วัฒนธรรมสร้างชาติ : สังคมไทยสมัยใหม่ของประชาชน ภายหลังการฏิวัติ 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

วัฒนธรรมสร้างชาติ

: สังคมไทยสมัยใหม่ของประชาชน

ภายหลังการฏิวัติ 2475

 

“การก่อตั้งนิคมสร้างตนเอง รัฐบาลระบอบรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่อเพาะปลูกนิสัยพึ่งตนเองให้แก่ประชาชนพลเมืองเป็นหลักสำคัญ”

(ประทีป พยอมยงค์, 2484)

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลคณะราษฎรจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2475-2484 จวบสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือได้ว่าเป็นงานรื่นเริงสำคัญของสามัญชนภายหลังการปฏิวัติ

งานฉลองดังกล่าวมีการจัดแสดงความก้าวหน้าของกิจการของรัฐบาลในด้านต่างๆ ให้ประชาชนทราบ

มีการแสดงมหรสพหลากหลายให้ประชาชนมารื่นเริงกัน ตลอดจนมีการจัดประกวดเรียงความที่เป็นเวทีในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของผู้คนต่ออนาคตใหม่ของสังคมไทยอีกด้วย

รัฐบาลโดยสำนักงานโฆษณาได้จัดประกวดเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ ในระดับมัธยมและอุดมศึกษาขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการตัดสินประจำปี 2484 ประกอบด้วย เดือน บุนนาค หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ พระยาอนุมานราชธน พระราชธรรมนิเทศ พระสารประเสริฐ วิจิตร ลุลิตานนท์ หลวงสุจิตรภารพิทยา เชื้อ พิทักษากร สมประสงค์ หงสนันท์ และอำพัน ตัณฑวรระนะ เลขานุการ จำนง รังสกุล และนิลวรรณ ปิ่นทอง ผู้ช่วยเลขานุการ

จอมพล ป. ดูการปลูกพืชสวนครัวเพื่อการพึ่งตนเองและเตรียมพร้อมกับบรรยากาศสงครามที่ใกล้เข้ามา

หัวข้อระดับบุคคลทั่วไป คือ “รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญได้บำรุงและส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติอย่างไร” มีผู้ส่งประเภทประชาชนทั่วไปจำนวน 169 คน

โดย ประทีป พยอมยงค์ อายุ 36 ปี รับราชการที่กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ผู้จบจากโรงเรียนนายเรือ เป็นผู้ชนะเลิศในปีนั้น

ทั้งนี้ การประกวดเรียงความในปี 2484 กรมโฆษณาการจัดประเภทผู้ประกวดใหม่ แบ่งเป็น ประเภทนักเรียนมัธยมและอุดมศึกษา กับประเภททั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก กรมให้เหตุผลในการขยายผู้ส่งเรียงความว่า ต้องการขยายให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งเรียงความเข้าประกวดได้เช่นเดียวกับนักเรียนและนิสิตนักศึกษา

ดังนั้น ในเรียงความดังกล่าวย่อมปรากฏร่องรอยทางความคิดของผู้คนร่วมสมัยที่สะท้อนความคิด ความใฝ่ฝันร่วมสมัยออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและหนังสือประกวดเรียงความ ปี 2484

ประทีปเริ่มต้นเรียงความด้วยการค้นคว้าความหมายคำว่า วัฒนธรรมจาก พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรม และคำอธิบายจากผู้รู้สมัยนั้นเพื่อแสวงหาความหมายของคำ

เขาสรุปว่า วัฒนธรรม คือ การปลูกความเจริญให้งอกงาม มีแบบแผนทั้งในทางวัตถุและจิตใจ เป็นสิ่งที่ผูกให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม ทำให้รักษาชาติให้คงอยู่รอด ดังนั้น วัฒนธรรม คือ เครื่องวัดความรุ่งเรือง มั่นคง แข็งแรงของชาติ ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมของชาติจึงเป็นสิ่งทำให้ชาตินั้นรุ่งเรืองและอยู่รอดมั่นคงด้วย

เขาเห็นว่า รัฐบาลขณะนั้นพยายามปลูกฝังความรักชาติ ความเป็นระเบียบ สร้างศิลปะที่เหมาะสม และส่งเสริมมรรยาทสากลและสมรรถภาพให้กับประชาชน

เขาพบเห็นการสร้างสังคมไทยสมัยใหม่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่า รัฐบาลกำลังปรับปรุงวัฒนธรรมเดิมที่ไม่เป็นอารยะที่สืบทอดต่อมา เช่น ไม่ให้เกียรติสตรี การสร้างความรำคาญในที่สาธารณะ การไม่มีระเบียบวินัย ทำอะไรตามใจ การเขียนชื่อลงในโบราณสถาน ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ทำความเดือดร้อนเพื่อความสนุกเพลิดเพลินของตนและไทยมุง เช่น ลอบเจาะยางรถยนต์ ยืนดูเหตุเพลิงไหม้และไม่มีจิตใจช่วยเหลือ ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานยากลำบาก เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามส่งเสริมวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันตามอย่างสากล

รวมทั้งรัฐบาลกำลังปรับเปลี่ยนสำนึกของข้าราชการในการให้บริการประชาชนด้วยการออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2484 ตักเตือนข้าราชการให้ละเว้นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ ขาดจรรยาบรรณต่อประชาชน

สตรีไทยสมัยระบอบเก่า กับสตรีไทยในระบอบประชาธิปไตย

ด้านศิลปกรรมนั้น รัฐบาลจัดหน่วยราชการต่างๆ ขึ้นทำหน้าที่ส่งเสริมศิลปกรรมของชาติ และจัดการมาตรฐานศิลปะของชาติขึ้นเป็นแบบแผน

เขาเห็นว่า เหตุผลที่รัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดพระศรีมหาธาตุ การชักจูงให้สตรีไทยไว้ผมยาว นุ่งผ้าถุงแทนโจงกระเบน ชักชวนให้ชายหญิงสวมหมวกเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว เนื่องจากชาติต้องการวัฒนธรรมสนับสนุนอย่างมั่นคง ทุกคนจึงต้องรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมของชาติ

ด้วยเหตุนี้ มโนทัศน์ที่ประทีปพรรณนาในเรียงความนี้ จึงวางอยู่บนภาพที่ว่า ชาติคือผลรวมของประชาชนทุกคน และชาติเป็นองคาพยพที่ต้องการความเกื้อหนุนช่วยเหลือจากสมาชิกทุกคนให้ชาติมั่นคง

ในด้านความเป็นระเบียบนั้น เขาเห็นว่า รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนแต่งกายสมัยใหม่ตามแบบสากล หรือตามประเพณีที่สุภาพ ส่งเสริมให้สตรีไทยไว้ผมยาวตามสมัยนิยม เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบนแต่ให้นุ่งผ้าถุงแทน ไม่คาดผ้าแถบหรือการเปลือยอก ให้สวมรองเท้า สวมหมวกในที่สาธารณะอีกด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักแบ่งเวลาในการดำรงชีวิตออกเป็นการพักผ่อน การทำงาน และกิจส่วนตัว กินอาหารตามเวลา ให้รู้จักออกกำลังกาย เช่น เล่นกีฬา เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ตกค่ำคืนให้จัดการงานที่คั่งค้าง หรือสนทนากับครอบครัว อ่านหนังสือ หรือฟังวิทยุ วันหยุดให้ประกอบกิจทางศาสนา ท่องเที่ยว เล่นกีฬา ศึกษาหาความรู้

เป็นต้น

สตรีไทยในระบอบใหม่สวมหมวก ซื้อผักสวนครัว และเข็มรางวัลปลูกผักสวนครัวสมัยจอมพล ป.

ในด้านการศึกษา รัฐบาลส่งเสริมตั้งแต่รากฐาน คือ ชั้นอนุบาลเพื่อต่อไปยังประถม ชั้นมัธยมต้นและปลายในสมัยนั้น

มัธยมปลายแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น มัธยมปลายสายเกษตรกรรม พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม มัธยมปลายสายการช่าง มัธยมปลายสายอักษรศาสตร์และมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์

มีการส่งเสริมโรงเรียนราษฎร์ให้มีคุณภาพสูง โรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ รวมทั้งการเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

การเปิดแผนกหนังสือพิมพ์ภาคค่ำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้ผู้ที่ทำงานสามารถเรียนเพิ่มเติมในเวลาว่างด้วย

ประชาชนไม่เพียงแต่มีสติปัญญาเท่านั้น แต่ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงด้วย รัฐบาลจึงส่งเสริมความแข็งแรงทางกายด้วยการตั้งกรมพลศึกษา มีรายการออกกำลังกายตอนเช้าทางวิทยุ ส่งเสริมสมาคมกีฬาต่างๆ ตั้งกรมประชาสงเคราะห์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการบริโภค การสร้างเคหสถานให้ถูกหลักการ ส่งเสริมการจัดตั้งสุขศาลาทั่วประเทศให้รักษาความเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ให้ประชาชน

ด้วยเหตุที่รัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญตระหนักในการพึ่งตนเองจึงพยายามส่งเสริมในเรื่องการพึ่งตนเองเป็นการใหญ่ แม้นว่าประเทศไทยจะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ในดินสินในน้ำก็ตาม แต่หากไม่ดำเนินการใด ชนต่างชาติก็จะลักลอบขุดเอาไปจนหมดสิ้น

ดังนั้น รัฐบาลจึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าทำกิจการเหมืองแร่ รวมทั้งส่งเสริมการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ การปลูกฝ้าย ส่งเสริมการทอผ้า โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ เป็นต้น

เขาสรุปว่า วัฒนธรรมมีความหลากหลาย รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกื้อหนุนให้ชาติมีความก้าวหน้าไป และที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้แล้ว

นักเรียนถูกปลูกฝังให้มีวินัย

ด้วยเหตุที่การประกวดเรียงความในปี 2484 เป็นครั้งแรกที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปส่งบทความเข้าประกวดได้ เรียงความของประทีปให้น้ำหนักการแสดงภูมิรู้การค้นคว้าให้ประจักษ์มากกว่าการแสดงความรู้สึกนึกคิดหากเปรียบเทียบเรียงความที่มาจากนักเรียนและนิสิตนักศึกษาจากชั้นมัธยมและมัธยมศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม งานฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2484 ที่มีกำหนดการเปิดงานในวันที่ 8 ธันวาคมนั้น ไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากเช้าตรู่วันนั้น กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยเพื่อผ่านไปยังพม่า อินเดียและมลายู สงครามมหาเอเชียบูรพาได้ระเบิดขึ้นในวันนั้น

บรรยากาศของสงครามจึงได้เข้าครองแทนความรื่นเริงของสังคมไทยในตลอด 4 ปีแทน

จวบกระทั่งงานฉลองรัฐธรรมนูญถูกฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งภายหลังสงครามโลก

ส่วนการประกวดความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญนั้น ไม่พบหนังสือหลักฐานการประกวดดังเช่นก่อนสงครามอีก

สุดท้ายนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดในช่วงทศวรรษ 2490 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. ยังคงเป็นงานรื่นเริงที่สำคัญของชาติจวบกระทั่งเขาสิ้นสุดอำนาจลงจากการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500