69 ปี ‘บุญส่ง ชเลธร’ ‘ผมไม่ใช่เหลือง แต่ก็ไม่ใช่แดง’ ทำนาย ‘รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้น’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

 

69 ปี ‘บุญส่ง ชเลธร’

‘ผมไม่ใช่เหลือง แต่ก็ไม่ใช่แดง’

ทำนาย ‘รัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้น’

แม้อายุใกล้เลข 7 แต่วันนี้ “บุญส่ง ชเลธร” อดีตคนเดือนตุลาฯ ที่มีดีกรีด๊อกเตอร์ ยังคงมีความสุขกับการเป็นครูบาอาจารย์ โดยนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาตรี (ออนไลน์) สาขาผู้นำฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นเจ้าของ

อาจารย์บุญส่งบอกว่า งานหลักตอนนี้คือ “สอนหนังสือ” ที่มหาวิทยาลัยรังสิต วิชาหลักๆ เป็นเรื่องการเมืองการปกครอง ขณะที่ในส่วนทางการเมืองตัดสินใจร่วมกับพรรคสร้างอนาคตไทย (นำโดยนายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน) โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนหนึ่ง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็เปิดโอกาส เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่ควรถูกกรอบของหน้าที่การงานบังคับไว้

หลายคนคงสงสัยว่าทำไม ดร.บุญส่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเข้าร่วมกับ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) จึงมาร่วมกับพรรคสร้างอนาคตไทย

เจ้าตัวแจงว่า หลังจากคุยกับคุณสนธิรัตน์และคุณอุตตม แล้วมองเห็นความจริงใจ ความตั้งใจในการทำงาน อีกทั้งรัฐมีข้ออ่อนในการทำงานมาก ฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้แสดงศักยภาพในการแก้ไขที่น่าชื่นชม ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีปัญหา พอมีพรรคสร้างอนาคตไทย จึงรู้สึกมั่นใจว่าเป็นความหวังใหม่ของการเมืองไทย เพราะในยามที่สิ้นหวังที่สุด คนจะเชื่อมั่นในพรรคสร้างอนาคตไทยมากขึ้น

“ผมเห็นว่า 1.พรรคสร้างอนาคตไทยเป็นพรรคที่ไม่ขวาสุดโต่ง และไม่ซ้ายสุดโต่ง เป็นพรรคที่มีแนวทางประนีประนอม 2.ปัญหาในวันนี้และที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องปากท้องประชาชน ซึ่งทั้งคุณสนธิรัตน์และคุณอุตตมเป็นนักเศรษฐศาสตร์มีฝีมือที่สามารถแก้ปัญหาได้ ภาพลักษณ์แบบนี้จะตรงกับความต้องการของประชาชน ถ้าได้ทีมแบบนี้มาถือว่าใช้ได้เลย 3.คือตอนสี่กุมารออกมาจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังไม่ช้ำ ยังดีอยู่ เป็นความหวังของประชาชนได้”

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลงลึกในเรื่องการเมืองมากกว่านี้ ดร.บุญส่งที่ในอดีตเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ทำกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2513-2516 โดยช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่นาน เขาถูกจับเป็น 1 ใน 13 คน ที่เรียกกันว่า “13 กบฏรัฐธรรมนูญ” ในข้อหาคอมมิวนิสต์และปลุกปั่นต่อต้านรัฐบาล หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลบหนีเข้าป่า

เขาย้อนอดีตให้ฟังว่า “ตั้งแต่ปี 2522 ไปอยู่อังกฤษช่วงหนึ่ง อเมริกาช่วงหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่อยู่สวีเดนหลายสิบปี รวมระยะเวลาอยู่ต่างประเทศทั้งหมด 34 ปี ตระเวนอยู่แถวยุโรปเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุที่ไป เพราะตอนนั้นบรรยากาศการเมืองไทยค่อนข้างน่าเบื่อ คิดว่าน่าจะออกไปหาประสบการณ์ชีวิต”

ต่อมามีครอบครัวกับสาวไทย มีลูกสาว 2 คนอยู่สวีเดน ลูกคนโตตอนนี้อายุ 30 ปีแล้ว ขอเดินทางรอบโลกเพื่อจะได้เห็นโลกกว้างๆ และก็มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ ผ่านมา 7 ปีแล้ว น่าจะเดินทางมาร่วม 50 ประเทศ

ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุ 28 ปี ไม่ได้กลับมาอยู่เมืองไทยด้วย เรียนจบด้านการออกแบบภายใน ทำงานอยู่ที่สวีเดน

สำหรับลูกสาวคนโต บอกอยากมาอยู่เมืองไทย เพราะชอบเกาะเต่า ชอบปาย ในอนาคตจะมาซื้อที่ดินปลูกบ้านที่ปาย

ในฐานะที่อยู่สวีเดนมานาน ดร.บุญส่งบอกว่า “ที่สวีเดนให้อะไรผมมาก ผมเป็นครูโรงเรียนมัธยมที่นั่น สอนภาษาไทย และสอนภาษาสวีดิชเป็นหลัก ซึ่งสวีเดนมีระบบรัฐสวัสดิการที่รัฐดูแลประชาชนดีมาก ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทำให้คิดว่าเมืองไทยน่าจะดูแลประชาชนแบบนี้บ้าง และรู้สึกว่าน่าจะนำมาทำที่ประเทศไทยได้”

ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทยรายนี้บอกอีกว่า “หลังมาสวีเดนในปี 2553 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบึงกุ่ม สังกัดพรรคการเมืองใหม่ ที่มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรค และมี ดร.สุริยะใส กตะศิลา เป็นเลขาธิการพรรค แต่แพ้ จากนั้นลาออกจากพรรคเลยเพราะคิดว่าไม่ควรเข้าไปอยู่ในความขัดแย้งแบบนี้ รวมแล้วเป็นสมาชิกพรรคนี้ 2 เดือนแค่นั้น พอกลับมาคิด ถ้าผมเข้าใจการเมืองไทยมากกว่านี้ ควรสมัครอิสระมากกว่า คะแนนผมน่าจะได้มาก”

“และไม่ต้องเข้าไปขัดแย้งกับสภาพบ้านเมืองที่แบ่งแยกเป็นเหลือง-แดง ”

: พรรคสร้างอนาคตไทยวางตัวให้ลงสมัคร ส.ส.หรือไม่ อย่างไร

ยังไม่ได้คุยกัน ส่วนตัวผมสนใจการเมือง และสิ่งหนึ่งที่ติดในหัวผมคือเรื่องสวัสดิการประชาชน ผมเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะมาร่วมมือทำสิ่งเหล่านี้ได้ ผมแค่อยากทำงาน ไม่สนใจว่าจะเป็น ส.ส.ไหม ถ้ามีโอกาสทำงานจะผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ เท่าที่คุย คุณสนธิรัตน์ก็พูดเชิงรับดี

ส่วนกลัวคนมองว่าอยู่ฝ่ายเหลืองหรือไม่นั้น จริงๆ ตอนอยู่พรรคการเมืองใหม่ ไม่เคยทำกิจกรรมอื่นร่วมกับเขาเลย และมันจบไปนาน 10 กว่าปีแล้ว ผมคิดว่าผมไม่ได้เป็นเหลือง แต่ก็ไม่ใช่แดง ผมเป็นกลางมากกว่า ผมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเหลืองและแดงในส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ และผมก็มีเพื่อนทั้ง 2 ฝ่ายทั้งที่พรรคเพื่อไทย และพรรค พปชร.

: มองว่าการเป็นคนเดือนตุลาฯ ให้อะไรบ้าง

ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น การเข้าร่วมต่อสู้ในเดือนตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 นั้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันต้องสู้ เมื่อบ้านเมืองเป็นเผด็จการ บ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย เป็นเรื่องของยุคสมัย

ตอนที่เพิ่งกลับมาไทยเมื่อ 7 ปีมาแล้ว ผมสนับสนุน กปปส. เพราะมองว่ารัฐบาลสมัยนั้นมีปัญหาจริงๆ พอมาช่วงหลังการรัฐประหาร แม้ใจผมจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ไม่คัดค้าน เพราะบ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า แต่ต่อมาคณะรัฐประหารพยายามอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด ซึ่งผมไม่เห็นด้วย และเห็นว่า ควรต้องถอยออกไปจากเวทีการเมือง แล้วปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจกันเอง

ถ้าถาม ณ วันนี้ ผมไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหาร แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีข้ออ่อนเยอะมาก ผมเขียนวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ด้วย

: ประเด็นไหนที่ไม่เห็นด้วย

มีหลายประเด็น อย่างเรื่อง ส.ว. การที่ ส.ว.มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตอนนี้ผมเป็นหนึ่งในกลุ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ขอให้ยกเลิกสิทธิ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ มีคนลงชื่อทะลุ 50,000 แล้ว มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่ประชาชนเลือกใคร คนนั้นควรจะได้สิทธิในการเป็นผู้บริหารประเทศ ไม่ควรมีอำนาจนอกระบบหรืออำนาจอะไรอื่นเข้ามาเบี่ยงเบน

: กรณีม็อบเด็กรุ่นใหม่ต่อต้านรัฐบาลชุดนี้

เริ่มต้นผมสนับสนุนเด็กในการเคลื่อนไหว แต่เริ่มมาสะดุดและหยุดตอนที่มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเห็นว่าสถาบันวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่พอก้าวข้ามจากการวิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นการด่าทอ ดูถูกเหยียบย่ำ อันนี้รับไม่ได้ ผมก็ชะงัก ยิ่งแกนนำที่เคลื่อนไหวเริ่มเตลิด คำหยาบเริ่มมากขึ้น โยนอาหารหมาให้ตำรวจกิน ยกเท้าให้เลีย ทำท่าฉี่ใส่หัวตำรวจ ใช้วิธีการรุนแรง ผมว่าพฤติกรรมแบบนี้ ยุทธวิธีแบบนี้ผิดแล้ว คุณมีแต่ทำลายแนวร่วม สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม

ต้องนึกว่าภายใน 1 ปี คุณโดนคดี 6-700 คดี คนที่โดนคดีมีร่วมพันคน และตามรูปคดีแต่ละคนจะโดนติดคุกยาวมาก คุณต้องคุยกับคนวางแผน ต้องคุยกับคนที่ต่อสู้แล้วว่า คุณวางแผนอย่างไร ให้คนของคุณเดินเข้าคุกกันเป็นร้อย เป็นพันคน เดินต่อสู้อย่างไรถึงได้โดนคดีเยอะขนาดนี้ คุณด่าประณามฝ่ายตรงข้ามได้ว่าเล่นสกปรก แต่คุณอย่าลืมด่าฝ่ายตัวเองด้วยว่าผู้นำทัพฝ่ายตัวเองคิดอะไร ถึงได้นำทัพแบบนี้ ทำไมไม่รู้จักเดินอ้อม ทำไมถึงผลักให้เด็กไปตาย

อันนี้ผมไม่พอใจ คนที่นำการเคลื่อนไหวครั้งนี้ใช้ไม่ได้ ไม่รู้จักยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ไม่ใช่ผู้นำที่แท้จริง ถ้าเป็นแบบนี้ผมบอกได้เลยว่าแพ้อย่างราบคาบแล้ว จริงๆ สิ่งที่เสนอมาบางอย่างใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ หรือไล่คุณประยุทธ์ แต่เรื่องสถาบันพระมหากษัตรย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนของคนไทย

: คาดหวังกับการเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน

เชื่อว่าการเลือกตั้งคราวหน้าจะดีขึ้นมาก ประชาชนได้ผ่านบทเรียน เขาเป็นประชาชนที่มีคุณภาพ เขาจะเลือกพรรคการเมืองที่เขามีความมั่นใจมากขึ้น ระบบการหาเสียงแบบเดิมที่ใช้เงินมหาศาลน่าจะยังมีอยู่ เพราะนักการเมืองนั้นมีหลากหลาย แต่อิทธิพลที่จะเป็นการชี้เป็นชี้ตาย ชี้แพ้ชี้ชนะนั้น น้อยแล้ว จึงเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ดีจะได้รับการยอมรับ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

: มองการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่

เด็กสมัยนี้กล้ามาก ผมเข้าใจว่าที่เขากล้าเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไปเยอะทีเดียว ยกตัวอย่างการยืนในโรงภาพยนตร์ สมัยผมยืนทุกคน แต่สมัยนี้คนส่วนใหญ่ไม่ยืน อันนี้คือความเปลี่ยนแปลง ผมชื่นชมที่เขากล้าขึ้น แต่อยากให้เขาปรับ เรียนรู้สังคมไทยให้มากขึ้นด้วย ความกล้าบางทีก็ไม่เข้าใจเรื่องสังคมไทยที่แท้จริง ยิ่งเรื่องสถาบัน พูดกันตรงๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเคารพสถาบันกันอยู่ เพราะฉะนั้น การเสนออะไรใหม่ๆ ต้องรอบคอบและระมัดระวังมากกว่านี้

: ในส่วนของรัฐบาลชุดนี้ อยากบอกอะไร

รัฐบาลมีข้ออ่อนเยอะ ตลอดเวลาหลายปี โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารราชการแผ่นดิน มีข้ออ่อนมากในฐานะผู้นำประเทศ ผมผ่านนายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารมาหลายคนในอดีต แต่ไม่เจอใครแบบ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านเป็นข้อยกเว้น ถ้านำไปเปรียบเทียบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หรือแม้กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่างกันเยอะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้จักประชาชน เขามองประชาชนเหมือนทหารเกณฑ์ เขาขึ้นมาตวาดประชาชน เหมือนประชาชนเป็นทหารใต้บังคับบัญชา เขาไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ผมว่าเขาสับสนหมด

อีกอันที่น่ากลัวคือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น เขาชอบทำอะไรขวางหูขวางตากับความเห็นของประชาชนบ่อยครั้งมาก อันนี้เป็นข้ออ่อนด้อยจริงๆ ส่วนการแก้ปัญหาอันเป็นวิกฤตปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มองถึงการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนหรือระยะยาว ทุกวันนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว เช่น โครงการคนละครึ่ง

: การเมืองไทยจะไปในทิศทางใด

ผมคิดว่าการเลือกตั้งน่าจะมีในปีนี้ เพราะดีกรีด้านการเมืองร้อนแรงตลอด 1.ประชาชนเริ่มทนไม่ได้ เริ่มสิ้นหวัง ไม่มีทางออก อันนี้จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ 2.ในส่วนเรื่องผู้บริหาร หรือนักการเมือง สังเกตเห็นความแตกแยก ดุเดือดมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาที่เริ่มต้นจากการสาธารณสุขนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก่อปัญหาให้สังคม ปัญหาสังคมจะก่อเป็นวิกฤติใหญ่ทางการเมือง จะแรงขึ้นๆ จนเหมือนพร้อมระเบิดแล้ว

ทุกอย่างรอเพียงหัวไม้ขีดไฟอันแรกเท่านั้น ผมเชื่อว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาสักเหตุการณ์หนึ่งที่คาดไม่ถึง แล้วระเบิดตูมมาเลย รัฐบาลชุดนี้ ไม่น่าจะอยู่ถึงปี 2566 แต่สิ่งที่ผมกลัวอย่างหนึ่งคือการรัฐประหาร ผมหวังว่า ทางออกคือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ ประชาชนจะได้แสดงพลังของเขาอย่างแท้จริง

“ผมเชื่อว่าการรัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้น อย่าไปคิดว่าไม่มีทางเกิด แต่จะไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านๆ มา คนที่คิดจะทำ ถ้าคิดได้ ควรปล่อยให้ประชาชนกำหนดอนาคตของเขาเอง”

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ต้องติดตามกันว่าในอนาคตคำทำนายดังกล่าวจะเป็นเช่นไร