จับตายุทธศาสตร์อียู ในแถบอินโด-แปซิฟิก ผูกมิตรชาติเอเชียบนความร่วมมือ/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

จับตายุทธศาสตร์อียู

ในแถบอินโด-แปซิฟิก

ผูกมิตรชาติเอเชียบนความร่วมมือ

 

ในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุคุกคามนักการทูตของลิทัวเนียจากอิทธิพลของรัฐบาลจีน จนทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานทูตลิทัวเนียประจำกรุงปักกิ่งต้องรีบเดินทางออกจากจีน หลังจากที่ลิทัวเนียอ้าแขนรับไต้หวันเป็นชาติพันธมิตรและการตั้งสำนักงานผู้แทนไต้หวันในกรุงวิลนีอุสจนสร้างความไม่พอใจกับจีนอย่างมาก ความสัมพันธ์ของลิทัวเนียกับจีนก็เลวร้ายลงต่อเนื่อง

ล่าสุดจีนได้สั่งห้ามนำเข้าสินค้าประเภทเบียร์และเนื้อวัวจากลิทัวเนีย ทำให้สหภาพยุโรปหรืออียูต้องเข้าร้องเรียนกับองค์การการค้าระหว่างประเทศต่อกรณีจีนละเมิดข้อปฏิบัติทางการค้า เพียงเพราะคบไต้หวัน

แต่ลิทัวเนียไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผูกมิตรกับไต้หวัน สโลเวเนียได้เป็นชาติล่าสุด ที่เลือกกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันและพร้อมรับแรงกระแทกจากจีน

นี่อาจเป็นคำถามขึ้นมาว่า ทำไมทั้งลิทัวเนียและสโลเวเนียถึงเลือกไต้หวันแทนที่จีน ซึ่งเสี่ยงรับผลที่ตามมามากมาย หรืออาจมองว่า

นี่ไม่ใช่การสร้างความสัมพันธ์แบบไร้ทิศทางหรือไร้ที่มาที่ไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ของชาติยุโรปที่กำลังขับเคลื่อนอยู่?

 

พื้นที่อินโด-แปซิฟิกได้กลายเป็นภูมิรัฐศาสตร์สำคัญในเวลานี้ ที่ทำให้หลายชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะพลังทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ และมองการขยายอิทธิพลของจีน ทำให้มีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการเข้ามาสร้างความร่วมมือกับชาติในเอเชีย-แปซิฟิก และแน่นอนคานอำนาจจีน

เมื่อสหรัฐขยับไปก่อน ชาติในยุโรปเองก็ได้ตัดสินใจขับเคลื่อนไปเอเชียด้วย ประจวบกับความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับจีนก็ไม่ค่อยสู้ดี โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งอียูยึดมั่นในฐานะ 1 ใน 3 เสาหลักขององค์กรเหนือรัฐ จากปราบปรามพลังประชาธิปไตยในฮ่องกงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

อียูจึงเลือกปักหมุดไปยังชาติใกล้เคียงที่กำลังปักหลักสู้จีนอยู่…ไต้หวัน

อียูได้รับรองแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในเดือนเมษายนปีที่แล้ว จากนั้นแผนยุทธศาสตร์ได้ถูกเน้นย้ำในการปราศรัยของอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

สิ่งที่บ่งชี้การเดินแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือ หมุดหมายแรกที่อียูเลือกจับมือคือไต้หวัน โดยที่ประชุมสภายุโรปได้ลงมติเพิ่มความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไต้หวัน ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 580 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง และงดออกเสียง 66 เสียง

โดยมตินั้น ที่ประชุมยกให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนของอียูที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และได้ยกระดับ “สำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรปประจำไต้หวัน” กลายเป็น “สำนักงานสหภาพยุโรปประจำไต้หวัน”

และยิ่งไปกว่านั้น อียูต้องการจับมือไต้หวันในเรื่องการผลิตชิปและเซมิคอนดักเดอร์คุณภาพสูง ซึ่งจะทำให้อียูลดการพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนจากสหรัฐหรือชาติเอเชียอื่น

โดยแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนี้จะมีดีกรีที่ดูเหมือนสร้างความร่วมมือกับชาติในเอเชีย โดยเข้าส่งเสริมในการค้า, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, เทคโนโลยี, ความมั่นคง และมาพร้อมกับกองทุนเพื่อการพัฒนาในชื่อโครงการ “โกลบอล เกตเวย์” มูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาเป็นอีกตัวเลือก นอกเหนือจาก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน หรือ “แผนกอบกู้โลกที่ดีกว่า” ของกลุ่มจี 7 นำโดยสหรัฐ

 

สําหรับโกลบอล เกตเวย์ ประกอบด้วย เงินทุนสนับสนุน 2 หมื่นล้านดอลาร์สหรัฐและเงินลงทุนกว่า 3.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่มาจากชาติสมาชิกและองค์กรการเงินของอียูเพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในแถบอินโด-แปซิฟิก

และยังมีแผนเพิ่มเติมมูลค่า 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการทำโครงข่ายทราน-เมดิเตอร์เรเนียน เชื่อมยุโรปกับกลุ่มประเทศแอฟริกาเหนือไปสู่อินโด-แปซิฟิก

ในแง่มิติความมั่นคง อียูก็ได้ขยับไปกระชับความสัมพันธ์ทางน่านน้ำกับออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์และอินโดนีเซีย ในการส่งเรือล่องในน่านน้ำซึ่งร่วมถึงพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ด้วย

แผนยุทธศาสตร์ของอียูยิ่งชัดขึ้น ในการเพิ่มความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์และอินเดีย กับเทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์และเครือข่ายโทรศัพท์ 5 จี พร้อมกับเสนอกองทุนการศึกษาเพื่อปั้นผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ในชาติเอเชียได้มีโอกาสไปฝึกฝนหรือทำงานในยุโรป และอัดฉีดเงินอีก 453 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังกองทุนอีราสมุส มุนดุสของอียู

จากข้อมูลวิจัยของโจแอน หลิน แห่งสถาบันยูซุฟ อิสฮัก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ สหภาพยุโรปได้ให้ผลประโยชน์ในทางน้ำของอินโด-แปซิฟิกถึง 40% ของการค้าต่างประเทศผ่านทะเลจีนใต้

ดังนั้น ความมั่นคงทางทะเลและธรรมาภิบาลจึงเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์นี้

 

อัลจาซีร่า ได้รายงานคำกล่าวของไช่ อิ้ง หวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ระหว่างเข้าพบสมาชิกสภาของฝรั่งเศสในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับไต้หวันว่า เราหวังว่าสหภาพยุโรปภายใต้การนำของฝรั่งเศสจะยังคงส่งเสริมการเจรจาของไต้หวันและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับข้อตกลงการลงทุนทวิภาคีหรือ BIA เพื่อเปิดความสัมพันธ์ความร่วมมือใหม่ระหว่างไต้หวันและสหภาพยุโรป

“เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการแพร่กระจายของอำนาจนิยมอย่างต่อเนื่อง พันธมิตรที่เป็นประชาธิปไตยควรร่วมมือกันในความร่วมมือมากยิ่งขึ้น” ไช่ อิ้ง หวิน กล่าวและย้ำถึงความสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์แถบอินโด-แปซิฟิกและรวมถึงการยึดมั่นแนวคิดระเบียบโลกว่า

“ไต้หวันจะปฏิบัติตามความรับผิดชอบระหว่างประเทศของตน และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับฝรั่งเศสและพันธมิตรของสหภาพยุโรปที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน เพื่อสนับสนุนสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้น”