ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
บทเรียนจะนะ
กับนโยบายปิดล้อมตรวจค้น
และวิสามัญชายแดนใต้
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
เหตุการณ์ปิดล้อมล่าสุดที่ อ.จะนะ ซึ่งมีการวิสามัญ 3 ราย และยอมมอบตัว 1 ราย อันเป็นข่าวดัง ซึ่งในส่วนของรัฐมองถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จะละเว้นมิได้
โดยรายงานของหน่วยความมั่นคง แจ้งว่ามีการเจรจาก่อนวิสามัญ แต่เมื่อฟังจากชาวบ้าน ก็บอกว่ามีการวิสามัญก่อนเจรจา จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพราะมองว่าสื่อก็ได้รับข้อมูลเฉพาะจากหน่วยความมั่นคง
เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา บ้านโคกเค็ด หมู่ที่ 6 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุว่า สืบเนื่องมาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมปัตตานี ได้สืบทราบว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา จึงได้สนธิกำลัง 3 ฝ่ายเข้าดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงดังกล่าว
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 05.30 น.
ทางเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนด้วยการเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น เครือญาติได้เกลี้ยกล่อมผู้ก่อเหตุให้ออกมามอบตัว
แต่การเจรจาไม่เป็นผล กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้วิ่งฝ่าวงล้อมออกมาและยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่
ในขั้นต้นคาดว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงน่าจะเสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย 1.นายศรัทธา อาแว 2.นายสุรินทร์ กาเส็ง 3.นายอดินันท์ ดอเลาะ และยังมีอีก 1 ราย ที่กำลังหลบซ่อนอยู่ในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ออกมามอบตัว
ทั้งนี้ ในขั้นต้นมีอาวุธที่ยึดได้จากผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย ปืนซุ่มยิง 1 กระบอก ปืน ak47 1 กระบอก และปืนลูกโม่อีก 1 กระบอก
ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงระบุว่ามีบางกลุ่มได้พยายามบิดเบือนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าได้มีการยิงต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตในมัสยิด แต่ในความเป็นจริง กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เสียชีวิตภายในบ้านที่อยู่ตรงข้ามกับมัสยิด ไม่ได้เสียชีวิตภายในมัสยิดตามที่มีบางกลุ่มพยายามบิดเบือนการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีการยิงตอบโต้ใส่ศาสนสถานหรือมัสยิดแต่อย่างใด
ภายหลังจากทราบเหตุการณ์ดังกล่าวทาง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ หน่วยที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ใช้การเจรจาเกลี้ยกล่อมให้ผู้ก่อเหตุที่เหลือได้ออกมามอบตัวเพื่อต่อสู้คดีตามกฎหมายให้มากที่สุด
แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจ นายสุทธิศักดิ์ หมีนเส็น ชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บเหยียบกับระเบิดที่คนร้ายลอบนำมาวางเอาไว้บริเวณสะพานรถไฟ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังมีเหตุวิสามัญ สั่งหน่วยในพื้นที่เร่งซ่อมแซมบ้านเพื่อรองรับการใช้ชีวิต โดยท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ได้พูดคุย สอบถามอาการตลอดจนกล่าวให้กำลังใจ ขอให้มีขวัญ และกำลังใจที่ดีกลับมาใช้ชีวิตเพื่อครอบครัว และด้วยเนื่องจากนายสุทธิศักดิ์มีฐานะยากจน มีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 6 คน แม่ทัพภาคที่ 4 จึงได้มีดำริให้หน่วยในพื้นที่เข้าทำการต่อเติม และซ่อมแซมบ้านให้ใหม่ เพื่อรองรับการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่เพิ่มความระมัดระวัง และความเข้มงวด ประสานกำลังทุกภาคส่วนรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน
ส่วนนายสุทธิศักดิ์ หมีนเส็น มีกำลังใจมากขึ้นแล้วตามลำดับ โดยได้กล่าวขอบคุณแม่ทัพภาคที่ 4 หน่วยงานในพื้นที่ที่ได้หมุนเวียนมาเยี่ยมให้กำลังใจ และช่วยเหลือครอบครัว
ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ หากพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือบุคคลต้องสงสัยเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ สามารถแจ้งได้ที่เบอร์สายตรงแม่ทัพภาคที่ 4
วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เขียนได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ พบชาวบ้านและตัวแทนผู้นำที่อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งให้ข้อมูลต่อเรื่องนี้ว่า “ในการเข้าปิดล้อมเจ้าหน้าที่พยายามเจรจาให้มอบตัว โดยเชิญผู้นำศาสนา และครอบครัวมาช่วยเกลี้ยกล่อม เกิดขึ้นหลังวิสามัญไปแล้ว 3 ราย และผู้นำศาสนา และครอบครัวมาช่วยเกลี้ยกล่อม นั้นเพียง 1 รายจนประสบความสำเร็จ”
เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในเหตุการณ์ปิดล้อมล่าสุดที่ อ.จะนะ ซึ่งมีการวิสามัญ 3 ราย และยอมมอบตัว 1 รายนั้นควรถอดบทเรียน ที่สำคัญที่สุดยังต้องพิสูจน์การวิสามัญทั้ง 3 ศพ เพราะจากรายงานของหน่วยความมั่นคง แจ้งว่ามีการเจรจา แต่เมื่อฟังจากชาวบ้าน ก็บอกว่ามีการวิสามัญก่อนเจรจา ดังนั้น ต้องทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อสร้างชุดข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างความมั่นใจต่อชาวบ้านและสาธารณะ ซึ่งต้องยอมรับในความจริงว่า สื่อส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดหรือได้รับข้อมูลจากหน่วยความมั่นคงฝ่ายเดียว
นายอับดุลอซิส ตาเดอินทร์ กรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฯ เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ฟังข้อมูลรอบด้านจากทุกฝ่าย รวมทั้งให้มีกรรมการกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้หลังกรณี วิสามัญ 3 ศพ และมอบตัว 1คน หลังลงพื้นที่พบชาวบ้านจะนะ
เพราะข้อมูลระหว่างชาวบ้านกับรัฐยังสวนทางกันในบางประเด็น
ในรอบ 13 เดือน มีเหตุปะทะกัน 14 ครั้ง วิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตแล้ว 29 ราย ในส่วนของจะนะวิสามัญ 3 มอบตัว 1 หลังเจรจากว่า 9 ชั่วโมง
แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ยืนยันต่อหน้าผู้นำศาสนาอิสลามและการศึกษา รวมทั้งทุกภาคส่วนในเวที สล.3 ว่า “ไม่มีนโยบายจับตายแน่นอน ครั้งต่อไปเจ้าหน้าที่จะอดทนมากขึ้น”
โดยแม่ทัพภาคที่ 4 สะท้อนความรู้สึกว่า “ลูกน้องผมก็โดนกระสุน ผมหัวใจไม่เปื้อนเลือดแน่นอน ผมหลั่งน้ำตาเช่นกันเมื่อเกิดความสูญเสีย ไม่ว่าใครสูญเสียย่อมมีผลกระทบแน่นอน ซึ่งในกรณีที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส กำลังอยู่ในระยะการซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย ส่วนเรื่องคดีก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน”
ทัศนะของแม่ทัพภาคที่ 4 สอดคล้องกับทัศนะ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่ย้ำต่อหน้าผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา การศึกษาและทุกภาคส่วน ว่า การวิสามัญมิใช่นโยบาย ต้องการให้มอบตัว หลักการคือ เมื่อไม่มีการกระทำผิดกฎหมายก็ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย ด้วยสันติวิธีและการปฏิบัติการทางทหาร
โดยแม่ทัพน้อยที่ 4 อธิบายว่า สันติวิธี คือเปิดทางถอยหรือปรึกษาหารือ (ประสาน / ติดต่อ / ขอคุย) สานใจสู่สันติ คือพูดคุยสันติสุข (ร่วมพูดคุยปัญหาค้นหาทางออก บอกเท่าที่ทำได้ แยกย้ายกันไปเมื่อไม่ได้ข้อตกลง หรือดำรงคุยต่อถ้าพอไปกันได้) เชิญตัวมาซักถาม คือการปฏิบัติตามกฎหมายความมั่นคง เพื่อหาที่มา / สาเหตุ
ไม่มีมูลพากลับบ้านให้การเยียวยา
มีมูลส่งตำรวจใช้ ป.วิอาญา
การมอบตัวต่อสู้คดี คือให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.วิอาญา เพื่อแก้ข้อกล่าวหา / พิสูจน์ความจริง
การปฏิบัติการทางทหาร (การบังคับใช้กฎหมาย) นำแนวทางสันติมาใช้ การวิสามัญมิใช่นโยบาย ต้องการให้มอบตัว และใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
แต่อำนาจรัฐต้องเข้มแข็ง เป็นธรรม โปร่งใส ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สังคมยอมรับ
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาฯ ศอ.บต. และเลขาธิการพรรคประชาชาติ บอกว่า “รัฐต้องลดความหวาดระแวงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น ควรจะมีฝ่ายที่ 3 เข้าไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุหลังการปะทะ ไม่ใช่มีแต่ทหารฝ่ายเดียว เมื่อปิดล้อมทุกครั้ง เราเห็นว่าไม่มีครั้งไหนที่ไม่ทำให้คนตายเลย ไม่เคยจับเป็นได้เลย ควรมีองค์กรกลางที่ไม่ใช่หน่วยที่ถือปืนมาร่วมตรวจสอบ ในที่นี้คือให้ศาล หรือให้คนกลางเป็นผู้มีอำนาจทำสำนวนชันสูตรศพว่าผู้ตายคือใคร ใครทำให้ตาย เป็นองค์กรอิสระ โดยไม่มีบุคคลหรือห้ามตำรวจ ทหารเป็นคณะกรรมการ”
ทัศนะของ พ.ต.อ.ทวีสอดคล้องกับทัศนะนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน (มูลนิธิผสานวัฒนธรรม) ในเวทีล้อมวงคุย : “เหตุปิดล้อมที่จะนะ” ความท้าทายต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้”
ซึ่งในเสวนาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะ10 ข้อ
ดังนี้
1.การรับคืนศพ เพื่อประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากศาสนาอิสลามให้ทำการฝังศพเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่การรับคืนศพ ในพื้นที่เป็นเรื่องล่าช้า ไม่มีการแจ้งญาติอย่างชัดเจนว่ามีการนำศพไปที่ไหน อย่างไร และไม่มีผู้ประสานงานกลาง และไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อสารโดยตรงกับญาติ
ข้อเสนอแนะ : อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการสื่อสารอย่างเป็นขั้นตอนกับครอบครัว และแจ้งจุดรับศพที่ชัดเจน ไม่กำกวม และไม่ปกปิดข้อมูลศพ
2. การยึดทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตหลังการปฏิบัติงาน ข้อเสนอแนะ : กรณีมีการยึดทรัพย์สิน เช่น เงิน โทรศัพท์ ทรัพย์สินส่วนตัว ควรมีการเซ็นเอกสารกำกับ ทั้ง 2 ฝ่าย โดยทำเอกสาร 2 ชุด เก็บให้เจ้าหน้าที่ 1 ชุด และญาติ 1 ชุด และควรคืนให้ญาติเมื่อสิ้นสุดการตรวจสอบ
3. การชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ เนื่องจากการเข้าจุดเกิดเหตุของนิติวิทยาศาสตร์ ต้องรอหลังการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งไม่มีใครทราบว่า ศพถูกจัดฉากหรือไม่ อย่างไร (กรณีนี้เป็นข้อกังขาของประชาชนอย่างมาก) ในบริเวณจุดเกิดเหตุ องค์กรอิสระไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติงานได้ในระยะรัศมีที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ได้
ข้อเสนอแนะ : องค์กรอิสระ ตัวแทนญาติ และผู้นำศาสนา ต้องสามารถเข้าจุดตรวจสอบหลักฐานในรัศมีที่กำหนดได้ เพื่อเข้าสังเกตการณ์การจัดเก็บหลักฐานให้ได้รับความเป็นธรรมและโปร่งใสที่สุด ตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายมาตรา 150 มีเจ้าหน้าที่รัฐรวมสี่ฝ่าย คือตำรวจ อัยการ แพทย์ชันสูตร และฝ่ายปกครอง ต้องสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุได้ ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติการทางทหารฝ่ายเดียว
4. การติดตั้งกล้องระหว่างการปฏิบัติงาน เมื่อการปฏิบัติงานมีแค่ข้อมูลฝั่งเดียว การสรุปโดยฝ่ายความมั่นคงเองจึงไม่มีความน่าเชื่อถือ ข้อเสนอแนะ : สิ่งที่สามารถหยุดข้อกังขานี้ได้ คือการติดตั้งกล้องไว้บนหมวกหรือเสื้อที่ตัวเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานด้วยในจำนวนที่มากพอ เพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจ ว่าได้ปฏิบัติงานจากเบาไปหาหนักอย่างแท้จริง
5. การใช้กำลังจากเบาไปหนัก ต้องเป็นไปตามหลักการใช้กำลังทางอาวุธ และงดการยิงไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เช่น สมองและหัวใจ ซึ่งเป็นจุดที่มุ่งหมายให้อีกฝ่ายเสียชีวิตทันที เป็นต้น
การปิดล้อมตรวจค้นจับกุมตามหมายจับหรือที่อ้างว่ามีการเจรจาแต่ไม่ยอมมอบตัวพึงกระทำต่อเมื่อจะเกิดภัยอันตรายในขณะเผชิญเหตุการณ์เท่านั้น ผู้ต้องสงสัยผู้ต้องหาตามหมายจับไม่ใช่พลรบที่จะสามารถใช้กำลังทหารกดดันให้เกิดการตอบโต้ทางทหาร
ข้อเสนอแนะ : ขอให้ฝ่ายความมั่นคงแยกการบังคับใช้กฎหมายของตนด้วยความเข้าใจว่า การปะทะกับผู้ต้องสงสัยพึงกระทำได้ด้วยเหตุป้องกันตัวตามกฎหมายอาญาเท่านั้น ไม่ใช่การใช้กำลังจากเบาไปหาหนักซึ่งเป็นกฎการสู้รบในสภาวะสงคราม จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่พื้นที่สงครามแต่รัฐไทยไม่ยกเลิกกฎอัยการศึกเพราะเป็นเหตุผลทางการเมืองซึ่งสร้างความเสียหายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
6.การซ่อมแซมจุดเกิดเหตุหลังการปฏิบัติงานทันที เช่น การซ่อมแซมบ้านที่เกิดเหตุ ข้อเสนอแนะ : ควรมีการซ่อมแซมหลังได้รับคำสั่งจากนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น มิใช่การปกปิดการกระทำหรือใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
7. การชันสูตรศพโดยแพทย์ในที่เกิดเหตุ ตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมายมาตรา 150 มีเจ้าหน้าที่รัฐรวมสี่ฝ่าย คือตำรวจ อัยการ แพทย์ชันสูตร และฝ่ายปกครอง ต้องสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุได้ ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติการทางทหารฝ่ายเดียว ข้อเสนอแนะ : แพทย์นิติเวชควรลงไปในที่เกิดเหตุ เพื่อดูท่าทาง และสภาพศพในสถานการณ์จริง เพื่อความไม่คลาดเคลื่อนของการชันสูตร ที่อาจเป็นหลักฐานว่า เป็นการปฏิบัติงานที่เกินเหตุหรือไม่ เนื่องจากในพื้นที่ ศพจะต้องรับการตรวจที่โรงพยาบาล (ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน มากกว่า 5 ชั่วโมง