ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cooltech / จิตต์สุภา ฉิน
เลือกสมาร์ตโฟนที่ความ ‘แฟร์’
ฉันทำงานอยู่ในสายอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับแก็ดเจ็ตอิเล็กทรอนิกส์ออกใหม่อยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้จะสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับเทคโนโลยีล้ำๆ ที่แต่ละค่ายแข่งขันกันจับใส่เข้าไปในแก็ดเจ็ตของตัวเอง
แต่ก็มีหลายช่วงเวลาที่อดรู้สึกไม่ได้ว่า โอ้โห นี่เราต้องใช้ทรัพยากรบนโลกเยอะขนาดไหนกันนะ แล้วแต่ละชิ้นที่ถืออยู่ในมือมันออกแบบมาให้มีอายุการใช้งานได้นานแค่ไหน หรือว่าสักปีสองปีก็พร้อมให้โยนทิ้งและอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่แล้ว
ดังนั้น เมื่อมีแบรนด์เทคโนโลยีที่ตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมเราถึงไม่ใช้โทรศัพท์เครื่องที่จะเป็นเครื่องสุดท้ายของเราแล้วเป็นเครื่องที่เราจะซ่อมและอัพเกรดมันไปเรื่อยๆ แบบไม่ต้องโยนทิ้งเพื่อเปลี่ยนเป็นเครื่องใหม่
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่านำมาขบคิดจริงจังมาก
อันที่จริงแล้วคอนเซ็ปต์ของการใช้สมาร์ตโฟนเครื่องเดียวและอยู่กับมันไปนานๆ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้นปีสองปีมานี้ แต่มีค่ายมือถือที่พยายามจะทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว
โดยอาจจะมาในรูปแบบของการออกแบบให้แต่ละส่วนของสมาร์ตโฟนเป็นโมดูลที่เราสามารถถอดแล้วประกอบของใหม่ที่ดีกว่าเข้าไปได้ ด้วยพื้นฐานความคิดว่าเราเลือกซ่อมหรืออัพเกรดเป็นส่วนๆ ไปได้ ไม่จำเป็นต้องทิ้งทั้งเครื่องแล้วซื้อใหม่
แต่เวลาผ่านมาหลายปีก็ยังไม่ได้เห็นโทรศัพท์แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเลย
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้คนหันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ที่โทรศัพท์ที่มีคอนเซ็ปต์เรื่องจริยธรรมในกระบวนการผลิต อย่าง Fairphone จะได้รับความนิยมมากขึ้น
Fairphone เป็นโทรศัพท์ที่มาพร้อมแนวคิดว่าทุกกระบวนการผลิตจะต้องทิ้งรอยเท้าทางคาร์บอนเอาไว้ให้น้อยที่สุด
และเมื่อมาอยู่ในมือผู้บริโภคแล้วก็จะต้องใช้งานได้นานที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่อีกเลยเพราะ Fairphone ออกแบบมาให้ซ่อมได้ง่ายและใช้วัสดุรีไซเคิลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
โทรศัพท์ Fairphone เกิดขึ้นครั้งแรกในอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อราว 5 ปีที่แล้วโดยมีจุดมุ่งหมายว่าจะต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกให้ได้มากที่สุด ก็เลยนำเสนอแนวคิดเรื่องจริยธรรมให้กับตลาดสมาร์ตโฟนที่โฟกัสหลักของทุกค่ายคือทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภคเปลี่ยนโทรศัพท์ทุกๆ ปีเพื่อสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุด
Fairphone สวนกระแสด้วยการบอกว่าโทรศัพท์ของตัวเองใช้ได้นานแบบไม่ต้องเปลี่ยน หรือถ้าอยากจะเปลี่ยนให้ทันสมัยขึ้นจริงๆ บริษัทก็จะออกชิ้นส่วนบางชิ้นที่อัพเกรดให้เพอร์ฟอร์มมานซ์ของเครื่องดีขึ้นและเปลี่ยนเฉพาะชิ้นนั้นก็พอ
เมื่อเปลี่ยนชิ้นนั้นแล้วเรียบร้อยโทรศัพท์ก็จะใช้งานได้นานยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่จะใช้งานได้ตลอดกาล เมื่อมาถึงวันหนึ่งที่โทรศัพท์ไปต่อไม่ได้แล้วและไม่สามารถซ่อมได้อีก โทรศัพท์เครื่องนั้นก็พร้อมให้ส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลทันที
สําหรับวัสดุที่ใช้ในการผลิต Fairphone ผู้ผลิตตั้งใจเลือกเฉพาะวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อย่างเช่นพลาสติกที่ใช้ในการทำทั้งฝาหน้าและฝาหลังก็เป็นพลาสติกรีไซเคิล
ไม่เลือกใช้แร่ธาตุที่สกัดมาจากแหล่งที่มีความขัดแย้ง
และแม้จะประกอบในประเทศจีนแต่ก็กำหนดกฎระเบียบว่าคนงานจะต้องทำงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม มีวันหยุด และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างครบถ้วน
แร่ธาตุจากแหล่งที่มีความขัดแย้ง หรือ Conflict minerals หมายถึงแร่ธาตุ 4 ชนิด คือ แทนทาลัม ดีบุก ทังสเตน และทอง (3TG) โดยเป็นแร่ธาตุที่ขุดได้ในสาธารณรัฐคองโก สาเหตุที่บอกว่ามีความขัดแย้งก็เพราะรายได้จากการขุดและขายแร่ธาตุเหล่านี้จะถูกใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มติดอาวุธในคองโกและในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปสู่ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
แร่ธาตุเหล่านี้ถูกส่งออกไปทั่วโลกและอาจจะลงเอยด้วยการมาอยู่ในมือของเราในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างเช่น สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเครื่องประดับก็ได้
สำหรับใครที่สนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมว่าเราจะเลือกสมาร์ตโฟนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีแหล่งข้อมูลอยู่หลายแหล่งให้เราสามารถเข้าไปศึกษาได้ อย่างเช่นเว็บไซต์ ifixit.com
iFixit: The Free Repair Manual
iFixit is a global community of people helping each other repair things. Let's fix the world, one device at a time. Troubleshoot with experts in the Answers forum-and build your own how-to guides to share with the world. Fix your Apple and Android devices-and buy all the parts and tools needed for your DIY repair projects.
ifixit.com
ที่รู้จักกันดีในฐานะของการเป็นเว็บไซต์ที่จะนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาชำแหละชิ้นส่วนเพื่อศึกษาองค์ประกอบและโครงสร้างก็ได้ให้คะแนนสมาร์ตโฟนแต่ละรุ่นโดยดูจากความง่ายของการซ่อม ยิ่งซ่อมง่าย ก็แปลว่าอายุการใช้งานก็จะนานขึ้น รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง
เดาได้ไม่ยากเลยว่าสมาร์ตโฟนทั้ง 3 รุ่นของ Fairphone ทั้ง Fairphone 2 Fairphone 3 และ Fairphone 4 ที่เพิ่งเปิดตัวไปปีที่แล้วก็ติดอันดับท็อปคว้าคะแนนเต็ม 10 ไปครอบครอง
และดูเหมือนจะเป็นแบรนด์เดียวด้วยที่สามารถทำคะแนนเต็มได้แบบนี้
น่าเสียดายที่ฉันเองก็ยังไม่มีโอกาสได้ลองว่าโทรศัพท์ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ความมีจริยธรรมเมื่อนำมาใช้งานในชีวิตจริงแล้วจะตอบโจทย์ได้มากแค่ไหนเพราะก็ยังไม่มีขายในเมืองไทย
แต่ดูจากรีวิวของเว็บไซต์ต่างประเทศก็น่าจะเป็นโทรศัพท์สำหรับการใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้คาดหวังว่ากล้องจะต้องเก่งกาจหรือมีดีไซน์เครื่องที่หรูหราเว่อร์วัง
แต่เสน่ห์ของมันจะอยู่ที่ความยั่งยืน การรับประกันที่ยาวนานถึง 5 ปี และความรู้สึก “แฟร์” ที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตจะได้รับความเป็นธรรม
แต่อุปสรรคที่อาจจะยังทำให้คนทั่วไปไม่กล้าลองก็อาจจะอยู่ที่ราคาขายที่เมื่อแปลงเป็นเงินไทยแล้วจะไปอยู่ที่ราวสองหมื่นกว่าบาทนี่แหละ
นอกจากความง่ายในการซ่อมและแหล่งที่มาของแร่ธาตุแล้ว ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราสามารถใช้เพื่อพิจารณาได้ว่าสมาร์ตโฟนเครื่องไหนน่าซื้อมาใช้หากเราคำนึงถึงความยั่งยืน อย่างเช่น คะแนนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การใช้สารเคมีอันตราย หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต
ฉันว่าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป เราอาจจะไม่สามารถมานั่งตรวจสอบตัวเลขแบบนี้กันได้ หรืออาจจะไม่ได้มีเงินราวสองหมื่นบาทให้ใช้ซื้อโทรศัพท์ที่มาพร้อมหลักการ แต่เรื่องง่ายๆ ที่เราทำได้เลยตั้งแต่วันนี้อาจจะเริ่มต้นด้วยการใช้โทรศัพท์มือสอง สาม หรือสี่ เพราะการใช้โทรศัพท์ที่มีอยู่แล้วก็จะไม่ทำให้เกิดความต้องการในแร่ธาตุที่ขุดขึ้นมาใหม่ และไม่มีกระบวนการผลิตใหม่
อีกสิ่งที่สามารถทำได้ก็คือรียูสและรีไซเคิลโทรศัพท์ของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการยกให้คนรอบตัวไปใช้ต่อ บริจาค หรือนำไปส่งรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
ฉันอาจจะไม่ใช่คนที่เหมาะที่สุดที่จะไปสอนใครเรื่องนี้
แต่ก็คิดว่าหลังจากนี้ไปจะพยายามใส่ใจข้าวของที่ใช้รอบตัวให้มากขึ้น
อย่างน้อยๆ ก็จะต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุดก่อนหมดอายุการใช้งานหรือถ้ายังใช้ได้ก็จะหาลู่ทางส่งต่อให้มากขึ้น
ซึ่งฉันก็เชื่อว่าในที่สุดแล้วผู้บริโภคทุกคนก็จะถูกบีบให้คำนึงถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น
เพราะแร่ธาตุบางอย่างที่ผลิตขึ้นใหม่ไม่ได้ ใช้ไปเรื่อยๆ ถึงจะไม่หมดภายในช่วงอายุเรา แต่ก็คงจะหมดลงได้สักวัน