รัฐชาติ-ท้องถิ่น | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากจังหวัดน่านหยกๆ เดินเข้าประตูบ้านมาเมื่อกี้นี้เอง

ไปน่านหนนี้มีทั้งเรื่องการไปเที่ยวส่วนตัวกับผองเพื่อนที่เรียนหนังสือมาด้วยกันเมื่อตอนเป็นเด็กและชวนกันหนีเที่ยวเมื่อตอนแก่

กับช่วงท้ายของการเดินทางเมื่อเพื่อนเดินทางกลับพระนครแล้วผมยังอยู่คัดท้ายเพียงคนเดียว

เพราะไปตกปากรับคำว่าจะบรรยายให้ที่ประชุมสำคัญแห่งหนึ่งฟัง

มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างประวัติศาสตร์โดยรวมของประเทศไทยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองน่าน

เรื่องที่จะยกมาคุยกันในพื้นที่ของเราวันนี้จึงเป็นการเก็บตกมาจากวงสนทนาและขยายความจากเรื่องที่ผมพูดในห้องบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทรงคุณวุฒิและสมาชิกในที่ประชุมอีกหลายท่าน

หวังว่าจะไม่มีท่านใดมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานะครับ อิอิ

ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า คำว่าประเทศไทยก็ดี ประเทศลาวพอดี ประเทศพม่าก็ดี เป็นถ้อยคำที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีมานี้เอง

และว่าไปทำไมมี คำว่าประเทศไทยก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองนี่เอง เก่ากว่านั้นขึ้นไปในราวรัชกาลที่สี่ก็เรียกแผ่นดินนี้ว่า “สยาม” อันเป็นคำที่มีที่มาที่ไปและมีความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะเจาะจงตามยุคสมัย

ถอยย้อนหลังก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก ถ้าไปถามผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ว่าท่านเหล่านั้นอยู่ในประเทศใด ผมเชื่อว่าท่านจะงงเป็นไก่ตาแตกเลยล่ะ เพราะแม้แต่คำว่า “ประเทศ” ก็แปลกหูเต็มที

ท่านคงบอกได้แต่ว่าท่านเป็นคนไทยและบ้านเมืองของท่านคือกรุงศรีอยุธยา

เราต้องปรับความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า ฐานะของกรุงศรีอยุธยานั้นไม่ใช่รัฐชาติตามความหมายทางรัฐศาสตร์ ที่มีอำนาจปกครองอย่างเข้มแข็งสม่ำเสมอตั้งแต่เหนือจดใต้ ตะวันออกจดตะวันตก อย่างเช่นประเทศไทยทุกวันนี้

หากแต่มีหัวเมืองใหญ่น้อยและเมืองประเทศราชที่มีความสัมพันธ์กันแบบหลวมๆ ไม่ได้แน่นแฟ้นอย่างการเป็นจังหวัดที่เราคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบัน

ลองนึกถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพระยาพิษณุโลก และเจ้าพระยานครฯ ดูเถิดครับ ท่านเหล่านั้นอยู่ไกลจากศูนย์กลางอำนาจมากเหลือเกิน

ความเป็นตัวตนความมีฤทธิ์เดชของท่านจึงชัดเจน เรียกว่าไปรับราชการต่างพระเนตรพระกรรณอย่างแท้จริง

วงที่อยู่นอกรอบไกลออกไปจากนั้นอีก ได้แก่หัวเมืองประเทศราช ยกตัวอย่างเช่น หัวเมืองในดินแดนแถบล้านนา แต่ละเมืองก็มีเจ้าผู้ครองนครเป็นอิสระ มีทายาทสืบสกุลต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน มีระบบกฎหมาย มีคุกตะรางของเขาเอง มีข้าราชการของเขาเอง

ความสัมพันธ์ที่มีกับส่วนกลางเช่นในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ ก็เป็นแต่เพียงการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองตามกำหนดเวลา เช่นทุกรอบสามปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญเช่นการทัพการศึก

หรือมีงานพระเมรุอย่างใหญ่ จึงจะมีการบัญชาการออกไปจากศูนย์กลางให้หัวเมืองประเทศราชต้องปฏิบัติอะไรบ้าง

ความสัมพันธ์ที่เป็นไปแบบ “หลวมๆ” เช่นนี้ เมื่อต้องพบเผชิญกับการรุกคืบเข้ามาของการแสวงหาอาณานิคมจากชาติมหาอำนาจตะวันตกก็เกิดเรื่องสิครับ เพราะมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่หัวเมืองประเทศราชนั้น จะไปมี “ไมตรีเป็นพิเศษ”

หรือในทางตรงกันข้าม ไป “ทะเลาะเบาะแว้งเป็นพิเศษ” กับต่างชาติ ไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบก็ยุ่งทั้งนั้นครับ

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น กรณีของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นประเทศราชสำคัญในแถบล้านนา เมื่อดินแดนที่เป็นพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปแล้ว ตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ก็ดี การดำเนินนโยบายของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ก็ดี มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดข้องหมองหมางระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ง่ายมาก

รัฐบาลสยามจึงต้องดำเนินนโยบายที่จะ “กระชับ” ความสัมพันธ์กับหัวเมืองประเทศราชเช่นนั้นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นั่นเองเป็นสาเหตุให้อำนาจของเจ้าหลวงตามนครต่างๆ ในล้านนาลดน้อยลง ขณะที่มีข้าราชการจากส่วนกลางขึ้นไปทำงานต่างพระเนตรพระกรรณมากขึ้น

จากการที่ประเทศราชเหล่านั้นเคยอยู่ในฐานะที่อาจเรียกว่าเป็น “นครรัฐ” เมื่อเวลาผ่านไปนานปีเข้า “รัฐชาติ” ที่มีความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นก็เกิดขึ้น มีเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่ชัดเจน

การเจรจาความเมืองหรือการดำเนินนโยบายต่างประเทศก็เกิดเอกภาพขึ้นที่ส่วนกลาง

ปัญหากระทบกระทั่งหากเกิดมีขึ้นระหว่างรัฐบาลสยามกับประเทศมหาอำนาจ การแก้ไขก็สามารถทำได้แบบม้วนเดียวจบ ไม่มีเสียงแทรกซ้อนต่างคลื่นความถี่จากนครรัฐแบบเดิมอีกต่อไป

ถามว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ว่านี้ เป็นที่พอใจหรือถูกใจ 100% ของทุกคนที่เกี่ยวข้องหรือไม่

แหม! ผมก็ไม่มีเครื่องย้อนเวลาหาอดีตเสียด้วยสิครับ

แต่ถ้าจะให้เดาก็ต้องตอบว่ามีทั้งที่พอใจและไม่พอใจ

ความพอใจหรือไม่พอใจก็มีตั้งแต่ระดับมากไปหาระดับน้อย

เป็นธรรมดาของความเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องมิใช่หรือครับ

เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในอดีตมาช้านานเกินร้อยปี ถ้าเป็นคดีก็ขาดอายุความหมดแล้วครับ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากสมัยนี้มีสื่อออนไลน์หรือที่เรียกว่าสื่อโซเชียลมีเดียมากมาย ผมเองเมื่อมีเวลาว่างจากความยุ่งเหยิงในชีวิตก็แวะเข้าไปอ่านโน่นอ่านนี่อยู่เป็นประจำ สังเกตเห็นได้ว่ามีคนบ่นพึมพำอยู่เหมือนกันครับว่า รัฐบาลกลางของสยามไปรังแกหัวเมืองประเทศราช

อ่านดูข้อความระหว่างบรรทัดแล้ว ฟังคล้ายกับว่าเสียงบ่นเหล่านั้น นึกอยู่ในใจว่าหัวเมืองล้านนาทั้งหลายน่าจะมีฐานะเป็นประเทศเอกราชของตนได้โดยอิสระ ไม่น่าเลยที่ต้องมาเป็นเนื้อเดียวกันกับสยามหรือประเทศไทยอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

นึกในใจก็ไม่มีใครห้ามหรอกครับ แต่อย่าลุกขึ้นทำจริงก็แล้วกัน

ข้อหากบฏในราชอาณาจักรนั้นไม่เข้าใครออกใครเสียด้วย

แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ผมอยากจะฝากมุมมองไว้อีกฝ่ายหนึ่งครับ ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่รัฐขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐขนาดใหญ่สองรัฐ จะสามารถดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระได้อย่างแท้จริง

ชะดีชะร้าย ถ้าแผ่นดินบริเวณที่เป็นล้านนาตกไปอยู่ในอำนาจของพม่า และพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เวลาที่อังกฤษมอบเอกราชคืนให้ผู้คนทั้งหลายที่อยู่ในแผ่นดินพม่า ชนกลุ่มน้อยต่างๆ เช่น มอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง และอื่นๆ อีกมากมาย ต้องไปอยู่รวมกันใต้ร่มธงของพม่าเพียงผืนเดียว ล้านนาจะหลุดรอดจากชะตากรรมเช่นนั้นไปได้อย่างไร

ป่านนี้ไม่ต้องจับอาวุธสู้กับรัฐบาลของนายพลมิน อ่อง ลาย ที่เมืองเนปิดอว์หรือ

เรื่องสมมุติแบบนี้ สมมุติกันไปได้ทุกทิศทุกทาง เหมือนคนคิดสมบัติบ้าครับ

ท้ายที่สุดเราก็ต้องอยู่กับความจริง ว่าเวลานี้รัฐชาติที่เป็นประเทศไทยเกิดขึ้นแล้ว จะหมุนนาฬิกาย้อนคืนกลับไปในอดีตเป็นไปไม่ได้ครับ

เราต้องอยู่กับความจริงให้ดีที่สุด ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับตัวตนของท้องถิ่นที่ถูกละเลยหรือมองข้ามมาช้านาน ก็ต้องพลิกฟื้นคืนมาให้จงได้ เพื่อยืนยันความจริงว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และเราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องตีรันฟันแทงหรือทะเลาะกันแล้วแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง

เอ๊ะ! วันนี้ผมพูดจาเป็นเรื่องเป็นราวผิดปกติ สงสัยจะลืมกินยาไปหลายเม็ด

ขออนุญาตลาไปกินยาก่อนนะครับ