ถอดบทเรียน การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ร้อยตำราไม่เท่าปฏิบัติจริง/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ถอดบทเรียน

การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ร้อยตำราไม่เท่าปฏิบัติจริง

 

คนเขียนกฎหมาย คนอ่านและท่องจำกฎหมาย หากมีโอกาสได้ปฏิบัติจริงจะได้รู้ลึกถึงปัญหาอุปสรรค และความเป็นจริงในทางปฏิบัติที่เป็นจุดอ่อนให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอีกมากมาย

เช่นเดียวกับหลักการที่เขียนไว้ในมาตรา 133(3) และ 256(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย และไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ ในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ในมาตรา 258 ค. หมวดที่ 16 การปฏิรูปประเทศ ที่กล่าวถึงการปฏิรูปด้านกฎหมาย ใน (4) ยังกล่าวถึงการที่รัฐจะต้องจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายด้วย

หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ต้องใช้เวลาผ่านไปถึง 4 ปีเศษ พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2564 และมีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

หลักการต่างๆ ที่ถูกออกแบบ ล้วนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ หากแต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ผู้ที่เคยเสนอกฎหมายจะเห็นข้อขัดข้อง รวมถึงกฎเกณฑ์ที่ยังก่อให้เกิดไม่ความสะดวกในการดำเนินการที่ต้องพัฒนาต่อไป

ประสบการณ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

 

การมีโอกาสได้เป็นผู้ริเริ่มเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ประเด็นตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี

เป็นประสบการณ์ที่ต้องนำมาถ่ายทอดเพื่อให้เห็นถึงความยากลำบาก หากประชาชนจะมีส่วนร่วมในทางการเมือง

1. คณะผู้เริ่ม ต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในคณะผู้ริเริ่มว่ามีความต้องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในเรื่องใด มีขอบเขตเนื้อหาเพียงไร หากเป็นไปได้อาจต้องนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาเป็นประเด็นในการร่วมถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปในถ้อยคำข้อความที่ประสงค์จะแก้ไข และต้องมีจำนวนของคณะผู้ริเริ่มตามกฎหมายคือ 20 คน ที่พร้อมแสดงตนว่าเป็นผู้ประสงค์เป็นคณะริเริ่มแก้ไขกฎหมาย

ความน่ารักของกลุ่มงานเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คือ เมื่อเราเสนอร่างกฎหมายในแบบการร่างของเราไป เขาจะมีทีมงานด้านกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในการเสนอกฎหมาย ช่วยในการขัดเกลาข้อความภาษา

และตลอดจนให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ก่อนที่เราจะดำเนินการรณรงค์หาชื่อผู้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการให้ครบตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ

2. ระบบการเข้าชื่อออนไลน์ แม้ในตัว พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ได้ระบุถึงการอำนวยความสะดวกในการให้ประชาชนสามารถลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะอำนวยความสะดวกให้ แต่ในขณะนี้ระบบการออกแบบดังกล่าวยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงเป็นภาระของคณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายที่ต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง

ความยากในการจัดการคือ ต้องหาทีมงานอย่างน้อย 3 ทีม ที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นเนื้อเดียวคือ ทีมกำหนดเนื้อหา ทีมออกแบบกราฟิก และทีมโปรแกรมเมอร์ที่จะเขียนโปรแกรมการเข้าชื่อซึ่งสามารถในประชาชนลงนามทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสุดท้ายสามารถนำผลการเข้าชื่อพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารการเข้าชื่อตามรูปแบบที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำหนด โดยแยกเป็นหนึ่งผู้ลงชื่อเป็นเอกสารหนึ่งแผ่น

ความโชคดีของคณะผู้ริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่ ทีมเนื้อหานั้นชัดเจน สามารถสื่อสารและร่วมทำงานกับทีมกราฟิกที่มีความสามารถ และร่วมกันปรับแก้กับทีมโปรแกรมเมอร์ โดยใช้เวลาทำงานร่วมกันประมาณ 1 เดือนเต็ม และที่สำคัญคือทุกคนเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งหากตีเป็นมูลค่างานน่าจะไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท

ผลงานที่ได้จึงเป็น เว็ปไซต์ www.nosenatevote.net ที่เปิดให้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือสมัยใหม่ สามารถเข้าถึงตลอด 24 ช.ม. และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของเนื้อหาที่เสนอแก้ไข พร้อมกรอกข้อความที่จำเป็นสำหรับการลงชื่อได้โดยสะดวกในเวลาเพียงไม่ถึง 2 นาที

 

3.การแสวงหาความร่วมมือ การทำงานที่ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง การแสวงหาความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ จึงเกิดขึ้น กลุ่มคณะทำงานขยายตัวจาก 4-5 คน เป็นหลักสิบ และปัจจุบันอยู่ที่จำนวนประมาณ 30 คน ทุกคนเป็นอาสาสมัครที่ไม่มีค่าตอบแทน มีแรงช่วยแรง มีความสามารถในการประสานงานติดต่อก็ช่วยประสาน ทำให้สามารถเข้าพบพรรคการเมืองระดับหัวหน้าพรรคหรือคนสำคัญของพรรคได้ถึง 7 พรรค คือ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคกล้า และพรรคภูมิใจไทย เป็นตัวเลข ส.ส. ที่พร้อมให้การสนับสนุนเมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การประชุมของรัฐสภา รวมแล้วในขณะนี้ 265 คน

คณะทำงานที่มาร่วมไม่มีสี ไม่มีฝ่าย ไม่มีพรรค เราจึงเห็นคนที่เป็นแกนของพรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมอยู่ในคณะทำงานและทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ

มีคำถามถึงว่า เหตุใดจึงยังไม่เดินสายไปยังพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา คำตอบคือมีความพยายามในการดำเนินการอยู่ หากแต่ยังไม่ได้รับการสนองตอบแบบกระตือรือร้นเท่าที่ควร

ประเด็นการแสวงหาความร่วมมือนอกจากฝ่ายการเมืองแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้เกิดความเชื่อมั่น มีกำลังใจในการร่วมผลักดัน เพราะจะมีคำถามกลับมาตลอดเวลาว่า ทำไมต้องแก้ และจะแก้ได้สำเร็จหรือ

ประสบการณ์ในอดีตบอกให้เรารู้ว่า แรงผลักดันจากภายนอกสภา มีความหมายไม่น้อยกว่าแรงผลักดันในสภา ดังนั้น เสียงประชาชนภายนอกจึงมีความสำคัญยิ่ง

 

4.ทุนรอนในการดำเนินการ เนื่องจากการรณรงค์เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นประเด็นที่ได้รับความเห็นชอบสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ ทุกอย่างที่เป็นทุนรอนในการดำเนินการจึงน้อยมากหรือแทบจะไม่มี เช่น ด้านกราฟิก และการถ่ายทำคลิป ก็เป็นทีมอาสาสมัคร

ด้านการเขียนโปรแกรมการเข้าชื่อ โปรแกรมเมอร์มืออาชีพหลายคนก็เข้ามาช่วยโดยไม่คิดค่าตอบแทน มีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นคือการเปิดชื่อโดเมนเนม หลักร้อย และค่าเช่าเซิร์ฟเวอร์ หลักพัน รวมแล้วไม่เกิน 2,000 บาท

การจัดพิมพ์เอกสารกว่า 70,000 หน้า ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของประเทศในการใช้โรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินการ

การขนส่งเอกสารก็เป็นการนำรถส่วนตัวของทีมงานหลายคนมาช่วยกันสนับสนุน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายจิปาถะที่เกิดทั้งหมดในคราวนี้จึงมีต้นทุนการเสนอกฎหมายที่ต้องจ่ายเป็นตัวเงินออกไปประมาณ 3,000 บาทเท่านั้น

แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนภาคประชาชน ซึ่งประมาณการว่า หากเป็นการเสนอกฎหมายทั่วไปที่ต้องมีการเข้าชื่อกันไม่ต่ำกว่า 10,000 ชื่อ ควรมีเงินทุนประมาณ 50,000 บาท

แต่สำหรับการเข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีการเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ อาจต้องมีทุนรอนเบื้องต้นในกระเป๋า ประมาณ 100,000 บาท

 

5.ข้อเสนอที่ควรดำเนินการแก้ไข ในเชิงปฏิบัติการเข้าชื่อผ่านระบบออนไลน์ หากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ สามารถจัดทำระบบเสร็จ จะช่วยให้คณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมายในอนาคตเกิดความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องจัดทำระบบการลงชื่อออนไลน์เอง และไม่ต้องมีภาระในการจัดพิมพ์เอกสารจำนวนมากตามจำนวนผู้เข้าชื่อ เช่น 70,000 คน ต้องพิมพ์ 70,000 ชุด หรือหากลงชื่อเป็นแสนเป็นล้าน ก็ต้องจัดพิมพ์เป็นแสนเป็นล้านชุด ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่สะดวกในการดำเนินการ

เริ่มต้นด้วยดิจิตอล ก็สมควรจบด้วยดิจิตอล แต่กลับจบด้วยต้องจัดพิมพ์เป็นกระดาษ

ดูเหมือนจะขัดใจทั้งผู้เสนอเสนอแก้ไขกฎหมายและเสียฟอร์มรัฐบาลดิจิตอล 4.0 ครับ