เรือดำน้ำจีน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เรือดำน้ำจีน

 

“…มัน (เรือดำน้ำจีน…ขยายความโดยผู้เขียน) จะมีผลต่อความสามารถของเรา ในการแสดง ‘ความเป็นอิสระ’ ต่ออธิปไตยของประเทศ…”

ข้อสรุปอันคมคายต่อ เรือดำน้ำจีน กับอธิปไตยของไทยจากนักสังเกตการณ์ด้านความมั่นคงไทย น่าสนใจมาก

หากจะเข้าใจมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจเรือดำน้ำจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย

 

ภาพรวม

ปี2017 จีนก่อตั้งท่าเรือแห่งแรกที่ใช้เป็นท่าเรือทางทหารอย่างเดียวในต่างประเทศ คือ ท่าเรือทางทหาร Djibouti ที่ Horn of Africa ทวีปแอฟริกา จนเป็นที่คาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า จีนกำลังสร้าง สร้อยร้อยไข่มุก (String of Pearls) นักวิชาการจำนวนหนึ่งนิยามว่า นี่ประกอบขึ้นเป็นสถานีทางทหารในเอเชีย-แปซิฟิก

แต่เวลานี้ กลายเป็นประจักษ์พยานว่า จีนบอกเป็นนัยอย่างมากด้านการทหาร ใช้ขยายอิทธิพลในภูมิภาค ด้วยขายเรือดำน้ำให้ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก พร้อมฝึกฝนทหารเรือแก่ประเทศที่ซื้อเรือดำน้ำ และมีเจ้าหน้าที่จีนให้การบำรุงรักษา ณ ที่นั้น อย่างน้อยจะยังคงอยู่ในการควบคุม อธิปไตยแห่งชาติ ที่เรือดำน้ำจอดอยู่

ถ้าเกิดความตึงเครียดระหว่างจีนและประเทศคู่แข่งขันได้แก่ สหรัฐและอินเดีย จีนสามารถได้เข้าถึงฐานทัพในประเทศต่างๆ ที่พวกเขาอาศัยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องสร้างฐานทัพขึ้นมาเอง

ช่างฉลาดเหลือเกิน เพื่อให้เห็นภาพนี้ เราควรดูพัฒนาการในระดับต่างๆ ของท่าเรือทางทหารและเรือดำน้ำจีนในกัมพูชา เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ ปากีสถานและไทย

 

กัมพูชา

จีนกำลังให้เงินทุนและความช่วยเหลือยกระดับฐานทัพเรือ เรียม (Ream) ซึ่งอยู่ใกล้สีหนุ วิลล์ ปี 2019 Wall Street Journal รายงานว่า ปักกิ่งและพนมเปญลงนามสัญญาลับตกลงให้จีนใช้เรียมแลกกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของฐานทัพเรือ อ้างถึงเจ้าหน้าที่สหรัฐเห็นร่างข้อตกลงนี้ แต่เจ้าหน้าที่กัมพูชาปฏิเสธ โดยกล่าวว่า กองกำลังต่างชาติมาอยู่ในดินแดนกัมพูชา เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ

รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เตีย บันห์ ยอมรับว่าจีนกำลังช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานในและรอบๆ ฐานทัพเรือ แต่การช่วยเหลือไม่มีสร้อยร้อยไข่มุกอยู่ สหรัฐช่วยสร้างเมื่อก่อนนี้ บางส่วนได้รื้อถอนเมื่อไม่นานนี้

มกราคม 2021 มีรายงานการขุดเจาะที่ฐานทัพเรียม เป็นการสร้างท่าเรือน้ำลึกสำหรับจอดเรือรบขนาดใหญ่กว่าฐานทัพเรือปัจจุบันรับได้ มีการรื้อถอนต้นไม้ ถนนเข้าฐานทัพกำลังก่อสร้าง

กัมพูชายังไม่ได้รับข้อเสนอใดๆ เรื่องเรือดำน้ำจีน แต่ธันวาคม 2021 เมียนมาจัดส่งเรือดำน้ำ Type -035 Ming ขนาด 2,100 ตัน เรื่องนี้ปรากฏในสื่อโซเชียล มีการเคลื่อนย้ายเรือดำน้ำในแม่น้ำย่างกุ้ง ภายใต้การรักษาความปลอดภัยโดยเรือต่อสู้ยามฝั่ง Type 5

ยังไม่มีรายงานชัดเจน เรือดำน้ำอาจจอดที่ท่าเรือกองทัพที่ Money Point

เมียนมามีจ้าวผิว (Kyaukphyu) ที่เกาะ Ramree รัฐยะไข่ เป็นที่จับตามองเพราะเป็นท่าเรือ 2 หน้าที่พลเรือน-ทหาร เกี่ยวกับความตกลง China-Myanmar Economic Cooperation-CMEC เชื่อมโยงยูนนานจีน ไปอ่าวเบงกอล เมียนมา เป็นส่วนประกอบยุทธศาสตร์โครงการ Belt and Road Initiative-BRI จีน

เดิมจีนร่วมลงทุนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จ้าวผิว ตั้งแต่ 2007 ตอนหลังมีการตกลงใหม่เรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นและลดขนาดโครงการ เมื่อเกิดรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 รัฐบาลทหารผลักดันโครงการนี้อีกครั้ง

ประเด็นคือ แม้เรือดำน้ำจีนอาจไม่ได้มีอยู่ที่จ้าวผิว แต่การส่งมอบเรือดำน้ำให้กัมพูชา ช่วยกระฉับความสัมพันธ์ระหว่างเนปิดอว์กับปักกิ่ง

 

บังกลาเทศ

บังกลาเทศเหมือนเมียนมา ร่วมอยู่ในโครงการ BRI แต่ต้องเหยียบเอาไว้เพราะแรงกดดันจากเพื่อนบ้านอินเดีย

หนึ่งในโครงการ BRI รัฐวิสาหกิจจีน China Harbor Engineering Company เข้าไปอัพเกรดอุปกรณ์การพาณิชย์ท่าเรือจิตตะกอง (Chittagon) ได้ขยาย BNS Issa Khan ฐานทัพเรือหลักของประเทศ

มกราคม 2016 เรือจีน 3 ลำ เรือรบขนาดกลาง Frigate เรือ Sanya และเรือ Qinghaihu เรือลำเลียงเข้าจอดที่จิตตะกอง เป็นการเยือน 5 วันเป็นครั้งแรกของเรือจีนเยือนบังกลาเทศ และไม่นานหลังจากจีนเริ่มปฏิบัติการ การก่อสร้างพิเศษสำหรับกองเรือบังกลาเทศ ซึ่งปี 2015 บังกลาเทศซื้อเรือรบฟริเกต 2 ลำจากจีน

ปี 2017 เรือดำน้ำจีน Type-035 Ming class จัดส่งให้บังกลาเทศ

 

ศรีลังกา

ท่าเรือ Hambantota เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของ BRI เฟสแรกของท่าเรือ Hambantota ฉลองเมื่อพฤศจิกายน 2010 และกู้ยืม EXIM Bank จีนเป็นเงิน 3,067 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 85% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

ภายใต้ความตกลงปี 2017 จีนเช่าท่าเรือ Hambantota นาน 99 ปี เป็นเงิน 1.1 พันล้านเหรียญ เป็นการแลกเปลี่ยนหนี้ต่อทุน อันเป็นตัวอย่างของการทูตจีน กับดักหนี้ (debt trap)

ไม่มีรายงานเรือดำน้ำจีนเยือนศรีลังกาตั้งแต่ท่าเรือที่นั่นเสร็จปี 2014 แต่กองทัพเรือศรีลังกาได้รับมอบเรือรบ Shanghai Lushan class ปี 2019 ได้เรือดำน้ำ Type 053H 2 G และ Jiangwei I เรือฟริเกตสร้างโดยจีน

สมบัติอันล้ำค่าของจีนที่เรียกว่า สร้อยร้อยไข่มุก ไม่ต้องสงสัยเลยคือ ท่าเรือ Gwadar ในปากีสถาน อยู่ติดกับทะเลอาระเบีย ใกล้เส้นทางการค้าระหว่างจีนและแอฟริกา ตะวันออกกลาง Djibouti ที่แอฟริกา ทะเลแดง และคลองสุเอซ

ท่าเรือ Gwadar บริหารโดยกระทรวงมหาสมุทรปากีสถาน และควบคุมการปฏิบัติการของรัฐวิสาหกิจจีน China Oversea Port Holding Company ท่าเรือนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญของ BRI

ธันวาคม 2021 ที่ปรึกษาความมั่นคงปากีสถาน ปฏิเสธการอ้างว่าประเทศเขาอนุญาตให้ทหารจีนใช้ท่าเรือ Gwadar

แต่กุมภาพันธ์ 2021 ปากีสถานประกาศได้รับเรือฟริเกต 4 ลำ และเรือดำน้ำ Hangor class จากจีน 4 ลำ เรือดำน้ำ 4 ลำสร้างในจีน ส่วนเรือฟริเกตอีก 4 ลำสร้างในปากีสถาน ครั้นเรือดำน้ำ 4 ลำเข้าดำเนินการอย่างเป็นทางการ จะใช้เพิ่มศักยภาพเชิงรุกของกองเรือปากีสถาน

เรือดำน้ำ Hangor class เป็นรุ่นย่อยของ 3,600 ตัน Type 039 Song class ซึ่งก้าวหน้ากว่าเรือดำน้ำจีนส่งมอบให้เมียนมาและบังกลาเทศ

 

ไทย

ไทยได้ข้อสรุปจัดซื้อเรือดำน้ำปี 2015 โดยรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ในมุมของกองทัพเรือไทย เรือดำน้ำจีนจะช่วยรักษาระยะก้าวเดินของไทยกับเพื่อนบ้านคือ เวียดนาม อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีเรือดำน้ำแล้ว

แต่ข้อมูลฝ่ายความมั่นคงบางหน่วยงานเสนอว่า อ่าวไทยลึกแค่ 58 เมตร ส่วนที่ลึกที่สุด 85 เมตร จึงไม่เหมาะใช้เรือดำน้ำใดๆ ถ้าจีนส่งมอบเรือดำน้ำ จีนสามารถส่งบุคลากรของตนมาที่สัตหีบ การฝีกบางประเภทจากทางการจีนเกิดขึ้นแล้ว ฝึกการใช้เรือดำน้ำ และเพิ่มจำนวนอย่างกว้างขวาง นายทหารระดับเล็กที่อยู่ที่จีนเรียนภาษาจีน ยังปรากฏด้วยว่า จีนวางแผนช่วยไทยสร้าง และอุปกรณ์บำรุงรักษามากมาย มากกว่าความต้องการ

ตุลาคม 2017 ผู้บัญชาการทหารเรือจีนเยือนไทยและตรวจดูการฝึกร่วมของเรือ ลำที่มีเจ้าหน้าที่และทหารเรือมากกว่า 800 นาย

ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนยาวนาน หลายระดับและลึกซึ้ง ไทยเปลี่ยนเข้าหาจีนมากขึ้นหลังสงครามเย็นสิ้นสุดปลายทศวรรษ 1990 เริ่มการแลกเปลี่ยนนายทหารศึกษาต่อและดูงานที่จีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงเดียวกัน อาวุธปืน รถถังเริ่มซื้อจากจีน

ความสัมพันธ์ไทยต่อจีนลึกขึ้นมากหลังรัฐประหาร 2557 ที่การเจรจาเรื่องเรือดำน้ำจีนเกิดขึ้น หลังจากนั้น ประเด็นอุยกูร์ลามเข้าไทย แต่ไทยเรียกขานว่า เป็นชาวเติร์ก ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในจีน จีนพอใจ ตามด้วยไทยประกาศเข้าร่วมยุทธศาสตร์ BRI ด้วยเริ่มก่อสร้างรถไฟไทย-จีน แต่ก็ล่าช้ามาก จีนไม่พอใจวัคซีนซิโนแวคเข้ามาไทยทั้งจีนให้บริจาคและขาย แต่จีนไม่พอใจที่คนไทยด้อยค่าวัคซีนซิโนแวค

คนไทยจำนวนมากอาจสงสัยและระแวงจีน แต่ผู้นำทางการเมืองและฝ่ายความมั่นคงไม่รู้สึกเช่นนั้น และไม่เคยทำอะไรให้จีนไม่พอใจ

มีข้อเสนอเรือดำน้ำใช้แล้ว 2 ลำให้ฟรี อันอาจช่วยให้ความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้นขึ้น

 

สรุป เรือดำน้ำคือ

การดำเนินการเรือดำน้ำ ให้ข้ออ้างการเข้าสู่สร้อยร้อยไข่มุก เส้นทางฐานทัพทั่วมหาสมุทรอินเดียแก่จีน มองเห็นระยะยาวของความตั้งใจทางทหารต่อการขายเรือดำน้ำจีน

จีนไม่ผลักดันฐานทัพเรือถาวร แต่เป็นโครงข่ายโลจิสติกส์ ที่จะสนับสนุนกองเรือของตนในมหาสมุทรอินเดีย หรือมากกว่านั้น ดังนั้น จีนเหมือนแสดงความใจกว้าง เสนอให้เรือดำน้ำ ฝึกอบรมและการบำรุงรักษา เราน่ากลับไปที่คำคมที่ว่า

“…มัน (เรือดำน้ำจีน…ขยายความโดยผู้เขียน) จะมีผลต่อความสามารถของเรา ในการแสดง ‘ความเป็นอิสระ’ ต่ออธิปไตยของประเทศ…”