‘อัญญ-เดียรถีย์’ : ‘ขวาสุดโต่ง’ ก็มีหลายเฉด / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘อัญญ-เดียรถีย์’ : ‘ขวาสุดโต่ง’ ก็มีหลายเฉด

 

“อัญญ-เดียรถีย์” (หมายถึง “ผู้ถือลัทธินอกพระพุทธศาสนา”) หนังสารคดีความยาวประมาณ 34 นาที ผลงานของ “พิชญุตม์ เค้าอัน” เพิ่งได้รับรางวัลดุ๊กหรือรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 25 เมื่อปลายปี 2564

โดยก่อนหน้านั้น หนังเรื่องนี้ได้เคยออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ออนไลน์บางอีเวนต์มาบ้างแล้ว

พิชญุตม์พาคนดูไปสำรวจโลกทัศน์-ชีวทัศน์ของฆราวาสชายคนหนึ่ง (รวมถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์บางรายของเขา) ผู้เป็นสมาชิก “องค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ” และมีความเชื่ออย่างหนักแน่นจริงจังว่าศาสนาพุทธและสังคมไทยกำลังถูกคุกคามจากมุสลิมและบางส่วน-บางกลุ่มก้อนของเครือข่ายอำนาจรัฐปัจจุบัน

คนดูส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อน-เหตุการณ์คู่ขนานของ “กลุ่มพุทธสุดโต่ง” ที่ประเทศเมียนมา

โดยส่วนตัว ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องเมียนมามากนัก จึงอยากทดลองเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการหันไปตั้งข้อสังเกตถึงปรากฏการณ์ว่าด้วย “ความเปลี่ยนแปลงภายใน” ของ “พุทธไทยกระแสหลัก”

ซึ่งหนังสามารถจับภาพ จับอารมณ์ จับความคิด ที่เกี่ยวโยงกับปรากฏการณ์ดังกล่าวออกมาได้อย่างน่าสนใจ

 

“อัญญ-เดียรถีย์” เปิดเรื่องขึ้นมาด้วยการสัมภาษณ์บุคคลต้นเรื่อง โดยมีฉากหลังเป็นวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

หลังจากนั้น ผู้ชมจะได้พบเห็นชายคนนี้ตระเวนไปไหว้พระและทำกิจกรรมเผยแพร่ “ข้อมูล” บางอย่าง ตามวัดต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่นในช่วงกลางเรื่อง เราจะเห็นเขาไปปรากฏตัวที่วัดสระเกศ

อาจเป็นความตั้งใจของคนทำหนังหรืออาจเป็นเพียงความบังเอิญก็ได้ แต่ชีพจรการดำเนินชีวิต-การเคลื่อนไหวของบุคคลต้นเรื่องในหนังสารคดีเรื่องนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าตัวเขามีความยึดโยงหรือมีความศรัทธาเลื่อมใสในอดีตศูนย์กลางอำนาจของคณะสงฆ์ (มหานิกาย) ซึ่งถูกลดทอนพลังลงไปอย่างมหาศาลภายใต้ระบบระเบียบการปกครองคณะสงฆ์แบบใหม่

รายละเอียดตรงจุดนี้จะเป็นเหมือนกรอบโครงขนาดใหญ่ ซึ่งครอบคลุมไปถึงเนื้อหาส่วนอื่นๆ ที่เหลือ

เป็นเนื้อหาที่บอกเล่าถึง “ชาวพุทธ” ที่มีแนวคิด “ขวาจัดสุดโต่ง” ทว่า ก็มิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศาสนาพุทธของรัฐ หรืออำนาจรัฐในยุคปัจจุบัน

 

นอกจากบุคคลต้นเรื่องของ “อัญญ-เดียรถีย์” จะพยายามจับผิดผู้คนต่างศาสนา หรือรู้สึกว่าคนเหล่านั้นเป็นสิ่งขวางหูขวางตาในทุกๆ กาลเทศะแล้ว

สถานการณ์หนึ่งที่ดูเป็นเรื่อง “ตลกร้าย” ในหนัง ก็คือ การที่เขาและเพื่อนร่วมองค์กรพยายามจะขับรถบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อถ่ายรูปสิ่งก่อสร้างใหม่ ซึ่งตนเองเชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาอิสลาม

พฤติกรรมเช่นนั้นดูจะสอดคล้องกับ “ข่าวลือ-ข่าวปลอม-ทฤษฎีสมคบคิด” ที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายพอสมควร (โดยปราศจากที่มาที่ไป) ในผู้คนบางกลุ่ม ว่านายกรัฐมนตรีมีความเกี่ยวข้อง-ใกล้ชิดกับ “ศาสนาอื่น”

อาการดังกล่าวสามารถอธิบายถึง “ความเป็นขวาจัด” ของผู้ปฏิบัติงานในองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาฯ ที่ไม่ลงรอยกับ “อำนาจรัฐไทย” ณ ปัจจุบัน ได้อย่างแจ่มชัด

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง พวกเขาก็พร้อมพิทักษ์ “ศาสนาประจำชาติ” แต่อีกด้าน พวกเขาก็ไม่ยอมรับผู้นำประเทศ (ที่เชื่อว่าตนรักชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร)

เช่นเดียวกับภาพเหตุการณ์ตอนที่บุคคลต้นเรื่องเดินสายไปอบรมเผยแพร่ “ความเชื่อ” ตามวัดต่างๆ ด้วยการบรรยายประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” ที่แปลกเพี้ยนออกไป (หมายถึงทั้งแปลกจาก “ประวัติศาสตร์ของฝ่ายอนุรักษนิยมทั่วไป” และเพี้ยนจาก “ข้อเท็จจริงต่างๆ”)

ผ่านการมองว่าปฏิบัติการของ “องค์กรศาสนาอื่น” ซึ่งสมคบคิดกับคนใน “เครือข่ายอำนาจรัฐ” บางส่วน ล้วนเป็นบ่อเกิดของทุกๆ ปัญหาในสังคมการเมืองไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สามารถสรุปรวบยอดได้ว่า พุทธศาสนิกชนกลุ่มนี้ยังยึดมั่นเคารพในอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ดังเดิม

แต่ความรู้สึกผิดหวังต่อกระบวนการใช้อำนาจรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการพระพุทธศาสนาในตลอดหลายปีหลัง และความรู้สึกแปลกแยกจากศาสนิกชนต่างความเชื่อ

ได้ส่งผลให้ “ความรักศาสนา” และ “ความต้องการอนุรักษ์พุทธศาสนา” ของพวกเขานั้นไม่เหมือนกับแนวคิดของรัฐเสียทีเดียว

 

ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นเรื่อง “อัญญ-เดียรถีย์” จึงกำลังนำเสนอประเด็นสำคัญสองข้อ

ประเด็นแรก หนังช่วยย้ำเตือนว่า “กลุ่มขวาจัดสุดโต่ง” ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย อาจไม่ได้ผนึกแน่นเป็นปึกแผ่นเดียวกัน

ดังกรณีกลุ่ม “พุทธขวาสุดโต่ง” ที่ในแง่หนึ่ง พวกเขายังยึดติดกับกรอบคิด “ขวาจัด” ในทางศาสนา แต่อีกแง่ พวกเขาก็เห็นต่างจากรัฐ ที่ใช้อำนาจอย่างไม่สอดคล้องกับอุดมคติของตน

คำถามน่าสนใจ คือ ถ้าปัญหาของ “พุทธศาสนาแบบไทยๆ” นั้นอยู่ที่การยังไม่ยอมแยก “รัฐ” ออกจาก “ศาสนา” แล้วความเชื่อ-การเคลื่อนไหวขององค์กรเอกชน ซึ่งมีแนวคิด “ขวาจัดทางศาสนา” โดยไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ ดังที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ จะมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ตรงจุดไหนของโจทย์การปฏิรูปดังกล่าว?

ประการถัดมา หนังยังสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกหวั่นไหวของพุทธศาสนิกชนไทยบางกลุ่ม ภายหลังการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปรากฏการณ์อื่นๆ อีกมากมาย นอกจอภาพยนตร์ด้วย (ตั้งแต่เรื่องเจ้าคณะจังหวัด สีจีวร จนถึง พส.)