2503 สงครามลับ สงครามลาว (64)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (64)

 

ชีวิตในสนามรบ

บันทึก “สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ของชาลี คเชนทร์

ถือเป็นหน้าที่ของนายทหารทุกนายที่จะต้องเร่งสร้างบังเกอร์และหลุมหลบภัยให้แข็งแรงมั่นคงเพื่อรักษาชีวิตและลดการสูญเสียภายในหน่วยให้มากที่สุด ทุกกองร้อย หมวด หมู่ ต้องจัดเวรยามผลัดเปลี่ยนกันตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งจุดเฝ้าระวังเหตุทั้งในและนอกสถานที่ตั้งตามความเหมาะสม

การจัดหน่วยออกลาดตระเวนทางในระยะใกล้และไกลจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงจังแม้ในภาวะปกติก็ไม่ควรประมาทชะล่าใจ ต้องหมั่นตรวจสอบอาวุธ กระสุนให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานอยู่เสมอ และพร้อมที่จะประจันหน้ากับข้าศึกในทุกเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ในเรื่องของการวางจุดระวังภัยและการลาดตระเวนนั้นได้เคยมีบทเรียนจากการสูญเสียของฝ่ายเราในการรบเนื่องจากทหารได้ละเลยหน้าที่ไม่ออกลาดตระเวนตามที่ได้รับมอบหมาย

นับเป็นความทุกข์ยากของทหารในการดำรงชีพอยู่ในพื้นที่สู้รบ พวกเขาต้องห่างไกลจากครอบครัว จิตใจพะวักพะวนห่วงพ่อแม่ ลูกเมียที่อยู่แนวหลัง ต้องช่วยเหลือตนเองในทุกเรื่องรวมทั้งการปฏิบัติตนอยู่ในกรอบวินัยอย่างเคร่งครัด ต้องเผชิญชีวิตอยู่กับความหนาวเหน็บ แดดกล้า พายุฝนในฤดูกาล ต้องเอาชีวิตเข้าแลกในยามสู้ศึกหนัก

ยิ่งเมื่อใดที่ต้องตกอยู่ในวงล้อมหรือถูกปิดล้อมจากข้าศึกเป็นเวลานานวัน ยิ่งต้องได้รับทุกข์ทรมานเป็นทวีคูณ ต้องขาดน้ำดื่ม น้ำใช้ ร่างกายเหนียวเหนอะหนะ อาหารร่อยหรอ หรือมีเพียงอาหารแห้งพอประทังชีวิต

หากเมื่อใดหน่วยส่งกำลังบำรุงจากส่วนหลังถูกตัดขาดจากฝ่ายข้าศึก ชีวิตทหารแนวหน้าจึงตกอยู่ในสภาพเหมือนตายแบบผ่อนส่ง สุดรันทด

จากสภาพนอนกลางดินกินกลางทราย ต้องหลับนอนอยู่ในบังเกอร์ขนาดเท่าหลุมฝังศพที่อับชื้น จึงเป็นที่รู้และปรากฏเป็นหลักฐานว่า แผ่นหลังของนักรบผู้กรำศึกในสมรภูมิมานานนับปีมักถูกดินกัดเป็นแผลพุพอง กลายเป็นสิวเม็ดดำกินบริเวณกว้างทั่วแผ่นหลัง ฝากไว้เป็นอนุสรณ์กันถ้วนหน้า

 

CAMPAIGN 74B ล้มเหลว

จากสถานการณ์ที่พลิกกลับ โดยไม่สามารถเข้ายึดล่องแจ้งไว้ได้ ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือจึงตัดสินใจสั่งล้มเลิกการปฏิบัติตาม CAMPAIGN 74B เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2514 กำลังส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายกลับเวียดนามเหนือ โดยยังคงทิ้งบางส่วนไว้เพื่อรักษาอิทธิพลในพื้นที่ทุ่งไหหินและรอโอกาสที่จะเปิดการรุกใหญ่อีกเมื่อโอกาสเปิดให้

อย่างไรก็ตาม การปิดล้อมที่มั่นทหารไทยเฉพาะที่บ้านนาตาม CAMPAIGN 74B ยังคงดำรงอยู่ต่อไป

บก.ฉก.วีพี จึงปรับภารกิจเมื่อต้นพฤษภาคม ให้กองพันบีซี 605 และ 606 ร่วมปฏิบัติการยุทธบรรจบที่บ้านนาเพื่อช่วยเหลือกองพันบีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ซึ่งยังตกอยู่ในวงล้อม แต่ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องบิน F-4 ทิ้งระเบิดผิดเป้าหมายเมื่อ 4 พฤษภาคม ซึ่งสร้างความสูญเสียอย่างหนักต่อกองพันทหารเสือพราน BC-605 ทำให้แผนการใช้กำลังทหารเสือพรานเข้าช่วยปลดปล่อยกองพันทหารราบ บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ที่ฐานบ้านนาต้องหยุดชะงักลง

จนในที่สุด ผบ.พัน บีไอ-15 จึงขออนุมัติถอนตัว ซึ่ง “หัวหน้าใจ” ร.ต.ประจักษ์ วิสุตกุล และกำลังในหมวดได้รับความไว้วางใจให้เป็นหน่วยนำในการถอนตัวภายใต้การกดดันจนประสบความสำเร็จ สามารถเคลื่อนย้ายสู่พื้นที่ปลอดภัยภูล่องมาด ฐานของกองพันทหารราบ บีไอ-14 แล้วเคลื่อนย้ายต่อด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปยังล่องแจ้งก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในที่สุด

เมื่อกำลังทหารประจำการจากกรมผสมที่ 13 เดินทางกลับประเทศไทยไปหมดสิ้นแล้ว จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ทั้งสิ้นของทหารเสือพรานที่จะเข้ารับผิดชอบการสู้รบในพื้นที่นี้ต่อไปภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของ บก.ผสม 333 เช่นเดิม

บทพิสูจน์ฝีมือรบของ “ทหารเสือพราน” ซึ่งกำลังพลพื้นฐานเป็นพลเรือนอาสาสมัคร ไม่ใช่ทหารประจำการจึงเริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนั้น…

 

ทหารเสือพรานรับผิดชอบต่อ

“ชาลี คเชนทร์” อธิบายลักษณะที่ตั้งของกองพันทหารเสือพรานในการเข้ารับผิดขอบพื้นที่การรบทั้งสิ้นต่อจากกรมผสมที่ 13 ไว้ดังนี้

หน่วยเหนือได้วางแผนให้กองพันต่างๆ ตั้งฐานประจำแนวรบส่วนหน้าโดยจำกัดให้ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่กองพันละประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร การกำหนดเขตในบริเวณใดๆ จึงมีความเหมาะสมกับจำนวนกำลังพลในกองพันนั้นๆ ทำเลอันเป็นชัยภูมิสำคัญคือต้องเลือกพื้นที่ที่เป็นเนินหรือภูเขาสูง ทั้งนี้ เพื่อสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของข้าศึกได้ชัดเจนและเป็นมุมอับกระสุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสะดวกง่ายต่อการส่งกำลังบำรุง

ที่สำคัญต้องอยู่ใกล้แหล่งน้ำลำธารเพื่อการบริโภค

ทุกกองพันได้รับมอบหมายให้รักษาพื้นที่รอบฐานในรัศมี 3-5 กิโลเมตร โดยเชื่อมต่อเป็นลูกโซ่กับกองพันอื่นหรือหน่วยอื่นสลับกันไปซึ่งในบางบริเวณถูกกำหนดให้อยู่ใกล้กับกองทัพแห่งชาติลาว

ทหารแต่ละหมวดหมู่ในแต่ละกองพันได้ขุดหลุมเพลาะส่วนบุคคลเป็นลักษณะบังเกอร์เล็กและเบิร์มใหญ่วางแนวเป็นวงกลมแบบดาวล้อมเดือนของกองร้อยต่างๆ พร้อมกับขุดร่องแนวยิง ขนาดความสูงเหนือระดับเอวต่อเชื่อมถึงกัน

ดังนั้น ทุกพื้นที่ตั้งจึงมองเห็นภาพของ บก.พัน อยู่ในวงอารักขาของกองร้อยอีกชั้นหนึ่ง เบื้องหน้ารอบที่ตั้งของแต่ละกองพันจัดเป็นพื้นที่โล่งเตียนในรัศมี 100 เมตรอันเป็นระยะยิงหวังผลของพลปืนเล็กและการวางระเบิดทำลาย ห่างออกไปในระยะ 1-2 กิโลเมตรเป็นป่าโปร่ง สามารถสังเกตการเคลื่อนไหวของข้าศึกพร้อมใช้อาวุธหนักประจำหน่วย เช่น ค.60 ค.81 และ ค.4.2 ยิงป้องกันฐานได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ กองพันได้มอบหมายให้แต่ละกองร้อยตั้งจุดสังเกตการณ์นอกฐาน (Out Post) ในระยะ 300 เมตร เพื่อรายงานแจ้งเหตุในช่วงกลางวันและกลางคืน ในภาวะปกติทหารประจำแนวรบส่วนหน้าต้องทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนทั้งทางด้านบริการ ด้านธุรการ วิทยุสื่อสารและด้านยุทธการ

การจัดเวรยามต้องกระทำต่อเนื่องทั้งกลางวันกลางคืน ต้องจัดหมวดหมู่ออกลาดตระเวนระยะใกล้ในรัศมี 1-2 กิโลเมตรจากห้วงเวลาเช้าจนถึงช่วงเย็น

ส่วนการลาดตระเวนระยะไกลระยะ 5 กิโลเมตรขึ้นไปถือเป็นภารกิจพิเศษที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการเป็นครั้งคราว

 

ครองความได้เปรียบเหนือทุ่งไหหิน

ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ “ผาอิน” แห่งกองพัน ป.ทสพ.635 ซึ่งเข้ามาแทนที่ทหารปืนใหญ่ของกรมผสมที่ 13 บันทึกสถานการณ์ต่อมาไว้ดังนี้…

มิถุนายน 2514

ต้นเดือน กำลังทหารเสือพรานยังคงยึดที่มั่นต่างๆ เพื่อรักษาซำทอง ล่องแจ้ง และแนวเสถียรภาพ (เนิน 1663-ภูล่องมาด-ภูผาไซ) ตามปกติ ขณะที่ข้าศึกได้เพลาการปฏิบัติต่อฝ่ายเราลงมากอย่างเห็นได้ชัด แต่เราก็มิได้ประมาท ได้ส่งกำลังออกลาดตระเวนและกวาดล้างข้าศึกออกไปโดยรอบอย่างกวดขัน

นายพลวังเปาได้ริเริ่มเป็นฝ่ายรุกอย่างรวดเร็วเข้าสู่ทุ่งไหหินจากทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตก และทางด้านใต้ของท้องทุ่งหิน จู่โจมเข้ายึดที่ตั้งอันเป็นคลังยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารของข้าศึกโดยหลีกเลี่ยงข้าศึกที่เผชิญหน้าอยู่ อ้อมไปปฏิบัติการต่อส่วนหลังของข้าศึกในทิศทางที่คาดไม่ถึง แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทางกำลังทางอากาศค่อนข้างน้อยเนื่องจากยังอยู่ระหว่างฤดูฝนก็ตาม แต่ปฏิบัติการอย่างได้ผลตามแผนจู่โจมนี้

กำลังของนายพลวังเปาสามารถยึดเสบียงอาหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ แม้กระทั่งปืนใหญ่และอาวุธหนักของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้งขนาด 122 ม.ม. ซึ่งเคยยิงต่อที่ตั้งต่างๆ ของเราบริเวณบ้านนาก็ถูกฝ่ายนายพลวังเปายึดได้หลายกระบอก ซึ่งก็ได้ส่งมายังส่วนหลังบ้าง ทำลายเสียเพื่อมิให้สามารถใช้การได้บ้าง