ทุกข์ของนักร้องกับคนใช้อาคาร / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ทุกข์ของนักร้องกับคนใช้อาคาร

 

ช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้มีเวลาดูคลิปต่างๆ ในยูทูบมากขึ้น จนมีข้อสังเกตว่า บรรดาสไตลิสต์ของดารานักร้อง ดูจะสนุกสนานในการจัดหาเครื่องแต่งกายในรูปแบบที่พยายามไม่ให้ธรรมดา

ตั้งแต่ให้นักร้องสวมใส่เสื้อผ้าทับกันสองสามชั้น เพื่อเพิ่มสีสันให้น่าดู ซึ่งยังพอรับได้ไหว

แต่ก็มีเลยเถิดไปถึงสวมเสื้อคอตั้ง ทับด้วยเสื้อกั๊ก และเสื้อนอก อีกทั้งโค้ตยาว โค้ตหนา และขนสัตว์ ราวกับว่าอยู่ในเมืองหนาว หิมะตกหนา หรืออุณหภูมิติดลบ จึงได้แต่สงสารดารานักร้อง ที่แม้ว่าจะมีใครช่วยปรับอุณหภูมิห้องให้ลงต่ำแล้ว แต่ก็น่าจะยังร้อนรุ่ม เหงื่อไหลไคลย้อย

คันในร่มผ้าอยู่ดี

 

คงเป็นเพราะไม่มีโรงเรียนสอนสไตลิสต์ คนดูแลเสื้อผ้าดารานักร้องในบ้านเรา จึงใช้วิธีครูพักลักจำ ตามที่เห็นมาในสื่อต่างประเทศ ที่สำคัญ คงคิดง่ายๆ อยากให้ดารานักร้องที่ดูแล สวยหล่อทัดเทียมกับดาราในต่างประเทศ ที่บังเอิญล้วนเป็นเมืองหนาวจัด

เลยทำให้คิดได้ว่า แม้จะมีโรงเรียนสอนสถาปนิก เป็นถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาผ่านมาตรฐานสภาสถาปนิกทั่วประเทศ

แต่ดูเหมือนว่าบรรดาสถาปนิกยังใช้วิธีครูพักลักจำเอา มากกว่าศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจในงานออกแบบ

เราจึงเห็นอาคารในกรุงเทพฯ หลายหลัง เหมือนอาคารในนิวยอร์กหรือโตเกียว โดยเฉพาะบรรดาอาคารกระจกสะท้อนแสงเข้าตาชาวบ้าน ทั้งๆ ที่เมืองเรานั้น แดดแรงแสงจ้าทั้งวัน ต่างไปจากเมืองเขา ที่แดดอ่อน แสงสลัวทั้งปี

เราจึงเห็นอาคารในกรุงเทพฯ หลายหลัง เหมือนอาคารในลอนดอนหรือปารีส โดยเฉพาะบรรดาอาคารกรุหินหรือกระเบื้อง ที่มีคราบสกปรก และทยอยร่วงหล่นใส่หัวชาวบ้าน เพราะเมืองเราใช้วิธีหล่อคอนกรีต แล้วกรุแค่หินบางหรือกระเบื้อง ต่างไปจากเมืองเขา ที่ก่อหินเป็นก้อนใหญ่

เราจึงเห็นบ้านเรือนในเมืองไทยหลายหลัง เหมือนบ้านในสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะบ้านที่ไร้ชายคา ทำให้ภายในบ้านร้อนรุ่มทั้งวันทั้งคืน ต้องเสียสตางค์ค่าไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่เปิดหน้าต่างประตูกระจกบานกว้าง เหมือนบ้านเขาที่อยู่กลางป่าเขา

คนไทยกลายเป็นปลาทองในตู้กระจก ปิดผ้าม่านทั้งวัน ไม่อยากให้ใครเห็นหรือให้เพื่อนบ้านมอง

 

สาเหตุที่สถาปนิกไทยเก่งแบบครูพักลักจำ ถ้าเป็นเมื่อก่อน คงเป็นเพราะครูสอนสถาปัตย์ อาศัยความรู้จากตำรา หรือจำภาพที่เคยไปเห็นตอนศึกษาต่อต่างประเทศ เลยตั้งหน้าตั้งตาจดจำมาสอน ส่วนนักศึกษาผู้ไร้เดียงสา ก็ชื่นชอบตื่นเต้นไปกับของแปลก แตกต่างไปจากที่เห็นในบ้านเรา

แต่เดี๋ยวนี้มีสื่อออนไลน์ ทั้งนักศึกษา ทั้งสถาปนิก ทั้งเจ้าของงาน ล้วนพบเห็นอาคารทั่วทั้งโลกบนมือถือ ส่งผลให้รูปแบบอาคารครูพักลักจำมากขึ้น

หากเป็นบ้านเรือนอาคารหลังเล็กๆ คงไม่เป็นไร ไม่มีใครเห็น และเป็นความเสียหายเดือดร้อนเฉพาะครัวเรือน

แต่ถ้าเป็นอาคารสูงหลายสิบชั้น ที่ใครๆ ก็เห็น แม้จะแปลกตา แต่ทว่าเหมือนอาคารในลอนดอน อย่างกับแกะมา เลยกลายเป็นว่า ลงทุนพันล้าน สำหรับสร้างอาคารจำลองโลกในสวนสนุก

เอาเป็นว่า สไตลิสต์เสื้อผ้าและสถาปนิกในเมืองไทย คงมีความนึกคิดคล้ายกัน จึงได้แต่สงสารนักร้องและเจ้าของและคนใช้อาคาร ที่ต้องทนทุกข์ทรมานโดยไม่รู้ตัว เหมือนกัน