว แต่เพราะพระรามเป็นหลักการนิรันดรที่ครอบงำมนุษย์ด้วย นั่นคือความดีที่ต้องอยู่เหนือความชั่ว และหลักการปกครองที่จะทำให้ความดีชนะความชั่วตลอดไป

นี่คือเหตุผลที่รามเกียรติ์ถูกสลักหินไว้ในศาสนสถาน, บนทับหลัง หรือเขียนเป็นภาพไว้รอบพระอุโบสถวัดพระแก้ว, ใช้ในนาฏกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ, อยู่เบื้องหลังความคิดของเครื่องราชกกุฏภัณฑ์ในหลายราชสำนัก

 

อันที่จริง ศีลธรรมของรามเกียรติ์ไม่ได้มีแต่หน้าที่ของคนข้างบนต่อคนข้างล่างเท่านั้น ยังมีศีลธรรมของคนข้างล่างที่ต้องมีต่อคนข้างบนด้วย และข้อนี้ถูกเน้นในรามเกียรติ์ไทยเสียยิ่งกว่าข้อแรกด้วยซ้ำ หน้าที่หรือธรรมของคนข้างล่างนั้น อาจสรุปได้ว่าคือความจงรักภักดี ที่ต้องซื่อสัตย์ต่อนาย, ตายแทนนาย, ทำงานที่นายสั่งอย่างอุทิศชีวิต ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ก็เกิดจากความจงรักภักดีอย่างบริสุทธิ์ใจ

และที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ ความจงรักภักดีที่รามเกียรติ์ยกย่อง ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนายเป็นคนดี ประพฤติตนถูกต้องตามศีลธรรมของนาย แต่เกิดขึ้นเพราะนายเกิดมาเป็นนาย ถึงจะประพฤติชั่วช้าดังเช่นทศกัณฐ์ ก็ต้องถวายความจงรักภักดีอยู่ตลอดไป ดังความภักดีของกุมภกรรณซึ่งแม้จะรู้ดีว่าพี่ชายหรือนายนั้นผิดเต็มประตู แต่ก็ต้องออกรบและยอมตายตามคำสั่งของนาย

ดังนั้น ฐานของความจงรักภักดีแบบรามเกียรติ์คือสถานภาพทางสังคม ซึ่งเน้นช่วงชั้นเป็นพิเศษ อำนาจไม่ได้มาจากศีลธรรมเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสถานภาพด้วย หลักความประพฤติที่เหมาะสมต่อช่วงชั้นที่แตกต่างกันนี่แหละ คือระเบียบทางสังคมที่ต้องรักษาไว้ผ่านวรรณกรรม, การแสดง, ภาพเขียน, ภาพสลัก ฯลฯ

 

กษัตริย์ไทยนั้นถ้าไม่เทียบตัวเองเป็นพระรามก็เป็นพระอินทร์ (พระอินทร์ทำหน้าที่ผดุงหลักความดีเหนือความชั่วอย่างเดียวกับพระราม เพียงแต่เป็นเทวดาในศาสนาพุทธเท่านั้น) เพราะทั้งสองพระเจ้า อาจใช้เป็นเครื่องหมายแห่งพระราชอำนาจได้เท่ากัน คือทรงอำนาจสูงสุดเพื่อผดุงความดีไว้เหนือความชั่ว และด้วยวิธีการแบบพระรามนั่นแหละคือความรุนแรง, ลงทัณฑ์ และรางวัล

(รัฐศาสตร์ไทยนั้นง่ายชิบเป๋ง และยังคงใช้สืบมาจนปัจจุบัน)

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า กษัตริย์ราชวงศ์หลังสุดของไทยเลือกจะเทียบตนเองเป็นพระราม (รามาธิบดี) นับตั้งแต่ ร.6 เป็นต้นมา ก็เป็นประเพณีที่จะอ้างถึงกษัตริย์ไทยในภาษาอังกฤษว่า Rama ที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ นักวิชาการท่านหนึ่งจึงถามโดยนัยะว่า เมื่อคุณประยุทธ์อ้างว่าตนเป็นพระรามนั้น หมายความว่าเป็น Rama กระนั้นหรือ?

ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นการอ่านรามเกียรติ์ที่เข้าถึงหลักการสำคัญเบื้องหลังท้องเรื่องหลัก ตามวิธีคิดของคนโบราณ จึงเหมาะที่จะถามผู้นำซึ่งอ้าง “อนุรักษนิยม” เป็นภารกิจหลักของตน แต่จะทำได้จริงหรือ เพราะยังไม่รู้ว่าจะอนุรักษ์อะไรเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมวลชนเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคมมากขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์ของรามเกียรติ์ก็เริ่มลดลงตามไปด้วย เพราะปรัชญาทางสังคมของรามเกียรติ์ไม่สอดคล้องกับสังคมแบบใหม่เช่นนั้นอีกต่อไป ผมไม่ทราบว่าโขนสดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร แต่โขนสดคือการแสดงรามเกียรติ์ที่ตัดความศักดิ์สิทธิ์ออกไปโดยสิ้นเชิง เหลือแต่ความบันเทิง เพราะตัวละครพูดได้เองนอก “บท” ที่ตายตัว โขนสดจึงอาจสื่อสารอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของผู้ชมแทนการตอกย้ำปรัชญาทางสังคมโบราณ

 

การ “อ่าน” รามเกียรติ์ให้ได้ความหมายมากกว่าหลักการทางศีลธรรมแห่งอำนาจ จึงเริ่มมาก่อนที่บทละครเรื่องรามเกียรติ์จะถูกนำเข้ามาในหลักสูตรการศึกษา

เขาเอาเรื่องรามเกียรติ์เข้าไปในหลักสูตรเด็กประถม-มัธยมทำไม ผมก็ไม่ทราบ เมื่อผมเป็นเด็ก ก็ต้องเรียนเรื่องท้าวมาลีวราชว่าความ ปัจจุบันนี้เด็กประถมเรียนตอนศึกไมยราพ ผมเข้าไปอ่านคู่มือการสอนซึ่งมีผู้เขียนหลายคนด้วยกันก็พบว่า ส่วนใหญ่ล้วนสรุปเนื้อเรื่องและที่มาที่ไปของเรื่องราวและบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ก็เป็นลักษณะเดียวกับที่ผมได้เรียนมา

วรรณกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรนำมาสอนเด็กแน่ เพราะเป็นหนึ่งในการสร้างสรรค์ที่มนุษย์ได้ทำมาแต่ดึกดำบรรพ์ และคงไม่มีอะไรที่กำหนดความคิดความรู้สึกของมนุษย์ได้แรงและแน่นไปกว่า “เรื่องเล่า”

การเรียนรู้เกี่ยวกับ “เรื่องเล่า” จึงมีอะไรมากกว่าการรู้เนื้อเรื่อง, ผู้แต่ง และสถานะของวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ แต่ต้องสร้างสมความสามารถในการวิเคราะห์ลงไปถึง “สาร” ที่แฝงอยู่ใน “เรื่องเล่า” ทั้งจากกลวิธีการเล่า ไปจนถึงเงื่อนไขทางสังคมที่ให้กำเนิด “เรื่องเล่า” นั้น และผลกระทบที่ “สาร” นั้นอาจมีต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ

และตรงนี้แหละครับที่ทำให้การเรียนรู้วรรณกรรมต้องมาพร้อมกับความคิดเชิงวิพากษ์ ไม่แต่เพียงรับรู้เรื่องราวเฉยๆ

 

บางคนอาจร้องว่า โอ้โห จะให้เด็กชั้นประถมเรียนถึงขั้นนี้เชียวหรือ ผมกลับคิดว่า เด็กประถมนั่นแหละที่เหมาะอย่างยิ่งจะได้รับการปลูกฝังความสามารถในการอ่านวรรณกรรม (หรือดูหนังดูละคร, ฟังเพลง, ดูขบวนแห่ ฯลฯ) เชิงวิพากษ์จนกลายเป็นนิสัยที่จะวิเคราะห์และวิจารณ์ “เรื่องเล่า” ทุกชนิดซึ่งตนจะต้องเผชิญตลอดชีวิตของตน เพราะเด็กในวัยนี้มีจินตนาการที่ถูกขวางกั้นน้อย อาจเชื่อมโยงอะไรที่ผู้ใหญ่เห็นว่าไม่เกี่ยวกันเลยให้เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้

แต่เขาสอนรามเกียรติ์แก่เด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับวรรณคดีประจำชาติ หรือเพื่อให้เด็กเรียนรู้วรรณกรรมอย่างเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเอง (active) ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้อย่างเซื่องๆ (passive) เท่านั้น

ในประสบการณ์ส่วนตัว ผมเห็นว่าเขาสอนอย่างแรกจนจบมหาวิทยาลัย ปัจจุบันอาจเปลี่ยนไปแล้ว แต่ผมไม่ทราบ แต่ถึงไม่เปลี่ยน พลังของสถาบันการศึกษาที่จะตรึงความหมายของ “เรื่องเล่า” ประจำชาติให้ดำรงอยู่อย่างเดิมก็เสื่อมลงไปมากแล้ว

เพราะการวิจารณ์ภาพยนตร์, ละครทีวี, วรรณกรรม และศิลปะที่ต้องใช้ภาษาต่างๆ ในสื่อสิ่งพิมพ์และในสื่อโซเชียล ได้ให้การศึกษาแก่สังคมไทยในแนวทางที่รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ด้วย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่เข้าถึงสื่อเหล่านี้มาก

 

ในขณะที่คุณประยุทธ์และนักการเมืองแวดล้อม คิดว่าตัวเป็นพระราม เพราะอยากจะแผลงศรให้ศัตรูของตนราพณาสูรไปหมด อีกคนคิดว่าตนเป็นพิเภก เพราะรู้อดีตและอนาคตดีหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ อีกคนคิดว่าตนเป็นสีดา คงเพราะเป็นที่แย่งชิงของทุกฝ่าย ผู้สูงอายุเหล่านี้ต่างแสดงให้เห็นว่าเขารู้เรื่องราวของ “เรื่องเล่า” รามเกียรติ์อย่างดี แต่คนรุ่นใหม่กลับสามารถวิพากษ์และให้ความหมายใหม่แก่ “เรื่องเล่า” เดียวกันนี้อย่างแหลมคม

ผมตื่นตะลึงและประทับใจอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มหญิงสาวที่อาศัยหลักการของสตรีนิยม แสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เรื่อง “สีดาลุยไฟ” กลางถนน ช่างน่าตื่นตะลึงว่าพวกเขาคิดได้อย่างไร ใช่เลยหากมองรามเกียรติ์จากสายตาสตรีนิยม รามเกียรติ์คือ “เรื่องเล่า” เพื่อกดขี่ทางเพศอย่างชัดเจน

เปลี่ยนมุมเพื่อจะมอง “เรื่องเล่า” ทุกเรื่อง สู่มุมที่ผู้แต่งไม่ได้วางไว้ให้ เราก็จะได้เห็นอีกความหมายหนึ่งซึ่งผู้แต่งมองไม่เห็น จากศีลธรรมทางเพศที่ขาดความเป็นธรรม “เรื่องเล่า” เดียวกันนี้กลับบันดาลใจให้เรารับและสร้างมาตรฐานใหม่ทางศีลธรรมสำหรับชีวิตของเราในโลกปัจจุบัน คุณค่าของวรรณกรรมอยู่ตรงนี้ หากวรรณกรรมใดทำได้แต่เพียงตอกย้ำศีลธรรมแห่งยุคสมัยของตนอย่างตายทื่อ มันก็เป็นเพียงวรรณกรรมที่ตายไปแล้ว และไม่รู้ว่าจะเรียนมันไปทำไม

เด็กเรียนรู้จากวรรณกรรมได้มากกว่าเรื่องราวหรือนิทานของ “เรื่องเล่า” ได้มาก เช่น จากแง่มุม “ความเป็นธรรม” เพียงเรื่องเดียว เด็กย่อมมีความรู้สึกอ่อนไหวและแหลมคมกับเรื่องความเป็นธรรม มากกว่าผู้ใหญ่ที่ชินชาตายด้านกับความอยุติธรรมมาตลอดชีวิต ชวนให้เด็กมองรามเกียรติ์จากมุมนี้มุมเดียว ชั้นเรียนจะสร้างความมั่งคั่งแก่รามเกียรติ์ได้มากกว่านั่งดูโขนทุกวัน และไม่เฉพาะความไม่เป็นธรรมทางเพศเท่านั้นที่จะโผล่ขึ้นมาให้เห็น แต่ความไม่เป็นธรรมด้านอื่นๆ อีกมากก็จะปรากฏขึ้นมาด้วย

คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสนอรามเกียรติ์จากอีกมุมหนึ่งมานานก่อนที่คุณประยุทธ์จะอ้างตัวเป็นพระรามในสภา นั่นคือมุมทางชนชั้น หากมองสงครามในรามเกียรติ์จากมุมชนชั้น รามเกียรติ์คือเรื่องราวของความได้เปรียบนานัปการของชนชั้นสูง ที่กดขี่ปราบปรามชนชั้นล่าง กองทัพพระรามนั้นเต็มไปด้วยเทวดาซึ่งอวตารลงมาเกิด หรือเพาะลูกหลานลงมาช่วยพระรามปราบชนชั้นล่าง ดังนั้น จึงเต็มไปด้วยนายทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์และอภิสิทธิ์ ในขณะที่ฝ่ายทศกัณฐ์ซึ่งประกอบด้วยคนธรรมดา ถึงบางคนจะมีอิทธิฤทธิ์ แต่ก็มีช่องโหว่ในอิทธิฤทธิ์นั้นให้ฝ่ายผู้ดีใช้ประโยชน์ในการฆ่าฟันได้ ซ้ำร้ายยังมีพิเภกซึ่งในที่สุดก็แย่งราชสมบัติจากพี่ชายได้ด้วยข้ออ้างทางศีลธรรม

ยังไม่พูดถึง “ศีลธรรม” ที่บ่อนทำลายพลังของขุนพลฝ่ายทศกัณฐ์เช่นกุมภกรรณให้ต้องแพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้ว (และทำให้สงสัยได้ว่าศีลธรรมเป็น “กลาง” จริงหรือ ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมสมัยนั้นหรือสมัยนี้)

อ่านรามเกียรติ์โดยขาดมุมมองเชิงวิพากษ์เสร็จ ก็ต้องยอมรับว่า เพราะชนชั้นสูงมีศีลธรรมสูงส่ง จึงจำเป็นต้องมีอำนาจเพื่อควบคุมให้โลกสงบสุขด้วยการปราบปรามชนชั้นล่างให้สยบยอมตลอดไป

ความคิดเชิงวิพากษ์นั่นแหละคือสิบหน้ายี่สิบมือ ที่ทำให้ไพร่สามารถต่อสู้ได้หลายชั้นหลายเชิง เกิดอำนาจในการจัดการกับ “เรื่องเล่า” ที่ชนชั้นสูงแต่งขึ้นได้หลากหลายวิธี จนชนชั้นสูงตามไม่ทัน และนี่คือเหตุผลที่พวกเขาจำเป็นต้องทำให้ “เรื่องเล่า” ของเขาเหลือแต่เพียงเรื่องราวหรือนิทาน และศีลธรรมแบบของเขาที่แฝงอยู่ในนิทานเท่านั้น