ทวารวดีศรีเทพ คำบอกเล่าจาก ‘ฝรั่งคลั่งสยาม’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ไมเคิล ไรท์ (พ.ศ.2483-2552) ชาวอังกฤษ “ฝรั่งคลั่งสยาม” คราวหนึ่งราวก่อน พ.ศ.2547 เคยบอกเล่าด้วยวาจาว่ามีเพื่อนนักวิชาการชาวญี่ปุ่นตรวจสอบเอกสารจีน (นอกเหนือบันทึกของพระถังซำจั๋ง กับพระอี้จิง) พบเนื้อความกล่าวถึง “ทวารวดี” มีทิศทางและพื้นที่อยู่เมืองศรีเทพ (อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์) ลุ่มน้ำป่าสัก

ครั้งนั้นผมฟังอย่างงงๆ มากๆ เพราะพื้นความรู้ไม่พอจะคิดตามทันข้อมูลจากเอกสารจีน หลังจากนั้นเรื่อยมา ไมเคิล ไรท์ จะพูดคุยเรื่องทวารวดีอยู่เมืองศรีเทพ แต่ผมไม่มีคำถามเพิ่ม นอกจากงงเพิ่ม

ต่อมาเมื่อไม่นานผมถามเรื่องอื่น อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง “Wen Dan And Its Neighbours : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries” โดย ทัตสึโอะ ฮาชิโนะ (Tatsuo Hoshino) ในหนังสือรวมบทความวิชาการชื่อ Breaking New Ground in Lao History : Essays on the Seventh to Twentieth Centuries. Silkworm Books 2002. จึงขอแรง ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ช่วยสรุปสาระสำคัญเป็นภาษาไทย จึงรู้ว่าเนื้อหาเดียวกับที่ผมเคยฟังจากไมเคิล ไรท์ ดังนี้

1. ในพงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับใหม่ (ซินถังซรู) เรียก “ทวารวดี” ว่า “ทัวเหอหลัว” (Duo He Luo) ใช้เวลาเดินทางจากเมืองกวางโจวเป็นเวลา 5 เดือน ถูกมองว่าเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบมีศักดินาหลักรัฐหนึ่ง ทางตะวันตกของทวารวดีติดกับทะเล ทางตะวันออกติดกับเจนละ มีศรีจนาศะ (เจียหลัวเชอฝู, Jia Luo She Fu) อยู่ทางเหนือ และมีเมืองพานพาน (Pan Pan) อยู่ทางใต้

2. ในหนังสือต้าถังซียู่จี (Da Tang Xi Yu Ji) ชี้ให้เห็นว่าที่ตั้งของทวารวดีระยะแรกควรจะอยู่แถบแม่น้ำบางปะกง แต่ฮาชิโนะเชื่อว่า ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1400 ลงมา) น่าจะย้ายไปอยู่ที่ลพบุรี

3. เอกสารจีนบางชิ้น (ฮาชิโนะไม่บอกว่าคือชิ้นไหนบ้าง) ชี้ให้เห็นว่าศรีจนาศะที่แต่เดิมอยู่ที่เมืองเสมา (ฮาชิโนะเทียบจากจารึกบ่ออีกา และพงศาวดารซินถังซรูที่บอกว่า เจียหลัวเชอฟูอยู่ทางเหนือของทัวเหอหลัว) ถูกทวารวดีรุกราน จนทำให้ต้องทิ้งอำนาจของตนเองในเขตที่ปัจจุบันคือ นครราชสีมา ไปอยู่ที่ศรีเทพ ซึ่งเอกสารจีนเรียกว่า เชียนจีฟู หรือกานจีฟู (Qian/Gan Zhi Fu)

บทความของฮาชิโนะมีแผนที่ประกอบเพื่อแสดง “ทวารวดี” อยู่ต่อเนื่องกัมพูชา สอดคล้องกับบันทึกจีนของพระถังซำจั๋งและพระอี้จิง

 

เอกสารจีนบอกว่าทวารวดีอยู่ต่อเนื่องกัมพูชา

พระถังซำจั๋งบอกไว้ในบันทึกว่าโตโลโปตี หรือทวารวดี อยู่เขตติดต่ออิศานปุระในกัมพูชา เป็น “หลักฐานตั้งต้น” สำคัญมากที่บอกว่าทวารวดีอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ไม่ใช่ตะวันตกตามที่นักโบราณคดีไทยเชื่อถือ)

ดังนั้น ทวารวดีย่อมมีตำแหน่งแห่งหนต่อเนื่องระหว่างไทย-กัมพูชา นี่เป็นความรู้ใหม่เมื่อทบทวนความทรงจำที่ได้ยินจากไมเคิล ไรท์ นานมากแล้ว

แผนที่แสดง “ทวารวดี” บนพื้นที่ต่อเนื่องไทย-กัมพูชา อยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จากบทความเรื่อง “Wen Dan And Its Neighbours : The Central Mekong Valley in the Seventh and Eighth Centuries” โดย ทัตสึโอะ ฮาชิโนะ (Tatsuo Hoshino) ในหนังสือ Breaking New Ground in Lao History : Essays on the Seventh to Twentieth Centuries. Silkworm Books 2002.

กัมพูชามีทวารวดี

“ทวารวดี” มีด้วยในกัมพูชา ซึ่ง ยอร์ช เซเดส์ มีบันทึกบอกนักวิชาการกรมศิลปากรมากกว่า 50 ปีมาแล้ว ต่อมาจิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายไว้ จะยกมาดังนี้

“ชื่อ ทวารวดี นี้ เราได้พบว่ามีจริง, ไม่เหลวไหล. คือพบในศิลาจารึก ณ ปราสาททวารกุฎี (ทเวียรกะเดย) ของกษัตริย์เขมร ราเชนทรวรรมเทพที่ 2 ลงศักราชตรงกับ พ.ศ.1496.

จารึกนั้นเล่าเรื่องในสมัยชัยวรรมเทพที่ 2 (พ.ศ.1345-1393) ผู้มาจากชวา ว่าได้ตั้ง วาบอุเปนทร ให้ครองเมืองทวารวดี. และยังมีเล่าเรื่องการสร้างเทวรูปหลายองค์ รวมทั้งพระรูปชื่อ จัมเปศวร พร้อมด้วยการกัลปนาอุทิศที่ดิน ณ เมือง ทวารวดี (R.C. Majumdar, Inscriptions of Kambuja, 1953, P. 219).

แต่แม้จะพบชื่อนี้ว่ามีจริง จารึกก็มิได้ระบุว่าทวารวดีอยู่ที่ไหน จะเป็นทวารวดีที่จีนเรียก ถว่อ หลอ ปอ ตี่ หรือไม่ ไม่ทราบได้.”

(จากหนังสือสังคมไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ.2547 หน้า 340)

 

ทวารวดีมีปัญหา

“ทวารวดี” ได้รู้ชื่อและแหล่งที่ตั้งด้วยการสันนิษฐานหรือคาดเดาจากเอกสารจีนโบราณที่เขียนไว้หลัง พ.ศ.1100 ข้อสันนิษฐานหรือคาดเดาเหล่านั้นไม่ถือเป็นยุติถูกต้องสมบูรณ์ จึงเปิดช่องให้ทักท้วงถกเถียงไม่จำกัด แต่มีปัญหารุ่มร่ามรุงรัง ดังนี้

1. ทวารวดีถูกสถาปนาจากชนชั้นนำทางวัฒนธรรม จึงถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะละเมิดมิได้ หมายถึงถ้าคิดต่างต้องถูกใส่ร้าย หากเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาก็สอบไม่ผ่าน

2. ทวารวดีถูกโฆษณาเกินจริงจากอำนาจของรัฐราชการรวมศูนย์โดยผ่านระบบการศึกษา แล้วหล่อหลอมกล่อมเกลาและครอบงำให้สังคมต้องเชื่อข้อมูลชุดนี้ชุดเดียวอย่างเชื่องๆ ใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

(หนึ่ง) ทวารวดีมีขนาดใหญ่โต เป็น “อาณาจักร” [แต่นักวิชาการสากลไม่คิดว่าเป็นอาณาจักร]

(สอง) อาณาจักรทวารวดีนับถือศาสนาพุทธ [แต่หลักฐานยืนยันว่านับถือศาสนาผี-พราหมณ์-พุทธ โดยมีศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เป็นศาสนาหลัก]

(สาม) ราชธานีของอาณาจักรทวารวดี อยู่เมืองนครปฐมโบราณ [แต่หลักฐานยืนยันมั่นคงว่าอยู่เมืองศรีเทพ-ละโว้]

(สี่) อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรทวารวดี มีกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วประเทศไทย โดยอาศัยหลักฐานชี้ขาดทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เช่น สถูปเจดีย์, พระพุทธรูป ฯลฯ [แต่พยานหลักฐานแวดล้อมทั้งมวลไม่เป็นอย่างนั้น]

(ห้า) ประชากรอาณาจักรทวารวดีมีกลุ่มเดียวเป็นมอญ [แต่หลักฐานวิชาการชี้ชัดว่าประชากรทวารวดีประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ส่วนอักษรมอญเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์สมัยนั้น ใช้ทำจารึกสังเวยถวายผีสางเทวดา ไม่ได้ทำให้คนทั่วไปอ่าน เพราะคนทั่วไป “เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก”]