ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (จบ) : ความเห็นต่อปัญหาการใช้ภาษาไทย ของคึกฤทธิ์ ปราโมช/บทความพิเศษ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

บทความพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ศัพท์บัญญัติพระองค์วรรณ (จบ)

: ความเห็นต่อปัญหาการใช้ภาษาไทย

ของคึกฤทธิ์ ปราโมช

 

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคับทูลในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงมีพระราชดำรัสแจงข้อมูลเกี่ยวกับภาษาไทยเป็นอเนกประการ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชกระแสใส่เกล้าใส่กระหม่อมเพื่อนำไปกระสวนและก็ระเบียนไว้ประดับสติปัญญาต่อไป

ทรงมีพระราชดำรัสว่า ขอคำแปล

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลต่อไปว่า ถ้อยคำภาษาไทยหลายคำที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลนั้น กระทรวงศึกษาธิการของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นผู้บัญญัติขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบเกล้าฯ ในความหมายในคำนั้นเลย แต่ได้กราบบังคมทูลมาเพื่อให้ทอดพระเนตรเห็นและให้ที่ประชุมนี้เห็นว่าภาษาไทยนั้นในบางกรณีก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดความเข้าใจใดๆ ได้ ทั้งฝ่ายผู้พูดและผู้ได้ยิน

นี่ก็เป็นการใช้ภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบเกล้าฯ จริงๆ ว่าศัพท์เหล่านี้แปลว่าอะไร ชั่วแต่ว่ามันเข้าทีดีก็กราบบังคมทูลไปตามเรื่อง

ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นความจริงที่สุด เพราะเหตุว่า นอกจากข้าพระพุทธเจ้าเป็นคนที่ชอบพูดภาษาไทยแล้ว ในฐานะที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักเขียนหนังสือและเป็นคนหนังสือพิมพ์ ก็ย่อมมีภาษาไทยเป็นเครื่องมือทำมาหากินอีกอย่างหนึ่งด้วย

และถ้าหากว่าเครื่องมือทำมาหากินของข้าพระพุทธเจ้านั้นวิบัติไป เสียหายไป ชำรุดทรุดโทรมไป อาชีพของข้าพระพุทธเจ้าก็จะต้องร่วงโรย จนในที่สุดก็ต้องอดอยาก ทำมาหากินไม่ได้ นับว่าเป็นเคราะห์กรรมส่วนตัวซึ่งน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

ในที่นี้ก็อยากจะขอพระราชทานกราบบังคมทูลถึงเหตุต่างๆ ซึ่งเป็นความคิดเห็นของข้าพระพุทธเจ้าเอง เกี่ยวกับความวิบัติในภาษาไทย คือว่าเหตุที่ทำให้เกิดความวิบัติ และผู้ที่ทำให้เกิดความวิบัติในภาษาไทยนั้น ในชั้นแรกเห็นจะเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อยอมกันแล้วก็เปลี่ยนแปลงต่อไปอีกในลักษณะที่ลุกลามต่อไปจนกระทั่งฟังไม่ได้ศัพท์

อย่างที่ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า คำว่า “ฉัน” นั้น ถ้าใช้ว่า “ชั้น” ก็พอจะอนุโลมกันได้ ก็ถูกต้องที่สุด

แต่ทีนี้พอถึงคำว่า “ดิฉัน” ได้เปลี่ยนไปเป็น “เดี๊ยน” บ้าง “อะฮั้น” บ้าง อย่างนี้ก็น่าจะบันยะบันยังกันไว้บ้าง ไม่น่าจะปล่อยปละละเลยไป เราเห็นจะยอมกันไม่ได้

ถ้าว่าเป็น “ดีฉัน” หรือ “อีฉัน” ก็เห็นจะพอฟัง แต่ว่าถ้าถึง อะฮั้น เดี๊ยน ก็น่าวิตกอยู่

และการที่ลุกลามเช่นนี้ไม่ใช่อยู่ในเฉพาะคนที่เป็นหนุ่มสาว หรือคนที่หย่อนการศึกษา สมเด็จพระราชาคณะรูปหนึ่ง แทนที่จะพูดว่า “อาตมภาพ” ใช้คำว่า “อะฮาบ” ก็ใกล้คำว่า “อะฮั้น” ก็มี ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินมาเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่กราบบังคมทูลมาเป็นความเท็จเลยแม้แต่น้อย…

เหตุที่สอง ในความวิบัติทางภาษาไทยนั้น ก็น่าจะได้แก่ผู้ที่เป็นผู้ทรงวิทยาความรู้นั้น ชอบคิดเป็นฝรั่งมากกว่าชอบคิดเป็นไทย และเมื่อคิดเป็นฝรั่งแล้ว ในที่สุดเมื่อจะใช้ความคิดออกมาเป็นไทยก็ย่อมหาคำไทยไม่ได้ เพราะถ้าผู้คิดนั้นเป็นฝรั่งเสียแล้ว ย่อมอยากจะแสดงความคิดเห็นให้ตรงกับความในใจของตนที่คิด

เมื่อหาคำไทยใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้คิดเป็นไทย ก็ย่อมจะต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่เพื่อให้ตรงกับภาษาฝรั่งที่ตนคิด

ด้วยเหตุนี้ ก็ได้มีคำไทยเกิดขึ้นมากมายโดยที่ไม่จำเป็น แต่ว่าความประสงค์นั้นเพื่อจะให้ตรงกับภาษาฝรั่งแต่ถ่ายเดียว มิใช่แสดงความคิดอะไรมากมายก็หาไม่…

 

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงคำในที่ประชุมอภิปรายชี้แจงมาอีกหลายคำ อาทิ คำว่า “ผู้ทรงวิทยาความรู้” นี่เป็นภาษาไทย ฟังดูก็ฟุ่มเฟือย เหตุเพราะว่า เดี๋ยวนี้ก็ชอบใช้คำว่า “วิทยากร” ถึงแม้จะได้ยินคำแปลว่า วิทย+อากร เป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ คนที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้นั้นรู้สึกว่ามิใช่คนที่ไปนั่งให้สัมภาษณ์ทางวิทยุ หรือไม่ใช่คนที่มานั่งอภิปรายตอบคำถาม เพราะคนขนาดนั้นเป็นผู้ทรงความรู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ได้ค้นคิดค้นคว้าให้เกิดความรู้ขึ้นมา หรือไม่ได้เป็นบ่อเกิดอย่างชนิดไม่มีที่สิ้นสุด ถ้า วิทย+อากร ก็ดูจะให้เกียรติกันหนักไป

ถ้าจะเรียกว่า “วิทยากร” ในแง่ของพิธีกร คือเป็นผู้ทำวิทยาเกิดชั่วครั้งชั่วคราวก็พอฟังได้ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก ถ้าจะเรียกว่า “ผู้ทรงวิทยา” ทำไมไม่เรียก “วิทยาธร” ทีนี้ก็ได้ยินเสียงหัวเราะ เพราะเหตุว่าความเชื่อถือของคนไทย เอาคำว่า วิทยาธร ไปบวกกับคำว่า เพ็ทพญาธร แล้ว เพ็ทพญาธรเป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งที่เคยทำประพฤติการไม่สมควรที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา คนก็เห็นเป็นเรื่องน่าขัน

แต่หากว่าเราจะใช้ว่า “วิทยาธร” มันดังเป็นเพ็ทพญาธร ไม่อยากจะใช้แล้ว ก็ใช้ว่าผู้ทรงวิทยาเฉยๆ ก็น่าจะได้ คือไม่จำเป็นจะต้องไปเป็นวิทยากร

แต่นี่ในคำว่า “กร” ต่างๆ นี้มีอีกคำหนึ่ง คือ “พิธีกร” แปลก็จะเห็นว่า ผู้ทำพิธี แต่ความจริงนั้น ผู้ที่บัญญัติศัพท์พิธีกร ก็คิดด้วยเกล้าฯ ว่าคงจะคิดเป็นภาษาฝรั่ง อยากจะหาคำอะไรให้ตรงกับคำว่า Master of Ceremony ถ้าจะเอาคำนั้นให้ตรงแล้วเป็นภาษาไทยด้วย ทำไมไม่เรียกว่า “นายพิธี” ซึ่งก็เห็นว่าถูกต้องดี ไม่เห็นเสียหายที่ตรงไหนเลย แต่คิดเป็นฝรั่งแล้วอยากจะให้ดังเป็นแขกอีกด้วย จึงได้ตั้งคำว่า “พิธีกร” ขึ้นมา

เพราะฟังดูมันโก้เก๋เหลือประมาณทีเดียว

 

อีกคำหนึ่งที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เอ่ยถึงเกี่ยวกับคำว่า “ประกอบพิธี” นี้ได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วก็ไม่ทราบเกล้าฯ ว่ามีความหมายว่าอย่างไร

เช่น “เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี” ไม่มีธรรมเนียมที่ไหนในประเทศไทยแต่โบราณมาจนถึงทุกวันนี้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี

เพราะถ้าทรงประกอบพิธีด้วยพระองค์เองแล้ว พราหมณ์ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีไว้ในพระราชสำนัก ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาราชครูพราหมณ์ด้วยพระองค์เองอีกด้วย เพราะเหตุว่าพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีโดยแท้

ถ้าเหตุว่ามีพราหมณ์พิธี พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธี ทรงเป็นประธานในพิธีก็พอแล้ว เมื่อเสด็จพระราชดำเนินแล้วจะไปทรงเป็นอื่นก็ไม่ได้ ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นกองเชียร์นั้น เป็นไปไม่ได้เลยเป็นอันขาด…

นอกจากนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยังให้ความเห็นการออกชื่อจังหวัดเพชรบุรี ทุกวันนี้สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ออกเสียงว่า เพ็ด-ชะ-ระ-บุ-รี ราชบุรี ออกเสียงว่า ราด-ชะ-บุ-รี นี่หากไม่มีการระงับไว้ ต่อไปภาษาไทยก็จะออกเสียงท้ายคำหมด ข้าพระพุทธเจ้าก็อาจต้องเรียกตัวเองว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชะ ซึ่งรัฐมนตรีคนหนึ่งก็มีนามสกุลไปแล้วว่า นายสุนทร หงสะละดารมภ์ ทุกสถานีออกเสียงเป็นอย่างนั้นหมด

ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเป็นเพราะเหตุใด…

 

พร้อมกันนั้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยกตัวอย่างตำแหน่งทางทหาร เช่นเดียวกับคำว่า “นายร้อย” ในยศทหาร ในยศตำรวจ ก็ให้เกิดรังเกียจไปว่า “นาย” เป็นแต่ของผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงเป็นนายไม่ได้

ความจริง นายร้อยนั้นหมายความถึง ผู้บังคับบัญชาทหารหนึ่งกองร้อย หรือหนึ่งกองร้อย ซึ่งอาจเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้ชายก็ได้ เป็นลักษณะของการบังคับบัญชา

นายในกรณีนี้ไม่ได้แปลถึงเพศของผู้ดำรงตำแหน่ง แต่มีทหารหญิงขึ้นมา คำว่านายร้อยต้องตัดไป เรียกว่าร้อยตรีเฉยๆ ร้อยตรีจะได้ใช้ทั้งหมดทั้งผู้ชายผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชายจะได้เรียกว่าร้อยตรีเฉยๆ เป็นผู้หญิงเติมหญิงเข้าไปเรียกว่า ร้อยตรีหญิง เป็นการเปลี่ยนเพศซึ่งก็ใกล้ไวยากรณ์ฝรั่งเข้าไปเต็มทีอีกแล้วเหมือนกัน…

…ทีนี้เมื่อทหารเปลี่ยน หรือเป็นพลเอก พลโท พันเอก พันโท ลงไปเรื่อยจนถึงร้อยเอก ร้อยโท ร้อยตรีแล้ว ก็ไม่สู้กระไรนัก กลับมาถึงยศตำรวจก็ได้ออกพระราชบัญญัติไปแล้ว ตัดคำว่านายทิ้งเหมือนกัน เพราะจะมีตำรวจหญิง ในที่สุดก็มีนายตำรวจชั้นสูงที่สุดของกรมตำรวจคือนายพลตำรวจเอกนั้น เดี๋ยวนี้เรียกว่า พลตำรวจเอกเท่านั้น ฟังดูเหมือนว่าจบโรงเรียนพลตำรวจมา ได้คะแนนดีหน่อยหนึ่ง นี่ก็เป็นความวิบัติอย่างยิ่งของภาษาไทยที่เกิดขึ้น…

นอกจากนั้น การที่ตัว ร-เรือ และ ล-ลิง ซึ่งใช้กันสับสนอลหม่าน จนในที่สุดไม่ได้ใช้กันเลย นี่เป็นความวิบัติอีกอย่างหนึ่ง คือว่าฝ่ายหนึ่งนั้นนึกว่าพูดฝรั่ง หรือว่าทำเสียงให้เป็นฝรั่งแล้วจะต้องรัวลิ้นให้มาก ใช้ ร-เรือ หมด พูดอะไรเป็น ร ไปหมด เพื่อจะได้ฟังดูโก้เก๋ดี อีกฝ่ายหนึ่งเห็นจะเป็นเพราะสะเพร่า หรือคบกับจีนมากไป ก็คงเหลือแต่ ล-ลิง เท่านั้น

ร-เรือ หายไป…

 

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์กล่าวอีกว่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ภาษาไทยเรานั้นมิใช่มีแต่ภาษาไทยภาคกลางเท่านั้น ภาษาไทยภาคเหนือ ภาษาไทยภาคอีสานยังคงใช้ได้เป็นหลักภาษาไทยอยู่ โดยเฉพาะในกรณี ร-เรือ และ ล-ลิง นั้นถ้าทดสอบภาษาไทยภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว ย่อมได้ความจริงทันทีว่า ประกอบด้วยตัวอะไรแน่

ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “เรือด” ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดกัดคนชนิดหนึ่งนั้น คนส่วนมาก เด็กปัจจุบันนี้เรียกว่า “เลือด” กันหมดแล้ว ที่ถูกนั้นเป็นเรือด

ถามว่าทำไมต้องเป็นเรือด ก็ต้องอธิบายว่า เพราะในภาษาภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว เขาเรียกว่าตัว “เฮือด” ตัว ร เป็น ฮ หมด เช่น รัก เป็น ฮัก เรือน เป็น เฮือน แต่ว่าศัพท์ที่มาใหม่ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ เขาใช้ ร-เรือ ได้ เช่น รถ ก็เป็น รถ อยู่ เขาไม่ได้เรียก ฮด…

…ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลมาด้วยเหตุที่มีความวิตก แล้วก็ต้องอาศัยพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งที่จะให้ภาษาไทยเจริญรุ่งเรืองต่อไป จะได้ยึดถือเป็นทางทำมาหากินต่อไปได้ แล้วก็ต้องอาศัยความกรุณาของชุมนุมภาษาไทยนี้ ได้ช่วยกันรักษาและชำระสะสางภาษาไทยให้บริสุทธิ์…

แล้วมาถึงเรื่องราชาศัพท์ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์กราบบังคมทูลว่า รู้สึกข้องใจเป็นอย่างยิ่ง อาจพูดรุนแรงไปก็ต้องขอพระราชทานอภัยโทษไว้ล่วงหน้า คือเรื่องราชาศัพท์ ทุกวันนี้ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกสลดใจ เมื่อได้เห็นใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระราชอุตสาหะทุกขณะที่จะทรงเข้าใกล้ชิดกับพสกนิกรอาณาประชาราษฎร์ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แต่ว่าราชาศัพท์ด้วยเหตุที่ไม่พยายามจะใช้ กลายเป็นเครื่องแบ่งแยก ราษฎรส่วนมากจะเข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดพระองค์ แต่กีดด้วยราชาศัพท์ เป็นเหตุให้ต้องวิ่งหนี นี่เป็นความรับผิดชอบของผู้รู้ราชาศัพท์

เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่ออาจารย์บุญเหลือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ภาษาธรรมดาสามัญ ไม่กล้าที่จะทูลด้วยราชาศัพท์ เพราะเกรงว่าจะผิด

เมื่อคนขนาดอาจารย์บุญเหลือเป็นเสียอย่างนี้แล้ว คนทั้งประเทศจะอยู่ในลักษณะเช่นใด

นี่เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ยินคำขอพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่แรกเช่นนั้น

ความจริงราชาศัพท์เป็นของจำเป็น เป็นหน้าที่ของผู้จงรักภักดีทุกคนจะต้องพูดให้ได้ เพราะเหตุว่าทุกวันนี้เป็นสมัยที่ประชาชนและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าใกล้ชิดกันได้ที่สุด ตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาไม่เคยปรากฏ ถ้าหากว่าไม่มีสื่อที่จะกราบบังคมทูลให้เข้าถึงได้แล้วก็หมดความหมาย ทรงพระราชอุตสาหะเท่าไรก็เปล่าประโยชน์ เป็นหน้าที่ของราษฎรไทยผู้จงรักภักดีทุกคน รวมทั้งอาจารย์บุญเหลือด้วย ถ้าไม่ทราบก็ต้องเริ่มเรียนราชาศัพท์กันโดยด่วน ปล่อยปละละเลยไว้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่มีเหตุใดๆ เลยที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้ราชาศัพท์

ความจริงข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าในการพูดในที่นี้ก็ควรจะต้องพูดกับที่ประชุมโดยศัพท์สามัญ แต่ที่ได้กราบบังคมทูลด้วยราชาศัพท์ตลอดมาก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างอันดีไว้ ด้วยความประสงค์เช่นนั้น

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสว่าต้องขอขอบใจคุณคึกฤทธิ์ที่พูดเมื่อกี้ แล้วส่วนมากที่พูดก็เห็นด้วยเหมือนที่จะพูดด้วยตนเอง จะพูดแล้วก็คุยกับคุณคึกฤทธิ์แล้ว คุณคึกฤทธิ์ก็มาพูด แต่คุณคึกฤทธิ์ชอบอยู่อย่างหนึ่ง คือ โจมตีหน่วยราชการของข้าพเจ้า แท้จริงคุณคึกฤทธิ์ก็ออกจะทำหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้วก็ยิ่งอย่างนี้ ก็เข้าใจว่าทำไมจึงชอบเป็นฝ่ายค้าน จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ ก็เข้าใจอยู่อย่างนั้นเพื่อจะได้โจมตีหน่วยราชการ รัฐบาลก็ไม่ถือเพราะว่าพูดในสิ่งที่ถูกต้อง วิพากษ์วิจารณ์