ดิลิป กุมาร พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (2) ภาพยนตร์สัจนิยมใหม่/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดิลิป กุมาร

พระเอกที่อยู่ในความทรงจำของชาวอินเดีย (2)

ภาพยนตร์สัจนิยมใหม่

ในภาพยนตร์เรื่องซาติ ฮาร์ต บันดานา ซาติเร หรือไปด้วยกัน มีเพลงที่ขับร้องโดยมุฮัมมัด ราฟี และอาชา บอสเลย์

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานของซอฮีร ลูเดียนวี ที่อุทิศให้กับวิถีสังคมนิยมของเนห์รู (Nehruvian socialism) เป็นบทเพลงที่พูดถึงความสุขที่มาจากความเท่าเทียม ซึ่งเป็นความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกัน

ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนายา ดาอุร จะเป็นงานประชาสัมพันธ์ให้ลัทธิสังคมนิยม และการขยายตัวไปทุกหนแห่งของการอุตสาหกรรมของอินเดีย

ดิลิป กุมาร เล่นบทของพระเอก ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมแล้ว บทบาทอันหลากหลายของภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นว่า แต่ละคนอาจจะเป็นเหมือนเค้กที่ตัดแยกออกมาเป็นส่วนๆ ได้ แต่จะเอามาทั้งก้อนไม่ได้

ดิลิป กุมาร ได้รับความประทับใจอย่างมากจากนักเศรษฐศาสตร์อย่างลอร์ด เม็กนาด เดซาย (Lord Meghnad Desai) ที่กล่าวถึงดิลิป กุมาร ว่าได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสัจนิยมใหม่ (neo-realist) ที่ก้าวเข้าสู่แนวทางสังคมนิยมของเนห์รู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือเรื่อง Nehru’s Hero : Dilip Kumar in the life of India (พระเอกของเนห์รู ดิลิป กุมาร ในชีวิตของอินเดีย) ของเม็กนาด เดซาย

เม็กนาด เดซาย เขียนเอาไว้ว่า อาชีพของดิลิป กุมาร ก็คือการสะท้อนถึงที่มาของอินเดียนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ในหลายบทบาทเขาได้แสดงถึงอุดมคติแห่งความเป็นตัวตนของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่ออารมณ์ในเรื่องของความเป็นเอกราชเปลี่ยนไปบทในภาพยนตร์ที่เขาแสดงก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

 

อาชีพของดิลิป กุมาร พัฒนาต่อไป และเขาขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปี 1947-1964

เมื่อเนห์รู (Jawaharlal Nehru) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียภาพยนตร์ 36 เรื่องจาก 57 เรื่องของดิลิป กุมาร ถูกสร้างขึ้นในช่วงนี้

มันเป็นช่วงเวลาที่ดิลิป กุมาร พัฒนาบทบาทให้เป็นที่นิยมอย่างมากซึ่งสะท้อนถึงอุดมคติ และการมองโลกอย่างสร้างสรรค์ในช่วงเวลานั้น อันเป็นบทบาทซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวและพวกเขาก็เดินตามแนวทางของดิลิป กุมาร มาโดยตลอด

หลักฐานในเรื่องนี้สามารถดูได้จากภาพยนตร์ของเค อะสีฟ (K.Asif) ในเรื่องมุคัล อีอะซัม (Mughal-e-Azam) หรือมหาอาณาจักรมุคัลของปี 1960 อันเป็นภาพยนตร์ที่ใช้เวลาถ่ายทำถึง 16 ปี และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ผลิต นางเอก พระเอกมาตลอด

ชีรัก อาลี ฮากีม (Shirak Ali Hakeem) ผู้สร้างได้อพยพไปปากีสถาน จันทราโมฮัน (Chandramohan) ซึ่งต้องเล่นบทนำก็มาเสียชีวิต ดิลิป กุมาร จึงกลายเป็นพระเอกและมธุบาลาได้เข้ามาแทนนาร์กริส (Nargis) ในฐานะผู้แสดงนำฝ่ายหญิง

สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องคือความสมบูรณ์ที่มีอยู่ในภาพยนตร์ของอะสีฟที่แสดงความกระตือรือร้นออกมาพร้อมกับบทที่ดิลิป กุมาร เล่นบทเจ้าชายแห่งราชวงศ์ มุคัล (Mughul) หรือโมกุลแห่งเปอร์เซียที่เข้าครองอินเดียยาวนานถึง 180 ปีได้อย่างน่าประทับใจ และเป็นครั้งแรกที่ดิลิป กุมาร แสดงเป็นมุสลิมในจอภาพยนตร์

ผู้กำกับฯ อะสีฟ สั่งรองเท้าทองให้กับพระเอกของเรื่องนี้ ดังที่เขาต้องการจะให้พระเอกอย่างดิลิป กุมาร รู้สึกได้ถึงการตอบแทนที่ผู้กำกับฯ มอบให้กับเขา

แต่ในความคิดของผู้ดูแล้วพวกเขาไม่ได้ตัดสินด้วยรองเท้าทองที่ดิลิป กุมาร ได้รับ แต่เป็นบทบาทของความเป็นพระเอกอันน่าประทับใจในบทโรแมนติกที่เขาแสดงได้อย่างเข้าถึงมากกว่า

มุคัลอีอะซับ หรือมุคลายะซัม เป็นภาพยนตร์อินเดียที่ย้อนรำลึกถึงอดีตร่วมกัน

ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นพหุนิยมของอินเดียที่สามารถย้อนกลับไปได้เป็นศตวรรษ อินเดียเป็นดินแดนของฮินดูและมุสลิม ของภาษาสันสกฤตและเปอร์เซีย เป็นดินแดนที่ความรักสามารถเบ่งบานขึ้นในตักของดนตรีและบทกวี

 

ผู้ช่วยเหลือเนห์รู

อินเดียสมัยใหม่ของนายกรัฐมนตรีเนห์รู อาจจะไม่ต้องเรียกร้องมากไปกว่าภาพยนตร์เรื่องนายา ดาอุร มุคัลอีอะซัม หรือภาพยนตร์อย่างคงคา ยมนา (Gunga Jumna) แห่งปี 1961 อันเป็นบทที่ว่าด้วยสังคมของโจรกับบทสนทนาที่มีชนบทเป็นฉากหลังในดินแดน อาวัดห์ (Awadh) และภาพยนตร์เรื่องผู้นำ (Leader) ของปี 1964 รวมทั้งภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับนักการเมืองที่เชื่อมโยงกับการเป็นอาชญากรที่มาก่อนกาลเป็นเวลานาน

ภาพยนตร์ร่วมสมัยของดิลิป กุมาร เป็นภาพยนตร์สังคมนิยมว่าด้วยอินเดียที่กำลังเติบโต หลายปีต่อมาเขายอมรับที่จะเป็นผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยเนห์รูเพื่อให้ภาพยนตร์ที่เขาแสดงได้รับการรับรองจากฝ่ายตรวจสอบภาพยนตร์ในเรื่องคงคา ยมนา

เขากล่าวว่า “ผมเข้าใจดีว่าทำไมบัณฑิตจี (หมายถึงเนห์รู) จึงมีความประทับใจในความสามารถของผมที่จะพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในตอนปลายทศวรรษ 1960 ภาพยนตร์คงคา ยมนา ถูก ปฏิเสธจากคณะกรรมการตรวจสอบภาพยนตร์

คำอุทธรณ์ของดิลิป กุมารถึง ดร.บีวี เกศกัร (Dr.B.V. Keskar) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีข่าวสารและการกระจายเสียงไม่ได้รับความสนใจ ดิลิป กุมาร กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าผมพยายามขอพบบัณฑิตจี ซึ่งได้รับการอธิบายจากการอุทธรณ์ของผม

บัณฑิตจีจึงออกคำสั่งให้มีการพิจารณาภาพยนตร์คงคา ยมนา อีกครั้ง คณะกรรมการจึงพิจารณาให้ภาพยนตร์เข้าฉายได้ไม่กี่วันก่อนกำหนดออกฉาย ดิลิป กุมาร จึงได้เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ในบทความเรื่อง Dilip Kumar : The Substance and the Shadow

ก่อนการพบปะกับเนห์รู ดิลิป กุมาร ได้แสดงให้เห็นความเป็นเอกของเขาในบทโศกนาฏกรรม

เขาเป็นนักสังคมนิยมหนุ่มในภาพยนตร์นายา ดาอุร เป็นนักต่อสู้ในรูปแบบของเขาในภาพยนตร์ผู้นำ (Leader) และเป็นเจ้าชายในภาพยนตร์โกหินูร์ (Kohinoor) หรือโคตรเพชร โกหินูร์ ของอินเดียของปี 1960

สำหรับโกหินูร์นั้น เขาต้องเรียนรู้ที่จะต้องเล่นซีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักของอินเดีย โดยซัยรา บานู เปิดเผยเรื่องนี้ในการให้สัมภาษณ์ช่องทีวีของปากีสถานเมื่อหลายปีก่อน

 

ที่สำคัญก็คือ ดิลิป กุมาร เป็นผู้มีความใฝ่ฝันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในชีวิตจริงของเขา ซัยรา บานู ซึ่งกำลังเพลิดเพลินกับความสำเร็จในภาพยนตร์จังกลี (Junglee) หรือความหฤโหด ในปี 1961 รู้สึกต่อเขาได้

สองสามีภรรยาคู่นี้ทำงานร่วมกันในภาพยนตร์เรื่องโกปิ (Gopi) หรือรักของหญิง ในปี 1970 และต่อมาก็แสดงในเรื่องซากินา (Sagina) ของปี 1974 อันเป็นเนื้อเรื่องที่มาจากภาพยนตร์เบงกาลี ซากินา มาฮาโต (Sagina Mahato) ของปี 1971 ซึ่งทั้งซัยรา บานู และดิลิป กุมาร เป็นผู้แสดงนำตามมาด้วยภาพยนตร์เรื่องไบรัก (Bairaag) หรืออาลัยอาวรณ์แห่งปี 1976

หลังจากนั้นพวกเขาก็เข้าสู่พิธีสมรส โดยซัยรา บานู เลิกแสดงภาพยนตร์เพื่อจะทำหน้าที่ภรรยาผู้มีความรักความหลงใหล ดิลิป กุมาร ซึ่งมีอายุมากกว่าตัวเธอมาก

 

ชีวิตมิได้เป็นไปอย่างง่ายดายสำหรับดิลิป กุมาร เขามีปัญหาสุขภาพมายาวนานในช่วงปลายของชีวิต

ในภาพยนตร์เรื่องผู้นำ (Leader) และดิล ดิยา ดาร์ด ลิยา (Dil Diya Dard Liya) หรือมอบหัวใจให้กับความปวดร้าว แห่งปี 1966 ล้วนเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์รอบเช้าได้หลายปีหลังจากถูกนำออกฉาย ส่วนภาพยนตร์เรื่องราม ออร ชยัม หรือรามและชยัม แห่งปี 1967 ก็มักจะพูดถึงการกำกับภาพยนตร์แนวภูตผีปีศาจของดิลิป กุมาร

ในตอนต้นของทศวรรษ 1990 สุดากัร โบกาเด (Sudhakar Bokde) ประกาศสร้างคาลิงกา (Kalenga) หรืออาณาจักรกาลิงกะ ซึ่งกำกับฯ โดยดิลิป กุมาร แต่ภาพยนตร์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

ในภาพยนตร์ของสุภาชน์ กัย เรื่องแผ่นดินแม่ (Motherland) ดิลิป กุมาร ต้องปรากฏตัวเคียงคู่กับอมิตาบ บัชจัน และชารูก ข่าน ซึ่งทั้งสองพระเอกสมัยใหม่ผู้ได้รับความนิยมอย่างสูงมิได้ปิดบังถึงความชื่นชมที่พวกเขามีต่อดิลิป กุมาร

อมิตาบ บัชจัน มีโชคดีมากกว่า เพราะเขาได้แสดงกับดิลิป กุมาร ในภาพยนตร์เรื่องชัคติ (Shakti) หรือพลังในปี 1982 ซึ่งพิสูจน์ได้ถึงการเรียนรู้ที่อมิตาบได้รับและความอิ่มเอิบของผู้นิยมดิลิป กุมาร

ทำให้ดิลิป กุมาร ได้รับรางวัล Filmfare เป็นครั้งที่ 8