ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ครัวอยู่ที่ใจ |
เผยแพร่ |
ครัวอยู่ที่ใจ
อุรุดา โควินท์
ทางรอดอยู่ในครัว : เปิดเตาครั้งแรก
ฉันกับเขาไม่ค่อยตื่นเต้นกับเทศกาล ยกเว้นปีใหม่ อาจเป็นเพราะว่า เราเลือกวิถีชีวิตที่เราชอบ วันหยุดจึงไม่ค่อยมีความหมาย ทุกวันของเราคือการทำงาน และสำหรับเรานั่นคือการใช้ชีวิต
ทำงานที่เราเลือก ทำให้เราเลือกได้ทั้งเวลาทำงาน กระบวนการทำงาน เลือกได้กระทั่งเป้าหมาย หรือภาพร่างความสำเร็จ เพราะฉันเป็นฝ่ายเลือก ความกดดันจากการทำงานจึงไม่มี ระหว่างวัน ถ้าเหนื่อย ฉันพัก ถ้าหิว ฉันเดินเข้าครัว นึกอยากกินอะไรจริงจัง ฉันโดดงานไปตลาด สำคัญตรงที่ ตารางงานที่จัดไว้ต้องไม่คลาดเคลื่อน หรือหากจำเป็น ก็ไม่ควรมากเกินไป
ช่วงก่อนถึงรอยต่อของปี ฉันจึงพยายามสะสางงานให้มากที่สุด เพื่อจะได้ฉลองปีใหม่ แต่ปีนี้ เราวุ่นวาย อีรุงตุนัง ด้วยสองสาเหตุ
หนึ่ง ก่อนสิ้นปีเราทำเวลาหล่นหายไป 3 วัน จากอาการเปลี้ยวัคซีน สามวันเต็มแห่งปี ที่เราทั้งคู่ได้พักอย่างจริงจัง ทั้งที่ไม่อยากพัก เป็นการพักซึ่งไม่สบายเลย เมื่อยตัว ไม่มีแรง อ่านหนังสือก็ไม่ไหว เพราะปวดเบ้าตา
สอง ฉันทำสบู่ ซึ่งเหมาะจะเป็นของขวัญ และฉันก็ทำไว้เยอะ เผื่อว่าใครจะซื้อเป็นของขวัญ ดังนั้น ก่อนสิ้นปี เราต้องห่อสบู่กว่าสามร้อยก้อน แพ็กลงกล่องของขวัญ กล่องละสามก้อนบ้าง สี่ก้อนบ้าง หกก้อนบ้าง สรุปคือ แล้วแต่สั่ง มันสนุกมาก สนุกพอๆ กับทำสบู่ ฉันบอกเขาว่า เหมือนฉันได้เติมความฝันตอนเด็กให้ตัวเอง ฉันเคยอยากเปิดร้านกิฟต์ช็อป เพราะชอบห่อของขวัญ
แต่ก็นั่นล่ะ มันกินเวลามากกว่าที่คิด
ช่วงรอยต่อของปี ฉันจึงยุ่งเหยิงพัวพันกับหลายสิ่ง อยากทำเนียนๆ ทำเท่ ว่าปีใหม่เป็นสิ่งสมมุติ ก็แค่อีกวันที่ผ่านไป แต่ค่อนข้างแน่ใจ พอถึงเวลา ฉันจะเสียใจ หากไม่ได้เตรียมอะไรสำหรับเราเลย
เขาบอกว่ามีไวน์พอกินได้สักขวดก็พอแล้ว สั่ง cold cut กับชีสมาจากร้านอิตาลี ซึ่งราคามิตรภาพ แล้วทำแค่โอลิเวียสลัด
ฉันจ้องตาเขา
โอเค ความสำคัญอยู่ที่ไวน์พอกินได้สักขวด
“ไปเลือกมาเลยสองขวด เอาที่อยากกินน่ะ”
“หะ”
“เราจะฉลองสองวัน 30 กับ 31 แต่แบบเบาๆ” ฉันหมายถึง ทำอาหารที่ทุ่นแรง เก็บแรงไว้ทำงาน วันที่ 1 นั้นหมดสิทธิ์ ในตารางงานคือทำแยมเบคอน ไม่เหลือแรงแน่นอน
เพิ่งคิดได้ว่าควรเปิดเตาอบ ฉันได้เตาอบมาสองเดือน เหมือนคนได้ปลากระป๋อง แต่ไม่มีที่เปิด มันตลกมาก ที่ฉันทำอาหารตั้งแต่เด็ก ใช้ทั้งเตาถ่าน เตาไม้ฟืน เตาแก๊ส ก่อไฟกลางป่าก็ทำกับข้าวได้ แต่พอเจอเตาอบ ฉันงง กลัวทำพัง ไม่กล้าใช้ และสำคัญสุด ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกิน
มีแต่คนแนะนำให้ทำคุกกี้ เค้ก แต่ฉันไม่ชอบของหวาน เขาก็ไม่ชอบ ผลัดวันเรื่อยมา ไม่ได้ใช้เตาสักที
เป็นความจริงที่ว่า หากไม่มีครั้งแรก ย่อมไม่มีครั้งต่อไป
ทำวันที่ 31 ฉันบอกเขา อะไรก็ได้สักเมนู ที่เป็นของคาว ทำจากเตาอบ เลือกที่มีความเสี่ยงน้อยแบบน้อยมาก
เราเลือกอบไก่ในซอสมะเขือเทศ ค่อนข้างมั่นใจว่าได้กิน (ถ้าไก่สุก)
“ถ้ากินไม่ได้จะทำยังไง วันที่ 31 เลยนะ ควรมีแผนสองมั้ย” ฉันถามเขา
“ต้องได้สิ ไม่เห็นมีอะไรยากเลย”
ก็จริง มันง่ายมาก และเบาแรงมาก เริ่มจากเอาสะโพกไก่คลุกกับซอส ซอสก็ทำโคตรง่าย ใช้มะเขือเทศกระป๋อง ปั่นรวมกับน้ำมันมะกอก พริกแดงสักเม็ด กระเทียม ไทม์นิดหน่อย หมักเสร็จก็เอาไก่ลงในถาดอบ ใส่มันฝรั่งชิ้นใหญ่ๆ ลงไปด้วย โรยเกลือ โรยพริกไทยดำ เอาซอสที่เหลือเทโปะไปทั้งมันฝรั่งและไก่
อุ่นเตาไว้แล้ว ที่ 200 องศา ใส่ถาดอบเข้าไป จับเวลา 30 นาที
ระหว่างนั้น ฉันหั่นเบคอนกับผักรอ
ในสูตรใช้มะเขือเทศ แต่ฉันชอบกินพริกระฆัง ส่วนเขาชอบกินหอมหัวใหญ่ เราจึงใส่ผักเพิ่มอีกสองอย่าง หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ รอไว้
เบคอนใช้แบบเป็นชิ้นหนา หั่นเต๋า
ครบ 30 นาที เอาถาดออกมาโรยเบคอน แล้วใส่กลับเข้าไปในเตาอบ จับเวลา 15 นาที
15 นาที สุดท้าย เป็นเรื่องของผัก เอาถาดอบออกมา ใส่ผัก อบต่อ 15 นาที
รวมการอบทั้งสิ้นหนึ่งชั่วโมง
ฉันยอมรับว่าสั่นไหวมาก ตอนยกถาดมาที่โต๊ะอาหาร จัดโต๊ะอย่างสวย ถ้าอาหารจานหลักกินไม่ได้ ฉันจะทำยังไง
ตรงกันข้าม มันอร่อยมาก ซอสทำให้ไก่มีรสเปรี้ยวและหอม ไก่สุกแบบชุ่มฉ่ำ มันฝรั่งอร่อยสุดๆ ผักต่างๆ ก็อร่อย
“เราควรทำอีกใช่มั้ย” ฉันถามเขา เริ่มติดใจ เบาแรงเสียจริง
“มีเยอะสูตรมาก อาหารอบน่ะ เดี๋ยวหาสูตรให้”
โอเค ไปกันต่อ ได้ใช้เตาอบเสียที แถมยังอร่อยมาก เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ดีจริงๆ