สมหมาย ปาริจฉัตต์ : มหาวิทยาลัยวัฒนธรรม (4)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รุ่งอรุณวันใหม่ในฮานอยบรรยากาศสดชื่น วิถีชีวิตผู้คนพี่น้องชาวเวียดตื่นแต่เช้ารีบมุ่งหน้าไปทำงาน ถนนหน้าโรงแรมเต็มไปด้วยยวดยานนานาชนิด มอเตอร์ไซค์วิ่งต่อกันเป็นแถวยาวเหยียดแต่ก็ไม่ชนท้ายกัน นานๆ จะมีจักรยานผ่านมาสักคัน

คนนำทางบอกว่า เพราะต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตัว มุ่งและมองไปข้างหน้าลูกเดียว พุ่งตรงไป ไม่ต้องระวังหลังเพราะคันหลังจะรับผิดชอบเอง อย่าไปคิดแทนคนอื่น

ชนกันเมื่อไหร่ไม่ให้เจรจาต่อรองกันเอง รอตำรวจอย่างเดียว ในเมืองจำกัดความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่างจังหวัดไม่เกิน 40 กิโลเมตร รถโดยสารก็เหมือนกัน มิน่าเล่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนในเวียดนามถึงต่ำมาก

ส่วนเด็กแว้น เด็กซิ่ง ฝ่าฝืนกฎหมายถูกจับเมื่อไหร่ใช้มาตรการยึดรถเลยไม่คืน ทำให้เข็ดเขี้ยว

บัสวิ่งผ่านเสาตอม่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายแรกสร้างเสร็จแล้วจะเปิดวิ่งในอีก 2 เดือนข้างหน้า เส้นที่ 2 กำลังสร้างต่อจะเสร็จภายใน 1 ปี รถไปต่อผ่านเข้าถนนสายเฟอร์นิเจอร์ได้ไม่นาน เลี้ยวขวาจอดหน้าอาคาร HANOI UNIVERSITY OF CULTURE รูปปั้นปัญญาชนคนสำคัญกับลุงโฮตั้งเตือนใจให้รำลึกถึงคุณูปการของคนรุ่นก่อนที่ทุ่มเทเสียสละสร้างชาติให้อยู่รอดและพัฒนามาถึงวันนี้


ผศ. Dr. DINH THI VAN CHI กับ Dr. NGUYEN THI VIET HUONG 2 รองอธิการบดีหญิงยืนรอต้อนรับ บอกว่า อธิการบดีติดประชุมที่กระทรวงวัฒนธรรม ในห้องประชุมทีมคณบดี หัวหน้าฝ่ายนักศึกษา ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายทะเบียน รอร่วมสนทนาอยู่แล้วเป็นวงใหญ่

มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่แห่งหนึ่งในฮานอย สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งมาแล้ว 57 ปี จัดการศึกษาและกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม พัฒนาจนเป็นอันดับหนึ่ง ผลิตบัณฑิตกระจายออกไปงานทำงานด้านวัฒนธรรมทั่วประเทศ

จัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก ปริญญาตรี 10 สาขา 1.บริหารศิลปะ 2.ข้อมูลสารสนเทศ 3.ผลิตวารสาร 4.วัฒนธรรมชนเผ่า 5.การข่าวการเขียนข่าว 6.การท่องเที่ยว 7.ครอบครัวกิจกรรมสังคม 8.วิเทศสัมพันธ์ 9.วัฒนธรรมศึกษา 10.มรดกทางวัฒนธรรม ระดับปริญญาโท เอก เปิด 3 สาขาวิชา 1.บริหารวัฒนธรรม 2.วัฒนธรรมศึกษา 3.สารสนเทศ

โครงสร้างหลักสูตร สาขาหลากหลายเป็นทางเลือกให้นักศึกษาที่ชอบและถนัดทางไหนลงเรียนตามนั้น มุ่งสาระด้านศิลปวัฒนธรรมทำนองมหาวิทยาลัยศิลปากรของเรา แต่ผสมผสานสาขานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ มนุษยศาสตร์ จัดการการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย

รองอธิการบดี บอกว่า มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศในอาเซียนหลายแห่ง รวมทั้งประเทศไทยรับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาสอน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำลังจะทำความตกลงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ส่งคณะมาคราวนี้ นักศึกษา คณาจารย์จากต่างประเทศที่มาเรียนและแลกเปลี่ยนได้แก่ จีน เกาหลี ลาว กัมพูชา ที่ผ่านมาเปิดคณะใหม่วัฒนธรรมชนเผ่า

และต่อไปจะเปิดสาขาวัฒนธรรมไทย ร่วมมือจัดการเรียนการสอนระหว่างสองสถาบัน

 

การสนทนาดำเนินไปอย่างคึกคัก รศ.ดร.เหวิน อธิการบดี เสร็จภารกิจจากกระทรวงวัฒนธรรมรีบกลับเข้ามาทักทายทุกคน

“ผมเคยไปเยือนราชภัฏอุดรฯ อนุสรณ์สถานลุงโฮ ได้ฟังนักศึกษาแสดงความคิดเห็นต่างๆ ประทับใจมาก จะมีการลงนามข้อตกลงกับราชภัฏอุดรฯ หลังจากหารือประเด็นสำคัญๆ เราทำจริงทุกด้าน จัดการศึกษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้า” เขาย้ำ ก่อนชักชวนให้คณะผู้มาเยือนเสนอความเห็น

หลังรับข้อเสนอความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี ไอที รองอธิการบดีด้านวิชาการกล่าวตอบ “มหาวิทยาลัยมีความสนใจหลายสาขา ไอทีก็คือสารสนเทศกับทักษะคอมพิวเตอร์ เราบริหารจัดการสารสนเทศมากกว่า คอมพิวเตอร์เบื้องต้นก็สำคัญ หากไม่มีพื้นฐานไม่สามารถจัดการสารสนเทศได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะครู อาจารย์ ที่ยังไม่เชี่ยวชาญ” คำตอบสะท้อนถึงมุมคิดให้ความสำคัญกับการจัดการเนื้อหาสาระเป็นหลัก

ดร.วนิช ไชยแสง คณบดีด้านวิทยาการจัดการ เสนอความร่วมมือการจัดการเรียนการสอน ฝึกอบรมด้านท่องเที่ยว โรงแรม มีความสนใจแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ เราสนใจวัฒนธรรมอาเซียนมีนักศึกษาหลายร้อยคน ควรทำความตกลงร่วมมือต่อไป

คณบดีคณะบริหารวัฒนธรรม ตอบ “วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศเป็นสมรภูมิทางเศรษฐกิจ อนาคตธุรกิจท่องเที่ยวยิ่งพัฒนา การแลกเปลี่ยนทุกด้านรวมถึงเรื่องราววัฒนธรรม ประเพณีของชนเผ่าในไทย เวียดนาม”


ผศ.วงค์วีระ วรรณพงศ์ รองอธิการบดี ยกมือขอคิวต่อ “โซเชียลเน็ตเวิร์กมีปัญหา นักศึกษา วัยรุ่น ส่งผลกระทบถึงวัฒนธรรม มีแนวทางจัดการอย่างไร

อธิการบดีขอตอบเอง “อินเตอร์เน็ตส่งผลทั้งแง่ดี แง่ไม่ดี นำพาให้วัยรุ่นปฏิบัติ เรากำลังกั้นขวางสิ่งที่ไม่ดี โรงเรียน มหาวิทยาลัยกำลังปวดหัว กระวนกระวายมาก เป็นปัญหาเกิดขึ้นทั่วโลก ครู อาจารย์ กำลังทำทุกอย่างเกี่ยวกับอนาคต เรากำลังมีบทบาทตอบตัวเองเพื่อให้เด็กมุ่งหน้าไปในสิ่งที่ดีๆ วัยรุ่นรับง่าย ผมเป็นพ่อ เป็นผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกับผู้ปกครอง อินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ก เป็นประเด็นสำคัญทำให้เรามาเจอกัน ต้องร่วมมือกัน สัมมนากันสักวันหนึ่ง”

ศ.ไพฑูรย์ ศรีแสงนาม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ม.ราชภัฏอุดรฯ ยกไมค์ “โลกาภิวัตน์ กระแสตะวันตกมุ่งมาทางตะวันออก เวียดนาม ไทย น่าเป็นห่วงวัฒนธรรมบริโภค จั๊งก์ฟู้ด เด็กไทยเริ่มอ้วนมากกว่าปกติ เป็นกระแสแฟชั่น การแต่งกาย แต่งผมระบาดมาในโรงเรียนตั้งรับลำบาก เวียดนามทำอย่างไร”

ได้ยินคำถามนี้ ผมนึกถึงคำพูดที่เคยได้ฟังหลายปีก่อน มาเวียดนามหากพบ 4 อย่างในวันเดียวกันถือว่าโชคดี คนท้อง คนอ้วน สุนัขจรจัด และกะเทย กลับมาเที่ยวนี้ได้เห็นทั้งสามอย่าง เหลืออย่างสุดท้ายที่ไม่พบ สะท้อนถึงความร่ำรวย ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ก่อนฟังท่านอธิการบดีตอบ “ปัญหาที่กล่าวมาเป็นเรื่องสำคัญต้องหาทางแก้ร่วมกันภายใต้ 1.ข้อมูลที่ตกลงกันแล้วยังไม่ยุติในรายละเอียด 2.อินเตอร์เน็ต ปัญหาการสื่อสารของวัยรุ่น มหาวิทยาลัยสนใจเป็นอันมาก หากประชุมร่วมกันจะมอบหน้าที่ให้ฝ่ายแลกเปลี่ยนสื่อสารให้ชัดเจนต่อไป จะทำข้อตกลงความร่วมมือสิ้นปีต้องสำเร็จ ฉลองใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอยจะก้าวหน้ายิ่งขึ้น”

เสียงปรบมือดังต่อเนื่องทั่วห้องประชุม ก่อนลุกขึ้นเดินจับมือแสดงความยินดีกับสายสัมพันธ์ที่จะก้าวสู่การลงนามข้อตกลงทางการต่อไป

 

หลังฝ่ายไทยเดินทางกลับมาไม่นาน ในงานครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม วันที่ 17-18 สิงหาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมฮานอย นำโดย ดร.เหวิน อธิการบดียกทีมมาร่วมงานและลงนามความตกลงร่วมมือ ท่ามกลางแขกเหรื่อทั้งไทยและเวียดนามคับคั่ง

เพื่อดำเนินบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่สมบูรณ์ของทั้งสองฝ่าย นอกจากจัดการเรียนการสอน บริการชุมชนท้องถิ่นแล้ว การทำนุบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม เป็นภารกิจสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญปัญหาร่วมจากพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง

ความร่วมมือสร้างพลังความเข้มแข็งร่วม ศึกษาวิจัย ค้นคว้าหาคำตอบและแบบอย่างที่ดี ในการจัดการความเปลี่ยนแปลง การพบปะแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมจึงเป็นความจำเป็นบนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน