ความสูญเสีย

ข่าวนักศึกษาปริญญาโทชาวไทย 2 คนประสบอุบัติเหตุรถยนต์ตกเหวลงไปในแม่น้ำคิงส์ (Kings River) เขตเฟรสโน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทำเอาซึมไปหลายวัน

นักศึกษาชายคือ “กอล์ฟ” หรือ ภคพล ชัยรัตนทรงพร นับว่าเป็นคนใกล้ตัว เขาเป็นหลานชายของ เอกชัย ไทยเดชะ เพื่อนผม

ดังนั้น วินาทีแรกที่ปรากฏข่าวและภาพก็ได้แต่ภาวนาขอให้มี “ปาฏิหาริย์” เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้นก็หมดหวัง ได้แต่ติดตามข่าวการเรียกร้องของเอกชัย ผู้เป็นลุงของกอล์ฟ ขอให้ทางการสหรัฐรีบกู้ร่างของผู้เสียชีวิต ซึ่งก็ดูท่าจะหมดหวังอีกเช่นกัน

การเสียชีวิตของกอล์ฟ ทำให้ผมนึกถึงการเสียชีวิตของ อวยชัย มนูชัย (ร.ต.ท.) เพื่อนรักร่วมชั้นเรียนมัธยมที่สวนกุหลาบฯ ก่อนแยกย้ายกันไปเรียนระดับอุดมศึกษา โดยอวยชัยไปจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ แล้วตามผมเข้ามาเป็นตำรวจ

ในห้วงเวลาที่ผมไปประจำหน่วยเฉพาะกิจสายตรวจรถวิทยุกองปราบปราม ที่ จ.อุดรธานี ตรวจเส้นทางสายหนองคาย-ขอนแก่น (ในภารกิจป้องกันและปราบปรามโจรปล้นรถประจำทาง) อวยชัยไปฝึกอบรมหลักสูตร “ชัยยะ” ที่อุดรธานี

ความเป็นเพื่อนสนิทร่วมชั้นที่ได้กลับมาร่วมอาชีพกันอีกทำให้เรามีความสุขและสนุกมาก แต่ทุกอย่างเหลือแค่ความทรงจำเมื่ออวยชัยจากไป

หลังจากจบหลักสูตรชัยยะ เขาไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐ แล้วประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเมื่อขับรถยนต์ตกทางเบี่ยงแห่งหนึ่ง

กรณีของ 2 นักศีกษาไทยที่ประสบอุบัติเหตุขับรถยนต์ตกเหวครั้งนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึง “ระยะเวลาและการปฏิบัติการเก็บกู้”

ในความรู้สึกของคนไทยเห็นว่า ทางการสหรัฐไม่กระตือรือร้น ปล่อยให้ระยะเวลาถูกทอดออกไปนานจนทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ปัจจัยในการตัดสินใจในครั้งนี้ มาจากเชื้อชาติและสีผิว

 

ไม่เพียงแต่ญาติของนักศึกษาและคนไทยในเมืองไทยเท่านั้นที่คิดอย่างนี้ คนไทยในสหรัฐส่วนหนึ่งก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ทางการเร่งปฏิบัติการเก็บกู้อย่างรวดเร็วเหมือนกับที่เคยทำในกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้

แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้แก้แทนว่า ถ้าเป็นเหตุเกิดในพื้นที่ปกติ การเข้ากู้ภัยสามารถนำยานพาหนะเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เขาก็จะทำอย่างรวดเร็ว แต่ในกรณีนี้มีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญหลายประการ…

ความสูงจากถนนลงไปถึงจุดที่รถตกลึกประมาณ 640 ฟุต หรือเกือบ 200 เมตร เบื้องล่างเป็นร่องน้ำที่ไม่มีถนนเข้าถึง กระแสลมแปรปรวนเอาแน่นอนไม่ได้

ตำแหน่งที่รถตกอยู่บนโขดหินกลางแม่น้ำ เวลาในขณะนี้ระดับน้ำสูงและไหลแรงเชี่ยวกรากเกินกว่าจะเดินเข้าไปถึงตัวรถได้

อุณหภูมิของน้ำ (ซึ่งรองรับน้ำที่มาจากการละลายตัวของหิมะบนภูเขา) อยู่ที่ราวๆ 2 องศาเซลเซียส เป็นน้ำที่เย็นจัดซึ่งคนปกติไม่สามารถทนอยู่ได้นาน ร่างกายของคน (ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ) อาจจะหมดสติภายในเวลาครึ่งชั่วโมง และจะถึงแก่เสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการบำบัดรักษาภายในเวลา 1 ชั่วโมง

ผู้เคราะห์ร้ายหากไม่ถึงแก่ความตายในทันทีก็คาดว่าน่าจะบาดเจ็บสาหัสจากแรงอัดกระแทกของรถที่พุ่งตกลงมาด้วยความเร็วในระยะความสูงเกือบ 200 เมตร มีแนวโน้มว่าน่าจะเสียชีวิตแล้วในที่เกิดเหตุ จากความบาดเจ็บและหนาวเย็นของน้ำ

เมื่อวิเคราะห์ในแนวทางข้างต้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการกู้ภัยจึงตัดสินใจไม่เสี่ยง เพราะเท่ากับเป็นการทำให้ต้องสูญเสียเพิ่มขึ้นโดยไม่มีเหตุผล

หวนนึกถึงเหตุเฮลิคอปเตอร์ทหารตก 3 ลำซ้อนในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่หุบเขาบริเวณตะเข็บชายแดน กลางป่าพะเนินทุ่ง อุทยานแห่งชาติ อำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้วยภารกิจกอบกู้ซากเครื่องบินและลำเลียงศพจากลำแรกที่ประสบอุบัติเหตุเพราะอากาศปิดและลมแรง

ทั้ง 3 ลำรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน นับเป็นความสูญเสียมหาศาล แต่ก็ยากที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่านายทหารผู้ใหญ่ตัดสินใจผิด เพราะผู้เสียชีวิตต่างได้รับคำยกย่องสรรเสริญว่าเป็นผู้เสียสละ ทุกนายต่างได้รับบำเหน็จ ได้เลื่อนยศและครอบครัวได้รับการชดเชยจากความสูญเสีย

เพื่อนของผมคนหนึ่ง (เป็นเพื่อนกับเอกชัยด้วย) เล่าว่าครั้งเรียนที่อเมริกา ระหว่างขับรถอยู่ที่รัฐโอไฮโอเผชิญกับพายุหิมะจึงแวะร้านกาแฟข้างทาง พอจะออกเดินทางต่อมีชาวบ้านในร้านกาแฟแห่งนั้นกรากเข้ามาขวางประตูไว้ไม่ให้ออก เพราะบนถนนหิมะหนามากเป็นอันตรายอย่างสูงในการขับรถ

เพื่อนพยายามชี้แจงว่าต้องกลับไปให้ทันสอบ แต่ชาวบ้านไม่ยอม บอกว่าถ้าจะไปให้ได้เขาจะเรียกตำรวจมาสั่ง “หยุด” (STOP)

ทุกประเทศในโลกคงมีกฎหมายเอาผิดแก่ผู้ “ละเลย” ไม่ป้องกันเหตุอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่น

แต่ทั้งเพื่อนและผมก็เข้าใจและเห็นใจเอกชัยเกินกว่าจะพูดถึงเรื่องที่โอไฮโอ รวมทั้งเรื่องความสูญเสียจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก 3 ลำ คนตาย 17 คน

เอกชัยได้รับความนับถือจากลูกน้องในบริษัทที่ตัวเองเป็นเจ้าของและผู้จัดการ ไม่เพียงแต่จบวิศวกรรม แต่จบนิติศาสตร์ด้วย ผมเคยได้ยินคนในบริษัทพูดถึงเขาลับหลังว่า “เป็นนักแก้ปัญหาตัวยง ไม่มีปัญหาอะไรที่พี่เขาแก้ไม่ได้”

เอกชัยยังคงเคลื่อนไหว “กดดัน” ทางการสหรัฐ ด้วยความเชื่อว่าผู้รับผิดชอบเจตนาทอดระยะเวลากอบกู้คนและซากรถยนต์เพราะทัศนคติ “เหยียดเชื้อชาติและสีผิว”

ล่าสุดเขาทำหนังสือถึงเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ กล่าวหาทีมกู้ภัยอเมริกันจงใจปล่อยให้นักศึกษาไทยเสียชีวิตในรถยนต์ที่ตกลงก้นแม่น้ำ

ในหนังสือได้แนบตารางเวลาลำดับเหตุการณ์ และมีคำถามให้ท่านทูตตอบประมาณ 5-6 คำถาม เป็นแบบฟอร์มให้ตัดสินใจเลือกทางปฏิบัติคล้ายกับกรณีทำ Fast Tract นั่นแหละ

ผมไม่ชอบทูตท่านนี้ จึงรอลุ้นอยู่ว่าท่านจะตอบหรือไม่ และตอบว่าอย่างไร