เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สามเณรประยุทธ์ อารยางกูร พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อ พ.ศ.2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร เป็นรูปที่สองในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นรูปที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์

จึงได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2504 ณ พัทธสีมา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์

สอบได้ปริญญาพุทธศาสนาบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี 2504 และสอบได้วิชาชุดครู พ.ม. เมื่อปี 2506

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการนักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก

ผลงานที่เป็นที่รู้จัก เช่น พุทธธรรม เป็นต้น ได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานทำให้ได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

นอกจากนี้ ยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์รวมแล้วมากกว่า 15 สถาบัน ซึ่งนับว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์จะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค

เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ เส้นเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น

จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ

หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรประยุทธ์ได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ.2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับเป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอุปัชฌาย์

ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย

ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ.2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ

หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 10 แห่ง และได้รับรางวัล “การศึกษาเพื่อสันติภาพ” จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2537 ซึ่งได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตฺโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2549 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม


สมณศักดิ์

พ.ศ.2512 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี

พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรมุนี ศรีปริยัติบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที ศรีวิสาลปาพจนรจิต ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2536 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ.2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมปิฎก ปรากฏในหลายลักษณะ ทั้งในด้านการสอน การบรรยาย การปาฐกถา การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการแสดงพระธรรมเทศนา

ท่านได้รับอาราธนาไปสอนวิชาการทางพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ University Museum, University of Pennsylvania พ.ศ.2515 Swarthmore College, Pennsylvania ในปี พ.ศ.2519 และ Harvard University ในปี พ.ศ.2524

และเป็นพระสงฆ์ไทยที่ได้รับการระบุอาราธนาแสดงปาฐกถาในที่ประชุมนานาชาติ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง

เช่น ปาฐกถาในการประชุม The International Conference on Higher Education and the Promotion of Peace เรื่อง Buddhism and Peace ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2529

บรรยายในการประชุม Buddhistic Knowledge Exchange Program in Honor of His Majesty the King of Thailand เรื่อง Identity of Buddhism ซึ่งจัดโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2530

ปาฐกถาในการประชุม The Sixth Asian Workshop on Child and Adolescent Development เรื่อง Influence of Western & Asian Thought on Human Culture Development เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533

และได้รับนิมนต์ให้จัดทำสารบรรยายสำคัญ เรื่อง A Buddhist Solution for the Twenty-first Century ในการประชุมสภาศาสนาโลก (Parliament of the World”s Religions) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2536

งานนิพนธ์ในลักษณะตำรา เอกสารทางวิชาการ และหนังสืออธิบายธรรมทั่วๆ ไป เป็นที่รู้จักแพร่หลายในแวดวงวิชาการ มีจำนวนมากกว่า 230 เรื่อง เช่น พุทธธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ : ฉบับประมวลธรรม, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, ธรรมนูญชีวิต, การศึกษาของคณะสงฆ์ : ปัญหาที่รอทางออก, การศึกษาที่สากลบนรากฐานแห่งภูมิปัญญาไทย, Thai Buddhism in the Buddhist Economics, พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์, นิติศาสตร์แนวพุทธ เป็นต้น

พระธรรมปิฎกยังได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์สำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก

ทำให้การศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำอีกด้วย