อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (3)

ในปี 1922 พระบิดาของ โยชิโกะ คาวาชิม่า หรือ อ้ายชิง เจียวหลอ เสียนอี๋ อันได้แก่องค์ชายซูที่ประทับอยู่ที่ลูชุนได้สิ้นพระชนม์ลง หลังจากนั้นไม่นานนักพระมารดาของเธอก็สิ้นพระชนม์ตาม

มีคำเล่าลือถึงเหตุการณ์นี้หลายแบบ บ้างก็ว่าเธอฆ่าตัวตายหลังจากพระสวามีสิ้นพระชนม์

บ้างก็ว่าเป็นเพราะเธอตั้งครรภ์ลูกคนที่สิบเอ็ดในขณะที่พระสวามีทรงประชวรอย่างหนักและตัดสินใจดื่มยาขับทารกในครรภ์ หากแต่ไม่เป็นผล

และนั่นทำให้เธอตกเลือดจนถึงแก่ความตาย

นานิวะและโยชิโกะบุตรบุญธรรมต้องออกจากประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมกันเพื่อเข้าร่วมพิธีศพที่ลูชุน

การสูญเสียองค์ชายซูไปนั้นหมายถึงราชวงศ์ชิงได้สูญเสียแหล่งเงินทุนและผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการกอบกู้ราชวงศ์ด้วย

ผู้มาร่วมงานพิธีล้วนแต่งกายในชุดขาว ขบวนแถวที่แห่พระศพขององค์ชายยาวเหยียดและดำเนินไปอย่างช้าๆ

ว่ากันว่า กว่าจะถึงสถานีรถไฟเพื่อส่งพระศพกลับไปฝังยังสุสานของราชวงศ์ชิงที่ปักกิ่งก็เป็นเวลาค่ำพอดี

การสิ้นพระชนม์ขององค์ชายซูเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการกลับมีอำนาจใหม่ของนานิวะ โดยอาศัยข้อความในพินัยกรรมขององค์ชายซูที่ระบุให้เขาเป็นดังผู้จัดการมรดกและการมีกองทัพญี่ปุ่นหนุนหลัง นานิวะได้เข้ามาจัดการทรัพย์สินภายในครอบครัวขององค์ชายอย่างแข็งขัน

รายได้จากตลาดต้าเหลียนในลูชุนอันเป็นรายได้หลักถูกจัดการผ่านการดูแลของเขาแทน แม้จะมีเสียงคัดค้านจากทายาทที่เหลืออยู่ถึงความไม่ยุติธรรมอยู่บ้าง

แต่เสียงบ่นเหล่านั้นก็จางหายไปในเวลาต่อมา


การสูญเสียบิดาและมารดาแท้ๆ ของตนเองทำให้โยชิโกะตกอยู่ในสภาพทุกข์ใจและซึมเศร้าอย่างหนัก มีบทกวีหนึ่งของเธอที่ถูกอ้างถึงอยู่เสมอ มันถูกเขียนว่า “ฉันมีบ้านแต่ไม่อาจกลับไปพักพิงได้ ฉันมีน้ำตาแต่ไม่หลั่งมันออกมาได้”

โยชิโกะอยู่ร่วมพิธีในจีนเป็นเวลานานพอควร และเมื่อกลับถึงมัตสุโมโต้ เธอก็ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนอีกต่อไปด้วยเหตุผลนานา นับตั้งแต่พฤติกรรมที่เหมือนเด็กผู้ชายของเธอ รวมถึงเรื่องที่เธอปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบกดข่ม หรือเรื่องที่เธอขี่ม้ามาโรงเรียนแทนการเดินธรรมดาจนก่อปัญหาให้แก่คนอื่น

ครูใหญ่ของโรงเรียนประกาศกร้าวว่าถ้าเธออยากเรียนต่อ เธอต้องยื่นใบสมัครเข้ามาใหม่เท่านั้น

ข่าวการปฏิเสธนักเรียนต่างชาติไม่ให้เข้าเรียนกลายเป็นหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ นี่เป็นครั้งแรกที่ชีวิตของโยชิโกะกลายเป็นที่สนใจของผู้คน

และแม้จะมีแรงกดดันจากสื่อมวลชน ครูใหญ่ของโรงเรียนก็ยังยืนยันที่จะไม่ให้โยชิโกะกลับเข้าเรียน เว้นเสียแต่ว่าเธอจะสมัครเข้ามาใหม่

เขาถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า “เขาได้ขจัดบุคคลที่เป็นปัญหาของโรงเรียนไปแบบไม่ต้องลงแรงเลย”


บทสรุปของเรื่องจบลงที่นานิวะตัดสินใจที่จะเป็นผู้สอนหนังสือให้กับโยชิโกะเอง การใช้ทางออกแบบนี้แม้จะทำให้โยชิโกะไม่ต้องเผชิญสถานการณ์แย่ๆ ที่โรงเรียนก็ตามที แต่นั่นก็หมายถึงว่าเธอจะต้องติดกับอยู่ในบ้านแทบตลอดเวลา

นานิวะที่มีอาการผิดปกติทางหูขึ้นทุกทีได้โอกาสที่จะมอบงานเลขานุการให้กับเธอ เขาให้เธอจดบทสนทนาระหว่างเขากับบุคคลอื่นที่เขาได้ยินไม่ชัด และอาศัยช่วงเวลานี้ฝึกระเบียบวินัยให้กับเธอซึ่งเขาอ้างว่ามันจำเป็นสำหรับการกอบกู้ราชวงศ์ชิงในอนาคต หากแต่ว่ามันเป็นสิ่งไม่จำเป็นเอาเลยสำหรับเด็กสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น

สภาวะกดดันเช่นนี้อยู่ติดตัวโยชิโกะมานับแต่เด็ก การมีเชื้อสายของราชวงศ์แมนจูแม้จะทำให้เธอรู้สึกโดดเด่น มีศักดิ์ศรี และเป็นคนสำคัญ แต่ก็เหมือนดังแส้ที่คอยโบกโบยอยู่บนตัวเธออย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายไปแล้วและความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ตึงเครียดขึ้นทุกขณะ

สภาพกดดันเช่นนี้ทำให้เธอหลงยึดมั่นกับภาพลักษณ์บางอย่างในอุดมคติแทนการพิจารณาประวัติศาสตร์และสถานการณ์ที่เป็นจริง

ในหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ โยชิโกะได้เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งในวัยเยาว์ของเธอที่เธอมีความปรารถนาจะเป็น โจน ออฟ อาร์ก วีรสตรีที่กู้ชาติฝรั่งเศสจากอังกฤษ


“วันนั้น ระหว่างทางที่ฉันเดินกลับจากโรงเรียน ฉันได้ซื้อหนังสือชื่อว่า “เรี่องราวประวัติศาสตร์ของ โจน ออฟ อาร์ก” และฉันอ่านมันรวดเดียวจบจนถึงเวลาสี่ทุ่ม ระหว่างนั้นฉันอดไม่ได้ว่าฉันจะต้องเป็น โจน ออฟ อาร์ก ให้ได้สักวันหนึ่ง พอถึงวันรุ่งขึ้น ฉันงัวเงียไปโรงเรียนและบอกกับทุกคนที่ฉันพบเจอว่า ถ้าฉันมีกองทหารสักสามพันคน ฉันจะครองประเทศจีนให้จงได้”

หากเป็นเด็กทั่วไป ความคิดที่ว่านี้คงโรยราไปตามกาลเวลาแต่สำหรับโยชิโกะผู้ที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในต่างแดน ความคิดที่ว่านี้กลับหลอมรวมเธอและฝังแน่นในตัวเธอไปตลอดชีวิต

ยิ่งผนวกด้วยการมีนานิวะพ่อบุญธรรมที่คอยพร่ำบอกเธอว่าเธอนั้นสำคัญต่อประเทศจีนและประชาชนชาวแมนจูเช่นไรด้วยแล้ว ยิ่งทำให้โยชิโกะกลายเป็นผู้ที่พร้อมจะกระทำทุกอย่างเพื่อนำราชวงศ์ชิงกลับมาสู่ความรุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง

ความเข้มงวดจากชายผู้ปวารณาตนจะกอบกู้ราชวงศ์ชิงเลวร้ายลงทุกทีเมื่อโยชิโกะไม่อาจกระทำตนได้ดังใจของเขา จนถึงขั้นมีการใช้กำลังกับเธอจากนานิวะ

ดังที่โยชิโกะได้เขียนจดหมายถึงครูคนหนึ่งของเธอ

“ฉันคือเหยื่อแห่งการบูชายัญ เหยื่อแห่งการบูชายัญ ดังที่ฉันได้เคยเล่าให้ฟังมาแล้ว คุณเข้าใจไหม ฉันคือเหยื่อแห่งการบูชายัญจากครอบครัวขององค์ชายซู ฉันมาถึงที่นี่ในฐานะของตัวประกัน คำพูดของพ่อบุญธรรมที่ว่า-แทนที่จะให้ผมต้องมาดูแลลูกขององค์ชายทั้งหมด ส่งลูกสาวของท่านมาให้ผมชุบเลี้ยงดีกว่า-คำพูดนั้นเองได้ทำลายชีวิตของฉันจนพังพินาศไป”


จดหมายนี้หาได้ทำความแปลกใจให้กับครู เขารู้ดีว่าหลังจากแก่ตัวลง นานิวะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ยากขึ้นตามลำดับ เขาเคยเห็นนานิวะหยิบพลั่วขึ้นมาถือเมื่อไม่พอใจพฤติกรรมของโยชิโกะด้วยตาตนเอง

ดังนั้น เขาจึงไม่แปลกใจที่จดหมายของโยชิโกะหลังจากนั้นจะเล่าว่า

“วันนี้ ฉันถูกตีจากพ่อบุญธรรมราวกับฉันเป็นที่รองรับอารมณ์ หากเขามีอาการขุ่นเคืองใครบางคน เขาจะระบายอารมณ์โกรธนั้นลงที่ฉัน หากมีโอกาสฉันคงอยากเปิดเผยรอยทารุณเหล่านั้นให้ครูดู สิ่งเหล่านี้หาได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาของฉันเลย เพราะหากฉันไม่ตั้งใจเรียนหรือฉันทำการบ้านไม่ได้แค่เพียงตักเตือนฉันเท่านั้น ฉันก็จะเข้าใจแล้ว”

คนที่สนิทกับนานิวะพยายามจะบรรเทาความกดดันนี้ แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะสายไป นานิวะผู้ที่ไม่อาจทำสิ่งที่เขาใฝ่ฝันให้เป็นจริงได้กลายสภาพเป็นตาแก่เจ้าอารมณ์และยึดถือเด็กสาวตัวน้อยเป็นดังโลกส่วนตัวของเขา โยชิโกะได้เล่าถึงความอึดอัดนี้ไว้ในจดหมายฉบับท้ายว่า

“คนในบ้านไม่เคยยอมให้ฉันคลาดสายตา พวกเขาประกบฉันแทบทุกย่างก้าว มีความหวาดกลัวว่าฉันจะหนีออกจากบ้าน พวกเขาบังคับให้ฉันมาญี่ปุ่นและบอกว่าจะไม่มีวันส่งฉันกลับไป มีความหวาดกลัวว่าเด็กน้อยคนหนึ่งที่ล่วงรู้ว่าแท้จริงแล้วพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และรู้ว่าฉันกำลังตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา หากปล่อยฉันให้เป็นอิสระ ฉันอาจบอกโลกให้รู้ได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น พวกเขาเชื่อว่าฉันจะใส่ร้ายพวกเขาเป็นแน่หากฉันพ้นจากบ้านหลังนี้ ทั้งที่ฉันไม่รู้จักใครอีกเลยในโลกกว้างใบนี้

หากการฆ่าตัวตายจะนำพาความเสื่อมเสียมาให้ครอบครัวและราชวงศ์ของฉัน ถ้าเช่นนั้นฉันก็จะเดินทางกลับประเทศจีน สิ่งนั้นน่าจะนำความผ่อนคลายมาให้ ฉันตัดสินใจแล้วว่าจะบอกพวกเขาว่าฉันจะฆ่าตัวตายหากเขาไม่ส่งฉันกลับไป แต่พวกเขาคงไม่เชื่อฉันเป็นแน่และการปลดปล่อยฉันคงไม่เกิดขึ้น

และถึงแม้ฉันจะเดินทางกลับประเทศจีนจริงๆ ฉันคงสื่อสารกับใครไม่ได้ ฉันไม่รู้ภาษาจีน ฉันไม่หลงเหลือพ่อแม่ ไม่หลงเหลือใครเลย…”

 

ต้นปี 1932 หลังการปะทะกันครั้งแรกของกองทัพจีนและกองทัพญี่ปุ่น นักเขียนหนุ่มนาม โชฟุ มูรามัตสุ-Shofu Muramatsu ได้เดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้

นี่เป็นการมาเซี่ยงไฮ้ครั้งแรกของเขา แรงบันดาลใจในการเดินทางของเขามาจากนักเขียนญี่ปุ่นรุ่นพี่ผู้กลายเป็นตำนานไปแล้วคือ ริวโนสุเกะ อะคุตะงาว่า-Ryunosuke Akutagawa ผู้เดินทางมาถึงเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้าเขาในปี 1921

อะคุตะงาว่ามาที่นี่ในฐานะนักข่าวคนหนึ่ง ซึ่งแม้เขาจะมีสุขภาพไม่แข็งแรงและป่วยออดๆ แอดๆ ตลอดเวลา (อะคุตะงาว่าต้องเข้าโรงพยาบาลถึงสองครั้งระหว่างการเยือนเซี่ยงไฮ้) แต่สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนโดยเฉพาะความคิดที่ก้าวหน้ายามนั้นมีหลายสิ่งที่ดึงดูดใจจนทำให้เขาไม่ปฏิเสธภารกิจนี้ แและก็ไม่เป็นที่ผิดหวัง อะคุตะงาว่าเขียนชมเซี่ยงไฮ้ขณะนั้นว่า-เมืองนี้มันวิเศษจริง ช่างอุดมไปด้วยความคิดใหม่ๆ และไข้ไทฟอยด์-

ความรู้สึกประทับใจที่อะคุตะงาว่ามีต่อเซี่ยงไฮ้นั้นกระตุ้นการเดินทางของมุรามาสุ

ประโยคของอะคุตะงาว่าที่ว่า “เซี่ยงไฮ้นั้นมีทุกอย่างที่เราปรารถนา คุณเคยเห็นห้องที่มีรูปทรงสามเหลี่ยม คุณคงไม่เคยนึกสินะว่ามันจะมีอยู่จริง แต่สำหรับที่นี่ ที่เซี่ยงไฮ้ มันคือสิ่งสามัญธรรมดาสำหรับชาวเซี่ยงไฮ้”

และเมื่อมูรามัตสุมาถึงเซี่ยงไฮ้จริงๆ เขาก็พบว่าสิ่งที่เขาได้รับจากนครแห่งนี้หาได้เกินเลยจากคำพรรณนาของอะคุตะงาว่าเลย เขาได้พบกับสีสันยามค่ำคืน ความรักที่โลดโผน

มูรามัตสุผลิตงานเขียนอย่างบ้าคลั่งด้วยแรงบันดาลใจจากเซี่ยงไฮ้ ทว่า สิ่งที่ทำให้เขาตกตะลึงมากกว่านั้นคือการได้พบกับบุคคลคนหนึ่ง ภายใต้สงครามที่ดำเนินไป กองทัพจีนขอร้องให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาหยุดยิงกับกองทัพญี่ปุ่น

มูรามัตสุตัดสินใจโทรศัพท์หานายทหารญี่ปุ่นระดับสูงคนหนึ่งนาม ริวอิจิ ทานากะ ที่เขารู้จักเพื่อถามถึงความเป็นไปได้

“นี่คือเรื่องสำคัญที่เราไม่อาจพูดคุยกันได้ทางโทรศัพท์ ผมจะส่งคนไปรับคุณมาที่นี่ทันที”


รถยนต์มาถึงที่พักของเขาภายในเวลาสามสิบนาที

คนขับรถแต่งชุดนักเรียนชายญี่ปุ่น ใส่หมวกแก๊ปสีน้ำเงิน เขามีดวงตาสีดำขลับ จมูกโด่ง และมีริมฝีปากสวยได้รูป ผิวของเขาสีขาวราวกับงา

มูรามัตสุคิดว่าเขาได้เคยพบชายหนุ่งรูปงามชาวจีนมามากแต่ไม่มีใครสู้ชายคนนี้ได้เลย

แต่เมื่อเขาขึ้นนั่งในรถ ชายหนุ่มคนนั้นหันมาหาเขาและแนะนำตัวว่า “สวัสดีคุณมูรามัตสุ ฉันชื่อคาวาชิม่า”

นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาได้พบกับ โยชิโกะ คาวาชิม่า หญิงสาวผู้เป็นคู่รักของ ริวอิจิ ทานากะ

หญิงสาวผู้ที่เขาจะได้เขียนประวัติของเธอในเวลาต่อมา