นับถอยหลัง ปิดตำนาน 3 ป.? ‘พี่ป้อม’ ดื้อ – ‘น้องตู่’ ยื้อ สู้ ‘ธรรมนัส’ รุกฆาต จับตากองทัพมิติใหม่ กลางดวงรัฐประหาร/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

นับถอยหลัง ปิดตำนาน 3 ป.?

‘พี่ป้อม’ ดื้อ – ‘น้องตู่’ ยื้อ สู้

‘ธรรมนัส’ รุกฆาต

จับตากองทัพมิติใหม่ กลางดวงรัฐประหาร

 

การเมืองที่ร้อนระอุ ทำให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพถูกจับตามองทันทีที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปลุกกระแสโชยกลิ่นรัฐประหาร แถมก่อนหน้านี้ หมอดูหลายสำนักก็ทำนายตามดวงเมือง ว่าจะเกิดการรัฐประหาร

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่เข้มข้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีทางเลือกไม่มากนัก หลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พ้นพรรค พร้อม 20 ส.ส. ที่สะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล และสะเทือนความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป.อย่างแรง

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ตกอยู่ในสถานะลำบาก หากไม่เอาพรรคใหม่ของ ร.อ.ธรรมนัสมาร่วมรัฐบาล และไม่ให้เก้าอี้ รมต. ก็เตรียมนับถอยหลังสู่การถูกล้มกลางสภา ช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ ในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือนับถอยหลังสู่การยุบสภา

แล้วยิ่งเมื่อกระแสพรรรคพลังประชารัฐ และคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ตกต่ำ เป็นช่วงขาลงเช่นนี้ หลังแพ้เลือกตั้งซ่อม 3 สนาม ทั้งสงขลา ชุมพร และโดยเฉพาะแพ้ลุ่ยที่เขตหลักสี่ กทม.

แม้ฝ่ายสนับสนุนจะมีการปลอบใจตัวเองว่า คะแนนนิยม พล.อ.ประยุทธ์ยังดีอยู่ คนไทยยังหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรค และมีแต่ความขัดแย้งแตกแยกก็ตาม

ประเด็นที่ปลุกกระแสรัฐประหาร คือความหวาดหวั่นที่ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์และพรรค พปชร.แพ้เลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า อะไรจะเกิดขึ้น ต่อให้มี 250 ส.ว.รออยู่ในสภาก็ตาม แต่ก็อาจไม่ง่ายเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 แล้ว ที่จะชิงจัดตั้งรัฐบาล ยึดเก้าอี้นายกฯ ตามแผน

แต่หากปล่อยให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาล และยิ่งหากเอาพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล ก็สุ่มเสี่ยงต่อการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ในสภา การตัดงบฯ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน และโดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 112 เพราะพรรคเพื่อไทยก็เคยประกาศจุดยืนจนต้องรีบถอย

ฉากทัศน์นี้จึงทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่าจะเกิดการรัฐประหารก่อนการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะหากปล่อยให้เลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลแล้ว ถ้ารัฐประหารคว่ำรัฐบาล ก็จะถูกประณามอย่างหนัก

จนทำให้ให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาดักคอทหารไว้ก่อนว่า ได้กลิ่นรัฐประหาร

ที่แฝงไปด้วยนัยยะของการรัฐประหารตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อล้างไพ่ใหม่แล้วกลับมานับ 1 ใหม่ มากกว่าการล้มล้างอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ภาพฉายของ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้จะมีระยะห่างกับนายกฯ และรัฐบาลก็ตาม

แต่ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว มันเกิดขึ้นได้ยาก หรือหากเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจเป็น พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป เพราะจะเป็นการตอกย้ำว่า ไฟเขียวให้รัฐประหารตัวเอง อาจจะต้องเปลี่ยนนายกฯ ใหม่ จากทหารผู้นำกองทัพ หรือนายกฯ รับเชิญ เพื่อยื้อการเลือกตั้ง ยื้อการเปลี่ยนขั้วอำนาจ

ดังนั้น หากกลัวแพ้เลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจต้องยุบสภา ในขณะที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ เพื่อหวังให้การเลือกตั้งแบบใช้บัตร 2 ใบแท้งไปเลย เพื่อดับฝันแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย และยื้อเวลารัฐประหาร เพราะฝ่ายทหารคงไม่ยอมให้มีการแตะต้องสถาบัน

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรับประกันได้ว่า การรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง แม้แต่นายทหารระดับคุมกำลังก็ยังไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น

หากหยั่งท่าทีและจุดยืนของบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่คุมกำลังหลักของกองทัพ เคยประกาศไว้เมื่อแรกที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ถึงโอกาสในการรัฐประหารเป็นศูนย์ และติดลบ

แต่การแสดงออกทางทวิตเตอร์ส่วนตัว ที่สะท้อนจุดยืนตามม็อตโต้ “พิทักษ์ราชัน ปกป้องประชา รักษาแผ่นดิน” โดยเฉพาะการเทิดทูนและปกป้องสถาบัน ที่จะทำให้คาบเกี่ยวกับการเมือง ที่มีบางพรรคการเมืองและกลุ่มม็อบที่จาบจ้วงสถาบัน เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน และแก้ไขมาตรา 112

จนเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์เป็น ผบ.ทบ.ที่ให้ความสำคัญกับภารกิจที่เกี่ยวข้องกับสถาบันมาเป็นอันดับแรก อีกทั้งยังเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

แต่วางบทบาทที่มีระยะห่างกับฝ่ายการเมือง และ พล.อ.ประยุทธ์ แตกต่างจากยุคบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.

และที่แตกต่างคือ พล.อ.ณรงค์พันธ์มองบวก คิดบวก ต่อการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ กทม. ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ส่วน พปชร.แพ้ คะแนนไม่ถึงหมื่น

โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์พูดในที่ประชุม ทบ. ชื่นชมการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ว่า เป็นไปตามวิถีทางการเมือง ในการใช้สิทธิ์ของประชาชน การเสนอนโยบายของผู้สมัครมีบรรยากาศที่ดี “เป็นมิติใหม่ทางการเมือง” ที่ไม่ปรากฏการให้ข้อมูลกล่าวร้าย และเป็นแนวทางการเมืองที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะก้าวไปสู่ในอนาคต ชี้คนได้รับเลือก คือผู้ที่เข้าใจในความคิดของประชาชน และให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

แม้จะไม่ได้หมายความว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์พอใจที่พรรคเพื่อไทยชนะ แต่พอใจในภาพรวม เพราะแม้แต่หน่วยเลือกตั้งหน้าหน่วยทหาร ทั้ง มทบ.11 และกองพันทหาร ปตอ. แจ้งวัฒนะ ที่ผู้ใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นทหารเกณฑ์ ที่ต้องย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในค่าย แต่ผลนับคะแนนกลับพบว่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคกล้า ที่ได้คะแนนมากกว่า พปชร. ที่สะท้อนว่า ไม่ได้มีการสั่งให้ทหารเลือกใคร ลบภาพพลร่ม ไพ่ไฟ เวียนเทียน เขียนเบอร์ใส่มือพลทหารแบบสมัยก่อนอีกแล้ว

สมัยนี้ ผบ.หน่วยไม่มีใครกล้าสั่ง ไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะเกรงจะถูกแอบอัดเสียง ถ่ายคลิป หรือเล่าให้พ่อแม่ญาติพี่น้องฟัง แล้วเอาไปโพสต์ลงโซเชียล หรือร้องสื่อ

อย่างมากก็ทำได้แค่ให้ข้อคิด และพูดอ้อมๆ ให้กำลังพลได้คิด แต่เพราะพลทหารที่มีอายุ 21 ปี ก็เป็นวัยที่มักจะมีแนวคิดตามกระแสคนรุ่นใหม่ แม้กองทัพจะพยายามอบรม แทรกซึมแนวคิด ปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติ รักสถาบันก็ตาม

เช่น ผลนับคะแนน 2 หน่วยเลือกตั้งหน้าหน่วยทหาร พรรคเพื่อไทย 147 คะแนน พรรคก้าวไกล 144 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ 75 คะแนน ส่วนอีกหน่วย พรรคกล้า 121 คะแนน ก้าวไกล 62 คะแนน เพื่อไทย 54 คะแนน เป็นต้น

หากฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ยอมรับในความเป็นจริง ก็ไม่อาจจะตำหนิ ผบ.เหล่าทัพ หรือ ผบ.หน่วยได้ ที่ผลเลือกตั้งหน่วยทหารออกมาแบบนี้

บทบาทของ พล.อ.ณรงค์พันธ์จึงดูเป็นมิติใหม่ของ ผบ.ทบ. ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ยึดเรื่องสถาบัน และทำตามหน้าที่ ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน และทำหน้าที่ตามกลไกของรัฐบาล ผ่านสายบังคับบัญชาทาง รมว.กลาโหม

แต่อย่างไรก็ตาม ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ ภายใต้การนำของบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็นทหารคอแดง และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.คอแดง ก็ยังคงนิ่ง ไม่แสดงท่าทีต่อสถานการณ์ทางการเมือง

เพราะ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ ยิ่งในช่วงโควิด แต่ละเหล่าทัพจะไม่ได้เปิดให้นักข่าวไปทำข่าว ผบ.เหล่าทัพ นักข่าวจึงไม่ได้พบเจอหน้า ผบ.เหล่าทัพเพื่อหยั่งท่าที

แต่มีรายงานว่า ผบ.เหล่าทัพได้มีการพูดคุยหารือกันบ้าง โดยยังคงยืนยันที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยังมีทางแก้ปัญหาในทางการเมืองอีกมาก มองการเมืองยังอยู่ในวังวนผลประโยชน์พรรคเป็นใหญ่ จึงเป็นเรื่องการต่อรอง ทหารจึงต้องอดทน ปล่อยให้การเมืองพัฒนาไปตามครรลอง

บรรดา ผบ.เหล่าทัพจึงยังไม่ได้กลิ่นการรัฐประหาร และยังไม่มีสัญญาณใดๆ แต่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

แต่สัญญาณที่ผู้นำเหล่าทัพถอดรหัสได้คือ พล.อ.ประยุทธ์สู้ต่อ ไม่ยอมแพ้ ไม่ถอดใจ พร้อมที่จะเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย ยังไม่มีสัญญาณอะไรเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นหน้าที่ของทหารเก่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่จะต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองด้วยวิถีทางการเมือง อย่าทำให้ปัญหาลุกลามบานปลาย เอาไม่อยู่ จนต้องเดือดร้อนน้องๆ ทหารในกองทัพ

ที่สำคัญ พี่ป้อมและน้องตู่ต้องเอาให้ชัดว่า จะร่วมทีมกันสู้ต่อไป ผนึกกำลัง 3 ป.อีกครั้ง หรือจะแตกแยกย้าย ปิดตำนานแผงอำนาจพี่น้อง 3 ป. เพราะตอนนี้เกิดความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกันเอง

ฝ่าย พล.อ.ประวิตรก็ถูกโจมตีว่ารู้เห็นเป็นใจกับ ร.อ.ธรรมนัส ที่ขับพ้น พปชร. เปิดทางให้ไปตั้งพรรคใหม่สำรองไว้ ต่อรองทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยส่งทั้งน้องรัก น้องเลิฟมาอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย

ทั้งบิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย บิ๊กป๊อด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. น้องชายบิ๊กป้อม

รวมถึงการดึงนายอภิชัย เตชะอุบล ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นเลขาธิการพรรค เพราะตั้งแต่มีปัญหาทางใจระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร อันเนื่องมาจาก ร.อ.ธรรมนัส ก็มีการแบ่งข้าง นายทุนสายพี่ และสายน้อง แบบชัดเจน จน พล.อ.ประวิตรต้องหานายทุนพรรคใหม่มาสมทบ

แต่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่า พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคที่ ร.อ.ธรรมนัสเตรียมจัดตั้งไว้ ไม่ใช่พรรคของตนเอง ส่วนใครจะไปอยู่พรรคนี้บ้างก็เป็นสิทธิ์ของเขา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตนเอง

“ธรรมนัสเขาอยากออกจากพรรค เพราะเขาอยากจะไปนานแล้ว แต่ที่ผ่านมา เราขอร้องไว้เอง แต่มาตอนนี้ เขาอยากไป ก็ไป และเป็นมติขับที่ถูกต้อง และได้ถาม กกต.แล้ว” บิ๊กป้อมเผย

แต่เป็นที่น่าสังเกต ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรพยายามยื้อ ร.อ.ธรรมนัสไว้ ถึงขั้นที่แม้จะถูกกดดันอย่างไรก็ไม่ยอมเปลี่ยนเลขาธิการพรรค เพราะเคยมีความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ 6 รมต.ที่ต้องการให้ปรับโครงสร้าง พปชร. แต่ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ยอม

จนมาครั้งนี้ ที่เกิดแรงกดดัน และมีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง ในจังหวะที่ พปชร.แพ้เลือกตั้งซ่อมที่สงขลา ชุมพร แล้วมีการโยนความผิดว่า เป็นเพราะคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส

จึงทำให้ ร.อ.ธรรมนัสหมดความอดทน ทั้งๆ ที่พรรคมอบหมายให้นายสุชาติ ชมกลิ่น และนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็น ผอ.การเลือกตั้งก็ตาม แต่ลงไปช่วยหาเสียงเพราะ พล.อ.ประวิตรขอร้อง แต่ครั้งนี้จึงพร้อมออกจากพรรค แต่ขอให้พรรคมีมติขับออก จะได้ย้ายพรรคได้

สำหรับ พล.อ.ประวิตรแล้ว ที่ครั้งนี้ไม่เหนี่ยวรั้ง ร.อ.ธรรมนัสไว้เพราะเห็นว่าในปีนี้ก็จะมีเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น และต้องการแยกน้องๆ ที่มีปัญหาคาใจกับ พล.อ.ประยุทธ์ แยกตัวออกไปจาก พปชร.เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกฯ ต้องการมานานแล้ว และก็หวังว่า พปชร.จะสงบเรียบร้อย

แต่กระนั้น กระแสข่าวก็สะพัดว่า พล.อ.ประวิตรขอให้ ร.อ.ธรรมนัสนำพรรคเศรษฐกิจไทยเข้าร่วมรัฐบาล ที่ทำให้ถูกจับตามองว่า ต่อรองเก้าอี้ รมต.ให้ พล.อ.วิชญ์ นายอภิชัย หรือ พล.ต.อ.พัชรวาท

แต่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธว่า ไม่เคยต่อรองใดๆ ว่าจะต้องให้ใครมาเป็น รมต. เพราะการปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ

“ก็ร่วมรัฐบาลแบบไม่ต้องปรับ ครม.ก็ได้” พล.อ.ประวิตรเปรย

ประหนึ่งว่า พรรคเศรษฐกิจไทยจะเป็นฝ่ายรัฐบาลอิสระ คือเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล

 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส หลังกลับจากสวิตเซอร์แลนด์และพักผ่อนยุโรป ก็ดูเหมือนจะมีปรับเปลี่ยนแผน จนเกิดกระแสข่าวเรื่องเก้าอี้หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย และกรรมการบริหารพรรค ที่ ร.อ.ธรรมนัสจะเป็นคนวางตัวทั้งหมด

ที่สำคัญ ร.อ.ธรรมนัสส่งสัญญาณสู้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน หลังจากโพสต์เฟซบุ๊ก ดีใจที่เห็นพี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ สะท้อนประชาธิปไตย

ก่อนทิ้งระเบิดในตอนท้าย ที่ว่า The enemy of my enemy is my friend. ศัตรูของศัตรูคือมิตร ที่เป็นยุทธวิธีในทางทหารอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ตีความว่า หมายถึงใคร

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และนักการเมืองสายจันทร์โอชาในพรรค พปชร. ฉวยจังหวะที่ พปชร.แพ้เลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 สนาม ปลุกกระแสกดดันให้มีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัสจะไม่ได้อยู่ พปชร.แล้ว แต่กระแสพุ่งมาเขย่าเก้าอี้ พล.อ.ประวิตรให้ลาออกไปอยู่พรรคน้องเลิฟ

พร้อมหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาผ่าตัด พปชร. แก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน และนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง นำทัพสู้เลือกตั้ง ฟื้นศรัทธาให้ พปชร.

แต่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่ยอมง่ายๆ เพราะแม้จะเป็นพรรค 3 ป. แต่ พล.อ.ประวิตรลงทุนลงแรงมาตั้งแต่ต้น ทุ่มเททุกอย่างคนเดียว สร้างมา ดูแลมา จะพยายามประคับประคองพรรคต่อไป จะสู้ ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมถอยง่ายๆ

อีกทั้งตั้งแต่มีปัญหาใน 3 ป. ก็มีการแบ่งฝ่าย ทั้งนักการเมือง และนายทุน ที่สนับสนุนพรรค แม้แต่เงินบริจาคของพรรค จน พล.อ.ประวิตรต้องหาพันธมิตรใหม่

แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์กล้าที่จะเอ่ยปากขอมานั่งหัวหน้าพรรคเอง พล.อ.ประวิตรก็คงยอมให้น้อง ถ้าน้องกล้าขอ พี่ก็กล้าให้ อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเอ่ยปากเมื่อใด หรือไม่

เพราะแม้ตอนนั้น หากจะเชิญ พล.อ.ประวิตรไปแขวนเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค พปชร. เพื่อรักษาภาพ 3 ป. แต่ พล.อ.ประวิตรก็คงเลือกที่จะโบกมือลามากกว่า และอาจไปช่วยพรรคเศรษฐกิจไทยของน้องเลิฟ อยู่เบื้องหลังเงียบๆ

 

ดังนั้น จุดเปลี่ยนพี่น้อง 3 ป. และจุดเปลี่ยนการเมือง จึงอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกเดินเกมไหน ทางไหน ยอมงอ ยื้อเวลา หัก หันมาสามัคคี สู้ด้วยกันอีกครั้ง

หรือจะยอมหักไม่ยอมงอ แบบขอไปตายเอาดาบหน้า ก็เป็นได้

นับถอยหลังสู่การปิดตำนาน 3 ป. พี่น้องสายเลือดทหารที่เคยรักกันเหนียวแน่น ไม่แตกแยกขัดแย้ง ไม่มีใครมาทำลายได้ “3 ป.จะรักกันจนวันตาย”

พร้อมเปิดฉากศึกสายเลือดเตรียมทหาร ศึกสายเลือด จปร. อีกยุคสมัยหนึ่ง ขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองการทหารไทย