สงครามของปูติน! รัสเซียกับวิกฤตยูเครน | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ประเทศเล็กตามแนวชายแดนของรัสเซียไม่ได้ถูกมองว่าเป็นมิตรที่มีศักยภาพ แต่ถูกมองว่าเป็นหัวหาดที่มีศักยภาพสำหรับข้าศึก [ในการบุกรัสเซีย]”

Stephen Kotkin (2016)

ทั่วโลกในวันนี้ดูจะจดจ่ออย่างยิ่งกับคำถามสำคัญว่า “รัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่?”

แน่นอนว่า คำถามเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามแนวพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นความกังวลอย่างมากในเวทีระหว่างประเทศ เพราะความตึงเครียดดังกล่าวอาจนำไปสู่สถานการณ์ “สงครามใหญ่” ได้อีกด้วย

ความกังวลระหว่างประเทศเป็นผลโดยตรงจากการที่กองทัพรัสเซียได้เคลื่อนกำลังรบขนาดใหญ่เข้าประชิดชายแดนยูเครน อีกทั้งท่าทีของรัสเซียดูจะห่างไกลจากการใช้เครื่องมือทางการทูตในการแก้ปัญหา และยังไม่มีท่าทีที่จะลดทอนความตึงเครียดทางทหารที่เกิดตามแนวพรมแดนนี้แต่อย่างใด

แม้รัฐบาลรัสเซียพยายามยืนยันว่า รัฐบาลรัสเซียไม่มีแผนที่จะเปิดการรุกทางทหารเข้าสู่พื้นที่ของยูเครน

แต่คำยืนยันนี้ดูจะไม่ช่วยคลายความกังวลในเวทีการเมืองโลกเท่าใดนัก เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าโอกาสที่รัสเซียจะตัดสินใจสุดท้ายด้วยการใช้กำลังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากประธานาธิบดีปูตินมองว่าโอกาสของรัสเซียมาถึงแล้ว

อีกทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรปในปัจจุบันไม่ได้เข้มแข็งในทางการเมือง มากพอที่จะเป็นปัจจัยในการ “ป้องปราม” ต่อพฤติกรรมเชิงรุกของรัสเซียได้จริง

ดังจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ รัสเซียเองเคยเปิดการรุกทางทหารเพื่อดึงเอาไครเมียซึ่งเป็นดินแดนของยูเครน กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของตนในปี 2014 มาแล้ว โดยที่ฝ่ายตะวันตกไม่สามารถจะทัดทานรัสเซียในการเข้าควบคุมไครเมียได้แต่อย่างใด

เคลื่อนกำลังรบ!

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปรากฏชัดว่ากำลังรบของรัสเซียทั้งทหารราบและรถถังจาก “พื้นที่เขตการทหารด้านตะวันออก” (EMD) ได้เคลื่อนย้ายไปทางตะวันตก พร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ขนส่งและโจมตีพร้อมกับหน่วยสนับสนุนทางทหารได้เข้าสู่พื้นที่วางกำลัง รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งถือเป็นสัญญาณของการเตรียมเปิดสงครามใหญ่

แต่รัสเซียก็อ้างว่าการเคลื่อนย้ายกำลังรบดังกล่าวเป็นไปเพื่อการซ้อมรบร่วมกับเบลารุส และการซ้อมรบนี้จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งการเตรียมกำลังดังกล่าวทำให้รัสเซียสามารถวางกำลังใกล้กับแนวชายแดนด้านตะวันออกเฉียงใต้และด้านใต้ของพรมแดนยูเครนได้อย่างเต็มที่

หรือก่อนหน้านี้มีข่าวดีว่ารัสเซียได้ถอนกำลังบางส่วนออกไป แต่นักการทหารหลายคนเชื่อว่า การถอนกำลังนี้เป็นการจัดวางกำลังใหม่ (repositioning) เพื่อรอปฏิบัติการใหญ่

ในมุมมองของผู้นำรัสเซีย การเปิด “การรุก” ทั้งทางทหารต่อยูเครนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐและโลกตะวันตกไม่ตอบรับกับความกังวลของรัสเซีย ที่มีมุมมองมาโดยตลอดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นว่า การขยายสมาชิกขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ไปสู่พื้นที่ที่เคยเป็นเขตอิทธิพลเดิมของสหภาพโซเวียตรัสเซียในยุคสงครามเย็นนั้น รัฐบาลมอสโคถือเป็น “ภัยคุกคามสำคัญ” ต่อความมั่นคงของตน

ดังนั้น การวางกำลังตามแนวชายแดนยูเครน ตลอดรวมถึงการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงในเบลารุส ทั้งการวางกำลังรบทางเรือในทะเลดำ จึงเป็นเสมือนการส่ง “คำเตือนใหญ่” ให้แก่ฝ่ายตะวันตก

นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า ประธานาธิบดีปูตินมองด้วยความ “แว่นตาความมั่นคง” ว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 และการสิ้นสุดของสงครามเย็นนั้น ไม่เพียงทำให้ความยิ่งใหญ่ในทางการเมืองของรัสเซียถูกทำลายลงเท่านั้น หากยังนำไปสู่การสูญเสียบูรณภาพแห่งดินแดน และการแตกตัวออกของพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุม

และรัฐที่แยกตัวออกเหล่านี้มีท่าทีตอบรับที่จะอยู่กับระบบพันธมิตรของฝ่ายตะวันตก จนกลายเป็นการเปิดโอกาสให้อิทธิพลของตะวันตกขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอิทธิพลของสหรัฐรุกเข้าประชิดแนวพรมแดนหลักของรัสเซีย

ซึ่งหากรัสเซียไม่ตอบโต้แล้ว ดินแดนดังกล่าวอาจกลายเป็น “พื้นที่ส่วนหน้า” ของฝ่ายตะวันตกที่จะรุกเข้าประชิดรัสเซียในอนาคต

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตจึงกลายเป็น “ปัจจัยด้านจิตวิทยา” ที่ผู้นำรัสเซียจะต้องพยายามรื้อฟื้นสถานะเดิมให้กลับคืนมาให้ได้ในโลกปัจจุบัน ยิ่งผนวกเข้ากับมุมมองส่วนตัวของประธานาธิบดีปูติน ที่มีทิศทางไปในแบบ “นักชาตินิยมต่อต้านตะวันตก” ด้วยแล้ว ก็เท่ากับเป็นเงื่อนไขในตัวเองที่รัสเซียจะต้องหันกลับมาสู่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะต้องขยายอำนาจไปสู่การควบคุมดินแดนเหล่านี้ให้ได้

มิฉะนั้นแล้วรัสเซียที่แม้จะเป็นประเทศใหญ่ในทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่กลับไม่ได้ถูกมองว่าเป็นประเทศใหญ่ ทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับในความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในอดีตของยุคสงครามเย็น

ดังนั้น ภายใต้มุมมองด้านความมั่นคง ผู้นำรัสเซียจึงเชื่อว่าสถานะและความอยู่รอดของประเทศนั้น ด้านหนึ่งจึงหมายถึงการแข่งขันที่รัสเซียจะต้องอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับโลกตะวันตก

และอีกด้านหมายถึงการผลักดันอิทธิพลตะวันตกให้ห่างจากแนวชายแดนของรัสเซีย

หรือโดยนัยคือการต้องเข้าควบคุมพื้นที่ของรัฐเล็กๆ ตามแนวชายแดนของตนเพื่อไม่ให้กลายเป็น “หัวหาด” ในการเข้าตีของข้าศึก

และเป็น “ความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” เช่นที่รัสเซียเคยเผชิญกับภัยคุกคามทางบกมาแล้วในประวัติศาสตร์ คือการบุกของฝรั่งเศสในยุคนโปเลียน และการบุกของเยอรมนีในยุคของฮิตเลอร์

ด้วยมุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ จึงทำให้รัสเซียไม่สามารถปล่อยให้ยูเครนกลายเป็น “รัฐอิสระ” ที่ตอบรับในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับฝ่ายตะวันตก ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางทหารที่ประชิดแนวพรมแดนยูเครนจึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงความต้องการด้านความมั่นคงของรัสเซียนั่นเอง

ฉากทัศน์สงคราม

การเคลื่อนกำลังทางทหารขนาดใหญ่ของรัสเซียเป็นปรากฏการณ์ที่เราแทบไม่เคยมาก่อน จนต้องถือว่าเป็นการเคลื่อนกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซียนับตั้งแต่การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา ภาวะเช่นนี้ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประมาณการว่า รัสเซียอาจจะเปิดการรุกทางทหารแบบใดแบบหนึ่งในไม่ช้า ซึ่งโอกาสที่จะเกิดสงครามมีความเป็นไปได้อย่างมาก

ถ้าเกิดการรบระหว่างรัสเซียกับยูเครน เราอาจทดลองวาด “ฉากทัศน์สงคราม” ได้ใน 3 แบบ ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 : การทูตแบบใช้กำลังบังคับ (coercive diplomacy)

รัสเซียใช้มาตรการทางการเมืองเพื่อผนวกพื้นที่ของยูเครนที่เคยถูกกำลังรบของรัสเซียรุกเข้ายึดแต่เดิมอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะพื้นที่ดอนบาสทางด้านตะวันออกของยูเครน จะมีการประกาศรับรองพื้นที่ที่ถูกผนวกโดยสภาดูมาของรัสเซีย

แต่ในฉากทัศน์นี้ รัฐบาลรัสเซียจะไม่เปิดการรุกทางทหารมากเกินไป จนอาจกลายเป็นเงื่อนไขของสงครามใหญ่

และการดำเนินการเช่นนี้เปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถครอบครองพื้นที่บางส่วนของยูเครนได้อย่างถูกต้อง

อีกทั้งทำให้รัสเซียสามารถสร้างแรงกดดันต่อยูเครนได้โดยตรงอีกด้วย

กล่าวคือ จะเป็นโอกาสที่เปิดให้รัสเซียมีช่องทางในการแทรกแซงทางการเมืองกับยูเครนได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้รัสเซียหลีกเลี่ยงการยกระดับความขัดแย้ง และได้รับผลตอบแทนในการผนวกดินแดนบางส่วน แต่อาจจะไม่ได้มากอย่างที่คิด

ฉากทัศน์ที่ 2 : ปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารอย่างจำกัด (limited military-offensive operations)

รัสเซียเปิดปฏิบัติการด้วยการใช้กำลังรบทางบกและทางอากาศอย่างจำกัด โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การผนวกดินแดนบางส่วนของยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการเข้ายึดครองเมืองท่าและเมืองหลักบางเมืองของยูเครน

และหากมีโอกาส รัสเซียอาจขยายพื้นที่การรุกทางทหารมากขึ้น อันจะทำให้รัสเซียสามารถเปิดการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ของรัสเซียกับไครเมียได้โดยตรง

ซึ่งในฉากทัศน์เช่นนี้ อาจมีการสู้รบใหญ่ระหว่างกองทัพยูเครนกับกองทัพรัสเซีย และส่งผลโดยตรงให้ยูเครนอ่อนแอลงอย่างมากในอนาคต

แต่ก็มิได้หมายความว่ายูเครนจะกลายเป็นประเทศตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า สงครามต่อต้านรัสเซียในยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไป

ฉากทัศน์ที่ 3 : ปฏิบัติการเชิงรุกทางทหารเต็มรูปแบบ (full military-offensive operations)

รัสเซียตัดสินใจเปิดปฏิบัติการใหญ่ทางทหาร อันมีนัยถึงสงครามตามแบบขนาดใหญ่ ที่รัสเซียต้องใช้กำลังรบตามแบบ ทั้งกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อเปิดการโจมตีทางทหารต่อยูเครนทั้งหมด ในฉากทัศน์นี้ กำลังทหารของรัสเซียจะต้องรุกเข้ายึดเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เพื่อทำลายรัฐบาลเดิม

แน่นอนว่าตัวแบบนี้ย่อมหมายถึงการสู้รบขนาดใหญ่ในพื้นที่ของยูเครน และอาจขยายไปสู่ “สงครามกองโจร” ของชาวยูเครน เพื่อต่อต้านการยึดครองของรัสเซีย

สงครามที่เกิดอาจนำไปสู่การสูญเสียขนาดใหญ่ของรัสเซียด้วยเช่นกัน

ในฉากนี้ กองทัพรัสเซียอาจจะประสบความสำเร็จในการยึดครองพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของยูเครน ตลอดรวมถึงการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา กระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล และโรงงานอุตสาหกรรมอาวุธของยูเครน

ทั้งยังอาจขยายสงครามด้วยการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเป้าหมายสำคัญ อันจะส่งผลให้รัฐบาลยูเครนกลายเป็น “อัมพาต” และประเทศกลายเป็น “รัฐล้มเหลว”

ซึ่งภาวะเช่นนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขในตัวเองให้รัสเซียสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการแทรกแซงเพื่อรักษาความสงบภายในยูเครนได้โดยตรง

หมอกควันแห่งสงคราม

ไม่ว่ารัสเซียจะดำเนินการด้วย “การรุกทางการทูต” หรือใช้มาตรการทางทหารในแบบ “สงครามจำกัด” หรือในแบบ “สงครามเต็มรูป” ก็ตาม

ปัญหาสำคัญคือท่าทีในการตอบโต้ของสหรัฐและพันธมิตรยุโรปในกรอบของเนโต้จะเป็นเช่นไร

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภาอเมริกันได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการสนับสนุนรัฐบาลยูเครน และมาตรการที่ชัดเจนที่สหรัฐและฝ่ายตะวันตกจะใช้ในการกดดันรัฐบาลมอสโกคือ การ “แซงก์ชั่น” อันเป็นเครื่องมือหลักที่จะนำมาใช้ด้วยความคาดหวังให้รัฐเป้าหมายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางการเมือง แต่ก็ไม่อาจคาดคะเนได้ว่า การแซงชั่นจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของรัสเซียได้จริง

แต่รัสเซียก็อาจตอบโต้ด้วยการตัดการส่งพลังงานให้แก่ยุโรป และส่งผลให้วิกฤตพลังงานของยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สหรัฐต้องหันกลับมาให้ความช่วยเหลือทางด้านพลังงาน เพื่อลดแรงกดดันจากรัสเซีย เพราะความขาดแคลนพลังงานจะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐยุโรปเสมอ

สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครคาดเดาการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินต่อปัญหายูเครนครั้งนี้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่อาจต้องเตรียมรับในอนาคตคือ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตการณ์ยูเครน อาจนำไปสู่การเกิดสงครามเต็มรูป และอาจนำไปสู่การทะลักของผู้อพยพเป็นจำนวนมากเข้าสู่ยุโรป ภาวะเช่นนี้จะเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง…

การเมืองโลกวันนี้เปราะบางอย่างยิ่ง!