จรัญ มะลูลีม : กาตาร์ประเทศเล็กใจใหญ่ (3)

จรัญ มะลูลีม

แม้ว่าการทูตของกาตาร์จะมีความเป็นตัวของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง กระนั้นหลายฝ่ายก็มีความกังวลว่ากาตาร์จะวางตัวอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ก็เพราะในด้านความมั่นคงกาตาร์พึ่งพาอยู่กับสหรัฐ ซึ่งแสดงความเป็นปรปักษ์กับอิหร่าน

ในขณะเดียวกัน กาตาร์ก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับอิหร่านและขบวนการฮามาส รวมทั้งอิสราเอลด้วย

การใช้อัล-ญะซีเราะฮ์เพื่อผลประโยชน์ทางนโยบายโดยอ้อมๆ ความพยายามในการเจรจา

และความสำเร็จในโครงการระดับโลก ทำให้กาตาร์ประเทศเล็กๆ ได้รับความสนใจและจนถึงบัดนี้ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดกาตาร์ก็ยังคงดำเนินนโยบายต่างไปจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอื่นๆ และอยู่นอกเหนือทฤษฎีที่ดำรงอยู่โดยทั่วไป

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือกาตาร์เป็นประเทศที่เหตุการณ์อย่างอาหรับสปริงมาไม่ถึง

คำถามที่กาตาร์ถูกถามจากนักวิชาการและผู้วางนโยบายมากที่สุดก็คือตัวแบบของกาตาร์นี้จะใช้ในภาคปฏิบัติได้หรือไม่

คำถามอื่นๆ ก็คือรัฐอย่างกาตาร์มีความสามารถพอที่จะจัดการกับสิ่งที่ตามมาในอนาคตได้หรือไม่?

 

ทั้งนี้ หากศึกษาภาพรวมของกาตาร์ก็จะพบความจริงข้อหนึ่งว่านโยบายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งรูปแบบทางสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนมาจากพลังและความสามารถของตัวบุคคลอย่าง ฮามัด บิน เคาะลีฟะฮ์ อัษษานี (Hamad bin Khalifa Al Thani) เจ้าผู้ครองนครทั้งสิ้น

พระองค์เป็นผู้สถาปนาสถาบันใหม่ๆ ขึ้นมาหลายแห่งในประเทศ และเป็นพลังการขับเคลื่อนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเป็นประจักษ์พยานให้เห็นมามากกว่า 15 ปี

ส่วนปัญหาของกาตาร์ซึ่งเป็นประเทศนักเจรจาสำคัญ แต่ต้องมาเผชิญปัญหาเสียเองในเวลานี้ก็เป็นบทพิสูจน์ความสามารถของพระองค์ว่าจะมีทางออกอย่างไร ที่จะทำให้กาตาร์ดำรงความสำคัญในฐานะประเทศเล็ก การเมืองใหญ่เอาไว้ให้ได้นั่นเอง

 

สําหรับกาตาร์แล้ว กาตาร์มิได้แลเห็นว่าอาหรับสปริงเป็นสิ่งคุกคาม

แต่กาตาร์กลับมองว่าอาหรับสปริงคือโอกาสที่จะขยายอิทธิพลของตนไปยังรัฐต่างๆ ที่รวมตัวกันลุกฮือต่อต้านผู้คนของตน

และกาตาร์ก็รู้ดีในเวลานั้นว่าการขับเคลื่อนใดๆ ในทางการเมืองของกาตาร์ต้องทำเคียงคู่ไปกับซาอุดีอาระเบียที่เวลานี้ได้กลายมาเป็นปรปักษ์ของตน

ที่ผ่านมาซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ทำงานร่วมกันผ่านสภาความร่วมมือแห่งอ่าว (GCC) และสันนิบาตอาหรับ (Arab League)

โดยทั้งสองประเทศใช้ความพยายามมาตลอดในการวางวาระให้กับภูมิภาคตะวันออกกลาง

และไม่ว่าในกรณีใดๆ ระบบกษัตริย์แบบตะวันออกกลางจะต้องถูกรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต

ส่วนหนึ่งที่ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์เคยทำสำเร็จมาแล้วก็คือการโค่นก๊อซซาฟีย์ร่วมกับพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฝรั่งเศสและอังกฤษ

ผลที่ตามมาคือการพังทลายทางการเมืองและการแตกออกเป็นกลุ่มก้อนในลิเบียที่ยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่างจำนวนมาก

แต่ที่ล้มเหลวก็มือการโค่นอัล-อะสัด

 

กาตาร์ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าภาพแห่งโอกาส นับตั้งแต่การลงทุนที่มีราคาแพงและรูปแบบของการมีอิทธิพลโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโค่นบุรุษผู้ทรงอำนาจอย่างก๊อซซาฟีย์ (Qaddafi) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองในตะวันออกกลาง

ปัจจุบันกาตาร์เป็นประเทศหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนลิเบีย (Libya) ให้มาอยู่ในอำนาจของตน

ในการกระทำดังกล่าวพบว่ากาตาร์ไม่ได้รับการต่อต้านใดๆ จากรัฐอาหรับในเวลานั้น แม้ว่าความพยายามของกาตาร์ที่จะกระทำในแบบเดียวกันกับซีเรียประสบความล้มเหลวพร้อมๆ ไปกับสหรัฐและรัฐอาหรับทั้งหลายที่จะเอา บาชัร อัล-อะสัด ลงจากอำนาจ

ถึงที่สุดการแสวงหาอำนาจก็เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง กาตาร์ก็หนีเรื่องนี้ไม่พ้น เพราะหลายครั้งด้วยกันที่การแสวงหาอำนาจได้กลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่าภาพลวงแห่งอำนาจและอำนาจที่ถูกสาปได้เช่นกัน

การตัดสินใจเข้าไปเกี่ยวข้องในลิเบียและซีเรียของกาตาร์ในเวลานั้นมาจากแรงกระตุ้นของมิตรจากตะวันตก

ต่อมากาตาร์ก็รู้ว่าการตัดสินใจที่มีต่อลิเบียและซีเรียเป็นความผิดพลาดเหมือนอย่างที่โอบามาได้ออกมาพูดในทำนองเดียวกัน

 

ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่กาตาร์เผชิญอยู่ในเวลานี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่ลักษณะของผู้นำของกาตาร์เองคือ ชัยค์ ฮามัด ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักถ่วงดุล (balancer) ที่อยู่ในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในเวลานี้

ครอบครัวเชื้อสายตามีม (Tamim) ของพระองค์ได้รับการฝึกฝนให้มีความกระตือรือร้นอยู่ในการเมืองของประเทศมาตั้งแต่ปี 2009-2010 ด้วยความหวังว่าคนในครอบครัวจะมีส่วนร่วมอยู่ในการตัดสินใจในชะตากรรมของประเทศและการทูต การท้าทายดังกล่าวกาตาร์กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่าวิสัยทัศน์และความสามารถที่กลายมาเป็นอำนาจของกาตาร์นั้นขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของกาตาร์เอง เพราะตราบใดที่ความมั่นคั่งนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ กาตาร์ก็จะยังคงมีโครงการใหญ่ และมีภาพลักษณ์ที่ใหญ่กว่าขนาดของประเทศได้ต่อไป

การเติบโตของกาตาร์นำไปสู่การเติบโตของ “ชนชั้นกลางใหม่” ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีรายได้มหาศาลจากการส่งออกไฮโดรคาร์บอน รายได้ดังกล่าวถูกนำไปพัฒนาโครงการด้านการบริการจำนวนมากในประเทศอันเป็นสวัสดิการที่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนในประเทศเป็นอย่างดี

โอกาสเพื่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้รับการส่งเสริมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลาง ที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้จากการคุกคามของสถานการณ์ในตะวันออกกลางเอง

บทบาทของผู้หญิงกาตาร์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เป็นกำลังหลักของประเทศ โดยเปรียบเทียบแล้วผู้ชายกาตาร์ยังตามหลังผู้หญิงกาตาร์อยู่ในเรื่องการศึกษาและการงานอาชีพและโดยภาพรวมแล้วผู้หญิงกาตาร์ที่มีการศึกษาดีก็จะได้งานที่ดีอยู่ในสังคมของกาตาร์เสมอ

ตัวอย่างนี้มีให้เห็นอย่างชัดเจนที่มหาวิทยาลัยกาตาร์ (Qatar University) ซึ่งมีสถิติให้เห็นว่าร้อยละ 75 ของนักศึกษาเป็นผู้หญิง