หลังเลนส์ในดงลึก/”กัมเอิน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“กัมเอิน”

ผมคงเป็นเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ ที่เมื่อเวลาไปต่างถิ่น ก็มักจะเรียนรู้ภาษาของถิ่นนั้นๆ

โดยเริ่มต้นจากประโยคง่ายๆ

เช่น สวัสดี และขอบคุณ

ผมใช้คำว่า “กัมเอิน” ซึ่งมีความหมายว่า ขอบคุณ กับชายสูงวัย ร่างแกร่ง ผอม ผู้อยู่ในเสื้อผ้าสีเหลืองมอมๆ ด้วยภาษาของเขา

ขณะเขายื่นปลอกกระสุน 11 ม.ม. ที่เพิ่งยิงออกไปให้

“เราให้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงมิตรภาพ”

ชายสูงวัย ร่างแกร่ง พูดด้วยภาษาลาว

ผมรับมา มองหน้า ซึ่งเต็มไปด้วยริ้วรอย

และรอยยิ้มจางๆ

นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมพบบนเส้นทางการทำงาน เวลาผ่านมานาน ผมยังจำได้ดี

กระทั่งถึงวันนี้ วันที่วัยของผมน่าจะใกล้เคียงกับชายร่างแกร่งในวันนั้น

ผมรู้สึกถึงอีกความหมายหนึ่ง

ของคำว่า “มิตรภาพ”

ในปี พ.ศ. ที่การฟื้นฟูประชากรนกกระเรียนไทย ยังไม่บรรลุเป้าหมาย นกกระเรียนไทยไม่มีใครพบเห็นในธรรมชาติตามแหล่งชุ่มน้ำ

ข่าวการมีอยู่ของนกกระเรียนสายพันธุ์นี้ตามแหล่งชุ่มน้ำในประเทศเขมร รวมถึงในประเทศเวียดนาม จึงเป็นจุดหมายของคนมากหน้า

กลางฤดูหนาวปีหนึ่ง ผมพบตัวเองเดินอยู่ใต้ท้องฟ้าสีครามเข้ม แดดจ้า เมฆแผ่กระจายเป็นริ้วๆ สภาพอากาศร้อนอบอ้าว

ตัวแช่ในน้ำถึงเอว พื้นล่างคือโคลนลึก ท่วมเข่า การเคลื่อนที่แต่ละก้าวไม่ง่าย

ผู้เดินนำอยู่ข้างหน้าเป็นชายสูงวัย ผอมเกร็ง

ใบหน้าเกรียมแดด หันมามองผมเป็นระยะ

“อีกไม่ไกล ถึงดงไม้นั่น จะเดินสบายขึ้น”

เขาพูดกับผมด้วยภาษาลาว พูดช้าๆ ให้ผมเข้าใจ

“พอไหวครับ” ผมตอบด้วยสำเนียงอีสาน

ใต้ท้องฟ้าสีครามเข้มนี้ คือส่วนหนึ่งในจำนวนพื้นที่กว่า 38,448 ตารางกิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติคัดเทียน เกินกว่าครึ่งของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม หรือที่เรียกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ มียอดเขาสูงสุดเพียง 370 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ที่นี่ในรายงานการสำรวจประชากรสัตว์ป่า พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึง 50 ชนิด นกกว่า 270 ชนิด

นกหลายชนิด คือนกซึ่งหายสาบสูญไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย

ทุกฤดูหนาว จะมีนกกระเรียนสายพันธุ์ไทยเดินทางมาที่นี่

“จากที่นี่ ซึ่งเราเรียกว่า บึงจระเข้ พรุ่งนี้ก็จะถึงบึงนก”

ชายสูงวัยบอกเมื่อเราเดินถึงสันดอน

ผมนั่งพิงโคนไม้ใหญ่ด้วยความเหนื่อย หลับตา เหงื่อชุ่มใบหน้า

“นกรอเราอยู่ที่นั่นแหละ” ชายสูงวัยพูดอย่างให้กำลังใจ

ชายหนุ่มสองคนซึ่งทำหน้าที่ช่วยแบกสัมภาระเดินมาถึง ในมือหอบผักกองใหญ่

ชายสูงวัยผู้มีชื่อว่า เหงียน วัน ช้อด พูดกับชายหนุ่มสองคนนั่นอยู่สักพัก ก็บอกผมว่า จะหยุดหุงหาอาหารกลางวันที่นี่ หรืออาจต้องนอนค้างเลย เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงจะมืด คงเดินไม่พ้นบึงน้ำ

ชายสูงวัยชำนาญพื้นที่แถบนี้

เพราะอดีต ที่นี่เป็นพื้นที่สู้รบ

เหงียน วัน ช้อด คือหนึ่งในทหารเวียดนามเหนือที่มารบอยู่ในแถบนี้

การสื่อสารระหว่างเรา คล้ายจะแปลกๆ

วันแรก ผมใช้ภาษามือและท่าทาง เพื่อสื่อสาร พอเข้าใจกันบ้าง

จนถึงค่ำวันที่สาม ขณะล้อมวงกินข้าว

จู่ๆ ชายสูงวัยร้องเพลง ซึ่งผมเข้าใจความหมาย

“กินเข่าบ่มีหยังกับ นอนบ่หลับ บ่มีสาวกอด”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการสื่อด้วยคำพูดของเรา

“ทำไมเว้าลาวได้ล่ะ” ผมถาม

“ไปรบอยู่ในลาวหลายปี” ชายร่างแกร่งตอบ

ถึงวันที่ห้า เรายังเดินย่ำอยู่ในบึง ลักษณะพื้นที่เป็นป่าดิบ สลับบึงน้ำ

เราเดินในป่าบ้าง ลงน้ำบ้าง สลับกันไปทั้งวัน หลายครั้งเราเดินผ่านชุมชนนกกาน้ำที่กำลังเลี้ยงลูก

บางวัน บนท้องฟ้าไกลลิบๆ ผมเห็นฝูงนกกาบบัวบินร่อน

แต่ไม่เห็นแม้แต่เงาของนกกระเรียน

พูดคุยกันรู้เรื่อง คล้ายความสนิทสนมระหว่างเราจะเพิ่มขึ้น เหงียน วัน ช้อด ยื่นเหล้าในจอกให้ดื่มก่อนกินข้าว

เหงียน ใหม่ ซุม ชายหนุ่มอีกคน เอาตาข่ายขึงริมน้ำ ได้ปลามาพอสมควร

จากโคนต้นไม้ใหญ่ที่ผมนั่งพิง มองออกไปคือความเวิ้งว้างของบึงน้ำ

บริเวณที่นั่งอยู่ มีรอยกวางย่ำไว้เป็นเทือก

“ตอนรบกันก็อย่างนี้แหละ” ชายสูงวัยชวนคุย

“แต่นี่ดีกว่า เดินเหนื่อยอย่างเดียว ไม่ต้องระวังตัว”

ผมมองชายร่างแกร่งผู้ผ่านอะไรๆ มาโชกโชน ชุดสีเหลืองซีดๆ ดูเข้าได้ดีกับปืนพกขนาด 11 ม.ม. ที่คาดอยู่ข้างเอว

ใบหน้ากร้าน เต็มไปด้วยริ้วรอย เหม่อมองไปในบึงน้ำกว้าง

นี่คือชายสูงวัยคนหนึ่ง ชายซึ่งในตอนเด็ก ผมอ่านหนังสือ รวมทั้งดูภาพยนตร์จำนวนมาก “สร้าง” ให้พวกเขาเป็นผู้ร้าย

ในหนัง ผมถึงขั้นเคยตบมือเมื่อถึงฉากที่พวก “พระเอก” ทหารอเมริกันบุกมาถึง

ความรู้สึกไม่ต่างจากการดูหนังเคาบอย

ในฉาก ทหารม้าไล่ฆ่าเหล่าอินเดียนแดง

“ลุงเคยฆ่าอเมริกันไหม” ผมถาม

“รบกันก็ต้องมีคนตายเป็นธรรมดา เพื่อนเรา ญาติเรา ตายไปเยอะ”

ชายร่างแกร่งตอบ แต่ไม่ตรงคำถาม

การนอนริมน้ำ สิ่งอันหลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ ยุงมหาศาล ผมใช้มุ้งครอบทับเปล เสียงหึ่งๆ ข้างหูดังตลอด

ราว 4 ทุ่ม มีเสียงปืนดังจากไม่ไกลที่พัก

ผมสะดุ้ง เหงียน วัน ช้อด พรวดพราดลงจากเปล

เหงียน ใหม่ ซุม เติมฟืนในกองไฟ

สถานการณ์การล่าสัตว์ในเขตสงวน เกิดขึ้นเสมอ

เหงียน วัน ช้อด ชักปืนจากข้างเอว ถือด้วยสองมือประกบกัน

ชายสูงวัย ยิงไปทางทิศที่เสียงปืนดังมาอย่างต่อเนื่อง เสียงปลอกกระสุนตกลงพื้นดังปุๆ

เสียง 11 ม.ม. ทำเอาหูอื้อ

ยิงเสร็จ ชายสูงวัยเปลี่ยนแม็กกาซีน เอาแม็กใหม่ใส่ ก้มลงหยิบปลอกกระสุนที่พื้น

แกเดินเข้ามาใกล้ ยื่นปลอกกระสุนให้

อีกหลายวันต่อจากนั้น ผมออกจากบึงน้ำโดยไม่พบกับนกกระเรียน

ผมนึกถึงเรื่องราวนี้บ่อยๆ นึกถึงคำว่า “กัมเอิน” ซึ่งใช้ตอบขอบคุณ ขณะชายสูงวัย ผู้ผ่านวันเวลาอันโชกโชนผู้หนึ่ง ยื่นปลอกกระสุนที่ยิงแล้วให้ เพื่อให้ระลึกถึงมิตรภาพ

เดินทางมายาวไกลพอสมควร

ผมไม่แน่ใจนักว่า ระหว่างปลอกกระสุนปืน

กับท่าทีเป็นมิตร และรอยยิ้ม

ซึ่งมอบให้กัน

อย่างใดคือ “มิตรภาพ” ที่ควรวางใจ