ศัตรู ของ ศัตรู คือ ‘มิตร’ ด้าม/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ศัตรู ของ ศัตรู

คือ

‘มิตร’ ด้าม

 

โพสต์แรกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หลังทราบผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. ซึ่งปรากฏว่า นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะ คือ

“ผมดีใจมากครับที่เห็นพี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้ง

นี่คือประชาธิปไตยครับ

the enemy of my enemy is my friend”

ประโยคภาษาอังกฤษตอนท้ายของโพสต์ ที่ถอดเป็นสำนวนได้ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” นั้น

ปรากฏว่านำไปสู่ความตีความทางการเมืองอย่างกว้างขวาง หลายแง่มุม

ว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู ตามความหมายของ ร.อ.ธรรมนัส

 

แต่ที่ดูเหมือนจะฮือฮามากที่สุด

คงเป็นการตีความของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ได้โพสต์คลิปสั้นๆ ใน TIKTOK ว่า

“…คงมองว่าพลังประชารัฐเป็นศัตรู คือคนขับออก (จากพรรค) มาแล้วนี่ มันอยู่กันไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น พลังประชารัฐเป็นศัตรูแน่ล่ะ ส่วนลุงตู่ ผู้กองนัส คงตั้งใจว่า มิดน่ะ…เที่ยวนี้…มิดด้าม แทงจมเขี้ยว ทีเดียวอยู่”

ดังนั้น มองในสายตาของนายณัฐวุฒิ

สำหรับ ร.อ.ธรรมนัสแล้วไม่ได้มอง พล.อ.ประยุทธ์เป็นมิตร

หากแต่เป็นศัตรู ศัตรูที่ใช้มีดทิ่มแทงกัน แบบ “มิดด้าม” เลยทีเดียว!

 

ท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัสที่ถูกตีความไปไกลนี้ ด้านหนึ่งย่อมถือเป็นอาฟเตอร์ช็อกของการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 หลักสี่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยมันตอกย้ำความร้าวฉานในพรรคพลังประชารัฐ ชัดเจนยิ่งขึ้น

ถึงขั้นมีการเอ่ยอ้างความเป็น “ศัตรู” ขึ้นมา

และแน่นอนความเป็นศัตรูนั้น มองเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจากย่อมต้องห้ำหั่นกัน

โดยสายตาคนนอกอย่างนายณัฐวุฒิมองว่า งานนี้หนักถึงขั้นแทง “มิด” ด้ามเลยทีเดียว

แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะบอกว่า ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ ร.อ.ธรรมนัสจะยกพลพรรคไปอยู่จะเป็น “พรรคของผม”

และทั้งสองพรรคจะสนับสนุนรัฐบาลต่อไป

แต่กระนั้น เมื่อความขัดแย้งพัฒนาขึ้นเป็นระดับ “ศัตรู” และแม้ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสจะประกาศว่าไม่มีความคิดที่จะต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีแลกเปลี่ยนกับเสียงสนับสนุนรัฐบาลก็ตาม แต่ดูเหมือนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์คงจะทำใจเชื่อได้ยาก

เพราะหากจะให้ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสเป็นสุภาพบุรุษ อยู่เฉยๆ รอสร้างพรรคเศรษฐกิจไทยสู้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างเซื่องๆ คงเป็นไปได้ยาก

ย่อมต้องมีข้อต่อรอง แต่โดยวิสัยของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ประกาศ “ไม่ยอมแพ้” ยากจะยอมได้ยาก คงจะยื้อถึงที่สุด เพราะไม่อยากดึงฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสเข้ามาเป็นหอกข้างแคร่ในคณะรัฐมนตรีอีก

เพราะไหนจะเสริมพลังให้ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสแล้ว ก็ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสจะกลับมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อีก

ตรงกันข้าม จากสิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัสโพสต์ว่า “ศัตรู” ของ “ศัตรู” คือ “มิตร” ยิ่งทำให้ชวนหวาดระแวง

เพราะฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสอาจไปร่วมมือ “ศัตรู” อย่างพรรคเพื่อไทย กลับมาเขย่าฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้

จึงไม่แปลก เพียงแค่ ร.อ.ธรรมนัสเดินทางไปประเทศสวิส ก็มีข่าวลือกระหึ่มว่า มีนัดหมายกับคนแดนไกล เพื่อวางเกมการเมืองอะไรหรือไม่

แม้จะไม่มีอะไรในกอไผ่

แต่ก็สะท้อนว่า ทุกย่างก้าวของ ร.อ.ธรรมนัส ถูกจับตามองอย่างหวาดระแวง

 

และด้วยความหวาดระแวงนี้ ทำให้เกิดกระแสข่าวในเชิง “คาดการณ์” ว่ากดดันให้ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์จะต้องขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง

ที่เริ่มพูดกันมากนั่นคือ จำเป็นต้องเข้าไป “ยึด” พรรคพลังประชารัฐ

โดย พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องเข้าไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน พล.อ.ประวิตร

ด้วยเหตุผลที่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธได้ยาก นั่นก็คือ ภาพของ พล.อ.ประวิตรขายไม่ได้ อย่างที่ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 3 สนาม

ขณะที่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฝ่ายสนับสนุนยังเชื่อว่า ขายได้ อย่างการเลือกตั้งซ่อมที่เขต 9 กทม. ไม่ใช่แค่พรรคพลังประชารัฐที่หันกลับมาชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขาย พรรคการเมืองอื่นยังเข้ามาร่วมชู พล.อ.ประยุทธ์ด้วย ไม่ว่าพรรคไทยภักดี หรือแม้แต่พรรคกล้าก็ตาม

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อาจเลือกเข้าไปมีบทบาทในพรรคด้วยตนเอง ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อประคองไม่ให้พรรคพลังประชารัฐล่มสลาย

และอาจจะดึงแนวร่วมเดิมๆ ทั้ง กปปส. และปีกกลุ่มอนุรักษ์ กลับเข้ามาสนับสนุนก็ได้

ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่า สถานการณ์จะพัฒนาไปถึงขั้นนั้นหรือไม่

รวมทั้งหากมีการต่อต้านจากฝ่าย พล.อ.ประวิตรที่ถ่างขาควบสองพรรคก็อาจมีการตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะแยกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่เสียเลย

 

ขณะที่สถานการณ์ยังไม่พัฒนาไปถึง “จุดแตกหัก” ดังกล่าว

ก็ใช่ว่าปีกของ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่เฉยๆ หรือปล่อยให้ฝั่งฟาก ร.อ.ธรรมนัสรุกอยู่ฝ่ายเดียว

มีกรณี “คนละเรื่องเดียวกัน” ที่กำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 8/2565

แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล

โดยให้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน

และมีกรรมการ “บิ๊กเบิ้ม” เข้าร่วมมากมาย

ทั้งอัยการสูงสุด ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เลขาธิการกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้อำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ

ซึ่งล่าสุดนายอนุชาได้แต่งตั้ง “แรมโบ้” นายเสกสกล ให้เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจในการตรวจสอบและติดตามผู้ค้าสลากเกินราคา

โดยนายเสกสกลประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยไม่สนใจว่าใครจะเส้นใหญ่แค่ไหน

 

กรณีนี้ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ

แต่หากพลิกแฟ้มข่าวกลับไปเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 6 คน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563

1 ใน 6 รัฐมนตรี คือ ร.อ.ธรรมนัส ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ถูกพรรคฝ่ายค้านซักฟอกว่าไม่มีความเหมาะสมใน 4 ประเด็นหลัก

หนึ่งในนั้นคือการแจ้งบัญชีทรัพยสินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีอ้างมีรายได้จากจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 ล้านบาท เป็นเท็จ

นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปรายว่า ร.อ.ธรรมนัสแจ้งบัญชีทรัพย์สินว่ามีรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เดือนละ 3 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงมีว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่มีโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการกองสลาก ปี 2558 เพื่อแก้ปัญหาขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ทำให้บริษัทที่มี ร.อ.ธรรมนัสเป็นหุ้นส่วนถูกริบโควต้า ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัสไม่ควรมีรายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เชื่อว่า ร.อ.ธรรมนัสแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จ

นายนิคมยังอภิปรายอีกว่า ส่วนเรื่องราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลแพงนั้น ราคาต้นทุนอยู่ที่ใบละ 70.40 บาท แต่พ่อค้าแม่ค้าเอามาขายใบละ 100 บาท แต่ได้กำไรแค่ใบละ 5 บาท แสดงว่า นายทุนใหญ่จะได้กำไรตกใบละ 25 บาท จึงถามพ่อค้าแม่ค้าว่า หากอยากได้โควต้าสลาก ต้องทำอย่างไร เขาตอบว่าให้ไปถามบิ๊กป้อม ทุกวันนี้พิมพ์สลากงวดละ 100 ล้านฉบับ จากเดิมพิมพ์ 60-70 ล้านฉบับ เขาเล่ากันว่า จัดสรรให้ ร.อ.คนหนึ่งดูแล 80 ล้านฉบับ หากนำไปขายจะทำให้กำไรกว่า 300 ล้านบาทต่องวด และนำเงินที่ได้มาดูแลคนตรงนี้

แต่ตนไม่เชื่อจึงอยากให้ช่วยชี้แจง

 

ร.อ.ธรรมนัสชี้แจงต่อสภาว่าไม่ปฏิเสธว่าก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองในฐานะ ส.ส ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 มีอาชีพเป็น 1 ใน 5 เสือกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ผิดหรือที่ตนจะมีอาชีพเป็นผู้ค้าสลากรายใหญ่ ขออย่ามองเห็นผู้ค้าสลากรายใหญ่เป็นโจร เขามีคุณธรรมไม่ใช่จะเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้วมีนโยบายไม่ให้มี 5 เสือหรือผู้จำหน่ายฉลากรายใหญ่ ตนได้รับสัมปทานในฐานะเป็นคู่สัญญากับกองสลากครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558

ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า จนถึงทุกวันนี้ไม่มีสัมปทานหรือมีคู่สัญญากับสำนักงานสลากฯ แม้แต่เล่มเดียว แต่ที่ได้สำแดงทรัพย์สิน รายได้ว่ามาจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 ล้านบาท เพราะตนเช่าแผงค้าสลากที่ข้างสำนักงานสลากฯ ซึ่งเป็นการเช่าช่วงจากเจ้าของตลาด จึงมีแผงค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลเกือบ 10 แผง

“การทำอาชีพนี้ผมถือว่าเป็นอาชีพสุจริต” ร.อ.ธรรมนัสยืนยัน

 

แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะผ่านศึกซักฟอกไปได้ และย้ำถึงธุรกิจการค้าสลากกินแบ่งว่าเป็นไปโดย “สุจริต”

แต่กระนั้น ภาพของ ร.อ.ธรรมนัสยังติดภาพเกี่ยวกับ “หวย”

และนี่จึงเป็นที่มาของการจับตา “คนละเรื่องเดียวกัน” ของการตั้งคณะกรรมการแก้หวยแพง ซึ่งมีแรมโบ้จอมลุย ที่มีจุดยืนอยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์อย่างถวายหัว เป็น “เครื่องจักร” สำคัญในการดำเนินการ ว่ามุ่งจะไปกระทบชิ่งใครหรือไม่

และจะไปทุบหม้อข้าว หรือตัดน้ำเลี้ยงใครหรือเปล่า

รวมทั้งจะเกี่ยวข้องกับการ “แทงมิดด้าม” เพื่อเอาคืนใครหรือไม่

นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเกี่ยวข้องและส่งผลสะเทือนต่อศึกการเมืองขณะนี้แค่ไหน

และสิ่งที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่า นายกฯ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ผ่านมาว่า ทุกอย่างจบไปแล้ว ถือเป็นการตัดสินใจของประชาชน ขอร้องว่าอย่าใช้โอกาสนี้สร้างความแตกแยก ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลตั้งใจและช่วยกันทำงานต่อไป

เรื่องจบจริง และลดโทนความเป็น “ศัตรู” ลงได้หรือไม่ ต้องติดตาม

แต่ดูแล้วยากอย่างยิ่ง!