อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (10)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (10)

 

ห้องอ่านหนังสืออาจินต์

ปากซอยพระนาง

ในชีวิตคนเรานั้น เรื่องบางเรื่องที่น่าจะง่ายมันก็ยาก และบางเรื่องน่าจะยากมันก็ง่าย เหมือนเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มันมีทั้งสองอย่างคือทั้งง่ายและยาก

ในบ้านเรามีหนังสือสะสมมาเรื่อยๆ ขณะนี้ปลายปี 2554 มีหนังสือล้นจากตู้ลงมากองตามพื้น ตั่ง โต๊ะ เต็มไปหมด ฝาผนังทุกฝาไม่มีว่าง มันถูกบังด้วยตู้หนังสือหลายขนาด มีเว้นว่างบ้างก็เฉพาะส่วนที่เป็นประตูและหน้าต่าง

ยิ่งปีนั้นมีข่าวน้ำจะท่วมหนัก แล้วเราก็รื้อหนังสือส่วนที่อยู่ล่างๆ ของทุกตู้ออกมาตั้งไว้ หลังตู้บ้างบนโต๊ะบ้าง รกไปหมด

ชีวิตอาจินต์ช่วงหลังๆ เมื่อเลิกทำฟ้าเมืองไทยตั้งแต่ปี 2531 หลังจากเล่มสุดท้ายคือเล่ม 1023 วางตลาดแล้ว อาจินต์กลายเป็น free man แต่งานเขียนกลับไม่เป็นเช่นนั้น เลิกจากเขียนในฟ้าเมืองไทย หนังสืออื่นๆ ก็เริ่มขอให้อาจินต์เขียนคอลัมน์ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง จนมีงานเขียนเต็มมือ

อาจินต์มีความสุขกับการเขียนมากกว่าทำฟ้าเมืองไทยตอนหลังๆ เสียอีก เดือนหนึ่งๆ มีงานที่ต้องส่งเป็นรายสัปดาห์บ้าง รายปักษ์บ้าง รายเดือนบ้าง รวมแล้วกว่าสิบชิ้น

ฉันอยากให้เขียนน้อยลงกว่านี้บ้าง แต่อาจินต์หรือจะยอม

นอกจากการเขียนหนังสือ หลังว่างงานฟ้าเมืองไทย เพื่อนๆ โดยเฉพาะเพื่อนรุ่นน้องในวงการหนังสือก็มารับไปเที่ยว ไปกินที่นั่นที่นี่ พักผ่อนคลายอารมณ์

หรือถ้าไม่มีใครมารับไปไหน พอเขียนงานเสร็จชิ้นหนึ่งก็จะให้รางวัลตัวเองเสียทีหนึ่ง ซึ่งก็คือเดินออกจากบ้านไปเรื่อยๆ หาข้าวกินนอกบ้าน ที่ตลาดหน้าปากซอยก็พูดคุยกับคนนั้นคนนี้ ส่วนมากคุยกับชาวบ้าน ไม่คุยเปล่า บางทียังได้ข้อมูลบ้านๆ มาเขียนอีก

อาจินต์เป็นคนเข้ากับชาวบ้านติดดินได้ดีมาก การเดินพักผ่อนให้รางวัลตัวเองนี้ บางทีเหนื่อยหอบกลับมาแฮ่กๆ ถามได้ความว่าเดินจากบ้านเราไปสี่แยกสุทธิสารตัดวิภาวดี แล้วเดินเล่นต่อไปเรื่อยๆ ข้ามสะพานข้ามถนนสูงๆ ได้ด้วย กว่าจะกลับมาก็หอบสิ

บางวันเบื่อถนนวิภาวดีก็ออกอีกทางไปเดินบนรัชดาภิเษก ช่วงที่เขากำลังสร้างทางลอดสี่แยกรัชดา-สุทธิสารนั้น อาจินต์ชอบไปดูเสมอ บางวันเขาให้เดินลงไปดูใต้ดินด้วย

วิศวกรคุมงานก็เป็นวิศวะรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานของอาจินต์นั่นแหละ

วันที่ไม่ไปไหน บางวันก็มีคนมาคุยด้วยที่บ้าน วันหนึ่ง สุทัศน์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเราหลายมิติ เป็นทั้งรุ่นน้องชาวค่าย สจม.ของฉัน เป็นทั้งรุ่นน้องวงการหนังสือของอาจินต์ พาอาจินต์เที่ยวไปไกลๆ ถึงสิงคโปร์ ถึงเหนือสุด ใต้สุด ของบ้านเรา แล้ววันว่างๆ ก็มาพาไปกินข้าวบ่อยๆ

4 กันยายน 2554 สุทัศน์พาชัย ราชวัตร กับเพื่อนๆ สนิทสองสามคนของเขามากินข้าวที่บ้าน คือมาทำกับข้าวที่เขาหอบมาทำเองเลี้ยงเราด้วย สุทัศน์ทำกับข้าวเก่ง เป็นพ่อครัวในงานแบบนี้แทบทุกงาน วันนี้มีปอง-อัญชะลี ไพรีรัก ติดมาด้วย

กินข้าวกันอยู่ใต้ชายคาหลังบ้าน ปองขอเข้าห้องน้ำ ฉันจึงพาเข้ามาในบ้าน ห้องน้ำห้องนอกของอาจินต์มีแต่ผู้ชายเข้า ฉันจึงพาปองเข้ามาข้างใน เดินเข้ามาข้างในก็ต้องผ่านกองหนังสือมากมาย ปองถามว่าพี่จะทำยังไงกับมันเนี่ย

“ยังไม่รู้ รู้แต่ว่าอยากจะตั้งเป็นห้องสมุดที่ไหนสักแห่งที่จะมีคนได้ใช้ประโยชน์ อยู่กับเรามันก็เก่ากรอบลงไปทุกวัน ไม่มีเราแล้วหนังสือพวกนั้นก็ไม่รู้อนาคต จึงอยากหาที่ทางให้เหมาะสักหน่อย ยังไม่ชัดเจนว่าจะเอายังไงที่ไหนดี”

“เดี๋ยวปองจะดูให้ มีหลายที่ที่น่าจะสนใจและยินดีที่จะทำเรื่องนี้ของพี่อาจินต์”

แล้วปองก็ยกตัวอย่างเช่นที่ ม.กรุงเทพ และที่ ม.รังสิต ของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์

ปองกลับไปแล้วฉันก็ลืมเรื่องนี้ไปพักหนึ่ง

สี่วันต่อมา

“พี่น้อย ได้ที่ตั้งห้องสมุดพี่อาจินต์แล้ว ปองพูดกับพวก ปชป. ทุกคนตาลุก เขาเป็นแฟนอาจินต์ทั้งนั้นเลย ทั้งอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิรักษ์ โกษะโยธิน จุติ ไกรฤกษ์ ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที-อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิหอศิลป์ เป็นแฟนตัวจริง จะเอาไปไว้ในหอศิลป์ กทม.ที่ปทุมวันเลยก็ได้ แต่ต้องคุยกันก่อนนะ เขาอยากจะรีบทำกันเลย”

“ทำไมมันง่ายนักล่ะ”

“เขาอยากให้รีบทำตอนที่เขายังคุม กทม.อยู่ ตอนนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ แล้วอยากให้เสร็จเร็วเพื่อพี่อาจินต์จะได้มาเปิดได้เอง” ฟังแล้วแปลกๆ ถ้านานกว่านี้กลัวอาจินต์จะไปเปิดไม่ได้แล้วหรือ…ทำนองนั้นแหละพี่

“อภิสิทธิ์บอกว่าผมก็อ่านงานพี่อาจินต์ แต่พี่สาวผม (งามพรรณ เวชชาชีวะ) เป็นแฟนที่เหนียวแน่นมากกว่า ตั้งแต่ผมทำงานการเมืองมาเขาไม่เคยขออะไรผมเลย แต่งานนี้เขาขอเป็นคนไปปาฐกถาวันเปิดงานด้วยนะ… ปองคิดกันไว้แล้วนะพี่ วันเปิดงานเราจะมีนิทรรศการ ยืมรูป ร.5 ของพี่ที่จักรพันธุ์ โปษยกฤตวาดให้พี่อาจินต์เอาไปถ่ายปกฟ้าเมืองไทยมาแสดงด้วย ปองเห็นพี่ตั้งไว้บนหลังตู้หนังสือที่บ้านพี่นะ…พี่รู้ไหมพอปองพูดกับเขาเช้า อภิสิทธิ์สั่งจุติตอนบ่าย และประสานกับอภิรักษ์ให้ลงมือทันทีเลย”

8 กันยายน ปองเล่าว่าอภิรักษ์ขอสำรวจสถานที่ที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ของ กทม.ที่เขาทำไว้ตามมุมต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีกทีว่าตรงไหนจะเหมาะที่สุด (อภิรักษ์ได้ปรับปรุงห้องสมุดประชาชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ สมัยที่เขาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย มีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าไปใช้มากขึ้น มีเครื่องมือเครื่องใช้พวกคอมพิวเตอร์ให้เขาค้นหาอะไรได้ทันสมัยขึ้น) และบอกฝากมาว่าพี่ต้องการอะไรให้บอกเขา มีไอเดียอะไรก็บอกได้เลย

ข้าราชการบางทีเขาก็อาจไม่เข้าใจอย่างที่เราต้องการทั้งหมดหรอก

13 กันยายน ตกลงห้องสมุดลงตัวที่ปากซอยพระนาง ฉันได้ยินแล้วดีใจทันที ก็ห้องสมุดประชาชนที่ปากซอยพระนางนี้ มันอยู่เกือบมุมสามเหลี่ยมดินแดงซึ่งเราผ่านประจำ เมื่อก่อนเป็นเรือนไม้เล็กๆ เก่าๆ ที่ไม่มีคนเข้าเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไปนั่นแหละ เมื่อเขาปรับปรุงหรือสร้างใหม่ เดี๋ยวนี้มันเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย มีคนใช้ไม่น้อย

ฉันรู้ว่าที่นั่นเมื่อก่อนเป็นที่ที่สิทธิชัย แสงกระจ่าง (นักแปลผู้ผันตัวไปเป็นนักปลูกป่าอยู่จันทบุรีและขนไม้ป่านานาชนิดใส่เต็มรถปิ๊กอัพไปให้ฉันปลูกที่กาญจนบุรี) ไปนั่งทำงานอยู่เสมอ

และก็เป็นที่ที่ประชาคม ลุนาชัยไปหาหนังสืออ่านอยู่บ่อยๆ ด้วย แล้วมันก็เป็นพื้นที่เขตดินแดงของเราเองด้วย ปองยังบอกด้วยว่าคุณชวน หลีกภัยก็ไปบ่อย

15 กันยายน เรื่องห้องสมุดนี้ได้บรรจุเข้าเป็นงานของ กทม.อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เป็นต้นมา ใช้ชื่อว่าห้องอ่านหนังสืออาจินต์ อยู่บนชั้น 3 ทั้งชั้นที่ศูนย์การเรียนรู้ปากซอยพระนางนั่นแหละ คนที่จะรับผิดชอบงานนี้ส่วนของ ปชป. ก็คือ ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม. ฝ่ายการศึกษา วันหลังจะรับพี่น้อยมาประชุม ตอนนี้เขาก็ประชุมกันทุกวัน คำนวณว่าหนังสือหมื่นกว่าเกือบหมื่นห้าพันเล่มจะต้องทำตู้เท่าไหร่ จัดที่อ่านยังไง ปองบอกว่า…

“งานนี้คุณชวนตบบ่าจุติ บอกว่าดีมากที่ทำเรื่องนี้ นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องทำแบบนี้”

มีแถมอีกว่า “พี่ชัย ราชวัตร พาปองไปดูห้องสมุดรพีพรที่โรงแรมที่ศรีราชาทำไว้ให้ ดูแล้วเศร้านะพี่ พี่ชัยว่าเราอย่าทำแบบนั้นนะ คือมันอยู่ในห้องหนึ่งชั้นบนของโรงแรมไม่มีใครรู้เรื่องเลย พี่ชัยว่าเวลาทำ PR เปิดห้องสมุด ถ้าเราบอกว่าเปิดห้องสมุดคนจะไม่สนใจ ให้บอกว่า…ตามหาเหมืองแร่ที่ปากซอยพระนาง”

“พี่ว่าถ้าเป็นสำนวนพี่อาจินต์ แกจะบอกว่าขุดเหมืองที่ซอยพระนาง”

หลังจากนั้นเราก็พูดคุยนัดหมายกันทางโทรศัพท์ แต่ยังไม่ไปถึงไหน พอถึงตุลาคม เรื่องน้ำท่วมก็พัดพาทุกเรื่องทุกคนโดยเฉพาะคน กทม. จนกระเจิดกระเจิงกระจัดกระจายกันไปทุกทิศทาง รวมทั้งเราสองคนด้วย แน่งน้อยก็ต้องพาอาจินต์หนีน้ำไปอยู่กาญจนบุรีเสีย 48 วัน

กว่าจะเสร็จกิจส่วนตัวแต่ละคน ก็ข้ามปี ปลายมกราคม 2555 ปองโทร.มาว่าทุกคนพร้อมแล้วนะ รอพี่น้อยคนเดียว

แล้วทุกอย่างก็เริ่มต้น

9 กุมภาพันธ์ รองฯ ทยา และทีมงานหลายคนมาดูหนังสือที่บ้าน แนะนำว่าต่อไปคนที่จะลงมือทำ (ที่เราต้องประสานงานกับข้าราชการที่มีหน้าที่ปฏิบัติโดยตรง) คือ รอง ผอ. ฝ่ายการศึกษาของ กทม. ชื่อปราณี(ปราณี สัตยประกอบ) และผู้ช่วยปราณีอีกบางคน

ต่อจากนี้ก็มีคนจาก organizer (ซึ่ง กทม. และราชการหน่วยต่างๆ สมัยนั้นเวลาเขาจะจัดงาน event สำคัญ เขาจะมี organizer ซึ่งรับงานจากราชการมาจัดการให้) ติดต่อมาดูหนังสือ หาสิ่งของที่สมควรจะนำไปจัดแสดงวันเปิดงาน

อย่างของเราก็ดูไว้หลายอย่าง เช่น พวกเครื่องเล่น tape รุ่นเก่า รุ่นใหม่ อาจินต์ใช้มาหลายรุ่น กล้อง พิมพ์ดีด แว่นขยาย รูปภาพ ตุ๊กตาอ่านหนังสือที่อาจินต์สะสม ต้นฉบับลายมือ ปากกา แฟ้มงาน กระดานดำ แบนโจที่เล่นจนส่วนประกอบเสียหมด กรอบใส่ จ.ม.จากพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่เขียนถึงอาจินต์เรื่องบทโทรทัศน์ ฯลฯ

ต่อจากนี้เราก็ต้องเริ่มจัดหนังสือ

หนังสือทั้งหมดในบ้านนี้ เมื่อช่วงหนีน้ำท่วม วีระยศได้ขนหนีน้ำขึ้นที่สูงโดยได้แยกเป็นหมวดหมู่ไว้แล้วอย่างง่ายๆ หยาบๆ ตอนนั้นฉันต้องลงมือแยกใหม่ให้ละเอียดถูกต้องมากขึ้น เรื่องนี้ง่ายแต่หนัก

ฉันแยกเป็นหมวดๆ แล้วก็เลือกเล่มเด่นๆ ของแต่ละหมวดออกมาถ่ายรูปปก เผื่อไว้ใช้ทำหนังสือแนะนำห้องสมุดตอนเปิดงาน ถ่ายเสร็จก็บรรจุลงกล่อง บรรจุเต็มกล่องแล้วฉันก็เขียนว่ากล่องนี้หมายเลขอะไร หมวดอะไรกี่เล่ม กบช่วยบรรจุแล้วมัดแน่นรอการขนย้าย

มันเป็นเดือนมีนาคม-เมษายนที่ร้อนระอุ เราทำงานกันเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ที่ห้องโถง จนอาจินต์มาเรียกให้เข้าไปในห้องทีวีที่อาจินต์เปิดแอร์ดู ทีแรกเราก็ขี้เกียจขนย้าย ตอนหลังก็ไม่ไหว ขนของหนีร้อนเข้าไปนั่งทำกับอาจินต์ในห้องแอร์ จนดึกดื่น บางวันห้าทุ่มยังไม่เลิก

“ทำไมไม่หยุดทำเสียที” อาจินต์ประท้วง และลุกหนีเข้าห้องนอนไปเลย

เราใช้เวลา 3 เดือน กุมภาพันธ์-เมษายน สิ้นเมษายนเราก็ได้หนังสือ 179 กล่อง ค่อยๆ ทยอยให้ กทม.มารับไปเป็นระยะๆ

หลังจากนี้ก็มีปรึกษาหารือเรื่องสูจิบัตร เรื่องงานที่จะจัด เปิดงานที่ชั้นล่างของศูนย์การเรียนรู้ฯ แต่หนังสืออยู่ชั้น 3 อาจินต์เดินขึ้นบันไดไม่ได้ ที่นั่นไม่มีลิฟต์ การเปิดงานจึงทำชั้นล่าง

เวทีที่จะทำพิธีเปิดงาน จะตกแต่งแบบไหนดี รองต๋อง-ปราณี ถามว่าจะเอา concept เหมืองแร่ มาทำแบบไหนดี ฉันว่าอย่าใช้ concept เหมืองแร่แบบเจาะจงอย่างเดียวเลย เพราะอาจินต์มีหลายมิติ น่าจะใช้ฉากห้องหนังสือ ตู้หนังสือ เก้าอี้รับแขกในห้องที่อาจินต์นั่งให้คนสัมภาษณ์เสมอๆ ซึ่งเขาเห็นด้วย และก็ขยายรูปมุมต่างๆ ในห้องที่ว่ามาจัดบนเวทีจนเหมือนนั่งคุยกับอาจินต์ที่ห้องรับแขกที่บ้านจริงๆ ตอนที่เขาทำพิธีเปิดงาน เข้าท่าดี

วันเปิดงาน 25 ธันวาคม 2555 เป็นการเปิดห้องอ่านหนังสืออาจินต์ ชั้น 3 ของตึกศูนย์การเรียนรู้ รอบเวทีชั้นล่าง มีรูปภาพต่างๆ ที่คนจัดประสานงานกับวีระยศ นำรูปภาพต่างๆ ในบ้านมาประดับไว้โดยรอบ ง่ายๆ แต่ก็ดูดี ไม่ได้เชิญแขกมากนัก แต่สื่อมวลชนมากมาย

บรรยากาศวันนั้น ดูจากภาพประกอบต่างๆ ที่นำมาลงไว้ที่นี่ ภาพก็คงจะบรรยายอะไรต่างๆ ได้ดีกว่าฉันจะบรรยายเองด้วยซ้ำไป