SUPERFLEX กลุ่มนักปฏิบัติการเขย่าโครงสร้างสังคมด้วยศิลปะ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

SUPERFLEX กลุ่มนักปฏิบัติการ

เขย่าโครงสร้างสังคมด้วยศิลปะ

 

ในตอนนี้ขอเล่าเรื่องศิลปินร่วมสมัยที่น่าสนใจกันต่ออีกตอน

คราวนี้เป็นคิวของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญในโลกศิลปะที่มากันเป็นกลุ่ม ศิลปินกลุ่มนี้มีชื่อว่า SUPERFLEX

กลุ่มนักปฏิบัติการทางศิลปะสัญชาติเดนมาร์ก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1993 โดยสมาชิกหลักอย่าง ยาค็อบ เฟงเกอร์ (Jakob Fenger), ราสมุส นีลเซ่น (Rasmus Nielsen) และ บียอนด์เสตียร์เน่ คริสเตียนเซ่น (Bj?rnstjerne Christiansen) สามสหายผู้จบการศึกษาจากสถาบัน Royal Academy of Fine Arts เดนมาร์ก

พวกเขาทำงานศิลปะหลากรูปแบบ ตั้งแต่ผลงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ภาพยนตร์, งานออกแบบ ไปจนถึงผลงานศิลปะสาธารณะขนาดใหญ่, ผลงานของพวกเขามีส่วนผสมของวัฒนธรรมอันหลากหลาย และมักเชื้อเชิญผู้คนรอบข้างให้เข้ามามีส่วมร่วมในการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน

โดยไม่เพียงได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาอาชีพอย่าง สถาปนิก, นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร หรือเกษตรกรเท่านั้น

หากแต่ยังรวมไปถึงผู้ชมงาน ไปจนกระทั่งเด็กๆ หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์อื่นๆ อย่างสัตว์และพืช ที่ต่างก็มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการศิลปะของพวกเขาให้สำเร็จลุล่วงได้

โครงการศิลปะที่ว่านี้ไม่ได้เป็นแค่การแสดงผลงานศิลปะตามปกติแบบที่เราๆ ท่านๆ คุ้นชิ้นกันเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม, ชุมชน, สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่น ในพื้นที่ที่พวกเขาเข้าไปแสดงงาน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานทางเลือก, อาหาร, เครื่องดื่ม, ไปจนถึงส้วมสาธารณะ

พวกเขาไม่เพียงทำงานในพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะตามขนบอย่างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมักจะทำงานนอกพื้นที่ทางศิลปะในโครงการศิลปะสาธารณะต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

บ่อยครั้งที่โครงการศิลปะของ SUPERFLEX มีส่วนเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมอย่างการเสริมสร้างปัจจัยการผลิตในระบอบประชาธิปไตย, การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทางเลือก และการพึ่งพาตนเอง

รวมถึงตีแผ่และตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชุมชนหลากหลายแห่งทั่วโลก

 

Supergas (1996-97), มูลนิธิที่นา (The Land Foundation), เชียงใหม่, ภาพจาก https://bit.ly/3pVLzAo

ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน Supergas (1996-97) ที่ SUPERFLEX ร่วมงานกับวิศวกรชาวเดนมาร์กและแอฟริกันในโครงการทดลองเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก เพื่อสร้างอุปกรณ์ผลิตพลังงานชีวภาพเคลื่อนที่อันเรียบง่าย ที่ใช้สิ่งเหลือใช้จากธรรมชาติ อย่างอุจจาระของคนและสัตว์ มาสร้างพลังงานก๊าซธรรมชาติสำหรับการหุงต้มและไฟฟ้า ที่เพียงพอต่อการใช้งานในหนึ่งครัวเรือน แถมอุปกรณ์ที่ว่านี้ก็มีราคาย่อมเยาจนครอบครัวแอฟริกันทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้งานได้ไม่ยาก

ผลงานชุดนี้ของพวกเขากระตุ้นให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเองให้เกิดขึ้นได้ในชุมชน

นอกจากในแอฟริกาแล้ว โครงการนี้ยังถูกทำขึ้นในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในยุโรป, อเมริกาใต้, เอเชีย

รวมถึงในประเทศไทยด้วย

Guaran? Power (2003), ภาพโดย Anders Sune Berg, ภาพจาก https://bit.ly/3sUOR8R

หรือโครงการศิลปะ Guaran? Power (2003) ที่ SUPERFLEX ร่วมมือกับชุมชนเกษตรกรท้องถิ่นในบราซิล ในการผลิตเครื่องดื่มอัดลมจากเมล็ดของต้นกวารานา พืชท้องถิ่นของบราซิล ที่มีความเข้มข้นของกาเฟอีนมากกว่ากาแฟเกือบสองเท่า

พวกเขาร่วมกันพัฒนาเครื่องดื่มอัดลมให้พลังงานที่มีโลโก้และแบรนด์เป็นของตัวเอง เพื่อท้าทายการผูกขาดและกดราคาวัตถุดิบของบริษัทเครื่องดื่มอัดลมยักษ์ใหญ่ที่นั่น

การสร้างแบรนด์ให้แก่ผู้ผลิตท้องถิ่นที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในการสร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกของพวกเขาแสดงให้เห็นว่า การสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเองของชุมชนท้องถิ่นนั้นไม่จำเป็นต้องต่อต้านทุนนิยมและโลกาภิวัตน์เสมอไป

หากแต่เป็นการสร้างความหลากหลายของโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นในชุมชนได้จริงต่างหาก

Free Beer (2007), อุปกรณ์ผลิตเบียร์ ติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Centre d’Art Contemporain สวิตเซอร์แลนด์, ภาพโดย Francis Ware, ภาพจาก https://bit.ly/32JXg4r

หรือผลงาน Free Beer (2007) ที่พวกเขาร่วมมือกับนักศึกษามหาวิทยาลัย IT University of Copenhagen เดนมาร์ก ในการสร้างโครงการธุรกิจแบบโอเพ่นซอร์ส ด้วยการแจกสูตรผลิตเบียร์ รวมถึงแบรนด์และโลโก้ฟรี ให้ทุกคนนำไปผลิตและจำหน่ายเบียร์ของตัวเองได้โดยไม่มีลิขสิทธิ์

ซึ่งสูตรเบียร์ที่ว่านี้ถูกนำไปผลิตเบียร์ในโรงเบียร์, เวิร์กช็อป หรือแม้แต่ห้องครัวทั่วโลก ทั้งในไทเป, เซาเปาโล, ลอสแองเจลิส, มิวนิก, น็อกซ์วิลล์, โลซาน, คอร์นวอลล์, โบลซาโน และโอ๊กแลนด์ (โดยที่ SUPERFLEX มีส่วนร่วมหรือไม่ก็ตาม)

ที่พวกเขาทำเช่นนี้ก็เพื่อต่อต้านระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้คน

 

If Value Then Copy (2017) เดิมทีผลงานชุดนี้เป็นสโลแกนของผลงาน Copyshop (2005) ของ SUPERFLEX ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์ และแรงงานที่ไม่ได้เป็นวัตถุที่จับต้องได้อย่างความคิดและไอเดีย

พวกเขามองว่า เมื่อเกิดระบอบลิขสิทธิ์ สินค้าหรือแม้แต่แนวความคิดหลายอย่างถูกทำให้กลายเป็นเจ้าของและเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อสงวนและปกป้องมูลค่า(ทางเศรษฐกิจ)ของมัน

เดิมทีสุภาษิตที่ว่า “if value then right” (ถ้ามีคุณค่าก็ต้องมีลิขสิทธิ์) เป็นถ้อยคำที่ถูกใช้โดยผู้สนับสนุนการจดลิขสิทธิ์ที่กล่าวว่า ถ้าสิ่งใดมีคุณค่าก็ควรต้องมีลิขสิทธิ์ และถ้าใครก็อปปี้ไปโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าคนคนนั้นคือขโมย และควรต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย, ผลงานชิ้นนี้เป็นการเอาประโยคจากสโลแกนนี้มาทำเป็นภาพวาดสามภาพซ้ำๆ กันเพื่อสะท้อนถึงความเป็นสินค้าในระบบอุตสาหกรรมที่ถูกผลิตซ้ำเป็นจำนวนมาก

ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่การจิกกัดเสียดสีสุภาษิตเดิมผู้สนับสนุนลิขสิทธิ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสะท้อนอุดมการณ์ของ SUPERFLEX ในการต่อต้านระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่คุกคามสิทธิเสรีภาพของผู้คน

ในขณะเดียวกัน สโลแกนนี้ก็ท้าทายแนวคิดหลักเกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับ ความเป็นเจ้าของ และคุณค่าของสิ่งต่างๆ ว่ามีอยู่จริงหรือไม่? มีไอเดียหรือความคิดไหนที่เป็นต้นฉบับโดยไม่ได้แรงบันดาลใจจากอะไรเลยจริงหรือไม่? ใครสักคนสามารถอ้างความเป็นเจ้าของผลงานหรือผลิตผลทางความคิดที่ไม่สามารถจับต้องได้หรือไม่? เราจะสามารถพัฒนาหรือวิวัฒน์ตัวเองโดยไม่เลียนแบบหรือก็อปปี้สิ่งที่มีอยู่แล้วรอบๆ ตัวเราได้หรือไม่? If Value Then Copy เป็นการร่วมงานระหว่างกลุ่ม Copenhagen Brains และ SUPERFLEX

ด้วยผลงานเหล่านี้ SUPERFLEX กระตุ้นให้ผู้คนในชุมชนตระหนักถึงศักยภาพในการแสวงหาแนวทางพึ่งพาตนเอง รวมถึงท้าทายให้ผู้ชมหันมาใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ต่อประเด็นทางสังคมมากกว่าจะแค่ยอมรับข้อเท็จจริงเท่าที่ตาเห็นหรือจากข่าวสารที่เสพต่อๆ กันมา

ในทางกลับกัน หลายผลงานของ SUPERFLEX ก็มุ่งเน้นในการตีแผ่วิกฤตการเงินของโลก ปัญหาสังคม หรือระบบเศรษฐกิจการเมืองที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตเหล่านั้น

The Financial Crisis (Session I-IV) (2009), ภาพโดย SUPERFLEX, ภาพจาก https://bit.ly/3FVVIT9

ดังเช่นในผลงาน The Financial Crisis (Session I-IV) (2009) ภาพยนตร์ความยาว 12 นาที ที่สำรวจวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก ผ่านมุมมองของนักสะกดจิตบำบัด ที่นำพาผู้ชมผ่านห้วงเวลาของฝันร้ายทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุด ในสี่ช่วงของภาพยนตร์ ผู้ชมจะได้รับเชิญให้พิจารณาถึงพลังอำนาจในการสะกดจิตของระบบทุนนิยมทั่วโลก เช่นเดียวกับการสัมผัสกับประสบการณ์ของความหวาดกลัว, ความวิตกกังวล และความคับข้องใจในความสูญเสียทางเศรษฐกิจและภัยพิบัติทางการเงินของตนเอง

Power Toilets (2010) ส้วมสหประชาชาติจำลอง ในสวนสาธารณะ Park van Luna เฮียร์ฮูโควาร์ด, เนเธอร์แลนด์, ภาพโดย Jeroen Musch, ภาพจาก https://bit.ly/3JB8usm

หรือผลงาน Power Toilets (2010) ที่จำลองห้องส้วมขององค์กรที่ทรงอำนาจทางการเมืองหรือหน่วยงานทางธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง สำนักงานใหญ่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, สำนักงานใหญ่ธนาคาร JPMorgan Chase ในนิวยอร์ก, สำนักงานใหญ่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ในบรัสเซลส์ และสำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก ในปารีส

Power Toilets (2010) ส้วมสหประชาชาติจำลอง ในสวนสาธารณะ Park van Luna เฮียร์ฮูโควาร์ด, เนเธอร์แลนด์, ภาพโดย Jeroen Musch, ภาพจาก https://bit.ly/3JB8usm

ด้วยผลงานชุดนี้ SUPERFLEX ท้าทายสถาปัตยกรรมแห่งองค์กรอันทรงอำนาจอิทธิพลในโลก ด้วยการนำเอาพื้นที่ส่วนตั๊วส่วนตัวที่สาธารณชนคนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงได้โดยง่ายอย่าง “ส้วม” ขององค์กรเหล่านั้น มาเปลี่ยนให้เป็นส้วมสาธารณะ ที่ใครๆ ก็เข้าไปใช้ได้ เพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของระบบอันทรงอำนาจในสังคม

 

“FOREIGNERS, PLEASE DON’T LEAVE US ALONE WITH THE DANES!” (2002), ภาพโดย Anders Sune Berg, ภาพจาก https://bit.ly/3zts2uj

หรือผลงานที่เสียดสีสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศบ้านเกิดของพวกเขาเองอย่าง “FOREIGNERS, PLEASE DON’T LEAVE US ALONE WITH THE DANES!” (2002) ผลงานศิลปะในรูปโปสเตอร์ที่มีข้อความว่า “ชาวต่างชาติ โปรดอย่าทิ้งเราไว้ลำพังกับชาวเดนมาร์ก!” ที่ถูกติดบนท้องถนนในกรุงโคเปนเฮเกน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการลดจำนวนผู้ลี้ภัยทางการเมืองและผู้อพยพของรัฐบาลฝ่ายขวาของเดนมาร์ก ที่ถูกประชาคมโลกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก, ในปัจจุบัน โปสเตอร์นี้กลายเป็นเครื่องหมายแห่งจิตสำนึกทางวัฒนธรรมการเมืองของชาวเดนมาร์ก และมักถูกพบเห็นอยู่ทั่วไปในร้านอาหาร คาเฟ่ หรือในห้องนั่งเล่นของบ้านใดบ้านหนึ่งในเดนมาร์ก, ข้อความบนโปสเตอร์ยังถูกใช้เป็นมุกตลกเสียดสีและใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ถึงแม้จะวิพากษ์วิจารณ์ระบบและท้าทายโครงสร้างของรัฐหรือองค์กรที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง ในทางกลับกัน พวกเขาก็เข้าไปทำงานให้แก่องค์กรเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

“เราชอบที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบ เข้าไปอยู่ข้างในเพื่อท้าทายพวกเขา เพราะเมื่อคุณเข้าไปอยู่ข้างใน คุณจะสามารถเขย่าโครงสร้างของระบบเหล่านี้ได้มากขึ้น”

 

The Mammoth Rehearsal Sessions (2021) มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021, ขอบคุณภาพจาก ดร.วิภาช ภูริชานนท์

ข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะชาวไทยก็คือ ตอนนี้ SUPERFLEX กำลังมีผลงานร่วมแสดงใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 ที่จังหวัดนครราชสีมา ไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม ในผลงาน The Mammoth Rehearsal Sessions (2021) ศิลปะแสดงสดเฉพาะพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการนำเสนอกิจกรรมสะกดจิตกลุ่มในชื่อ “ซ้อมเป็นแมมมอธ” ในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตำบลสุรนารี

The Mammoth Rehearsal Sessions (2021) มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021, ขอบคุณภาพจาก ดร.วิภาช ภูริชานนท์

ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมจินตนาการว่าตนเองเป็นช้างแมมมอธที่สูญพันธุ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง และท้าทายทัศนคติในการมองมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางของโลกใบนี้

ผลงานชุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานชุด Interspecies ที่ทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2009

ในนิทรรศการยังมีผลงานภาพพิมพ์ Experience Climate Change As An Animal (2012-2050) โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมสะกดจิตกลุ่มเพื่อสัมผัสประสบการณ์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อย่างนกอินทรี, แมงกะพรุน, หมีขั้วโลก, ยุง และแมมมอธ อีกด้วย

ใครมีโอกาสเดินทางไปโคราชก็แวะเวียนไปสัมผัสประสบการณ์ในผลงานของพวกเขากันได้ตามอัธยาศัย, เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของเทศกาล https://bit.ly/3qI5EJy

 

ข้อมูล : หนังสือ Art & Agenda: Political Art and Activism โดย Silke Krohn, https://superflex.net/, www.thailandbiennale.org, https://bit.ly/3pX537M