สวนพึ่งพิง / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

สวนพึ่งพิง

 

เพิ่งกลับจากเมืองจันท์ครับ

ช่วงนี้แวบกลับบ้านเกิดบ่อยหน่อย

จากเดิมกลับไปปีละ 1-2 ครั้ง แต่ช่วง 3 เดือนนี้กลับไปแล้ว 2 ครั้ง

ครั้งแรก ไปวางศิลาฤกษ์แปลงฝรั่งกิมจูครับ

ที่ผ่านมาสวนของผมและพี่น้องจะปลูกผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด ลองกอง ฯลฯ เป็นหลัก

เป็นไม้ยืนต้นที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะให้ผล

ไม่เคยปลูกพืชไร่ ที่ใช้เวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือนให้ผล

“ฝรั่งกิมจู” น่าจะเป็นพืชไร่ตัวแรกที่ทดลองปลูกในสวน

ผมมาดูตัวเลขของสวนได้ประมาณ 1 ปี

“รายรับ” ทั้งหมดจะมาอยู่ช่วงเดียว คือ ช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝน

ไม่ว่าทุเรียน มังคุด ลองกอง ก็จะเก็บผลได้ช่วงนี้

แต่ช่วงที่เหลือมีแต่ “รายจ่าย”

ผมมีที่ดินที่ยังว่างอยู่ประมาณ 1 ไร่ ก็เลยทดลองปลูก “ฝรั่งกิมจู”

เหตุผลหนึ่งคือ ชอบกินฝรั่ง

ฝรั่งที่หวาน กรอบอร่อยๆ หากินยากนะครับ

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ฝรั่งออกผลทั้งปี

ปลูกแค่ 5 เดือนก็ให้ผลแล้ว

ข้างๆ แปลงฝรั่งก็มีขนุนที่ไม่เคยดูแลเลย

ขนุนก็เป็นพืชที่ออกผลทั้งปีเหมือนกัน

มาแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยหน่อยก็ออกลูกแล้ว

ถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย สวนนี้ก็จะมี “รายรับ” ทุกเดือน

แม้จะยังไม่พอค่าแรงคนสวน

แต่ทำให้ระบบบัญชีสมดุลมากขึ้น

ผมไปครั้งแรก เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

จ้างแบ๊กโฮมาขุด ปรับดิน วางท่อน้ำเพื่อปลูกฝรั่ง

รถแบ๊กโฮก็ขุดหลุมฝรั่ง เว้นระยะตามตำรา

แต่ที่ตักดินของแบ๊กโฮใหญ่มาก

เขาจ้วงทีลึกประมาณ 50 ซ.ม.

ผมกลัวลึกไม่พอก็เลยขอ 2 จ้วง

แต่ต้นฝรั่ง เขาขุดหลุมลึกแค่ 1 จอบก็พอแล้ว

พอถึงเวลาเอาต้นฝรั่งลงหลุม

คนสวนบ่นว่าที่เสียเวลาและแรงมาก คือ การเอาดินที่ขุดมาถมในหลุมให้เหลือแค่ 1 จอบ

แล้วค่อยเอาฝรั่งลง

ชาวสวนมือใหม่ก็แบบนี้ล่ะครับ

 

กลับไปครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง

เป้าหมายหนึ่งคือ ไปวัดชีพจรต้นฝรั่งที่ปลูก

รอด หรือไม่รอด

ปรากฏว่า รอดครับ

แตกใบอ่อนสวยด้วย

เป้าหมายที่สอง ไปดูทุเรียน มังคุด ลองกอง

เพราะตอนนี้เริ่มออกดอกแล้ว

ปีนี้มังคุดดกมาก ทุเรียนติดดอกก็พอใช้ได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะติดเป็นลูกเยอะไหม

ช่วงนี้ยังเป็น “หางแย้” อยู่

งงใช่ไหมครับว่า “หางแย้ ” คืออะไร

ชาวสวนเขามีศัพท์ที่ใช้เรียกดอกทุเรียนในแต่ละช่วงสนุกมาก

เริ่มตั้งแต่ “ตาปู” คือ เป็นปุ่มๆ

จากนั้นก็ขยับมา “เหยียดตีนหนู” แทงยอดออกมาเป็นดอกเล็กๆ

พอเป็นดอก ก็เริ่มตั้งแต่ระยะ “กระดุม-มะเขือพวง” จนถึง “หัวกำไล”

ใครเห็นรูปดอกแต่ละช่วงแล้วต้องชมคนคิดศัพท์

แต่ละคำ เห็นเป็นภาพชัดเจนมาก

จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงดอกบาน

และพอเริ่มติด แปลงกายจาก “ดอก” เป็น “ลูก” เล็กๆ แบบยังไม่ชัด

มีเกสรแทงมาเป็นหาง

เขาเรียกว่า “หางแย้”

“หางแย้” ก็มี 2 ระยะ

ระยะแรกที่ยังขาว เรียกว่า “หางแย้ขาว”

จากนั้นก็เริ่มเป็นสีน้ำตาล เรียกว่า “หางแย้ไหม้”

พ้นจากช่วงนี้ก็ติดเป็นลูกเล็กๆ เห็นหนามชัดขึ้น

กระบวนการทั้งหมดจนตัดได้ใช้เวลาประมาณ 90-120 วันแล้วแต่พันธุ์

ตอนที่อ่านข้อมูลหรือดูคลิป ช่วงแรกที่ฟังศัพท์ชาวสวน

นอกจากงงแล้ว ยังขำด้วย

คิดคำได้ครีเอทีฟมาก

อย่างมังคุด ศัพท์ชาวสวนก็สนุกครับ

ลูกที่ออกมามีหลายแบบ

มีทั้ง “ไฟเลี้ยว-ไฟท้าย-ไฟกะพริบ”

อยากรู้ใช่ไหมครับว่าเป็นอย่างไร

ผมก็อยากรู้เหมือนกัน 555

ได้ยินน้องสาวคุยกับคนสวน

ยังไม่ได้ถามละเอียดเลยว่ามันคืออะไร

แต่แค่ฟังก็ชอบแล้ว

 

ผมทำสวนด้วยลัทธิ “พึ่งพิง”

คนแรกที่เป็นเสาหลักในการพึ่งพิง คือ “จอย” น้องสาวของผม และ “ตู่” น้องเขย

ทั้งคู่จบเภสัชฯ และทำงานโรงพยาบาลที่เมืองจันท์มายาวนาน

ก่อน “เออร์ลี่รีไทร์” มาทำสวนอย่างจริงจัง

ย้ายไปปลูกบ้านในสวนเลย

ตอนเป็นเภสัชฯ ในโรงพยาบาลมาหลายปี เห็นคนสวนมารักษาตัวจากการเจอสารเคมีและยาฆ่าแมลงตลอด

พอตัดสินใจว่าจะเป็นชาวสวน ทั้งคู่ก็เลยตั้งใจว่าจะทำเป็นสวนอินทรีย์

อยากอยู่ในสวนที่สูดหายใจได้เต็มปอด

ใช้เวลาศึกษา เข้าอบรมตามหลักสูตรต่างๆ อย่างจริงจัง

แต่ด้วยความเป็นเภสัชฯ มาก่อน ทุกอย่างเธอคิดคำนวณแปลงสูตรเคมีมาเป็นสมุนไพร

อย่างวันก่อน พอฝนตกหลงฤดู

ทุเรียนที่ติดดอกก็แตกใบอ่อน

เซียนทุเรียนบอกเลยว่าต้องเร่งให้ปุ๋ยเพื่อให้ใบแก่เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นทุเรียนจะสลัดดอกทิ้ง

สูตรปุ๋ยเคมี N-P-K ที่เหมาะสมคือ 0-52-34

“จอย” แปลงเป็นอินทรีย์ทันที

เริ่มจาก “ปุ๋ยปลา” ที่มาแร่ธาตุต่างๆ 3 ลิตร

น้ำหมักขี้ไก่ ที่มี P หรือฟอสฟอรัสเยอะ 3 ลิตร

น้ำขนุนที่หมักไว้ ตัวนี้มี Kหรือ โพแทสเซียมเยอะ 3 ลิตร

แล้วบอกให้คนสวนให้ปุ๋ยตามสูตรนี้

ฟัง “จอย” วันนั้น ก็รู้แล้วว่าสวนของผมรอดแล้ว

มีปัญหาอะไรให้ถามน้อง

อีกคนหนึ่งที่ผมเตรียมพึ่งพา คือ “หนุ่ย” อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

เขาเพิ่งลาออกมาทำสวนผลไม้เต็มตัวที่เมืองจันท์

มีทั้งทุเรียน และมังคุด

ตอนที่ทำ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เขารู้เรื่องผลไม้ต่างๆ ดีมาก

สัมภาษณ์ชาวสวนมาทั้งประเทศ

คราวนี้มาลงมือทำเองจริงจัง

ผมโทร.ไปหา “หนุ่ย” บอกตรงๆ เลยว่าจะไปขอ “ความรู้”

“หนุ่ย” ออกตัวว่าเขาไม่ค่อยรู้มากเท่าไร แต่จะพาไปหาอีกคนหนึ่งที่รู้เรื่องดี

เป็นอาจารย์กลายๆ ของเขา

เขาบอกว่า “ทุเรียน” เป็นพืชที่ทำยากมาก

รายละเอียดเยอะ

ขนาดสวนเขาทำแบบเคมี ซึ่งง่ายกว่าอินทรีย์มาก

ยังเหนื่อยเลย

“หนุ่ย” บอกว่าตอนนี้ถ้าเจอเพื่อน เขาจะบอกทุกคนว่า ต่อไปห้ามบ่นว่าทุเรียนแพง

“ซื้อแผงไหนก็ห้ามต่อราคา”

เพราะทำมากับมือ รู้แล้วว่ายากจริง