โล่เงิน : ปอท.มอนิเตอร์โพสต์นักการเมือง จากกรณี “วัฒนา” ถึง “พิชัย” กับอีก 24 รายต้องเฝ้าระวัง

ตลอดช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ ปรากฏภาพขบวนพาเหรดนักการเมืองเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อย่างต่อเนื่อง

มีทั้งถูกเรียกให้เดินทางมาพบเพื่อสอบสวนหรือรับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

หรือ (3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

ตลอดจนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

โดยนักการเมืองที่เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ปอท. หลายครั้ง อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่ถูกออกหมายเรียกและหมายจับหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีการโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและในเรื่องของการร่วมให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันแถลงปิดคดีจำนำข้าว ตลอดจนวันพิพากษาคดีการจำนำข้าว

ในครั้งนั้น นายวัฒนากล่าวยืนยันว่า การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่ได้กระทำผิด แต่เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ชวนพ่อแม่พี่น้องมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 1 สิงหาคม (อ่านแถลงปิดคดี) การให้กำลังใจเป็นประเพณี มันไม่ใช่การปลุก การทำแบบนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศชาติสูญเสียความน่าเชื่อถือแค่ไหน

ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม นายวัฒนาเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ปอท. อีกครั้ง เนื่องจากมีผู้แจ้งความเพิ่มเติมว่าข้อความที่นายวัฒนาโพสต์ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีลักษณะเป็นการยุยงทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่อง อันเป็นความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

กระทั่งล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา นายวัฒนามาตามนัด ปอท. อีก เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 ป.อาญา กรณีโพสต์เกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยศาลให้ประกันวงเงิน 200,000 บาท

นอกจากนี้ นักการเมืองอีกหนึ่งรายที่เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ปอท. คือ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา จากกรณีวันที่ 26-27 กรกฎาคม มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับและการโพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก ในเรื่องของเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เศรษฐกิจ เป็นคำพูดของนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการโพสต์ข้อความด้านเศรษฐกิจ โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และ ป.อาญา มาตรา 116 เช่นกัน

อย่างไรก็ดี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการเรียกบุคคลจำนวนหนึ่งมารับทราบข้อกล่าวหานั้น เป็นสิ่งที่พิสูจน์ทราบได้ว่าบุคคลเหล่านั้นมีการกระทำความผิดจริง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยห้ามไม่ให้ใครโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ในโซเชียลมีเดีย

แต่การแสดงความคิดเห็นจะต้องเป็นไปตามความจริง

การแสดงความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม ทุกคนมีความคิดสามัญสำนึกและเจตนาแท้จริงอยู่แล้ว

การโพสต์ข้อความเชิญชวนมาให้กำลังใจนั้นไม่ผิด แต่เมื่อมาแล้วเกิดเป็นการชุมนุมก็มีความผิดเข้าข่ายในเรื่องของการชุมนุม รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีคำสั่งหรือห้ามในเรื่องของการโพสต์ข้อความหรือการเดินทางมาให้กำลังใจใดๆ ทั้งสิ้น

แต่เมื่อมาแล้วมีการกระทำผิด ไม่ว่าจะมาด้วยรถประจำทางที่ไม่ถูกต้อง ก็เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.จราจร

“ขอยืนยันว่าการเรียกบุคคลมารับทราบข้อกล่าวหานั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีจำนำข้าวในวันที่ 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ มีการเฝ้าติดตามจับตาและเฝ้าระวังตรวจสอบข้อมูลการโพสต์เฟซบุ๊กของบุคคลทั้งหมด 24 ราย ขณะนี้ยังไม่มีความผิดใดๆ อยากฝากเตือนไปยังประชาชนหรือบุคคลอื่นว่า การโพสต์ข้อความต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ต้องไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่มีใจความในเชิงยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดความขัดแย้ง เพียงเท่านี้ก็จะไม่เกิดการแจ้งข้อกล่าวหาขึ้น การเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหานั้นล้วนแต่เป็นการรับทราบข้อกล่าวหาตาม ป.อาญา มาตรา 116 ทั้งสิ้น”

พ.ต.อ.โอฬาร ระบุ

จึงเป็นคดีตัวอย่างการดำเนินคดีตามมาตรา 116 ป.อาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวหรือสาธารณะ ตลอดจนโซเชียลมีเดียต่างๆ จะต้องมีความรอบคอบ กลั่นกรองคำพูดหรือการเขียน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี

ขณะที่ในทางกลับกัน ประชาชนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นการสกัดกั้นการแสดงออกทางการเมือง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันตัดสินคดีจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย เพื่อไม่ให้เกิดการเชิญชวนให้มีการชุมนุมรวมตัวกันของมวลชน

จึงเป็นการมองต่างมุมภายใต้ข้อกฎหมายเดียวกัน ทว่า ผลกระทบล้วนเกิดกับผู้ถูกดำเนินคดี!!