การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้จะแตกต่างกับสินค้าอุปโภคทั่วไป ด้วยมีราคาสูงและมีอายุการใช้งานยาวนาน แต่ด้วยกระแสการตลาด ทำให้หลายบริษัทใช้วิธีนำเสนอความแปลกใหม่ คล้ายเสื้อผ้า สบู่ หรือครีมทามือ

แม้จะเป็นบ้านแบบเดิม แต่ก็จะเรียกขานให้ต่างภาษา หรือรูปแบบคล้ายในต่างประเทศ

รวมทั้งการนำเข้ารูปแบบที่อยู่อาศัยใหม่ ตามภาวะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงการเมือง ในแต่ละยุคสมัย

จากสภาพที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของคนไทย จะมีแค่เพิงไม้ไผ่ เรือนไม้สัก ส่วนแพริมน้ำและหมู่เรือนไทย นั้นแปรผันไปตามสถานที่ตั้ง และฐานะของผู้ครอบครอง

เมื่อมีคนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบธุรกรรมค้าขาย จึงนำเข้าที่อยู่อาศัยแบบเรือนแถว ตึกแถว ริมถนน ที่เจ้าของใช้อยู่อาศัย และประกอบการค้าขายและเก็บสินค้าไปพร้อมกัน

 

นโยบายการพัฒนาประเทศปี พ.ศ.2500 นำมาซึ่งรูปแบบอาคารสงเคราะห์จากเมืองฝรั่ง ทั้งบ้านเดี่ยวและอาคารชุดพักอาศัย ทั้งการเช่าซื้อและเช่า อย่างเช่น โครงการอาคารสงเคราะห์ ทุ่งมหาเมฆ ที่เป็นโครงการเช่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินครั้งแรก โครงการแฟลตดินแดง โครงการเช่ารายเดือน ที่กลายเป็นต้นแบบอพาร์ตเมนต์ให้เช่าในปัจจุบัน

เมื่อกิจการรัฐสวัสดิการ เปลี่ยนมาเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แบบแผนก็เปลี่ยนไป เหลือเพียงโครงการที่ดินจัดสรร ตามแนวทางหลวง ตามตัวอย่างบ้านพัก ถนนสุขุมวิท พหลโยธิน หรือเพชรเกษม ต่อเนื่องไปยังลาดพร้าว บางเขน ติวานนท์ ในยุคแรกๆ จนออกไปไกลนอกเมือง บางนา-ตราด วิภาวดี-รังสิต ในยุคต่อมา

ที่ดินจัดสรรรุ่นแรก จะมีขนาดแปลงใหญ่สำหรับผู้มีฐานะ ซื้อไว้ปลูกบ้าน ก่อนที่จะกลายเป็นการออมของผู้มีรายได้ปานกลาง ไปจนถึงมีรายได้น้อย เช่น ที่โครงการสุนทรเปรมฤทัย ที่อ่อนนุช และหมู่บ้านเศรษฐี บางแค เป็นต้น

เช่นเดียวกับโครงการบ้านเดี่ยว เริ่มจากโครงการบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ริมทะเลสาบ ที่ขุดดินมาทำสนามกอล์ฟ อย่างเช่น นวธานี ที่บางกะปิ กรีนวาเลย์ ที่บางนา-ตราด เป็นต้น ก่อนที่จะเป็นบ้านขนาดเล็กย่านพัฒนาการ หรือหัวหมาก ที่มีแค่สวนสาธารณะตามกฎหมาย อย่างที่เห็นทั่วสารทิศ

แม้แต่ทาวน์เฮาส์ ที่เป็นรูปแบบที่อยู่อาศัยที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน โครงการแรกๆ จะมาจากอุปสงค์ของผู้มีรายได้สูง ต้องการอยู่อาศัยในย่านสาทร วิทยุ สุขุมวิทตอนต้น แต่ด้วยราคาที่ดิน จึงแปลงโฉมเป็นบ้านแถว แต่เรียกขานใหม่ว่า ทาวน์เฮาส์ เพื่อให้ต่างจากตึกแถวแบบเดิม

จากนั้นก็กระจายไปทั่ว จนกลายเป็นโครงการทาวน์เฮาส์ราคาประหยัด ตามแนวคลอง 4, 5, 6 ปทุมธานี ในปัจจุบัน

 

เมื่อที่ดินใจกลางเมือง มีราคาแพงมากขึ้น จึงนำกฎหมายอาคารชุดพักอาศัย ที่มีวัตถุประสงค์จะเปลี่ยนแฟลตให้เช่าของรัฐ มาเป็นแฟลตที่ซื้อขายสิทธิ์ได้ มาเป็นสินค้าหรู เรียกขานว่า คอนโดมิเนียม เหมือนในสหรัฐอเมริกา จากโครงการแรกๆ ที่สาทร วิทยุ สุขุมวิท ค่อยกระจายไปทั่วบ้านทั่วเมือง

จึงดูเหมือนว่า ทุกรูปแบบที่อยู่อาศัยของไทย จะเริ่มจากสินค้าราคาแพง สำหรับผู้มีรายได้สูง อยู่ใจกลางเมือง ก่อนที่จะกระจายออกไปทั่วไกลจากเมือง พร้อมกับราคาต่อหน่วยลดลง สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางหรือต่ำ

กลายเป็นแบบแผนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบที่อยู่อาศัยของไทย ด้วยประการฉะนี้

ว่าแต่ว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร