‘โควิด-19’ สิ้นฤทธิ์ปีนี้? / สิ่งแวดล้อม ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘โควิด-19’ สิ้นฤทธิ์ปีนี้?

 

ประมวลความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายมุมโลก ต่างพูดไปในทางเดียวกันว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง

ด้วยเหตุไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีฤทธิ์เดชไม่รุนแรง คนฉีดวัคซีนมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าเดิม และมาตรการป้องกันโรคได้รับการปรับปรุงพัฒนาดีขึ้น

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ประเมินว่า ในช่วง 2-3 เดือนแรกของปีนี้ผู้ป่วยด้วยเชื้อโอไมครอนทั่วโลกจะสูงจนน่าตกใจ อาจติดเชื้อเป็นพันล้านคน เนื่องจากโอไมครอนแพร่กระจายได้เร็วแต่ฤทธิ์เดชไม่รุนแรง คนป่วยจึงมีอาการไม่หนักหนาสาหัส เชื้อทะลุทะลวงระบบทางหายใจส่วนบนเท่านั้น หากเจาะลงไปในปอดก็รุนแรงน้อยกว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

คนป่วยทั้งที่แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นจุดกำเนิดการแพร่เชื้อสายพันธุ์โอไมครอน หรือคนป่วยในออสเตรเลีย อังกฤษและสหรัฐอเมริกา มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ ถึงจะส่งเข้าโรงพยาบาลหมอให้ยารักษาไม่กี่วันก็หายเป็นปกติ

ผู้ป่วยติดเชื้อโอไมครอนเมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อเดลต้า โอกาสจะเข้ารักษาในโรงพยาบาลต่ำกว่า 50-80% อัตราความเสี่ยงติดเชื้อโอไมครอนสูงกว่าเดลต้า 5.4 เท่า

 

องค์การอนามัยโลกเชื่อว่า ถ้าทุกประเทศเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะจบลงในปีนี้

เวลานี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 49% เร่งฉีดให้เร็วขึ้น ยิ่งเร็วเท่าไหร่ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทวีความแรงขึ้น ในเวลาเดียวกันเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะเข้ามาแพร่ระบาดแทนเดลต้าลดระดับความร้ายกาจจนไม่สามารถสู้กับภูมิคุ้มกันหมู่ของคนได้

ดีไม่ดีเชื้อโอไมครอนอาจกลายพันธุ์เป็นเหมือนเชื้อหวัดประจำถิ่น ใครติดเชื้อ กินยานอนพักอยู่บ้านก็หายป่วย

ส่วนการใช้มาตรการเข้มป้องกันการแพร่ระบาดยังคงต้องทำกันต่อไปทั่วโลก ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ฉีดแอลกอฮอล์ทำความสะอาด และเว้นระยะห่างทางสังคม

ดังนั้น ถ้าชาวโลกฉีดวัคซีนครบโดส อย่างน้อย 2 เข็ม และยืนหยัดในมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น ภายในกลางปีหรือก่อนสิ้นปีนี้ คงมีโอกาสยิ้มสดใส ชีวิตเฉิดฉายไฉไลขึ้น หลังจากผู้คนส่วนใหญ่อยู่กับเหย้าเฝ้าเรือนมานาน 2 ปีเต็มๆ เดินทางไปไหนมาไหนก็ยุ่งยากวุ่นวาย

 

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้น ชาวโลกได้เรียนรู้ว่า เชื้อไวรัสมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์ป่า หรือสัตว์ปีกประเภทนก เกิดการแลกเปลี่ยนผ่องถ่ายพันธุกรรมกันและกัน จากเชื้อที่อยู่ในป่ากระโดดข้ามมาแพร่ในฟาร์มสัตว์เลี้ยง นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส)

การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สงสัยกันว่าจุดกำเนิดน่าจะเกิดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แล้วแพร่ระบาดไปทั่วโลก จนกระทั่งกลายพันธุ์เป็นอัลฟา เดลต้าและโอไมครอน

ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมแล้วกว่า 290 ล้านคน เสียชีวิต 5.4 ล้านคน เฉพาะปี 2564 ปีเดียว มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อเดลต้า 3.1 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าการกลายพันธุ์เป็นเดลต้าทำให้เกิดฤทธิ์เดชสูงมากก่อนจะมาเป็นโอไมครอนซึ่งฤทธิ์อ่อนลง

ถ้าโควิดจบอย่างที่คาดการณ์กันไว้ ทั่วโลกจะเปิดประเทศ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจกันยกใหญ่ เพราะตลอดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลต่างกู้หนี้อัดฉีดเงินเข้าไปในระบบพยุงสถานะเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก

ประเทศไทยก็ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ช่วงโควิด-19 อาละวาด รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กู้หนี้ไปแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท

ปีนี้ ยังไงๆ รัฐบาลก็ต้องกู้หนี้เอามากระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ

กู้คราวนี้คาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

เอาหนี้ใหม่เก่าทั้งหมดมากองรวมกันน่าจะทะลุเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ กำหนดไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือจีดีพี

กู้แล้วเอาเงินมาปลุกฟื้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียน ชาวบ้านลืมตาอ้าปาก มีเงินติดกระเป๋า แม่ค้าพ่อค้าขายของได้คล่อง โรงงานเปิดผลิตสินค้า คนงานได้มีงานทำ อย่างนี้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ถ้ารัฐบาลเอาเงินกู้ไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก ไม่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ประเทศชาติก็กระอัก หนี้บานทะลัก ลูกหลานใช้หนี้กันอ่วม

 

การเปิดประเทศหลังสิ้นสุดของโควิด-19 จะดึงโลกกลับไปสู่ปัญหาเก่าที่เป็นปัญหาหลักนั่นคือ ประชากรโลกพากันรุมขย้ำทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายชั้นบรรรยากาศ เนื่องจากอัตราเร่งฟื้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว

โรงงานอุตสาหกรรมจะเดินเครื่องผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองชาวโลกอย่างมโหฬาร ความต้องการใช้พลังงานมีสูงมาก ขณะที่ผู้บริโภคเพิ่มปริมาณการบริโภคสินค้ามากขึ้น ปัญหาควันพิษ ขยะอุตสาหกรรม น้ำเสียและขยะชุมชนก็ตามมา

แนวโน้มการบุกรุกทำลายป่าจะสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนตกงาน ไม่มีรายได้ การทิ้งเมืองเข้าสู่ชนบทมีมากขึ้น ทะเลที่ฟื้นฟูอุดมสมบูรณ์สวยในช่วงระยะ 2 ปี จะเจอกับชาวประมงบุกทะลวงจับปลากันถี่ขึ้น

ส่วนนักท่องเที่ยวแห่ไปดื่มด่ำกับธรรมชาติ ริมชายหาด บนเกาะกลางทะเล หรือในป่า ปัญหาการบดขยี้ทำลายธรรมชาติจะกลับมาอีกครั้ง

จากนี้ไปรัฐบาลต้องเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ใหม่หลังสิ้นสุด “โควิด-19” การปลุกสำนึกสาธารณะให้ผู้คนเข้าใจและใช้ชีวิตสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องทำพร้อมๆ กับมาตรการป้องกันโรคอุบัติใหม่แทน “โอไมครอน”