ข้าวดอกราย : สายใยชีวิต ครอบครัวและท้องทะเลจะนะ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ข้าวดอกราย

: สายใยชีวิต ครอบครัวและท้องทะเลจะนะ

 

กลุ่มผู้หญิงล้อมวงเป็นกลุ่ม ท่ามกลางลมทะเลเย็นๆ พัดขึ้นฝั่ง พวกเขานำวัถตุดิบจากทะเลและผืนดินที่เป็นดั่งทรัพย์สินมาปรุงเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

กลิ่นของเคย (กะปิ) หอมจางๆ รสสัมผัสเผ็ดร้อนแต่กลมกล่อม เมื่อกินคู่กับปลาเส้นทอดหรืออาหารทะเลที่จับมาได้จะทำให้ซึมซับความอร่อยและเรียนรู้แหล่งกำเนิด พร้อมรับฟังเสียงหัวเราะและบทสนทนาอย่างเป็นมิตรเหมือนครอบครัว

ได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจ เรียนรู้คุณค่าและความหมายของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต

จะนะ นับเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลาที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามในสัดส่วนที่สูง อาชีพส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและการประมง หลังการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลเมื่อหลายปีก่อน จะนะกลายเป็นบ้านของปลาทะเลหลายสายพันธุ์ที่เติบโต และกลายเป็นอาหารเลี้ยงดูชาวจะนะ

แต่เมื่อมีความพยายามตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะและเขตเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่เริ่มขึ้นจากการขายที่ดินให้นายทุนบริษัทใหญ่ในช่วงยุค 2530 กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชาวจะนะและทุนใหญ่ที่ยืดเยื้อยาวนาน จนในยุคที่รัฐบาลและนายทุนกลายเป็นหุ้นส่วนและพยายามผลักดัน แม้เสียเปรียบแต่ชาวจะนะที่หวงแหนทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงพวกเขาและอีกหลายพื้นที่ ก็ยังคงมุ่งมั่นปกป้องอย่างถึงที่สุด

พลังที่พวกเขาต่อสู้ นอกจากกำลังใจ ความรู้ที่สั่งสมแล้ว ยังมีอาหารที่เติมพลังให้พวกเขาเดินไปข้างหน้า และเมื่อเป็นการต่อสู้คนในพื้นที่ อาหารในพื้นที่จึงเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้ด้วย สิ่งนั้นคือ “ข้าวดอกราย” หรือข้าวราหมัย

อาหารที่เป็นดั่งตัวแทนของความเป็นจะนะและสายสัมพันธ์แบบครอบครัวที่เหนียวแน่น

ข้าวดอกรายเป็นอาหารพื้นเมืองซึ่งมีอยู่ในตำบลสะกอม อำเภอจะนะ อาจเรียกว่ามีกินเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่หาได้จากทรัพย์ทั้งบนดิน ในผืนทะเลของจะนะ ทั้งข้าวในพื้นที่และสัตว์น้ำที่พวกเขาจับได้เกือบตลอดปี

หญิงชาวตำบลสะกอมท่านหนึ่งกล่าวว่า มีเรื่องเล่าว่า ในครอบครัวถ้ามีพี่น้องทะเลาะกัน พ่อแม่จะเรียกมากินข้าวดอกรายกัน เพื่อจะได้ปรับความเข้าใจกัน แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม พอมาปัจจุบันก็ถูกเรียกชื่อว่า “ข้าวสามัคคี”

ส่วนประกอบของวัตถุดิบที่นำมาทำนั้น มีตะไคร้, หอมแดง, พริกสด, เคย (กะปิ) กุ้ง, เนื้อปลาต้มใช้ปลาอะไรก็ได้ และข้าว

โดยขั้นตอนการทำ ให้ซอยตะไคร้ หอมแดงลงในครกที่มีเฉพาะในสะกอม เป็นครกไม้ที่ปากครกใหญ่และกว้างพอจนสามารถใช้เป็นเขียงในการหั่นสับซอยผักใส่ลงครกได้ จากนั้นใส่เนื้อปลาต้มลงไป ตามด้วยกะปิในอัตราส่วนที่พอดี จากนั้นตำคลุกเคล้าทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากนั้นใส่ข้าวลงไป โดยข้าวที่ใช้ แนะนำให้ใช้ข้าวที่หุงมาแล้วจนเย็น หรือข้าวหลังมื้ออาหารที่จะเป็นเม็ดคงรูปไม่นิ่มเละ ลักษณะเดียวกับข้าวที่ใช้ทำข้าวผัด

ชาวสะกอมยังแนะนำอีกว่า กะปิ (เคย) ควรเป็นกะปิที่ทำใหม่สดๆ เพราะจะได้ทั้งรสสัมผัสและความหอม

เมื่อส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้ากันแล้ว ก็ได้ข้าวดอกราย กินคู่กับผักสดหรือปลาเส้นทอด เป็นอาหารที่ชาวสะกอมแนะนำว่าต้องกินแบบล้อมวงกินกัน

ให้ได้อิ่มเอมกับอาหารและความเข้าใจกันและกัน

ชาวสะกอมท่านเดียวกันเล่าอีกว่า จะมีศัพท์เฉพาะที่ใช้กันในตำบลสะกอม และเป็นหนึ่งในคำขวัญของอำเภอจะนะ นั่นคือ “สำเนียงสะกอม วัฒนธรรมหล่อหลอม…” (คำขวัญตัวเต็มคือ “นกเขาชวาเสียง สำเนียงสะกอม วัฒนธรรมหล่อหลอม ออมทรัพย์เด่นดัง”) หรือศัพท์ที่ใช้เฉพาะในสะกอม อย่างมะนาว ก็เรียกว่า “บ่ะขาม” หรือพริกจะเรียกว่า “บ่ะจีก”

หรือเขียงไม้ที่ใช้ทำข้าวดอกรายนี้ เป็นไม้ตะเคียนที่ดูแลรักษาง่ายไม่ค่อยขึ้นรา แต่ถ้าเริ่มขึ้นรา ให้ใช้น้ำส้มสายชูล้าง มาขัดกับน้ำเกลือแล้วผึ่งแดด

นอกจากนี้ ชาวสะกอมยังกล่าวว่า ไม่เพียงข้าวดอกรายเป็นอาหารพื้นเมืองของครอบครัว ยังเป็นอาหารของชุมชนและมิตรภาพ ใครมีปลา หรือมีข้าว ก็จะชักชวนร่วมวงทำข้าวดอกรายกินกัน เป็นกิจกรรมสังสรรค์ที่แต่ละบ้านได้เข้าหาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ปรับความเข้าใจ

สร้างความแน่นแฟ้นให้กับชุมชน

สุใบเด๊าะ ผกาเพชร์ ซึ่งเป็นชาวสะกอมโดยกำเนิดและเป็นหนึ่งในนักรบผ้าถุงแห่งกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ร่วมสู้เพื่อปกป้องแผ่นดินจะนะ บรรยายความรู้สึกต่อบ้านเกิดตัวเองว่า ในบ้านปากบาง ตำบลสะกอม เป็นชาวมุสลิมเกือบ 100% อยู่ร่วมกันเหมือนพี่น้อง ปลูกบ้านอยู่ติดๆ กัน เหมือนญาติทั้งหมด ทั้งหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

“บางที มะ (แม่) ออกเรือ น้องลงไป เพื่อนลงไป (ลงทะเล) ของที่จับได้มา มะไม่เคยขาย มีแต่แจก เอาไปแกง เอาไปเถอะ ไม่เป็นไร นี่คือเรื่องจริง ใครเดินมา เอาปลาไปกินสิ นี่คือวิถีชีวิตของชาวปากบาง ใครเดินผ่านระหว่างแกะปลาจากอวน ก็เรียกมาเอาไปกิน แล้วก็อยู่กันแบบ ใครมีอะไรก็แบ่งปัน มีความสุขมากในการอยู่แบบนี้ นั่นจึงไม่อยากให้อุตสาหกรรมเข้ามาทำลายทะเล วิถีชีวิต และก็หาดทรายที่สวยงามของสวนกง หรือนกเขาชวาตัวเป็นล้าน” สใบเด๊าะกล่าว และว่า อาหารที่นี่ส่งขายไปยังหาดใหญ่และสงขลา ไปถึงต่างประเทศ นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ

สุใบเด๊าะกล่าวว่า พูดเรื่องนี้ทีไรสะเทือนใจตลอด ถ้าว่าวันหนึ่ง อุตสาหกรรมเกิดขึ้น แล้วก็เป็นอะไรที่มะต้องมาพูดกับหลานว่า เมื่อก่อนทะเลบ้านเราอุดมสมบูรณ์ ไม่อยากจะพูดว่า วิถีชีวิตเราเมื่อก่อนไม่ใช่แบบนี้หรือทะเลแบบนี้ เหลือเป็นเพียงเรื่องเล่าให้หลานฟัง ไม่อยากให้เกิดขึ้นว่า เป็นเพียงเรื่องเล่าของหมู่บ้าน มะสู้ จะกี่คดีก็สู้ ไม่ถอย ถามทำไมถึงเป็นผู้หญิง แต่มีเรือ มะต่อสู้ เพื่อจะปกป้องทะเล ถามว่า คนในหมู่บ้านบอกว่า ไม่ใช่ไม่เอาอย่างเดียว แค่บอกมาศึกษาก่อน ถ้าเกิดขึ้น ผลเสียเป็นยังไง ใครได้ ทะเลจะเสียไหม

เราหันมาพัฒนาทะเลกันดีกว่าไหม ให้ยั่งยืนชั่วลูกหลาน