อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (10)

เพราะเหตุใดเล่า มูซื่ออิง จึงสนใจในชีวิตของสาวนักเต้น-Cabaret Girl หรือสาวคู่เต้น-Dance Hostess นัก

คำอธิบายที่ดูจะสมเหตุสมผลข้อหนึ่งคือเพราะความเป็นอิทธิพลจากตะวันตกในเนื้อแท้ของมัน และมูซื่ออิง ผู้นิยมวรรณกรรมตะวันตกทั้งฝรั่งเศสและอเมริกันย่อมพยายามหาตัวละครที่ไปพ้นจากความรู้สึกถึงความเป็นชนชาติจีนมาโลดแล่นแทนในงานเขียนของเขา

วัฒนธรรมการเต้นรำเข้ามาในประเทศจีนผ่านทางพ่อค้าและนายทุนรวมถึงนักการทูตชาวตะวันตก มันแพร่หลายทั้งในซานไห่ เทียนจิน ซิงเต่า

แต่ดูเหมือนว่าซานไห่จะแปรตนเองเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมชนิดนี้ได้ในที่สุด ฉายา “ปารีสแห่งตะวันออก” ยิ่งเสริมส่งวัฒนธรรมการเต้นรำให้แพร่หลายขึ้น

หลังการปฏิวัติในรัสเซีย หญิงสาวผิวขาวชาวรัสเซียจำนวนมากหลั่งไหลมาหางานทำในซานไห่อย่างไม่ขาดสาย

ก่อนการเกิดขึ้นของอาชีพสาวนักเต้นหรือสาวคู่เต้น ซานไห่นั้นขึ้นชื่อลือชาในการเป็นศูนย์รวมของสาวนักร้องหรือ Sing-Song Girls

สาวๆ เหล่านี้จะประจำการอยู่ตามโรงน้ำชาขนาดใหญ่ที่มีการละเล่นดนตรีแบบโบราณ งิ้วโรงเล็ก และใช้ช่วงเวลาพักของการแสดงเหล่านั้นขึ้นไปร้องเพลงอำนวยความเพลิดเพลินให้กับแขกผู้มาเยือน

ในช่วงปลายของราชวงศ์เช็ง สาวเหล่านี้ปรากฏตัวอย่างแพร่หลายทั้งในปฏิทิน แผ่นภาพโฆษณาสบู่ ยาสีฟัน และผลิตภัณฑ์ประเทืองความงามอันหลากหลาย

และเมื่อจีนได้เปลี่ยนตนเองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐในปี 1911 หญิงสาวสวยในนครซานไห่ที่เดิมมุ่งหวังจะทำงานเพียงการขับร้องก็รับวัฒนธรรมตะวันตกที่ผ่านเข้ามาอย่างเต็มใจแปรผันตนเองมาเป็นทั้งสาวนักเต้น สาวคู่เต้น

จนแม้แต่เป็นดาราภาพยนตร์ชั้นนำที่ซานไห่ดำรงตนเป็นศูนย์กลางในเวลาต่อมาอีกเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ 1920-1930 เมื่อวัฒนธรรมการเต้นรำแรกเข้ามานั้น ชาวจีนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าใช้บริการในสถานที่แห่งนั้น โดยเฉพาะห้องเต้นรำในโรงแรมขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นสถานที่ให้บริการชั้นสูง

ความรู้สึกถูกกีดกันเช่นนี้ทำให้เกิดการต่อต้านว่าการเต้นรำเป็นกิจกรรมอันน่าละอายและหญิงสาวคู่เต้นเหล่านี้ประพฤติตนไม่ต่างจากโสเภณี

นวนิยายเรื่อง Lingrou Damen หรือประตูสู่จิตวิญญาณและเนื้อหนังของวูนนกวัว-Wunonghua เล่าถึงการเต้นรำของหญิงชายชาวตะวันตกในสถานที่อันมืดมิด ซึ่งในช่วงท้ายพวกเขาก็เปลื้องผ้าและเครื่องแต่งกายของตัวเองออกแล้วมีเซ็กซ์กันในที่สุด

การขึ้นมามีอำนาจของพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งที่มี เจียงไคเช็ก เป็นผู้นำในปี1927 ปลดเปลื้องข้อจำกัดนี้ไป ชาวจีนได้รับอนุญาตให้แสวงหาความสุขในโรงเต้นรำได้ (แม้แต่ตัวเจียงไคเช็กเองก็จัดงานแต่งงานระหว่างเขากับซงเหม่ยหลิงในโรงเต้นรำของโรงแรมมาเจสติกในซานไห่)

นักลงทุนชาวกวางตุ้งทุ่มเงินสร้างโรงเต้นรำราวกับการหว่านเมล็ดพืชลงในฤดูฝน

ในยุคสมัยนานจิง-Nanjing ที่พรรคก๊กมินตั๋งมีอำนาจ ซานไห่ได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งแสงนีออนที่แสงไฟจำนวนมากจะพากันเบ่งบานในยามค่ำคืนและคงอยู่เช่นนั้นก่อนที่ตะวันจะขึ้นสู่ท้องฟ้า

ถนนสายที่สว่างไสวที่สุดในซานไห่คงไม่พ้นถนนนานกิงที่อีกฟากเป็นสนามม้าแข่ง สถานที่เต้นรำสำคัญบนถนนสายนี้อยู่ที่โรงแรมคาเธ่ย์โดยรายล้อมด้วยโรงเต้นรำขนาดย่อมอื่นที่ก่อตั้งโดยพรรคมังกรเขียว ผู้มีประมุขพรรค นามตู้ยูเชิง หรือที่รู้จักกันในนามของเจ้าพ่อซานไห่ตัวจริง

 

ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างตู้ยูเชิง กับสมาชิกชั้นสูงของพรรคก๊กมินตั๋ง ทำให้กิจการของเขาขยายตัวไม่หยุดยั้ง คลับที่เขามีหุ้นส่วนไม่ว่าจะเป็น เซนต์จอร์จ เดล มอนเต คาซาโนว่า เวียนนาการ์เด้นต์ หรือแยงซี ล้วนแออัดด้วยชายหนุ่มลูกหลานผู้ดีมีสกุล

ในขณะที่บนถนนจูเป่าซานซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนเสฉวนและถนนเกียงสีจะแน่นขนัดไปด้วยเหล่ากะลาสีเรือชาวต่างชาติที่ทำงานให้กับเรือขนส่ง และสาวคู่เต้นในสถานที่แห่งนั้นจะเป็นสาวต่างชาติอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสาวเกาหลี ฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งเวียดนาม

เมื่อถึงกลางทศวรรษที่สามศูนย์ หญิงสาวชาวจีนไม่ว่าจะเป็นสาวนักศึกษา ลูกชาวบ้านหรือแม้แต่สาวน้อยจากชนบทล้วนมุ่งหน้าเข้าประกอบอาชีพสาวนักเต้น

พวกเธอจะทำงานตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งสาง โดยหนุ่มนักเต้นจะซื้อตั๋วเต้นรำคู่กับเธอกับเจ้าของโรงเต้นรำ

สาวเหล่านี้จะมีอายุตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบห้า (พ้นจากตัวเลขนี้ถือว่ามากเกินไปแล้ว)

สำหรับคนที่มีคู่เต้นตลอดคืนย่อมทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่คนที่หารายได้จากการเต้นไม่ได้เลยอาจต้องทำงานพิเศษหลังหมดภาระจากโรงเต้นรำเพื่อเลี้ยงตน

อันได้แก่ การขายบริการทางเพศ หรือขายตัวนั่นเอง

 

นวนิยายเรื่อง San Wunu หรือสามหญิงสาวนักเต้นรำของ บาวเทียนเซียว-Bao Tianxiao ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ลีเบ่า-Libao ในปี 1936 เปิดเผยถึงเส้นทางของหญิงสาวสู่ชีวิตสาวคู่เต้น

ตัวเอกที่ชื่อ โซวไหล่หยุน ที่เป็นสาวคู่เต้นอันมีชื่อเสียงพาหญิงสาวคนหนึ่งมาจากชนบทนาม เฉินไหม่เซิน เธอนำสาวน้อยผู้นี้ไปฝากเรียนเต้นรำตามโรงเรียนเต้นรำที่เปิดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วซานไห่ภายใต้ครูสอนชาวรัสเซีย

ภายในระยะเวลาเพียงสองอาทิตย์นั้นเอง เฉินไหม่เซิน ก็เปลี่ยนตนจากสาวน้อยบ้านนาหน้าใส เป็นสาวนักเต้นผู้มีใบหน้าฉูดฉาด

เธอเริ่มเรียนรู้การใส่รองเท้าส้นสูง ชุดกี่เพ้า ถุงน่องและเครื่องประทินโฉม

นอกจากนี้ เธอยังเรียนรู้การจุดบุหรี่ให้คู่เต้น การซบใบหน้าตามจังหวะเพลง

การทอดสายตา การส่งสัญญาณมือต่อลูกค้าว่าคืนนี้เธอปรารถนาอะไร เป็นต้น

แต่ละโรงเต้นจะมีดาราประจำโรง และดาราประจำโรงเหล่านั้นเองคือตัวดึงดูดชายหนุ่มทั้งหลายให้เข้ามาใช้บริการหรือหาความสำราญ

การจัดตั้งดาราประจำโรงนั้นกระทำผ่านการประกวดหญิงสาวคู่เต้น หญิงสาวที่ได้เป็นดาราประจำโรงจะถูกส่งไปประกวดกับดาราประจำโรงอื่นๆ ในงานประกวดมิสคาบาเร่ต์-Cabaret Queen ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำทุกปี

และแม้จะเป็นที่รู้กันดีว่าตำแหน่งมิสคาบาเร่ต์นั้นถูกกำหนดมาแล้วจาก ตู้ยูเชิง ผู้เป็นเจ้าพ่อซานไห่ในขณะนั้นว่าใครจะเป็นผู้สมควรได้รับตำแหน่ง ทว่า มันก็ยังเป็นงานใหญ่อยู่ดี

เพราะผู้ที่ชนะเลิศอาจมีโอกาสไต่เต้าต่อไปในฐานะดารา ส่วนผู้ที่แม้จะได้ตำแหน่งรองลงมาก็มีโอกาสที่ดีในชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น อาจได้รับบทตัวรอง

หรือมีชายหนุ่มมีฐานะสักคนมาตกร่องปล่องชิ้นกับเธอ ซึ่งนั่นหมายถึงการพาเธอออกจากชีวิตแบบวังวนเดิมๆ


การแพร่หลายของโรงเต้นรำเช่นนี้ทำให้ถึงกับมีหนังสือคู่มือเข้าโรงเต้นรำเลยทีเดียว หนังสือ Shanghai Menjing หรือ คู่มือท่องเที่ยวซานไห่ที่ตีพิมพ์ในปี 1932 โดยนักเขียนนาม หวังดิงจิว-Wang Dingjiu ได้แนะนำกฎเกณฑ์ในการเป็นนักเที่ยวที่มีชัยในยามค่ำคืน

นับแต่ข้อแรกที่ต้องไปถึงโรงเต้นรำแห่งนั้นด้วยรถยนต์

การไปด้วยยานพาหนะแบบอื่นย่อมหมายถึงการถูกดูถูกจากพนักงานต้อนรับ เจ้าของสถานที่ จนแม้แต่สาวคู่เต้นเองว่าฐานะของชายนักเที่ยวผู้นี้ไม่คู่ควรกับการเสียเวลาบริการด้วย

กฎเกณฑ์ข้อที่สองคือ ต้องแต่งกายให้ดูภูมิฐาน เสื้อผ้าเต็มยศแบบตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

แม้ว่าบางสถานที่จะอนุญาตให้แต่งกายในชุดประจำชาติแบบจีนก็ตาม การแต่งกายแบบตะวันตกก็ดูมีลำดับชั้นที่เหนือกว่าอยู่ดี

กฎข้อต่อมาคือ เมื่อได้ที่นั่งแล้วอย่าเปลี่ยนสถานที่ไปมา ให้อยู่ในที่แห่งนั้น สั่งอาหารมื้อใหญ่ให้คนแลเห็นแล้วเริ่มต้นหมายตาสาวคู่เต้นที่ต้องการ หลังจากจับคู่เต้นกับเธอได้สำเร็จแล้วให้พาเธอกลับไปนั่งที่โต๊ะตามเดิม

หากลูกค้าคนใดมีความประสงค์ที่จะพิชิตใจสาวนักเต้น ในหนังสือก็รวมเทคนิคที่ใช้ชนะใจหญิงไว้ด้วย หวังดิงจิว อ้างว่าเขาได้สัมภาษณ์นักเต้นจำนวนมากถึงเทคนิคเหล่านั้น

หลักข้อแรกคือต้องรักษาความสุขุมและอดทนเข้าไว้

หลังจากนั้นให้ทำการศึกษานิสัยใจคอของสาวเจ้าเสียก่อนที่จะบุ่มบ่าม เพราะแต่ละเทคนิคนั้นจะเหมาะกับสาวแต่ละประเภทแตกต่างกันไป

บางสาวชอบดูการแข่งขันกันชนะใจเธอระหว่างลูกค้าคนอื่นๆ ถ้าจะชนะใจสาวประเภทนี้ต้องแสดงอาการหน้าใหญ่ใจโตเข้าไว้ บางสาวต้องการคนที่หมั่นเอาใจ

ถ้าเจอแบบนี้ต้องใช้ความสุภาพนุ่มนวลเข้าสู้ จะเลี้ยงหล่อนด้วยแชมเปญสักครั้งก็ควร

แต่หากเปิดแชมเปญหลายครั้งเข้า เธอกลับมองว่าเป็นการฟุ่มเฟือยเกินเหตุ ของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น แหวน กำไล ก็ใช้ได้ผล หากเธอชอบภาพยนตร์ ต้องหาทางพาเธอไปชมบ้างเป็นครั้งคราว หากเธอเริ่มให้ความสนิทสนม เธอจะแวะเวียนมาที่โต๊ะของลูกค้าบ่อยครั้งขึ้น อย่างไรก็ตาม หนังสือแนะนำว่าไม่ควรแสดงทีท่าสนิทสนมเธอจนเกินเหตุ เพราะสาวคู่เต้นแต่ละนางอาจมีลูกค้าหลายคนหมายปองอยู่และอาจทำให้เกิดการวิวาทบาดหมางได้ง่าย

คู่มือและเทคนิคการเอาชนะใจเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าในสายตาของผู้ใช้บริการเต้นรำ หญิงคู่เต้นมีลักษณะไม่ต่างจากคู่นอนด้วยเช่นกัน การพยายามเอาชนะใจเพื่อหวังเธอเป็นคู่เชยแล้วผละจากไปไม่ต่างจากการเห็นพวกเธอเป็นดอกไม้ริมทาง

และสิ่งนี้เองที่ มูซื่ออิง พยายามนำเสนอชีวิตของพวกเธอ