คำ ผกา | แด่การเลือกตั้ง

คำ ผกา

การรัฐประหารในปี 2557 น่าจะเป็นการรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งในทุกๆ ครั้งของการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการรัฐประหารในปี 2549 ที่ “ทำตามสัญญา” จริงๆ คือ อ้างว่ายึดอำนาจเพื่อปราบนักการเมืองโกง จากนั้นคืนอำนาจให้กับประชาชน ด้วยการเร่งเขียนรัฐธรรมนูญใหม่คือ รัฐธรรมนูญปี 2550

บริบทของการรัฐประหารปี 2549 ต่างจากปี 2557 เพราะในปี 2549 เป็นการรัฐประหารที่ได้รับแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักคิด นักเขียน นักธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่ “ป๊อปปูลาร์” ได้ใจประชาชน เป็นการรัฐประหารท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักวิชาการ ท่ามกลางวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” และกระแส “เกลียดทักษิณ”

หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดี นั่นคือ คนชนบทเลือกนักการเมืองที่ตนเองชอบมาบริหารประเทศ เพื่อจะมาถูก “ชนชั้นกลางในเมือง” มาหนุนกองทัพให้ทำรัฐประหาร

เมื่อการรัฐประหารปี 2549 เป็นการรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจาก “สังคม” อย่างเต็มที่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องลนลานกระชับอำนาจเท่าไหรนัก จะพูดว่าเป็นการรัฐประหารที่ค่อนข้าง secure ก็ว่าได้ มิพักต้องกว่าว่าสถาบันอื่นๆ ที่สำคัญในการเมืองไทยก็อยู่ในฐานะที่ secure สูงสุดด้วยเช่นกัน

ผู้ทำการรัฐประหารปี 2549 จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องปิดปากสื่อ ปิดปากประชาชน ปิดกันการประท้วง หรือเอา คฝ.ไปปราบม็อบ เพราะสื่อร้อยละเก้าสิบก็เชียร์รัฐประหารอยู่แล้ว การต้านรัฐประหารนั้นเป็นเสียงของสื่อส่วนน้อยถึงน้อยที่สุด

ส่วนขบวนการต่อต้านรัฐประหารเริ่มก่อตัวขึ้นก็ใช้พื้นที่อย่างวิทยุชุมชน การออกปราศรัยในพื้นที่ ไปจนถึงการเริ่มก่อม็อบจนพัฒนาไปสู่ม็อบเสื้อแดง ม็อบ นปช.ในเวลาต่อมา

 

ตรงกันข้าม รัฐประหารปี 2557 เกิดขึ้นในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปมาก และชัดเจนว่า แม้มีการรัฐประหารปี 2549 หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ พรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบแล้วตั้งพรรคใหม่จะในชื่ออะไรก็แล้วแต่ ก็จะชนะการเลือกตั้งอยู่ร่ำไป รัฐประหารไปแล้ว นายกฯ ก็ยังเป็นสมัคร สุนทรเวช เป็นสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนฆ่าเสื้อแดงตายเป็นเบือ เอาเสื้อแดงไปติดคุกเป็นร้อยเป็นพัน สุดท้ายยังได้นายกฯ ชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ไม่เพียงเท่านั้นกระแสตีกลับ “สลิ่ม” ที่มีทั้งพันธมิตรเก่า กลุ่มสองไม่เอา การกระชากหน้ากากวาทกรรม “คนดี” จากนักคิด นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการอธิบายความชอบธรรมของการชุมนุมของคนเสื้อแดง และการดึงสังคมให้กลับมาเข้าใจหลักประชาธิปไตยพื้นฐานเรื่องเสียงข้างมาก ทำให้ทีละเล็กทีละน้อย กระแสของสังคมเข้าใจมากขึ้นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก

พูดง่ายๆ ก็คือ คนอาจจะไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบยิ่งลักษณ์ ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย แต่อย่างน้อยก็รู้ว่า ทางออกของประเทศไม่ใช่การรัฐประหาร

ม็อบ กปปส. คือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของความพยายามทำลาย “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทย โดยยังขายวาทกรรมชุดเดิม นั่นคือ คอร์รัปชั่น – จำนำข้าว และทักษิณ – พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน

แม้ว่ามันจะปลุกระดมมวลชนได้ผลจนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2557 แต่เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายอนุรักษนิยมได้เทใช้ต้นทุนทั้งหมดที่มีอยู่จนหมดหน้าตักก็ว่าได้

การรัฐประหารปี 2557 จึงไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของชนชั้นกลาง และปัญญาชน เหมือนปี 2549

แม้แต่นักวิชาการสองไม่เอานักคิด นักเขียน ปัญญาชนสาธารณะสองไม่เอาทั้งหลายก็ต้องออกมาอ้อมๆ แอ้มๆ ว่า รัฐประหารอีกแล้วเหรอ นี่ไม่ใช่ทางออกที่ดีของประเทศหรอกนะ บลา บลา บลา

ดังนั้น ด้วยต้นทุนที่สูงลิบลิ่วขนาดนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่พวกเขาจะบอกว่าการรัฐประหารครั้งนี้ต้อง “ไม่เสียของ”

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารคือ การคุกคามสื่ออย่างหนัก และการกวาดล้างทุกม็อบ ทุกการประท้วง จับตาดูทุกความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย พร้อมๆ กับประการรายชื่อคนที่ต้องเข้าค่ายทหารไปปรับทัศนคติ

พร้อมๆ ไปกับการใช้ศาลทหารในการดำเนินคดีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง แถมมาด้วยการอายัดบัญชี ภาพข่าวที่ฉันยังจำได้คือ ภาพคุณจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกหิ้วตัวออกไปคาเวทีที่ FCCT แล้วต้องไปติดคุก ขึ้นศาลทหารอยู่หลายเดือน

หรือข่าวตามไป “รวบตัว” พี่หนูหริ่ง หรือสมบัติ บุณงามอนงค์ ราวกับเป็นอาชญากรตัวกลั่นของประเทศ พร้อมๆ กับที่เพื่อนๆ นักวิชาการหลายคนถูกเรียกไปรายงานตัว ไปปรับทัศนคติ และการนำเสนอข่าวใน voicetv ยุคนั้นก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก

ม็อบต้านรัฐประหารปี 2557 นั้นถูกปราบตั้งแต่ต้นมือ เพราะกระแสต้านรัฐประหารครั้งนี้ไม่ได้มาจาก “คนบ้านนอก” หรือ “ควายแดง” เท่านั้น แต่มาจากคนชั้นกลาง และผู้มีอิทธิพลทางความคิดของชนชั้นกลางทั้งหลาย รวมไปถึงขบวนการนิสิต นักศึกษา (ยังจำได้ว่าตอนชุมนุมเสื้อแดงนั้น ขบวนการนักศึกษากระแสหลักยังเป็นเสื้อเหลืองและเป็นสลิ่มเกือบทั้งหมด)

เมื่อมันต้องเป็นการรัฐประหารที่ไม่เสียของ รัฐบาล คสช.ภายใต้ประยุทธ์ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจแค่หนึ่งปี แล้วรีบมีรัฐธรรมนูญ และประกาศให้มีการเลือกตั้ง (เหตุที่ธรรมเนียมการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อรักษาความชอบธรรมของการรัฐประหารในสังคมไทยว่า ทหารหรือกองทัพ ไม่ได้หิวอำนาจ แค่ต้องเสียสละตนเองมาหาทางออกให้บ้านเมือง ดังนั้น จึงต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจยาวนาน)

แต่ประยุทธ์และสภา สนช.ของเขานั้นอยู่ในอำนาจเกิน 4 ปี อยู่ยาวกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใดๆ ได้ใช้อำนาจผ่านมาตรา 44 ไปอย่างฟุ่มเฟือย จนนำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเหมืองทองอัครา เรื่องสัมปทานรถไฟฟ้า เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น เหล่านี้ประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขแทบจะไม่ได้

และหากการขายชาติ ขายอนาคตของชาติมีจริง สำหรับฉัน นี่แหละคือการขายชาติ ขายอนาคตของประชาชนทิ้งไปอย่างเปล่าดาย

เหตุที่รัฐบาล คสช.ต้องอยู่ยาว – ซึ่งแปลว่า มันต้องแลกมากับการสูญเสียความชอบธรรมของคำอธิบายเดิมๆ ว่าด้วยการรัฐประหารในสังคมไทยด้วย นั่นคือ ต่อไปนี้ ไม่มีใครเชื่ออีกต่อไปแล้วว่า คนที่มารัฐประหารนั้น ไม่ได้หิวเงิน หิวอำนาจ แต่เสียสละมาแก้ปัญหาประเทศชาติ – เพราะต้องการให้แผนการสืบทอดอำนาจนี้รัดกุมที่สุดเท่าที่จะรัดกุมได้ นำมาสู่รัฐธรรมนูญมีชัยที่ออกแบบไว้อย่างแยบคาย ทั้งอายุของวุฒิสมาชิกที่อยู่ห้าปี เพื่อโหวตให้ประยุทธ์ หรือทายาทของประยุทธ์ได้อยู่ในอำนาจต่อ ทั้งการออกแบบการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลผสมเบี้ยหัวแตก สร้างะบบนิเวศน์ของงูเห่าให้ชุกชุม การทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้

ทั้งหมดนี้คงได้สร้างภาพฝันกันว่า ประยุทธ์อยู่ยาวสี่ปี แล้วเลือกตั้งอีกครั้งก็จะอยู่ต่อไปอีกสี่ปี สรุปประยุทธ์จะอยู่ 12 ปีโดยประมาณ และเชื่อว่า เวลา 12 ปีนี้ สังคมไทยจะสงบราบคาบ คนไทยจะอ่อนแอ เชื่องเป็นหมาหงอย เพราะเข้าสู่ความยากจนโดยทั่วหน้า หมดเรี่ยวหมดแรงจะต่อต้านอำนาจเผด็จการใดๆ มีชีวิตแค่รอว่า เมื่อโครงการคนละครึ่งจะกลับมาอีก และในไม่ช้า พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยก็คงค่อยๆ เฉาตายหายสาบสูญไปในที่สุด เพราะทำการเมืองแบบที่ไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาลเลย สักวันมันก็ต้องเฉาตายไปเอง จากนั้นค่อยบริหารประเทศแบบสงเคราะห์ ชิงโชค ให้ทาน ปลอบๆ ขู่ๆ กันไปวันๆ

แต่ปรากฏว่าเรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แม้จะวางหมากกลเรื่องการครองเสียงข้างมากไว้แยบคายขนาดไหน เมื่อต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า อำนาจเผด็จการยังไงก็ต้องอาศัยมือไม้ของ “นักเลือกตั้ง” พรรคพลังประชารัฐจึงเต็มไปด้วย “นักเลือกตั้ง” จากหลายภาคส่วน

ไม่เพียงแต่พลังประชารัฐ อำนาจเผด็จการนี้ยังต้องอาศัยพรรคการเมืองของไอ้พวกนักเลือกตั้งจากหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ หรือภูมิใจไทย ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่า นักเลือกตั้งและพรรคการเมืองทุกพรรค ต่อให้ไม่มีอุดมการณ์อะไรเลย แต่พวกเขาจะเข้าสู่อำนาจไม่ได้ถ้าไม่มี “เสียง” ของประชาชนเลือกพวกเขาเข้ามา

พูดให้หยาบที่สุดคนพวกนี้จะโกงจะกินจะเล่นพรรคเล่นพวกอย่างไร แต่ด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้ ผ่านด่านของการชนะการเลือกตั้ง จะมากหรือจะน้อย ท้ายที่สุด นักเลือกตั้งและพรรคการเมืองเหล่านี้ต้องแข่งกันที่ “ผลงาน” จะเป็นผลงานจริง ผลงานปลอม ผลงานตีกินระยะสั้น ผลงานได้ภาพพจน์ในระยะยาว แต่มันต้องมีผลงานอะไรสักอย่าง

ที่สำคัญการทำพรรคการเมือง และการล็อบบี้ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมหาศาล นั่นแปลว่าทุกคนมี “ค่าใช้จ่าย”

แต่ดูเหมือนว่า ประยุทธ์ที่เป็น “คนดี” และ ไม่ใช่ “นักเลือกตั้ง” ไม่เข้าใจเรื่องราวเหล่านี้โดยสิ้นเชิง แถมยังมั่นใจว่าตนเองคือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุด นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ โดยลืมไปว่า การบริหารพรรครัฐบาลผสมนั้นยิ่งต้องเกลี่ยผลประโยชน์ หรือยิ่งต้องเจรจา พูดคุย น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก และสำเหนียกตนเองอยู่เสมอว่า ลำพังตัวเองคนเดียวและ ส.ว. กะด้อกะเดี้ยไร้ราคาในสายตาประชาชนนั้นจะกุมอำนาจไว้ไม่ได้ และยิ่งเป็นนายกฯ ที่ไม่มีผลงานอะไรให้ประชาชนประทับใจเลย ราคายิ่งตก

สุดท้ายก็มาถึงวันที่องคาพยพต่างๆ พากัน “เท” ประยุทธ์ ปชป. ก็เลิกเกรงใจ

ภูมิใจไทยก็เริ่มรักษาระยะห่าง และพร้อมหันหลังให้ในบางเรื่องในนามของ “ความถูกต้อง” เช่น การไม่เอาด้วยในกรณีสัมปทานรถไฟฟ้า

และไม่ต้องพูดถึงกลุ่มของธรรมนัส พรหมเผ่า ที่แยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ กลายเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาล เพราะไม่ชัดเจนว่า เป็นฝ่ายค้านหรือพรรคร่วม

ยังไม่รวมพรรคเล็กอีกสิบกว่าคนที่ประกาศตัวเป็นอิสระ รวมๆ แล้วเสียงรัฐบาลหายไปไม่น้อยกว่าสามสิบเสียง

หนักไปกว่านั้น เสียงของรัฐบาลทั้งหมดที่เหลืออยู่ไม่ได้เป็นของประยุทธ์

กรณีสภาล่ม เป็นประจักษ์พยานว่า ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมดประกาศสละเรือหมดแล้ว เหลือแต่ประยุทธ์ แรมโบ้ และลูกน้องอีกไม่กี่คนที่พยายามหลอกตัวเองอำนาจที่ถืออยู่มีเสถียรภาพ

และดูเหมือนว่าตอนนี้ ทุกคนเข้าไปอยู่ในโหมดการเลือกตั้ง ไม่ใช่โหมด “อุ้ม” ประยุทธ์ อีกต่อไป

ในสภาวะที่ฝ่ายมวลชนฝั่งประชาธิปไตยจะทะเลาะกันเหมือนชาตินี้จะไม่มีวันเผาผีกันอีกแล้ว ซึ่งฉันเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมของพรรคคู่แข่งในการเมืองประชาธิปไตย และเป็นธรรมดาของการมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เสียงทุกเสียงมันปรากฏในที่สาธารณะเหมือนกัน เท่ากันทุกประการ ไม่ว่าคุณจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ต้นๆ หรือเป็นปัจเจกบุคคลนิรนาม

แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิงในบริบทการเมืองไทยตอนนี้คือ

หนึ่ง การเป็นพันธมิตรและ กปปส. คือ รอยด่างพร้อยในชีวิต เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากลบออกจากประวัติ

สอง ประยุทธ์ และ คสช. ปิดตำนานวาทกรรมรัฐประหารที่ “ดี” การยื้ออยู่ในอำนาจที่ยาวนานเกินไป ทำไปบนหน้าตักและต้นทุนของทุกการรัฐประหารอาจมีขึ้นในอนาคต นั่นแปลว่า คุณใช้ต้นทุน และหน้าตักนั้นหมดไปแล้ว ตอนนี้สังคมไทยรู้แจ้งแทงทะลุแล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่ทางออกและที่บอกว่าทำเพื่อชาติ มันเป็นเพียงข้ออ้าง

สาม การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น น่าจะเป็นอีกโอกาสหนึ่งของสังคมไทยที่จะได้เริ่มนับหนึ่งกันใหม่กับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่เราต้องระวังให้มากก็คือ ประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝันไม่อาจเกิดขึ้นได้ในชั่วการเลือกตั้งเดียว เราอาจต้องอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด และอาจต้องอยู่แบบนั้นไปอีกยี่สิบปีสามสิบปี แต่เราต้องคอยเตือนตัวเองให้พูดทุกวันว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทางออกของประเทศคือการเลือกตั้ง ไม่มีทางเป็นอื่น ไม่มีทางเป็นการรัฐประหาร

สุดท้าย เราต้องบอกตัวเองทุกวัน ประชาธิปไตยไม่ได้หมายสิ่งที่ถูกใจเราในทุกเรื่องแต่คือสมการของเสียงข้างมากเท่านั้นและเราต้องยอมรับเรื่องนี้เป็นพื้นฐาน

ต่อให้ต้องกัดฟัน กัดลิ้น กลืนเลือด เราจะไม่เอาประชาธิปไตยเสียงข้างมากไปแลกกับคนดีสี่แปดอะไรอีกแล้ว