ข้าวพอไหม? / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

ข้าวพอไหม?

 

วันก่อน ผมเห็นเรื่องที่มีคนแชร์จากเพจ “สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

เป็นเรื่องเก่าเมื่อ 3 ปีที่แล้วของ “ร้านน้องแอม” ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

ร้านนี้อยู่ที่ มธ.มานานกว่า 30 ปี

เด็กธรรมศาสตร์ต้องรู้จักร้านนี้

เพราะเป็นร้านขวัญใจนักศึกษา

ร้านน้องแอมเป็นร้านข้าวแกง มีกับข้าวประมาณ 40 อย่าง

อร่อย และถูก

ว่ากันว่าช่วงกลางวันคิวของร้านนี้จะยาวมาก

“พี่หญิง” เกษร์กุสุมา รุจิพุฒธันยพัต เป็นเจ้าของร้านรุ่นที่ 2 ที่มารับสืบทอดกิจการจากคุณแม่ ที่ตอนนี้ไปคุมครัวแทน

“พี่หญิง” น่าจะมายืนหน้าร้านได้ประมาณ 20 ปี

ชื่อของร้าน คือ “น้องแอม”

แต่คนใน มธ.จะเรียกว่าร้านน้องแอม…ข้าวพอไหม

“ข้าวพอไหม” คือประโยคติดปากของ “พี่หญิง” เวลาตักข้าวและกับข้าวให้เด็กนักศึกษา

ถ้าเด็กขอเพิ่มข้าว เธอก็จะตักให้ทันที

“จริง ๆ แล้วร้านเราก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรพิเศษ เพียงแต่พี่หญิงจะมองน้องนักศึกษาเหมือนลูกเหมือนหลาน และแม่ยังปลูกฝังพี่หญิงเสมอว่า น้องนักศึกษาที่มาเรียนเขาไม่มีรายได้ การที่เขาได้กินข้าวสักจานก็อยากให้เขากินให้อิ่ม เพื่อที่ว่าน้องนักศึกษาจะได้มีกำลังไปเรียนหนังสือ”

ร้านอาหารปกติจะมอง “ลูกค้า” เป็น “ลูกค้า”

วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดก็จะเป็นแบบ “ลูกค้า”

ถ้าทำดี ลูกค้าก็จะกลับมาอีก

แต่ “พี่หญิง” มอง “ลูกค้า” เป็น “ลูกหลาน”

ไม่ได้หวังประโยชน์อะไร

แต่อยากช่วยเหลือ

อะไรที่พอให้ได้ก็ให้

นอกจากนักศึกษาที่แวะเวียนเข้ามาที่ร้านน้องแอมแล้วยังมีคนทำงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นลูกค้าขาประจำ

และคนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จะมากินข้าวที่ร้านในช่วงเช้าตรู่

แม่ของ “พี่หญิง” ก็จะสอนแบบเดียวกันว่า “เวลาเขามากิน ซื้อข้าวเรา ให้เขากินอิ่มๆ นะเพราะว่ากว่าจะวิ่งได้เที่ยวหนึ่ง มันนานกว่าเขาจะได้เงินแต่ละครั้ง แม่ก็บอกว่าเวลาเขามาซื้อก็ให้เขาเยอะๆ เขาจะได้ประหยัดด้วย”

ตอนที่ผมนำเรื่องนี้ไปโพสต์ในเพจของผม

มีเด็กธรรมศาสตร์ที่เรียนจบไปแล้วมาโพสต์รำลึกความหลังกันเยอะมาก

ทุกคนจะจำ “พี่หญิง” ได้

และคุ้นเคยกับประโยค “ข้าวพอไหม”

น้องๆ ผู้หญิงจะแซวเพื่อนผู้ชายว่าไปกินร้านนี้เมื่อไร ข้าวจะพูนจานเลย

มีการรำลึกถึงเมนูในดวงใจ เช่น หมูทอด ไก่ทอดกรอบ ไข่เป็ดยางมะตูมราดน้ำปลาพริก หมูยอผัดพริกเผา ฯลฯ

และส่วนใหญ่จะพูดถึง “พี่หญิง” ว่าใจดีมาก พูดเพราะ

บางคนกลับไปหาอีกครั้งหลังจากเรียนจบก็ยังจำได้ พอสั่งข้าวกินก็ไม่คิดเงิน

มันเป็นความผูกพันเหมือนคนในครอบครัว

และนำมาสู่ “ทุนการศึกษา” รูปแบบใหม่

 

ในเชิงธุรกิจ ร้านอาหาร “น้องแอม” จะอยู่ได้สบายๆ

“พี่หญิง” น่าจะถอยจากหน้าเคาน์เตอร์ตักอาหารให้นักศึกษาได้แล้ว

“ทำไมเรายังยืนหน้าร้านอยู่ ทั้งที่น่าจะมีคนรุ่นหลังขึ้นมาแทน แล้วเราก็คอยกำกับดูแลลูกน้องเอา”

แต่คำตอบที่ “พี่หญิง” ตอบตัวเองก็คือ หากยังยืนอยู่หน้าร้าน เธอยังสามารถช่วยน้องนักศึกษาได้อยู่เรื่อยๆ

“เพราะการที่พี่ขายของตรงนี้ พี่จะใช้ประสบการณ์ที่ว่าถ้าเด็กขอข้าวเยอะๆ กินกับอย่างเดียว เราก็จะเริ่มสงสัยแล้วว่าน้องเขามีปัญหาเรื่องอะไรหรือเปล่า”

การยืนอยู่หน้าร้านด้วยตัวเองแบบนี้จึงเป็นที่มาของการให้ “ทุนการศึกษากินข้าวฟรีที่ร้านน้องแอม”

“พี่หญิง” เล่าว่าเคยมีน้องนักศึกษาคนหนึ่งมากินข้าวกับหมูยอชิ้นเดียว เพราะบอกว่าไม่มีตังค์กินข้าว

“พี่หญิง” สังเกตเห็นจึงเดินออกไปหาน้องที่โต๊ะแล้วนั่งคุยด้วย

“น้องมีปัญหาอะไรที่พวกพี่สามารถช่วยได้บ้าง มากินข้าวที่ร้านพี่ไหม แม่พี่ให้ทุนการศึกษานะ ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่มาพูดคุยกับแม่พี่ แล้วก็มากินที่ร้าน”

ไม่ได้ให้เป็น “เงิน”

แต่ให้เป็น “อาหาร”

น้องนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงินจะได้ไม่ต้องกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร

แค่มาที่ร้านน้องแอม

แค่นั้นก็อิ่มกลับไปแล้ว

“น้องเขาก็มากินที่ร้านจนจบการศึกษา เขาก็ได้งานทำเรียบร้อยแล้ว”

จากคนนั้นสู่คนนี้

และคนอื่นๆ เรื่อยมา

“ทุกวันนี้ก็ยังใช้วิธีนี้อยู่ค่ะ”

นักเรียนทุนคนล่าสุดที่พี่หญิงช่วยให้ทุนการศึกษากินข้าวฟรีมาจาก “พี่หญิง” สังเกตว่าน้องสั่งกับข้าวแปลกไปจากเดิม

จากที่เมื่อก่อนกินกับข้าวสองอย่างกลับเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ขอเพิ่มข้าวเหมือนเดิม

“พี่หญิง” สงสัยว่าน้องคนนี้ต้องมีอะไรแน่เลย จึงเดินเข้าไปคุยที่โต๊ะแล้วพามารู้จักแม่และให้ทุนกินข้าวฟรีที่ร้าน

“ทุกวันนี้เขาก็ดูสดชื่น ดูแบบดูมีน้ำมีนวลดูสดใส แววตาเขาจะมีความสุขมากขึ้น”

มีเด็กทุนกินข้าวฟรีคนหนึ่งเรียนจบเป็นด๊อกเตอร์แล้ว

“เขาก็จะกลับมากราบแม่ เอาขนมผลไม้มาฝากพวกพี่ค่ะ”

ตอนที่ผมโพสต์เรื่องนี้ มีน้องคนหนึ่งเข้ามายืนยัน

“เพื่อนเราเป็นหนึ่งในคนที่ได้ทุนกินอาหารจากร้านน้องแอมจนเรียนจบ วันนี้เพื่อนเป็นด๊อกเตอร์ทำงานทำประโยชน์เต็มที่ และแน่นอนค่ะ เมื่อมีโอกาสก็จะแวะไปเสมอ”

“ขอบคุณจากใจนะคะที่ช่วยส่งเสริมสร้างคน”

ถ้าเป็น “พี่หญิง” แล้วได้เห็นประโยคนี้

คุณจะรู้สึกอย่างไร

 

ผมอ่านเรื่องนี้อย่างมีความสุข

ตอนที่โพสต์ลงในเพจ ผมก็เชื่อว่าคนที่อ่านก็มีความสุข

เช่นเดียวกับคนที่อ่านคอลัมน์ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” ตอนนี้

ร้านน้องแอม แตกต่างจากร้านอาหารอื่นตรงที่สมุดบัญชีของร้าน

เพราะบรรทัดสุดท้ายของบัญชีไม่ได้จบเพียงแค่ “กำไร” ที่เป็น “ตัวเลข” เพียงอย่างเดียว

แต่ยังมีเรื่องราวของ “ความสุข” ในการทำงานด้วย

“ความสุข” จาก “การให้”

สำหรับผม คำถามด้วยความห่วงใยว่า “ข้าวพอไหม”

และการให้ “ทุนการศึกษากินข้าวฟรี” ของร้านน้องแอม

คือ เรื่องเล็กๆ ที่งดงามมาก

และเป็น “ความสุข” ที่ทุกคนสามารถเลียนแบบได้