วันนี้ ‘เรตอาร์’ (3) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

วันนี้ ‘เรตอาร์’ (3)

 

บทอัศจรรย์ตามความนิยมมักใช้สัญลักษณ์ เช่น พายุ ฟ้าร้องฟ้าแลบ ฝนตก เป็นเครื่องหมายแทนการร่วมรักของชายหญิง

สมัยอยุธยา “บทเห่เรื่องกากี” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์บรรยายถึงลีลารักระหว่างพระยาครุฑกับนางกากีบนวิมานสิมพลี ดังนี้

“ลมพัดกลัดเมฆเกลื่อน ฟ้าลั่นเลื่อนแลบแสงพราย

วลาหกตกโปรยปราย สายสินธุ์นองท้องธารา

เหราร่าเริงรื่น ว่ายเคล้าคลื่นหื่นหรรษา

สองสมกลมกรีฑา เปนผาสุกทุกนิรันดร์ ฯ”

 

ในที่นี้นอกจากพายุ ฟ้าร้องฟ้าแลบและสายฝน กวียังกล่าวถึง ‘เหรา’ ที่เริงร่าอยู่กลางคลื่น ‘เหรา’ แทนฝ่ายชาย ‘คลื่น’ แทนฝ่ายหญิง

เหราเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ รูปกายครึ่งนาคครึ่งมังกร เกิดจากพ่อที่เป็นนาคผสมกับแม่ที่เป็นมังกร มีหน้าและขาเหมือนมังกร แต่มีลำตัวเหมือนนาค (จาก “พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง” – โชติ กัลยาณมิตร รวบรวม)

บทอัศจรรย์ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติเป็นไปตามขนบหรือแบบแผนเดิมมักพบในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ชี้ให้เห็นว่าบทอัศจรรย์ใช่จะมีแต่คนเท่านั้น ไม่ใช่คนก็มี ดังจะเห็นได้จากบทรักของพญาลิงเผือก ‘หนุมาน’ ทหารเอกของพระรามที่ฝากสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสาวไม่ซ้ำหน้า เริ่มจากนางฟ้าบุษมาลี

“บังเกิดเป็นคลื่นคลั่งฝั่งสมุทร กุมภาผุดฝ่าระลอกกลอกกลิ้ง

ฟ้าลั่นครั่นครื้นดังปืนยิง พยุยิ่งฮือฮือกระพือพัด

ประเดี๋ยวดลฝนตกลงซู่ซู่ ท่วมคูขอบวังทั้งจังหวัด

ถ้อยทีภิรมย์โสมนัส ตามกำหนัดเสน่หาอาวรณ์”

หนุมานกับนางยักษ์เบญกาย หลานสาวทศกัณฐ์

“เมฆตั้งบังแสงอโนทัย ลมประลัยโลกลั่นครั่นครื้น

ฝนฝอยพรอยพร่ำซ้ำสาด เย็นทุกรุกขชาติชุ่มชื่น

ชลาล้นท้นท่วมพ่างพื้น สองสมภิรมย์รื่นฤๅดี”

หนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา (ลูกครึ่งยักษ์กับปลา) ลูกสาวทศกัณฐ์

“อัศจรรย์บันดาลในคงคา เกิดพายุพัดกล้าสลาตัน

คลื่นระลอกกลอกกลิ้งกลางสมุทร ปลาวาฬผุดพ่นน้ำดำดั้น

สองสมภิรมย์แรกรักกัน เกษมสันต์สำราญบานใจ”

 

ไม่ต่างกับบทรักของพลายงาม (ลูกขุนแผนนางวันทอง) กับนางศรีมาลาในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน”

“ทั้งหนุ่มสาวคราวแรกภิรมย์รัก ไม่ประจักษ์เสน่หามาแต่ก่อน

กำเริบรักเหลือทนทุรนร้อน พอร่วมหมอนก็เห็นเป็นอัศจรรย์

เหมือนเกิดพายุกล้ามาเป็นคลื่น ครืนครืนฟ้าร้องก้องสนั่น

พอฟ้าแลบแปลบเปรี้ยงลงทันควัน สะเทือนลั่นดินฟ้าจลาจล

นทีตีฟองนองฝั่งฝา ท้องฟ้าโปรยปรายด้วยสายฝน

โลกธาตุหวาดไหวในกมล ทั้งสองคนรสรักประจักษ์ใจ”

 

โดยเฉพาะการใช้ฟ้าร้องฟ้าแลบมาเปรียบเทียบกระบวนการร่วมรัก บ่อยครั้งที่กวีนำภาพยักษ์รามสูรโลดไล่และขว้างขวานใส่นางฟ้าเมขลามาเป็นบทอัศจรรย์ เมขลาหรือมณีเมขลาเป็นเทพธิดารักษาทะเลและมหาสมุทร มีดวงแก้ววิเศษที่เชื่อกันว่าประกายแวววับของดวงแก้วทำให้เกิดฟ้าแลบ เมื่อรามสูรขว้างขวานเกิดเป็นเสียงฟ้าร้อง รามสูรปรารถนาจะได้แก้วมณีที่นางโยนเล่น ดังที่ “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 เล่าว่า

“เมื่อนั้น นวลนางเมขลามารศรี

เลี้ยวล่อรามสูรอสุรี กรโยนมณีจินดา

ทำทีประหนึ่งจะให้แก้ว กลอกแสงพรายแพร้วบนหัตถา

ครั้นรามสูรไล่เลี้ยวมา กัลยารำล่ออสุรี

นางแกล้งเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน เวียนไปตามจักรราศี

มือหนึ่งชูแก้วมณี ทำทีเยาะเย้ยอสุรา

เมื่อนั้น จึงรามสูรยักษา

ครั้งแสงแก้วแวววับจับตา อสุรากริ้วโกรธคือไฟ

เหม่เหม่เมขลานารี กูจะล้างชีวีเสียให้ได้

กวัดแกว่งขวานเพชรดั่งเปลวไฟ ก็ขว้างไปด้วยกำลังฤทธี”

 

บทอัศจรรย์ที่นำภาพของ ‘รามสูร-เมขลา’ มาแทนความหมายของ ‘การร่วมรัก’ มีในวรรณคดีหลายเรื่อง อาทิ “กากีคำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนพระยาครุฑได้นางกากี รามสูรแทนฝ่ายชาย เมขลาแทนฝ่ายหญิง

“เมขลาชูช่วงดวงมณี อสุรีรามสูรก็โกรธา

ถือขวานเหาะทยานขยิกไล่ เวียนระไวในจังหวัดพระเวหา

นางแบแก้วแวววับให้จับตา อสุราขว้างขวานไปราญรอน

เมขลาล่อแก้วอสุรินทร์ ไม่สุดสิ้นที่จะร่วมสโมสร

เกิดสำหรับกัปกัลป์นิรันดร เหมือนสมรสมานสุขสกุณินทร์”

 

‘เมขลาล่อแก้วอสุรินทร์’ เป็นทั้งการยั่วเย้าของเมขลา และการรุกไล่ของรามสูรที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดุจดังบทรักของนางกากีกับพระยานกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุขสมร่วมกันครั้งแล้วครั้งเล่า

ในเรื่อง “สิงหไตรภพ” สุนทรภู่บรรยายบทอัศจรรย์ระหว่างพระลักษณวงศ์กับนางทิพเกสรว่า

“ฝนสวรรค์ลั่นฟูอยู่ฟุ้งฟ้า เมขลาล่อแลบออกแปลบแสง

รามสูรเดือดดาลทะยานแรง ก็กวัดแกว่งขว้างขวานเป็นควันดัง

แสงแก้วแวบแปลบพักตร์ยักษ์ขยิก นางแบพลิกปาปับขยับปั๋ง

แวบเปรี้ยงเสียงเปรื่องกระเดื่องดัง นางล่อพลั้งล้มแผละจนแก้วพลัด

อสุราแกว่งขวานประหารเฉาะ ถูกจำเพาะกลางแปลงตะแคงขัด

อสุราแรงโรมกระโจมรัด นางพลิกพลัดฉวยแก้วแล้วกำกาง

หน่อนรินทร์ร่วมรักสมัครสมร ทิพากรเรืองแสงขึ้นสรางๆ (= สาง, รุ่งสาง)

ตื่นบรรทมปลุกน้องประคองพลาง รุ่งสว่างงามชื่นจงตื่นพลัน”

 

เมขลา รามสูรถ่ายทอดลีลารักของอิเหนากับนางจินตะหราในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เช่นกัน

“ฟ้าลั่นครั่นครื้นคำรนเสียง ก้องสนั่นสำเนียงในเวหา

ชอุ่มคลุ้มดวงพระสุริยา เมขลาล่อแก้วแววเวียน

รามสูรขว้างขวานทะยานไล่ ว่องไวเลี้ยวลัดฉวัดเฉวียน

หมายมิ่งชิงช่วงดวงวิเชียร หันเหียนเวียนวิ่งเป็นสิงคลี

พระพิรุณร่วงโรยโปรยต้อง มณฑาทองทิพรสสดศรี

ขยายแย้มผกาสุมาลี ภุมรีภิรมย์ชมชิด

สององค์ปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ ดังได้เสวยสวรรค์ชั้นดุสิต

ต่างแสนเสนหากว่าชีวิต สมคิดเพลิดเพลินเจริญใจ”

ตัวอย่างข้างต้นนอกจากเมขลา รามสูร กวีใช้ ‘แมลง’ แทนอิเหนา ใช้ ‘ดอกไม้’ แทนนางจินตะหรา สายฝนที่โปรยปรายลงมาแสดงถึงการบรรลุปลายทางของเพศสัมพันธ์

 

ในวรรณคดีเรื่อง “อิเหนาคำฉันท์” ตอนเข้าห้องจินตะหรา กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงนำเรื่อง เมขลาและรามสูรมาเปรียบเทียบบทรักของนางจินตะหรากับอิเหนาเช่นเดียวกัน

“เมขลาก็แบวชิรชู ปรุศสูรขว้างขวาน (ปรุศสูร=รามสูร)

พรรษาวลาหกก็ดาล สิกโรชชโลลง

ท่วมถิ่นชนิรสระสโรช สิตะโบษปแบ่งบง

กชกลิ่นประทิ่นรสจรง รสคนธคนธาร

สองสมภิรมย์รสสัมผัส สะกำหนัดกำหนดนาน

สองสุขเสมอสุขะสนาน ทิพยสระสโรชา ฯ”

 

พายุ ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฝนตก ปรากฏการณ์ธรรมชาติแท้ๆ แทนลีลาอารมณ์ของการร่วมรักได้อย่างแนบเนียน

กวีไทยสุดยอด