My Summer of Love ‘ของเล่น’ ของ ‘ผู้มีอันจะกิน’/บทความพิเศษ มีเกียรติ แซ่จิว

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

My Summer of Love

‘ของเล่น’ ของ ‘ผู้มีอันจะกิน’

 

My Summer of Love แปะป้ายอย่างโฉ่งฉ่างว่าเป็นภาพยนตร์ ‘หญิงรักหญิง’ ตั้งแต่ปกหน้าและหลังกล่องดีวีดีและเนื้อหาก็เข้าข่ายทำนองนั้น

ซึ่งก็ถูกเพียงครึ่ง ส่วนอีกครึ่งนั้น หลักใหญ่ใจความสำคัญว่าด้วยเรื่องของการเล่นกับ ‘ศรัทธา’ ท้าทายความเชื่อของผู้คนที่หันหน้าเข้าหาพระเจ้า

หนำซ้ำยังยั่วล้อกับจิตใจมนุษย์ผู้เปราะบาง อ่อนแอ และขาดที่พึ่งทางใจให้แหลกสลายย่อยยับด้วยการละเล่นของผู้มีอันจะกินที่คิดว่าตนเหนือกว่าในทุกด้าน

หนังเปิดฉากด้วยผู้หญิงคนหนึ่งกำลังวาดภาพ ‘ผู้หญิงอีกคน’ บนผนังห้องของตัวเอง หญิงผมยาวอยู่ในกรอบสีแดงที่เธอขีดลากตีกรอบไว้

จากนั้นชื่อ My Summer of Love ก็ปรากฏขึ้นใต้ภาพแล้วค่อยเลือนหาย ก่อนที่ในฉากถัดมาเธอจะขี่มอเตอร์ไซค์ ‘ที่ไม่มีเครื่องยนต์’ ลงจากเนินแล้วไปล้มนอนอยู่ทุ่งหญ้าข้างทาง

หญิงแปลกหน้าคนหนึ่งขี่ม้าขาวผ่านเข้ามา ทั้งสองสบตา ทักทายกัน หญิงบนม้าขาวถามชื่อ เธอว่าชื่อ ‘โมนา’ อีกฝ่ายจึงแนะนำตัวว่า ‘แทมซีน’

“ฉันไม่เคยเห็นเธอมาก่อนเลย”

“จะมาเฉพาะตอนปิดภาคเรียนน่ะ”

“อยู่โรงเรียนประจำเหรอ”

“ใช่ แต่โดนพักการเรียนอยู่…ฐานชักจูงคนอื่นให้เสียคน…เบื่อๆ ก็มาได้ซัมเมอร์นี้ฉันอยู่ที่นี่ตลอด”

เราอาจจะมองเห็นสัญลักษณ์นี้ได้คร่าวๆ แล้วว่าใครในรูปคนนั้นก็คือ ‘แทมซีน’ ที่เพียงผ่านเข้ามาในช่วงซัมเมอร์ และอยู่ ‘เหนือกว่า’ ด้วยการนั่งอยู่บนหลังม้า (พาหนะที่เคลื่อนไหวคล่องตัว) ส่วนเธอนอนเดียวดายข้างสนามหญ้า มอเตอร์ไซค์เอียงกระเท่อยู่ไม่ไกล (พาหนะที่ไม่มีเครื่องยนต์ เคลื่อนไหวด้วยกำลังขา)

ชีวิตของโมนาจึงไม่ต่างจากมอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีเครื่องยนต์ (ยิ่งกว่าไม่มีน้ำมันอีก) เจอทางราบเรียบก็พอไปได้ เจอทางลาดชันก็กลิ้งโค่โล่ เธอไร้หลักพักพิงตั้งแต่แม่ตายด้วยโรคมะเร็ง ‘ฟีล’ พี่ชายที่ออกจากคุกก็หันหน้าเข้าหาพระเจ้า (“ฉันต้องการพี่ชายคนเดิมของฉัน”) คนรักก็เล่นรักชั่วคราวแล้วทอดทิ้ง (เพราะมีครอบครัวแล้ว)

หัวใจที่เคยว่างเปล่ากลับฟื้นขึ้นเมื่อแทมซีนผ่านเข้ามา ประหนึ่งชายขี่ม้าขาวเข้ามาจุมพิต และพาโมนาไปติดตั้งเครื่องยนต์ คืนชีวิตให้มอเตอร์ไซค์

โลกอันสำเริงสำราญของแทมซีน จึงเป็น ‘โลกใบใหม่’ ที่โมนาไม่คุ้นเคย สัมผัสหรือย่างกรายเข้าใกล้มาก่อน

เธอไม่รู้จักโลกของดนตรีคลาสสิค การเล่นเชลโล ไวน์รสเลิศ เสื้อผ้าหรู อาหารการกิน รวมไปถึงการวางตัวและการพูดการจาอันชาญฉลาดที่บ่งบอกถึงรสนิยมและสติปัญญา (วันข้างหน้าเธออาจจะสอบเข้าออกซ์ฟอร์ด)

“เคยอ่านนิตซ์เช่ไหม ยอดนักปรัชญาที่เชื่อว่ามนุษย์มีพลังดิ้นรนที่ไม่เท่ากัน คนเข้มแข็งจะเอาเปรียบคนที่อ่อนแอ คนกิเลสหนาทำตัวกิเลสบางเพื่อให้ได้รับการสรรเสริญและได้เปรียบคนอื่น เขาก็ฉลาดพอๆ กับเชกสเปียร์หรือว่าวากเนอร์เลย…พระเจ้าน่ะตายไปแล้ว”

แทมซีนไม่ได้พูด ‘อวดฉลาด’ เสียทีเดียว เพราะนักปรัชญาและคีตกวีส่วนใหญ่ที่เธอรู้จักก็มาจากการอ่านและศึกษาประวัติเสียเป็นส่วนใหญ่ อ่านแล้วจึงหลงใหล หลงใหลแล้วจึงซาบซึ้งในแนวคิดและดนตรีที่ฟัง (เธอเล่าเรื่องราวของนักดนตรีที่เธอชื่นชอบได้เป็นฉากๆ)

จึงไม่แปลกที่เธอจะมีโลกทัศน์ที่กว้างและไกลกว่าและใช้มันเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์คนตรงหน้าอยู่ในที และบ่อยครั้งจากสายตาที่คอยจับจ้องเฝ้ามอง (เช่นที่เธอถามโมนาว่า “ฟรอยด์ก็ได้รู้จักไหม”)

หลายต่อหลายครั้งเธอจึงชอบถามเพื่อให้คู่สนทนาเผยความในใจออกมาให้มากที่สุด (รวมทั้งเรื่องเซ็กซ์ว่าร่วมรักกันท่าไหน และให้โมนาแสดงให้ดู) และเมื่อเธอวิเคราะห์ปมปัญหาอย่างลึกซึ้งมากเพียงพอแล้ว เธอก็จะแสดงด้านที่อ่อนไหวออกมาเช่นกัน ประหนึ่งว่าเราก็ “หัวอกเดียวกัน” เพราะเธอเองก็ผ่านความผิดหวังชอกช้ำมาไม่ต่างกัน (ตั้งแต่เรื่อง ‘เซดี้’ พี่สาวที่เสียชีวิตจากโรคปฏิเสธอาหาร แม่ที่ไม่ค่อยอยู่ติดบ้านชอบออกงานสังคม และพ่อที่แอบไปมีอะไรกับเลขาฯ ของตัวเอง)

มากไปกว่านั้น เมื่อเธออยากทำความเข้าใจ ‘พระเจ้า’ ที่พี่ชายโมนาหันมาศรัทธา (เลิกกิจการผับของครอบครัวเปลี่ยนเป็นโบสถ์ของชุมชน สร้างกางเขนขนาดยักษ์แล้วพาเหล่าผู้ศรัทธาไปร่วมกันปักบนยอดเขา) เธอจึงไม่รีรอเข้าไปทำความรู้จักมุมมองความคิดของฟีลว่าอะไรทำให้เขาเกิดลึกซึ้งมองเห็นในสิ่งที่นิตซ์เช่เชื่อว่า “พระเจ้าตายแล้ว”

“คิดว่าความมืดปกคลุมเราจริงเหรอ”

“ใช่ ความมืดครอบคลุมทุกสิ่ง”

“ปีศาจเหรอ”

“ใช่ ฉันเคยเป็นพวกปีศาจครั้งหนึ่ง”

“เป็นยังไง”

“ก็เป็นคนไม่ดี เอาแต่หาเรื่องชาวบ้าน ชอบต่อยตี”

“ปีศาจเป็นคนสั่งให้ทำเหรอ”

“มันล่อลวงไปในทางชั่วร้าย มันใช้เราเป็นเครื่องมือเพื่อทำชั่ว”

“ดีเหมือนกันนะสำหรับคนที่มีความเชื่อ”

ถึงตรงนี้ หากชำเลืองสอดไส้นัยความตามแทมซีน เราคงเห็นตรงกันว่า สองพี่น้องคู่นี้ ‘ฟีลและโมนา’ ต่างกำลังหาที่ ‘ยึดเหนี่ยว’ จิตใจมากกว่าอื่นใด

 

โมนามีแทมซีนเข้ามาโลกทั้งใบของเธอจึงกลายเป็นสีชมพู (เหมือนเสื้อที่เธอสวมใส่)

ส่วนฟีลก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งร่วมกับกลุ่มคนที่เลื่อมใสศรัทธาในสิ่งเดียวกัน (จึงทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป) อาจเพราะคนทั้งสองเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าการมีหลักยึดมั่นคงและแข็งแรงเพียงพอจะนำพาชีวิตให้ก้าวต่อไป ขับเคลื่อนชีวิตต่อไปข้างหน้าได้มากกว่าหลงวกวนอยู่ในเส้นทางเดิมๆ

แต่ก็อย่างที่กล่าวไปแต่ต้นว่า แทมซีนเพียงผ่านเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่ง (ปิดเทอม) ด้วยปัญหาที่ว่าเธอ “ชักจูงคนอื่นให้เสียคน” เธอติดเครื่องยนต์ในชีวิตใหม่ให้กับโมนา เฝ้ามองและรับฟังสารพันปัญหาทุกข์สุข พร้อมแบ่งปันเรื่องเศร้าของตัวเอง และทำตัวประหนึ่งว่าต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวไม่ต่างกัน

ทว่าถึงที่สุด สิ่งที่แทมซีนบอกเล่าให้โมนาฟัง (ในเรื่องครอบครัวสาแหรกขาด) กลับกลายเป็นเรื่องโกหกพกลมในช่วงพักร้อนสั้นๆ ของคนฉลาดที่ใช้เล่ห์กระเท่บอกไม่หมด ทั้งที่โมนาหวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับแทมซีน (ทะเลาะกับพี่ชาย หอบกระเป๋าเดินทางออกมา) แต่ก็ได้มาเห็นความจริงว่าคนที่เธอรักกำลังจะกลับไปเรียนต่อ

ซ้ำเธอยังช็อกสุดขีดต่อสิ่งที่ประจักษ์ตรงหน้าว่า ‘เซดี้’ พี่สาวของแทมซีนยังมีชีวิตอยู่ และกำลังบอกให้เธอถอดชุดที่สวมใส่คืน เพราะนั่นมันเป็นเสื้อของเธอ (“ขอเสื้อฉันคืนด้วย”)

 

ตลอดเวลาที่หนังนำเสนอภาพครอบครัวมีอันจะกินของแทมซีน เราไม่เคยเห็นครอบครัวนี้พูดคุยกันเลยสักครั้ง หรือคุยกันแต่ไม่คุยกับเธอ อาจเพราะเธอเป็นตัวสร้างปัญหาหรือไม่ก็เป็นคนที่มีความเชื่อสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง เธอจึงรั้น ดื้อเงียบ (จนถูกพักการเรียน) ทำพ่อแม่ละเหี่ยใจ และพี่สาวก็อาจจะไม่อยากเป็นเพื่อนเล่นของเธออีกต่อไป เธอจึงกุเรื่องทุกอย่างขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความสนใจ ประหนึ่งว่าเธอไม่เหลือใคร เสื้อผ้าของพี่สาวที่โมนาสวมใส่จึงไม่ต่างไปจาก ‘ตัวแทน’ ของคนที่ตายจากชีวิตเธอไป

การปั่นหัวละเล่นแบบไม่สนหัวจิตหัวใจคนจนเลยเถิดไปไกลนี้ ได้ทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของสองพี่น้องให้ขาดสะบั้นลงและยากจะต่อติดดังเดิม

หนึ่งในนั้นคือฉากที่แทมซีน ‘ท้าทายพระเจ้า’ ของฟีล โดยการร้องขอให้พระองค์เข้ามาสถิตในตัวเธอ (ผ่านทางฟีลผู้กำลังภาวนาขอให้เธอ) แต่เธอก็ล่อลวงเขาด้วยสายตาและคำพูด ยั่วเย้าด้วยการสัมผัสมือเขา ปลุกเร้าสัญชาตญาณดิบในตัวให้อยู่เหนือกว่าเหตุผลและแรงศรัทธา (เหล่านี้เป็นไปตามแบบแผนจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์) จนฟีลไม่สามารถทานทนต่ออำนาจล่อลวงของปีศาจตนนี้ได้อีกต่อไป เขาจึงเผลอไผลโน้มตัวเข้าไปจูบปาก แต่กลับถูกผลักออกมาพร้อมเสียงหัวเราะ เย้ยหยัน

แล้วพูดว่า “ที่แท้มันก็ปาหี่แหละว้า”

 

บทเรียนครั้งนี้จึงเจ็บจบอย่างขมขื่น ชำเราลึกในจิตใจของฟีลและโมนา แต่ใช่ว่าแทมซีนจะลืมไม่จดจำวันคืนอันแสนสุขและข่มปร่าที่ได้สร้างและทำลายด้วยน้ำมือของเธอเองนั้น ก็ถูกมือของคนที่ถูกทำลายศรัทธา (แหลกเละคาตา) และมือของคนที่รักเธอเข่นเขี้ยวคืนกลับด้วยความเคียดแค้นไม่ต่างกัน

มือของฟีลที่ถูกหัวร่อตอกใส่หน้าที่ลืมตัวชั่วขณะ ได้บันดาลโทสะบีบคอแทมซีนกดแน่นจนเธอเกือบหายใจไม่ออก ก่อนที่เขาจะระงับความโกรธได้ทัน ปล่อยมือแล้วลุกเดินจากไป เธอได้รู้ถึงความเฉียดตายเป็นครั้งแรก เมื่อเธอก้าวล้ำเส้นความอดทนข่มกลั้น ทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่เขามีอยู่ และปล่อยเขาลอยคว้างสับสนอีกครา (ฉากที่ฟีลเกรี้ยวกราดไล่ตะเพิดกลุ่มคนที่นับถือพระเยซูให้ออกจากบ้านไปให้หมด กล่าวหาว่าเป็น “พวกมือถือสากปากถือศีล” มันจึงช่างยอกย้อนและทิ่มแทงใจเขายิ่งนัก ราวกับต้องการจะบอกว่าสุดท้ายพระเจ้าก็ไม่มีอยู่จริง ถ้ามีอยู่ พระองค์คงไม่ทอดทิ้งเขา)

มือของโมนาที่วาดภาพแทมซีนไว้บนผนัง ขณะที่ถูกพี่ชายขังไม่ให้ออกไปพบกัน เธอบรรจงจูบภาพนั้นแทนปากของคนรัก แต่ทว่าคนที่เธอรัก หวังพึ่งพิงกลับทำร้ายหัวใจเธอได้อย่างเจ็บปวดและเลือดเย็น

และสุดท้ายก็มือคู่เดียวกันนี้ที่ประคองจูบอย่างดูดดื่มท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรที่เคยระเริงรัก เล่นน้ำ นอนค้างอ้างแรม รวมถึงคำมั่นสัญญาที่เคยมีให้กัน (“เราจะไม่พรากจากกัน”) ก่อนจะเลื่อนลงมาบีบคอแล้วกดจมน้ำไปต่อหน้าต่อตาจนเกือบจะพรากชีวิตของแทมซีนจากไปจริงๆ

หากเธอไม่ปล่อยมือ แล้วเดินกลับขึ้นฝั่งย่ำเดินไปด้วยอารมณ์ที่ยังคุกรุ่นทั้งรักทั้งแค้น แต่เธอต้องตัดใจแล้วเดินต่อไปตามถนนที่ทอดยาวด้วย ‘สองเท้า’ ของตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งพาเครื่องยนต์ของใครขับเคลื่อนชีวิตอีกต่อไป

บางทีระยะห่างระหว่างชนชั้นก็คงจะอยู่ตรงนี้จริงๆ

จะมีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยใจจริง ถ้าไม่ด้วยสองมือและสองขาของตัวเอง