1 ปี รัฐประหาร มิน อ่อง ลาย ชะตากรรมผู้รักประชาธิปไตย สะท้อนภาพลักษณ์กองทัพ จากไทยสู่เมียนมา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

1 ปี รัฐประหาร มิน อ่อง ลาย

ชะตากรรมผู้รักประชาธิปไตย

สะท้อนภาพลักษณ์กองทัพ จากไทยสู่เมียนมา

 

ครบรอบ 1 ปี สำหรับการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนาง ‘ออง ซาน ซูจี’ และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD โดยกองทัพเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโส ‘มิน อ่อง ลาย’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เข้ารัฐประหารในช่วงเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

การยึดอำนาจครั้งนี้ มาจากการอ้างว่าพรรค NLD ทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนจะควบคุมตัวนาง ‘ออง ซาน ซูจี’, ‘ประธานาธิบดีวินมยิ้ด’ พร้อมแกนนำพรรค NLD อีกหลายคนไปด้วย และประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะทำการแต่งตั้ง ‘มยิ้ดส่วย’ จากโควต้ากองทัพ เป็นรองประธานาธิบดีพม่าคนที่ 2 ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดี

พร้อมตั้งข้อหา ‘ออง ซาน ซูจี’ ว่านำเข้าและครอบครองวิทยุสื่อสารผิดกฎหมาย ส่วนประธานาธิบดีวินมยิ้ดนั้น ถูกตั้งข้อหาละเมิดการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ จากการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อพฤศจิกายน 2563

หลังการรัฐประหาร ผู้นำกองทัพเมียนมาได้ลั่นวาจาให้คำมั่นสัญญาด้วยเกียรติของชายชาติทหาร ว่าจะนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง

แต่จนถึงบัดนี้ครบรอบ 1 ปี ประชาธิปไตยที่ชาวเมียนมาต้องการ ก็ยังไม่ถูกส่งกลับคืนให้ประชาชน

 

มองดูแล้ว ก็ไม่ได้ต่างจากประเทศไทยเท่าไหร่นัก

แต่เป็นความรุนแรงที่ถูกส่งกลับไปให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เมื่อครั้งประชาชนชาวเมียนมารวมตัวกันออกมาประท้วงต้านรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี รัฐบาลทหารเมียนมาได้สั่งตัดอินเตอร์เน็ตและปิดกั้นสื่อโซเชียลมีเดียภายในประเทศ เพื่อไม่ให้เรื่องอลหม่านภายในออกสู่สายตาชาวโลก ถือเป็นการประท้วงใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ขณะที่ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ต่างพร้อมใจกันออกมาชุมนุมหน้าสำนักงานสหประชาชาติและบริเวณหน้าสถานทูตพม่า เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารด้วยเช่นกัน

รัฐบาลภายใต้การนำของ ‘มิน อ่อง ลาย’ ได้นำพาเมียนมาไปสู่วิกฤตใหญ่ในหลายๆ ทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มีทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เพียงเพราะออกมาร่วมด้วยช่วยกันเรียกร้อง แสดงอารยะขัดขืน ไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร

อีกทั้งยังเกิดสงครามระหว่างกองทัพและกองกำลังชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ภายในประเทศ

เศรษฐกิจภายในประเทศล้มไม่เป็นท่า ถูกสังคมโลกประณาม

ถูกบอยคอตออกจากการประชุมผู้นำสูงสุดอาเซียน และถูกคว่ำบาตรจากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

สถานภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘มิน อ่อง ลาย’ ดูจะไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาชาวโลกมากยิ่งขึ้น หลัง UN ได้กล่าวรายงานถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการจับกุมประชาชนที่ออกมาประท้วงอย่างสันติ รวมถึงการตัดการสื่อสารและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่องรัฐประหารในพม่า ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

ในครั้งนี้นาย ‘จอ โม ตุน’ ผู้แทนถาวรของรัฐบาลพม่าประจำสหประชาชาติ ได้กล่าวต่อที่ประชุมสหประชาชาติ เริ่มต้นด้วยการย้ำว่าเขาเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากพรรค NLD ประชาธิปไตยในพม่านั้นกำลังเริ่มต้นใหม่ การเลือกตั้งในรอบที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ถือเป็นการเลือกตั้งที่สำเร็จ เสรี และยุติธรรม เป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมียนมา ที่ถูกจัดขึ้นโดยประชาชน และยื่น 6 ข้อเรียกร้องต่อสหประชาชาติ ได้แก่

1. ออกแถลงการณ์ประณามการทำรัฐประหาร

2. ไม่รับรองสภา SAC และรัฐบาลทหารพม่า

3. เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเคารพผลการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ในปี 2020

4. ไม่ร่วมมือกับกองทัพพม่า จนกว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชน ผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

5. ใช้เครื่องมือ มาตรการต่างๆ ที่แข็งขันที่สุดทุกหนทาง ที่จะหยุดความรุนแรง

6. การกระทำที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของพม่า ในการกระทำต่อผู้ประท้วงที่สันติและยุติการรัฐประหารทันที และสุดท้ายสนับสนุนสภา CRPH ที่มาจากผู้แทนราษฎรพม่าที่มาจากการเลือกตั้ง

ช่วงท้ายของถ้อยแถลง นายจอ โม ตุน ยังได้อ่านข้อความเป็นภาษาพม่า และได้ชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์อารยะขัดขืนอีกด้วย

 

ถึงแม้จะถูกสังคมโลกจับตา แต่รัฐบาลกองทัพเมียนมายังคงใช้กฎหมายเข้าจัดการ กับคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

เห็นได้จากกรณีของ ‘ไป่ ทาคน’ นายแบบชื่อดังชาวเมียนมา ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจ ทั้งเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง และใช้ชื่อเสียงของตัวเองเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้โลกหันมาช่วยเหลือ จนถูกจับกุม และถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี

‘ฮาน เลย์’ ตัวแทนสาวงามของพม่า ที่เดินทางจากบ้านเกิดมาเข้าร่วมการประกวดมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ได้ส่งเสียงของตัวเองด้วยหัวใจที่เจ็บปวดผ่านเวทีการประกวดนางงาม

รวมถึง ‘ธูซาร์ วินท์ ลวิน’ ผู้ประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2021 สวมชุดพื้นเมืองของรัฐชิน พร้อมชูป้ายข้อความ “Pray for Myanmar” บนเวทีนางงามจักรวาล

 

หันกลับมาที่ประเทศไทย กลับเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมา ดอดเข้าพบ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เงียบๆ และมีรายงานในวันเดียวกันว่ามีการเข้าพบ ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยพร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

และทางนายกรัฐมนตรีได้ออกมายอมรับว่ามีการพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาจริง แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนสถานการณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการยอมรับการยึดอำนาจในเมียนมาแต่อย่างใด และยืนยันตามหลักการของอาเซียนที่จะ “ไม่แทรกแซง” เรื่องภายในของแต่ละประเทศ

แต่ทว่าเมื่อครั้งการจัดการประชุมอาเซียนเมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 ที่ประชุมมีมติไม่เชิญ ‘มิน อ่อง ลาย’ เข้าร่วมประชุดสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยให้เหตุผลว่าทางการเมียนมาไม่ยอมตอบสนองข้อเรียกร้อง หยุดใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง

โดยประเทศที่ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ผู้นำคณะรัฐประหารเข้าร่วมได้แก่ สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ขณะที่ทางการไทยกลับมีท่าทีรอมชอม ไม่ได้กีดกั้น และออกมาแถลงในวันต่อมาว่า ‘ไทยยังมองเมียนมาเป็นเสมือนครอบครัวสมาชิกอาเซียน’

จนตกเป็นข้อครหาในสังคมอีกครั้ง ว่าไทยเข้าอกเข้าใจในฐานะทำรัฐประหารมาเหมือนกัน ไม่ใช่ความเป็นมิตรในฐานะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแต่อย่างใด

 

สถานการณ์ความรุนแรงภายในเมียนมาที่โหดร้ายที่สุด คงหนีไม่พ้นการลอบสังหารหมู่ในวันคริสต์มาส การปะทะกันระลอกใหญ่จากการที่กองทัพเข้าไปตรวจค้นและจับกุมผู้ต่อต้านรัฐประหารในพื้นที่ของกลุ่ม KNU นำมาซึ่งการเข่นฆ่าคนเห็นต่างอย่างโหดร้าย แถมยังมีกระสุนไม่ทราบฝ่ายตกมาในฝั่งไทยบริเวณ จ.ตาก ทำให้ชาวเมียนมากว่า 5,000 ชีวิต ต้องอพยพเข้ามาในฝั่งไทยเพื่อหนีเอาชีวิตรอด ขณะที่คนไทยในพื้นที่ก็จำทนต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวงเช่นกัน

เรื่องนี้ทางการไทยออกมายืนยันว่าจะไม่มีการตั้งศูนย์ผู้อพยพ หากชาวไทยได้รับผลกระทบจะมีการแจ้งเตือนไปยังฝั่งเมียนมา

“ยืนยันว่าไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงในประเทศไทย เพราะวันนี้ยังเหลืออีก 9 หมื่นคน และมีปัญหาความวุ่นวาย การจะส่งกลับก็ต้องขึ้นอยู่กับประเทศต้นทางด้วย และที่ผ่านมา มีการทยอยส่งกลับไปบ้างแล้ว ตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นก็ชะงักเรื่องนี้ไป แต่ยืนยันว่าจะดูแลให้ดีที่สุดและส่งเสริมตามหลักของอาเซียน เพื่อให้ผู้แทนพิเศษสามารถเข้าไปช่วยเหลือดูแลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความปลอดภัยของประชาชนในเมียนมา ประเทศเขาก็เป็นของเขา ประเทศเราก็เป็นของเรา อย่าลืมว่าเรามีความใกล้ชิดกันมายาวนาน โดยเฉพาะประชาชนที่เดือดร้อน เรื่องอื่นๆ ก็ถือเป็นเรื่องภายในของเขา” คือคำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ที่แสดงจุดยืนชุดความเป็น ‘อาเซียน’ ต่อการรัฐประหารในเมียนมา

1 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่ารัฐบาล ‘มิน อ่อง ลาย’ ไม่เคยฟังเสียงเรียกร้องหรือแม้กระทั่งเสียงร้องไห้ของประชาชน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แม้จะครบรอบ 1 ปี แต่ชาวเมียนมาก็ยังคงเดินหน้าแสดงจุดยืนต่อต้านกองทัพ ท้าทายคำขู่ของทางการเมียนมาอย่างไร้ซึ่งความกลัว

เป็นเรื่องที่ชวนติดตามกันต่อไปว่าความรุนแรงในเมียนมาที่เกิดขึ้นมาครบ 1 ปี จะคลี่คลายลง และชาวเมียนมาจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนเมื่อไร

หรือต้องรออีกยาวนาน แบบประเทศไทย