เรียม ในอนาคต/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เรียม ในอนาคต

 

“…โรลองด์ มิเยร์ เคยเขียนบทความไว้ในวารสารของทางการอินโดจีน แต่ในนามของกำโปด เรียมต่างหากคือสะดือของเขมร เป็นยุทธศาสตร์ทางทะเลที่บารังหวงแหนวางให้เรียมเป็นจุดผ่านระหว่างตนกับสยาม…”

อภิญญา ตะวันออก, เรียมเองฯ, มติชนสุดสัปดาห์ 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 40

 

อภิญญา ตะวันออก ให้ภาพของเรียม (Ream) ฐานทัพเรือของกัมพูชาทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ดีมาก ผมอยากขยายมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ล้อมเรียมให้เห็น

อภิญญา ตะวันออก และผมอ้างถึงภาพจากดาวเทียมแสดงเครื่องจักรกำลังทำงานที่ฐานทัพเรือเรียม ผมไม่ทราบว่า ภาพดาวเทียมมาจากโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐหรือไม่ อีกทั้งยังมีการอ้างข้อตกลงลับระหว่างจีนกับกัมพูชาด้วย

อย่างไรก็ตาม หากดูพัฒนาการและปัจจัยต่างๆ แล้ว มีความเป็นไปได้สูงเลยทีเดียว

จุดเริ่มต้น คือปี 2022 ทางการกัมพูชาทำลายอุปกรณ์ทางทหารที่สหรัฐได้สร้างไว้ที่เรียม ทำให้สหรัฐกังวลว่าการทำลายนี้เกี่ยวข้องกับ ข้อตกลงลับปี 2019 ในการใช้อุปกรณ์ทางทหารระหว่างกองทัพเรือจีนและกัมพูชา

 

ผลประโยชน์ของจีน

การปรากฏตัวกองทัพเรือจีนที่เรียมจะอนุญาตการสร้างดุลยภาพจีนกับสหรัฐ ณ จุดตรวจที่ช่องแคบมะละกา เพิ่มความมั่นคงต่อผลประโยชน์จีนที่ก่อตัวขึ้นในอ่าวไทยและการสร้างพื้นที่ขนาบข้างด้านใต้ให้กับจีน การมีฐานทัพเรือของจีนที่เรียมอาจสำคัญในการแก้ปัญหา Malacca Dilemma1 อันเป็นเส้นทางด้านการค้า รวมทั้งใช้ผ่านการนำเข้าพลังงานจากตะวันออกกลาง ช่องแคบมะละกาทำให้จีนอ่อนแอ หากมีการบล็อกของกองเรือสหรัฐเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ศักยภาพของฐานทัพเรือจีนที่เรียมจะยกระดับสถานะของจีนในทะเลจีนใต้ด้วย โดยเฉพาะการแข่งขันกันอ้างกรรมสิทธิ์กับเวียดนาม เรียมอันเป็นฐานทัพเรือตอนใต้ของจีน จะอนุญาตจีนให้ห้อมล้อมและทำเกินความสามารถไปจำกัดกองเรือรบเวียดนาม การเสริมสร้างกองทหารทางทะเลจีน และการนำหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกลับมาใช้ของจีน ในทางกลับกัน อาจสร้างความเป็นศัตรูต่อกัน ที่นำไปสู่การคำนวณผิดพลาด แล้วเกิดการเผชิญหน้าระหว่างกันได้

เรียมยังเป็นหลักประกันของจีนที่ลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จ้าวผิว (Kyaukphyu) ในเมียนมา และอยู่ภายใต้ความตกลง China-Myanmar Economic Corridor-CMEC อันรวมเส้นทางไฮเวย์ ระบบขนส่งเชื่อมท่าเรือจ้าวผิวไปยังมณฑลยูนนานแลนด์ล็อกตอนใต้ของจีน

ดูเหมือนว่า เรียมเป็นหลักประกันสำคัญมากขึ้น เมื่อสถานการณ์ในเมียนมาเลวร้ายและไม่แน่นอน ด้วยการเพิ่มขึ้นของการก่อการร้ายในเมียนมา ด้วยเมียนมาต้องจัดการการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ที่สำคัญมาก มีความเป็นไปได้ที่เมียนมาจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว (failed state)

ทั้งหมดนี้ทำให้จีนสงสัยศักยภาพของเมียนมาในการรักษาผลประโยชน์ของจีน

 

เรียม ผลประโยชน์ของกัมพูชา

กัมพูชาเห็นการปรากฏตัวของฐานทัพเรือจีนที่เรียม เป็นหลักประกันในการต่อต้านเพื่อนบ้านกัมพูชา ที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่าคือ ไทยและเวียดนาม ไทยและกัมพูชายังอยู่ในความขัดแย้งทางทะเลเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันและก๊าซในอ่าวไทยที่สามารถขยายตัวได้ ถ้าซับพลายพลังงานไทยจากฝั่งเมียนมาเสี่ยงอันตรายจากความขัดแย้งทางทหารในเมียนมาเพิ่มขึ้น

กัมพูชายังอาศัยฐานทัพเรือจีนที่เรียม เพื่อเป็นหลักประกันจากการที่ไทยและเวียดนามเคลื่อนไหวส่งผลต่อสถานะของกัมพูชาในอาเซียน

เรื่องนี้มีบทเรียนแล้ว กัมพูชาสกัดอาเซียนที่เสนอ แถลงการณ์ร่วมเมื่อปี 2012 และ 2016 เรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่จีนเผชิญหน้ากับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม

เวียดนามและกัมพูชามีความขัดแย้งในประวัติศาสตร์มายาวนาน พื้นที่ปากนกแก้ว กัมพูชายื่นเข้าไปในเวียดนามตอนใต้ พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเป็นปากแม่น้ำโขง ชาติพันธุ์เวียดที่ขยายอิทธิพลและพื้นที่ลงใต้และเข้าไปในดินแดนคนขะแมร์ตั้งแต่อดีต เวียดนามรุกรานกัมพูชาปี 1979 แล้วเวียดนามยึดครองกัมพูชาในเวลาต่อมาจนถึงปี 1989

เมื่อไม่นานนี้เองกัมพูชาทำอุโมงค์ในพื้นที่ขัดแย้งชายแดนกับเวียดนาม แล้วนักเคลื่อนไหวกัมพูชาอ้างว่า ประเทศของพวกเขาได้สูญเสียพื้นที่เพาะปลูกให้เวียดนาม

รัฐบาลกัมพูชาปักปันเขตแดนภายใต้สนธิสัญญาปี 1985 อันเป็นช่วงที่เวียดนามยึดครองกัมพูชา นี่อาจเป็นสาเหตุที่กัมพูชามองว่าเสียเปรียบเรื่องเขตแดนกับเวียดนามมาตลอด แล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที

ส่วนเวียดนามมีความเป็นไปได้มากที่เวียดนามเพิ่งก่อสร้างหน่วยรบทางทะเลใหม่ของตนในจังหวัด Kiem Giang ชายแดนติดกับจังหวัดกำปอด (Kampot) ของกัมพูชา อันนี้นับเป็นปฏิกิริยาของเวียดนามต่ออิทธิพลที่มากขึ้นของจีนในกัมพูชา ซึ่งบางทีคาดการณ์ว่ามีการใช้ฐานทัพเรือจีนที่เรียม

 

ทางเลือกของไทย

กล่าวได้ว่า คลองกระ หรือคลองไทย ที่เปลี่ยนชื่อให้นุ่มนวลและโน้มน้าวกลุ่มต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะเป็นชาตินิยมหน่อมแน้ม ให้ฝ่ายต่างๆ เห็นว่า คลองไทยเป็นคลองที่สร้างขึ้นเพื่อคนไทย คลองของคนไทย เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของต่างชาติและล็อบบี้ยิสต์ และแลนด์บริจด์ ระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย อันเป็นข้อเสนอที่มีมายาวนาน

แต่ไทยกังวลว่า ไทยกลายเป็นเป้าหมายของการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ มีต้นทุนการก่อสร้างอันมหาศาล เป็นการแยกกายภาพของประเทศคือ ตัดขาดพื้นที่ตอนใต้ออกไปเลย อันเป็นความรู้สึกชาตินิยมแนวด้ามขวานทอง อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการคลองกระยังอยู่ในกระดาษต่อไป

แม้จีนแสดงความสนใจในโครงการนี้ แต่ทางการไทยเสนอว่า ไทยจะพิจารณาโครงการทำร่วมดำเนินการหลายๆ ชาติ มากกว่าครอบงำโดยจีนเพียงประเทศเดียว

 

พัฒนาการใหม่จากจีน

คลองกระ นับเป็นโครงการตัวอย่างในความพยายามของทางการจีน น่าสนใจ จีนมีโครงการทางเลือกที่รายล้อมไทย จนกระทั่งดูเหมือนจีนมีลูกเล่นกับไทยหลายด้าน เพื่อลดความล้มเหลวการผลักดันของจีนต่อไทย จีนมีโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่ผลักดันต่อทางการไทย ดูเหมือนว่า ความล่าช้าของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟไทย-จีนสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ยิ่งเมื่อโครงการรถไฟจีน-ลาวเสร็จแล้วเริ่มเดินรถแล้ว จีนยิ่งเร่งมากขึ้น ควบกันกับคลองกระ ทางการจีนรู้ดีถึงข้อถกเถียงต่างๆ นานาในไทย แล้วยังมีการผลักดันผ่านล็อบบี้ยิสต์ทั้งในรัฐสภาและในสถาบันการศึกษา รวมทั้งในจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ของไทยด้วย

ยังมีความล่าช้าและข้อถกเถียงเรื่อง จัดซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาลไทย โดยเรือดำน้ำจีนก็เป็นข้อเสนอที่ถูกหยิบยกมาเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง

จีนนำเสนอข้อเสนอใหม่คือ จีนจะมอบเรือดำน้ำจีนมือสอง ให้ทางการไทยฟรี จีนอาจเข้าใจข้อจำกัดของไทยเรื่องงบประมาณท่ามกลางการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจไทย แล้วทางกองทัพเรือได้ถอนข้อเสนอโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำเพราะยากที่จะได้รับการพิจารณาตอนนี้

น่าสนใจคือ เรือดำน้ำจีนมือสอง ช่วยปิดช่องว่างแรงผลักดันจัดซื้อเรือดำน้ำจีน แต่เสริมพอดีกับฐานทัพเรือจีนที่เรียมในกัมพูชา

คลองกระ รถไฟไทย-จีน เรือดำน้ำจีน ฐานทัพเรือจีนที่เรียม ช่างพอดีเกินไป

1ทางการจีนให้ความสำคัญต่อ Malacca Dilemma มาก มีปรากฏในนโยบายความมั่นคงยิ่งยวดแห่งชาติของจีน แล้วยังปรากฏในแผนการด้านต่างประเทศอีกหลายแผน