‘เชยองซ็อก’ สู่ ‘ชัชชัย’ การเข้าสู่เป็นคนไทยเต็มตัว / เขย่าสนาม : เด็กเก็บบอล

เขย่าสนาม

เด็กเก็บบอล

[email protected]

 

‘เชยองซ็อก’ สู่ ‘ชัชชัย’

การเข้าสู่เป็นคนไทยเต็มตัว

 

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยมาอย่างยาวนานถึง 20 ปี ในที่สุด “โค้ชเช” เช ยอง ซ็อก ก็จะได้เป็นประชาชนคนไทยเต็มตัวเสียที

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมาประกาศด้วยตัวเองว่าได้ลงนามคำสั่งมอบสัญชาติไทยให้กับโค้ชเช หลังจากดูแลเรื่องกีฬาให้ประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ชายหนุ่มที่ชื่อว่า เช ยอง ซ็อก นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2517 ที่เมืองซองนัม ประเทศเกาหลีใต้ มีความชื่นชอบด้านกีฬาตั้งแต่ยังอายุน้อย เริ่มต้นด้วยการเป็นนักกีฬากรีฑา จนกระทั่งอายุ 12 ปี ได้รู้จักกีฬาเทควันโดและสนใจ จนลงแข่งขันชิงแชมป์ประเทศเกาหลีใต้ได้เหรียญทองแดง ทำให้กลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้เล่นเทควันโดต่อไป

ถึงจะไม่ได้ก้าวไปถึงระดับทีมชาติ แต่เขาก็ได้เลือกเส้นทางการเป็นโค้ช และเริ่มต้นด้วยการเป็นโค้ชให้กับ ทีมชาติบาห์เรน เมื่อปี 2000 รับเงินเดือนครั้งแรกราวๆ 4,000 เหรียญสหรัฐ (ราวๆ 160,000 บาทในเวลานั้น) ทว่าอยู่ไม่ครบสัญญา 2 ปี ก็กลับเกาหลีใต้ ประกอบกับช่วงเวลานั้นคุณแม่เสียชีวิต จึงทำให้เศร้าเสียใจจนไม่อยากออกไปทำงานต่างประเทศอีก

ทว่าโชคชะตาฟ้าลิขิต ให้ สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย กำลังหาโค้ชใหม่เมื่อตอนปี 2002 หลังจากที่โค้ชคนเก่ามีปัญหากลับประเทศไป ทำให้ติดต่อไปยังสหพันธ์เทควันโดโลก ก่อนที่จะส่งโค้ชเชเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอน โดยตอนนั้นมีสัญญาระยะสั้นๆ แค่จบ เอเชี่ยนเกมส์ ที่เมืองปูซาน

โค้ชเชจึงเดินทางมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2002 มีเวลาไม่นานที่จะต้องพาจอมเตะไทยไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ ทว่ากลับสามารถพานักกีฬาไทยเข้าชิงได้ถึง 2 รุ่น แม้ว่าจะแพ้ให้เจ้าภาพทั้งสองรุ่น แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากนักกีฬาให้อยู่ต่อ

ตอนนั้นโค้ชเชขนข้าวของกลับไปเกาหลีใต้โดยที่ไม่คิดว่าจะกลับมาเมืองไทยอีก แต่สุดท้ายจากการเรียกร้องของนักกีฬารวมถึงสมาคม สุดท้ายโค้ชเชใจอ่อน ยอมกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง

และถือว่าเป็นจุดเริ่มสู่ความสำเร็จของทัพจอมเตะไทยก็ว่าได้

 

หลังจากนั้นโค้ชเชสามารถสร้างนักกีฬาเทควันโดไทยให้เติบโตไปในระดับโลก เริ่มด้วยการพา “วิว” เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งนับเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของกีฬาเทควันโดไทย

ก่อนที่ประเทศไทยจะสามารถคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ได้ทุกครั้งนับตั้งแต่ที่โค้ชเชมาอยู่ ไล่ตั้งแต่ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้เหรียญเงินจาก “สอง” บุตรี เผือดผ่อง, ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ ต่อด้วยปี 2016 ที่นครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ได้ 1 เงินจาก “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ และ 1 ทองแดงจาก “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

จนกระทั่งมาถึงโอลิมปิกเกมส์ครั้งล่าสุดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โค้ชเชก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้กับคนไทย พาน้องเทนนิสคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

นอกเหนือจากผลงานในระดับโอลิมปิกเกมส์ เฮดโค้ชชาวเกาหลีใต้ยังสามารถพานักกีฬาไทยก้าวไกลไปถึงการคว้าแชมป์โลกมาได้แล้วถึง 5 คนด้วยกัน ได้แก่ “จูน” รังสิญา นิสัยสม, “แม็กซ์” ชัชวาล ขาวละออ, ชนาธิป ซ้อนขำ, พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และ “นก” พรรณนภา หาญสุจินต์

 

สิ่งหนึ่งที่โค้ชเชเข้ามามอบให้กับประเทศไทย ไม่ใช่แค่เหรียญรางวัล แต่เป็นการขัดเกลานักกีฬาให้มีระเบียบวินัยแบบชาวเกาหลี จนทำให้ประสบความสำเร็จแบบนี้ได้ นอกจากนี้ เจ้าตัวยังรักประเทศไทยมาก แม้จะได้รับการเชื้อเชิญจากหลายๆ ชาติ ให้เงินเดือนมากกว่าหลายเท่า แต่โค้ชก็เลือกที่จะไม่ไปไหน เพราะไม่ต้องการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเพื่อเป็นศัตรูกับลูกศิษย์ตัวเองอย่างนักกีฬาไทย

ตลอด 20 ปีที่โค้ชเชอยู่เมืองไทยมา สิ่งที่มักจะมาเป็นกระแสอยู่เป็นระยะๆ นั่นคือเรื่องของการขอสัญชาติไทย เนื่องจากว่าตัวโค้ชเชเองต้องการลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศไทย นอกเหนือจากการเป็นโค้ชเทควันโดแล้ว โค้ชเชเองก็รักเมืองไทยอย่างมากและตั้งใจจะอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิต ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่จบ โอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ประเทศอังกฤษ

แต่ที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้มันไม่ง่าย สาเหตุหนึ่งก็เพราะกฎหมายของประเทศเกาหลีนั้นไม่สามารถถือสองสัญชาติได้ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นโค้ชเชไม่ต้องการให้คุณยายที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็กนั้น มองว่าทิ้งสัญชาติเกาหลีใต้ไป จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถเลือกเปลี่ยนสัญชาติได้

จนกระทั่งคุณยายของโค้ชเชนั้นเสียชีวิตลง ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะละสัญชาติเกาหลีใต้ และมาเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว

จริงๆ แล้วโค้ชเชนั้นตั้งใจที่จะเปลี่ยนสัญชาติให้ทันก่อนโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียวที่ผ่านมา เพื่อต้องการเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ได้ แต่ด้วยติดเรื่องเอกสารหลายๆ อย่างทำให้ทุกอย่างไม่ทัน

กว่าจะได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังก็ต้องรอกลับมาจากโอลิมปิกเกมส์ไปแล้วนั่นเอง

 

เดิมทีโค้ชเชเคยมีชื่อไทยว่า “ชัยศักดิ์” (อ่านว่า ชัย-ยะ-ศักดิ์) ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่” เป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับชื่อเกาหลีใต้อย่างเช ยอง ซ็อก ด้วย

แต่เมื่อจะเปลี่ยนมาถือสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการ โค้ชเชได้ขอให้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือเจ้าคุณธงชัย ตั้งชื่อให้ใหม่ โดยให้เลือกมา 3 ชื่อ ก่อนที่โค้ชเชจะเลือกชื่อ “ชัชชัย” อันมีความหมายว่า “ชัยชนะที่มั่นคง” ซึ่งจะเป็นชื่อที่อยู่ในบัตรประชาชนของโค้ชเชต่อไป

ต้องยอมรับว่าจากการช่วยเหลือของหลายๆ ภาคส่วน ทั้งตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ที่ช่วยกันเร่งรัดขั้นตอนต่างๆ จากที่ปกติต้องใช้เวลากัน 2-3 ปีในการเปลี่ยนสัญชาติ ทุกอย่างกลับจบลงด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 6 เดือนดี

จากนี้ไป โค้ชเชก็จะกลายเป็นคนไทยแบบเต็มตัว เป็นโค้ชคนไทยที่นำเหรียญรางวัลกลับมาให้คนไทยได้ โดยเฉพาะอีก 2 ปีข้างหน้ากับโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

คราวนี้คงถึงเวลาเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาคว้าเหรียญทองให้ประเทศไทยได้เสียที