Hikikomori บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่น’ ที่ ‘เด็กไทย’ ไม่ควรทำตาม/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Hikikomori บทเรียนจาก ‘ญี่ปุ่น’

ที่ ‘เด็กไทย’ ไม่ควรทำตาม

 

ชื่อเล่นของ Hikikomori (ฮิคิโคโมริ ひきこもり) คือ “ฮิกกี้” แปลความถึง ผู้ที่ทยอยตัดสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทั่งค่อยๆ ถอนตัวเองออกจากสังคมในที่สุด

“ฮิกกี้” ในญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อม เช่น ถูก Bully รุนแรง หรือประสบสถานการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างหนักหน่วง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ส่งผลให้ปฏิเสธสังคม ไม่อยากปรากฏตัวในที่สาธารณะ กลัวความล้มเหลว

“ฮิกกี้” จึงมักเผาเวลาแต่ละวันไปกับความโดดเดี่ยว อ่านการ์ตูน เล่นเกม เล่น Net ดู TV นั่งๆ นอนๆ อยู่ในห้องส่วนตัว ไม่สนใจการเรียน ไม่ทำงานทำการ

ทำเช่นนี้ได้เพราะ “ฮิกกี้” กินนอนอยู่บ้านพ่อแม่ แน่นอน ค่าใช้จ่ายคือการอาศัยกระเป๋าตังค์บิดามารดา บ้านไหนฐานะดีหน่อย ปัญหาอาจไม่ปะทุ แต่ถ้าครอบครัวอัตคัด ไม่มีบำนาญ พ่อแก่แม่เฒ่าจำต้องออกไปหาลำไพ่เพื่อเลี้ยงดู “ฮิกกี้”

ศัพท์อีก 2-3 คำที่ใกล้เคียงกับ “ฮิกกี้” หรือ Hikikomori ก็คือ Jobless NEETs และ Freeter

Jobless หมายถึง คนว่างงานที่อยากทำงาน แต่ยังหางานไม่ได้ ส่วน Freeter หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า “ฟรีตะ” หมายถึงคนซึ่งชอบทำงานต่ำกว่าวุฒิที่ตัวเองเรียนจบมา เช่น งานในร้านสะดวกซื้อ งานแจกสินค้าทดลอง และงานในร้านอาหาร

เหตุผลก็คือ Freeter เบื่อการทำงานประจำที่เคร่งเครียด จึงหนีความซ้ำซากจำเจ ลาออกมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ แทน

นอกจากนี้ Freeter มักจะเปลี่ยนงานบ่อย และย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นคนไม่มีหลักแหล่ง Freeter จึงเป็นกลุ่มคนที่สวนทางกับวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นรุ่นพ่อรุ่นแม่อย่างสิ้นเชิง

เพราะเป็นที่ทราบกันดี ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ทำงานหนักมาก คนญี่ปุ่นรุ่นเก่านอกจากทำงานหนัก ยังทำงานที่เดิมกันจนเกษียณอายุ ไม่ลาออกจากองค์กรกันง่ายๆ

และในอดีต ส่วนใหญ่ Freeter อาจเป็นกลุ่มนักศึกษาต่างชาติในญี่ปุ่น ที่เรียนไปด้วยหางานทำเล็กๆ น้อยๆ ไปด้วย แต่ปัจจุบัน มีการสำรวจกันว่า มี Freeter ชาวญี่ปุ่นราว 10 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจพอสมควร

กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นกังวลสำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น ที่จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหา Freeter ค่อนข้างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรวมจำนวน Freeter กับ NEETs เข้าด้วยกัน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 10% ของจำนวนประชากรของญี่ปุ่นเลยทีเดียว!

เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนกำลังคนวัยแรงงาน เนื่องจากญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบมานานแล้ว

จากอัตราประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสัดส่วนเด็กเกิดใหม่ลดลงสวนทางอย่างต่อเนื่อง โดยหญิงชาวญี่ปุ่น 1 คนจะมีบุตรเฉลี่ยที่ 1.4 คนเท่านั้น!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราคนเกิดน้อยกว่าคนตายเป็นเวลาหลายปีติดๆ กันมาอย่างยาวนาน ทำให้ญี่ปุ่นมีประชากรวัยทำงานน้อยลง ผนวกด้วยการเกิดขึ้นของ NEETs

 

NEETs ย่อมาจาก Not in Education, Employment or Training (ไม่เรียนหนังสือ, ว่างงาน, ไม่ยอมฝึกฝนทักษะ)

NEETs หมายถึง คนขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นทศวรรษที่ 1990

โดยหนึ่งในสาเหตุของการเกิด NEETs เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซาอย่างหนักในยุค 90 ทำให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มคนสาวเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ระบบการทำงาน หรือ Trend การประกอบอาชีพยุคใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ถือเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กจบใหม่หลายคนซึ่งต้องปรับตัวให้เข้ากับกลไกต่างๆ ที่ยังเป็นโครงสร้างแบบเก่า

อีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิด NEETs ก็คือ คนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่จำนวนมาก มีทัศนคติการทำงานที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่

กล่าวคือ พวกเขาไม่สนใจงานที่ไม่ตรงกับความต้องการ และไม่รู้สึกว่าสถานะ Salaryman หรือ “มนุษย์เงินเดือน” เป็นเส้นทางก้าวหน้าแห่งอาชีพสายเดียวอีกต่อไป

เมื่อผนวกกับวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น ที่ไม่นิยมเปิดเผยเรื่องของตนเอง หรือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก เลือกเดินบนถนนคน NEETs

 

ทุกวันนี้ แนวโน้ม Jobless NEETs และ Freeter หรือ Hikikomori กำลังทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ร้อนถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เพียรพยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวอย่างไม่ลดละ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ริเริ่มมาตรการป้องกันการเกิด NEETs ดูแลไม่ให้ตัวเลขเพิ่มมากขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2004

โดยจัดทำหลักสูตร Job Education หรือ “แบบเรียนวิชาชีพ” เพื่อสอนให้นักเรียนในโรงเรียน เข้าใจบทบาทภาระหน้าที่ของตนต่อสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานหลังจบการศึกษา ถือเป็นการสร้างทัศนคติเชิงบวกสำหรับการทำงานในอนาคตของเด็กๆ

หลักสูตร Job Education มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่า การมีอาชีพที่มั่นคง คืออุดมคติที่ดีงาม มากกว่าการดึงตัวเองออกไปเป็น NEETs หรือ Freeter

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินโครงการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย กับบริษัทห้างร้านต่างๆ

เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าไปฝึกงานแบบสหวิชาชีพ ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย เพื่อสั่งสมประสบการณ์ทำงานก่อนเรียนจบ

ซึ่งทางการญี่ปุ่นได้มีการจัดตั้ง Youth Camp หรือ “ค่ายเยาวชน” ขึ้นเป็นจำนวนมาก วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีทักษะการเข้าสังคมที่ดี เพื่อให้พวกเขาได้ปรับตัวในโลกแห่งการทำงานต่อไปในอนาคต

 

แน่นอนว่า จากข้อมูลข้างต้น กลุ่มที่ดูน่าจะเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ Hikikomori

เพราะอย่างที่บอกไป Hikikomori คือผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์ หรือเรื่องราวทางสังคมที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้กลัวการเข้าสังคม กลัวความล้มเหลว นำไปสู่โรคซึมเศร้า

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญเบื้องต้นที่จะช่วย Hikikomori ได้ก็คือสถาบันครอบครัว และเพื่อนฝูงนั่นเอง

ซึ่งหากคนรอบตัวเราเริ่มมีพฤติกรรมที่เข้าข่าย Hikikomori ดังกล่าว อย่าตำหนิ หรือต่อว่า แต่ต้องปรับความเข้าใจ ชวนคุยให้มาก ถ้าสัญญาณดีขึ้น ก็ให้เริ่มชวนกันไปทำกิจกรรมนอกสถานที่

นอกจากการพูดจากันอย่างใกล้ชิดแล้ว ทัศนคติของคนในครอบครัว หรือมิตรสหาย ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเอาใจใส่ และกำลังใจ ก็มีน้ำหนักค่อนข้างมาก

เพราะแท้ที่จริงแล้ว เด็กๆ ควรได้รับการศึกษา หรือได้รับการฝึกฝนทักษะการทำงาน และต้องปลอบใจเขาว่า เด็กทุกคนมีคุณค่า ทุกคนสามารถทำสิ่งต่างๆ และสามารถพัฒนาตนเองได้เหมือนคนอื่น

พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรตำหนิติเตียน บ่นว่าด่าทอ หรือมีมุมมองว่าบุตรหลานเป็นคนไม่เอาไหน ซึ่งจะส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเด็กลดน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบไม่อยากจะทำอะไรต่อไปอีกเลย

เพราะหากเรายิ่งไม่ใส่ใจ ปล่อยปละละเลย ให้ Hikikomori ถลำลึกลงสู่ “โลกแห่งการเก็บตัว” นานเท่าไร Hikikomori ก็ยิ่งมีโอกาสแยกห่างจากสังคมมากขึ้นเท่านั้น

และในที่สุด พวกเขาก็จะจากโลกนี้ไปอย่างเดียวดาย!