อสังหาฯ ผ่านฉลุยวิกฤตโควิด / ก่อสร้างและที่ดิน : นาย ต.

ก่อสร้างและที่ดิน

นาย ต.

 

อสังหาฯ ผ่านฉลุยวิกฤตโควิด

 

การแถลงข่าวของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับผลดำเนินการปีที่ 2564 ที่ผ่านมา และเป้าหมายแผนงานปีใหม่ 2565 ครบถ้วนเกือบทุกบริษัท

ภาพรวมๆ กล่าวได้ว่าบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ผลประกอบการปีที่ผ่านมาดี มียอดขายเพิ่ม มีกำไรเพิ่ม

ส่วนเป้าหมายยอดขายปีใหม่ ทุกบริษัทเพิ่มเป้ายอดขายสูงขึ้น เพิ่มเป้าการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นมาก บางบริษัทนับเป็นอัตราเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ลูกเล่นการตลาดเป็นไปตามคาด มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้บริการลูกบ้าน เอาเทคโนโลยีทางการเงินมาระดมทุน บ้างก็หันมาเน้นเรื่องสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่

จะว่าไปแล้ว วิกฤตโควิด-19 ปี 2563-2564 ที่ผ่านมา นับได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ไม่น้อยไปกว่าวิกฤตลดค่าเงินบาทปี 2540 เลย ซ้ำยังเป็นวิกฤตที่เกิดทั้งโลก เป็นวิกฤตที่มีการประกาศ “ล็อกดาวน์” ไม่ให้ออกจากบ้าน เป็นวิกฤตกินเวลานาน ซึ่งแม้กระทั่งวันนี้ก็ยังไม่จบดี

แต่ปรากฎว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการน้อยมาก แบบที่เทียบกันไม่ได้เลยกับปี 2540

 

ตรงข้ามบริษัทอสังหาฯ ขนาดใหญ่กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น กำไรมากขึ้นด้วยซ้ำ หลายรายเดินหน้าขยายธุรกิจมากกว่าเดิม นอกจากเพิ่มจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่แล้ว ยังซื้อกิจการบริษัทอสังหาฯ รายอื่น หรือซื้อโครงการอสังหาฯ บริษัทอื่นเพื่อสร้างการเติบโต

มีน้อยรายที่มีพอร์ตคอนโดมิเนียมาก มีแนวราบน้อยต้องใช้เวลาปรับตัวบ้าง

ที่เรียกได้ว่า มีปัญหาจริงๆ ก็มีบางรายที่เป็นบริษัทอสังหาฯ ขนาดกลางขนาดเล็กที่มีการเร่งเติบโตขยายโครงการมากในช่วงหลังๆ ก่อนโควิดระบาด ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนมาก รายได้จากยอดขายยังไม่กลับมา หรือการตกลงร่วมทุนกับต่างชาติล่าช้าออกไป ทำให้สภาพคล่องทางการเงินตึงตัว

นอกนั้นไม่ปรากฏว่ามีปัญหาใดๆ เลยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

ย้อนไปเปรียบเทียบกับวิกฤตปี 2540 มีความผิดพลาดการบริหารการเงินของประเทศ จนต้องประกาศลดค่าเงินบาท ประกาศปิดสถาบันการเงินจำนวนมาก หยุดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้บริษัทปกติดีๆ โครงการปกติดีๆ ที่ลูกค้าก็ต้องการซื้อบ้าน โครงการก็พร้อมขายพร้อมโอน ทำอะไรไม่ได้ ที่ก่อสร้างค้างคาอยู่ก็ก่อสร้างต่อไม่ได้ มีปัญหาเกิดความเสียหายกันไปทั้งระบบ

เมื่อรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และให้บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติมาจัดการหนี้เสียสถาบันการเงิน นักพัฒนาอสังหาฯ ไทยก็ต้องหาเงินไปซื้อโครงการของตัวเองมาพัฒนาต่อ

มาวิกฤตโควิด 2563-2564 รัฐบาลแทบไม่ได้มายุ่งกับธุรกิจอสังหาฯ มีเพียงแค่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศยกเว้นมาตรการ LTV การกำหนดอัตราส่วนเงินดาวน์ซื้อบ้าน คอนโดฯ ในปีที่ 2 ของวิกฤต กระทรวงการคลังออกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าธรรมเนียมโอนและจำนอง ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้บ่อยๆ เป็น “ยาสามัญ” ประจำบ้าน นอกนั้นไม่มีอะไรเลย

คาดว่าจากช่วงปลายวิกฤตโควิดไป จนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลที่บริหารอยู่ปัจจุบันคงไม่มีแนวคิดอะไรที่จะใช้มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม หรือจะเรียกว่าไม่น่าจะมีโปรโมชั่นพิเศษจากรัฐบาลสำหรับธุรกิจอสังหาฯ

ทีแรกก็ดูน่าน้อยใจสำหรับอสังหาฯ แต่ถ้าเทียบกับวิกฤตปี 2540 ก็จะรู้สึกว่า ไม่มายุ่งก็ดีเหมือนกัน ปล่อยธุรกิจอสังหาฯ ทำธุรกิจหากินกับเรียลดีมานด์ที่มีต่อไป

ผ่านวิกฤตรอบนี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจอสังหาฯ มีความสามารถปรับตัวได้เร็ว มีกำลังการผลิตพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดทุกเซ็กเมนต์ที่มีกำลังซื้อได้