E-DUANG : พลวัต ‘การเมือง’ พลวัต ‘ยิ่งลักษณ์’

ไม่ว่าการจัดการกับปัญหา นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าการจัดการกับปัญหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สะท้อนลักษณะอันขัดต่อหลักแห่ง “พลวัต”

หรือหากคำนึงถึงหลักแห่ง “พลวัต” แต่ก็มองผลของ”พลวัต” เฉพาะแต่ด้านอันเป็นคุณของ “ตัวเอง”

แต่มองข้าม “พลวัต” จาก “ด้านอื่น”

ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ไม่นำเอา “พลวัต” จากกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร มาเป็น “บทเรียน”

นั่นก็คือ ผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

คำนึงแต่เพียงว่า เมื่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เสียของ ก็ต้องทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

หวังว่าจะไม่ต้อง “เสียของ” อีก

 

บังเอิญที่ “คำขวัญ” อันมากับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือ การคืนความสุข

ความหมายหมายความว่า ปรองดอง สมานฉันท์

ความหมายชวนให้หมายความว่า ที่เคยทำกับ นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ควรจะทำกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เพราะรู้อยู่แล้วว่า ทำแล้วก็ “ไม่เวิร์ก”

ยุบพรรคไทยรักไทยก็มีพรรคพลังประชาชน ยุบพรรคพลังประชาชนก็มีพรรคเพื่อไทย

โค่น นายทักษิณ ชินวัตร ก็มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ฤทธิ์เดชของ นายทักษิณ ชินวัตร สามารถเนรมิตสถานะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาได้ภายใน 49 วันของการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมือ่เดือนกรกฎาคม 2554

กำชัยเหนือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหนือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

 

จากเดือนกรกฎาคม 2554 กระทั่งผ่านเดือนกรกฎาคม 2560 การ ดำรงอยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่เหมือนเดิม

มี “พัฒนาการ” มา 6 ปี

เป็นพัฒนาที่มีลักษณะ “ก้าวกระโดด” และไปอยู่ในจุดที่เหนือกว่า นายทักษิณ ชินวัตร ด้วยซ้ำไป

เมื่อนำ “มาตรการ” เดียวกันกับที่เคยใช้กับ นายทักษิณ ชินวัตร จึงอาจจะไม่ได้ผลเมื่อใช้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ซึ่งดำรงอยู่อย่างมีพัฒนาการ

สัมผัสได้จากสถานการณ์วันที่ 25 สิงหาคม