สงฆ์มองสื่อ สื่อมองสงฆ์/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อภิเชต ผัดวงค์

 

สงฆ์มองสื่อ สื่อมองสงฆ์

 

สื่อกระพือข่าวอดีตพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต (นครไธสง) สละผ้าเหลือง หลังจากอาศัยอยู่ในแวดวงดงขมิ้นร่วม 30 ปี

สาเหตุที่สื่อมวลชนและประชาชนสนใจข่าวนี้ ก็ด้วยว่าก่อนหน้านี้ มหาสมปองเคยร่ำไห้ขณะถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กระบายความอัดอั้นตันใจถึงการถูกกดดันจากพระฝ่ายปกครอง แม้ในภายหลังจะให้เหตุผลอีกประการคือต้องการออกไปดูแลมารดาที่ป่วยติดเตียง

แวดวงดงขมิ้นสั่นสะเทือนมาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่มหาเถรสมาคมมีมติถอดถอนและแต่งตั้ง 3 เจ้าคณะจังหวัด โดยเฉพาะยิ่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) ซึ่งดูเหมือนว่าขณะนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงอย่างน่ากังวล

ที่กาฬสินธุ์ปรากฏการณ์ชาวบ้านต่างพากันปักป้ายประท้วงพระ เหตุการณ์ยกป้ายไล่พระไม่ยอมให้จำพรรษาหรือพักอาศัยอยู่ในเขตจังหวัด พระผู้ปกครองตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลต่างพร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่งทั้งจังหวัด

เหตุการณ์ประท้วงหนักแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน

 

อันที่จริงไม่ว่าวงการไหน พ่อค้าพาณิชย์ นักการเมือง วงการศึกษา วงการนักกีฬา นักแสดง มิเว้นแม้กระทั่งวงการคณะสงฆ์ ย่อมมีดีมีร้ายปะปนกันไป

วงการคณะสงฆ์ตั้งแต่กรณีเงินทอนวัด ที่พระผู้ใหญ่หลายรูปถูกฟ้องคดีอาญา ถูกให้สึก หรือบางรูปต้องหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ส่งผลต่อภาพลักษณ์และสร้างความเป็นห่วงต่อผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามิใช่น้อย

เหตุสะเทือนวงการศาสนามิได้มีแต่ในปัจจุบัน เรื่องราวเหล่านี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล แม้แต่ในวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็ยังมีภิกษุบางรูปจาบจ้วง เป็นเหตุให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในเวลาต่อมา

ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคมไทยในแต่ละยุคแต่ละสมัยแตกต่างกันออกไป

ทุกยุคทุกสมัยการทำงานของสื่อเป็นการสะท้อนสังคมในขณะนั้นๆ สังคมไทยมีความสัมพันธ์กับวงการสงฆ์ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมไทย

วงการสงฆ์เป็นเช่นไรสังคมไทยมักเป็นเช่นนั้น

 

ข่าวของวงการสงฆ์สมัยก่อนกับสมัยนี้แตกต่างกันอยู่บ้าง สมัยเมื่อปี พ.ศ.2538 ผู้เขียนยังครองสมณเพศขณะยังเป็นพระนิสิต ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนิสิต มหาวิทยาลัยสงฆ์ วงการสงฆ์ช่วงนั้นที่ตกเป็นข่าวดัง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเฉพาะตัว

ช่วงนั้นมีข่าวพระมั่วสีกา ทั้งกรณีเณรแอตั้งตัวเป็นจอมขมังเวทย์ กรณีพระยันตระ กรณีพระภาวนาพุทโธ สื่อตีแผ่พฤติกรรมเจาะลึกเบื้องหลัง ข่าวทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับขึ้นข่าวหน้าหนึ่ง

กระแสข่าวครึกโครมโด่งดังในครานั้น ทำให้วงการศึกษาจัดเสวนาวิชาการ ให้นักการศึกษา นักการศาสนา และสื่อมวลชน ร่วมหาทางออกเพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไขชำระอธิกรณ์ กระตุ้นการบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง

การจัดเสนวนาทางวิชาการจัดขึ้นที่ลานอโศก วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ โดยได้เชิญฐากูร บุนปาน เป็นตัวแทนสื่อมวลชนขึ้นร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนา

การนำเสนอข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะที่หลากหลาย เป็นอีกเวทีหนึ่งที่นอกจากเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยต่อสถานการณ์พระศาสนาแล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่ามีส่วนกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันใส่ใจกิจการคณะสงฆ์มากยิ่งขึ้น

 

สําหรับข่าววงการสงฆ์ ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ มหาสมปอง นครไธสง อดีตพระนักเทศน์ชื่อดังลาสิกขา ซึ่งมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร คู่หู 2 พส.ได้ลาสิกขาไปแล้วก่อนหน้าในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นการสะท้อนอีกเรื่องราวที่สั่นสะเทือนวงการสงฆ์

เมื่อพระรุ่นใหม่ไฟแรง ที่หาญกล้าประกาศไม่ยอมก้มหัวให้กับพระชั้นปกครอง ต้องอำลาสละผ้าเหลือง จึงเกิดประเด็นคำถามว่า เรื่องนี้จะเป็นเพราะวงการสงฆ์มีปัญหา หรืออดีต 2 พส.มีปัญหา

หากอดีต 2 พส.มีปัญหา มีประพฤติไม่เข้าตาพระปกครอง ไม่เชื่อฟังพระผู้ปกครอง ประการนี้ย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตน เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เมื่อสละผ้าเหลืองออกไป เรื่องก็ยุติ และเชื่อว่าอดีต 2 พส.เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีเอกลักษณ์โดดเด่นจะสามารถครองตนนอกกำแพงวัดอย่างผาสุก

แต่หากวงการสงฆ์มีปัญหา หากไม่ยึดพระธรรมวินัยเป็นหลักในการปกครอง การไม่ปรับปรุงกฎ ระเบียบคณะสงฆ์ให้เอื้อต่อพระรุ่นใหม่ ไม่เอื้อต่อการเผยแผ่ธรรมตามยุคตามสมัย

ประการนี้น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ หรืออาจมองเป็นเรื่องเฉพาะตัวของพระผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางปกครองในแต่ละรูปแต่ละระดับ

 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวไว้ในหนังสือ “พุทธบริษัทกับพระธรรมวินัย” ความตอนหนึ่งว่า “…ขณะนี้ก็คือ การศึกษาพระธรรมวินัยนี้ย่อหย่อนมาก จึงเป็นทางให้เกิดความวิปริตผิดเพี้ยนต่างๆ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ มันเป็นเรื่องของสังคมวงกว้าง เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราควรจะวิเคราะห์ในวงกว้าง

มันไม่ใช่เรื่องปัญหาของคณะสงฆ์อย่างเดียว อาตมาขออธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปรากฏการณ์ทางสังคมนี้เล็กน้อย คือว่าสังคมของเรานี้ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่การรับอารยธรรมตะวันตกประมาณหนึ่งศตวรรษมาแล้ว พอเรารับระบบของตะวันตกเข้ามา รับระบบการศึกษา ระบบการปกครอง ระบบการจัดการสังคม อะไรต่างๆ เข้ามาจากตะวันตก พร้อมกับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกด้วย ตอนนั้นประชาชนมีความตื่นเต้นชื่นชมต่ออารยธรรมตะวันตกมาก

แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันหนึ่งซึ่งเป็นที่น่าสังเกตก็คือว่า การแยกกันระหว่างสถาบันพระศาสนากับสังคมทั่วไป คือประชาชนทั่วไปหันความสนใจไปยังภายนอก หันความสนใจไปสู่สิ่งที่มาจากภายนอกสังคมของตนคือสังคมตะวันตก และก็ตื่นเต้นสนใจพยายามที่จะเข้าถึงความเจริญแบบนั้น ในเวลาเดียวกันเขาก็หันหลังให้กับวัฒนธรรมประเพณีและสถาบันเดิมที่มากับสังคมของตนเอง

ส่วนในฝ่ายสถาบันศาสนาที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมประเพณีก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้รับมือกับความเจริญสมัยใหม่ ไม่เป็นผู้นำประชาชนในการที่ว่าจะปฏิบัติต่อวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาอย่างไร

ก็หันมาพยายามที่จะรักษาตัวให้รอด พยายามที่จะยึดวิธีแนวปฏิบัติเดิมวัฒนธรรมประเพณีของตนเองให้เหนียวแน่นที่สุด พยายามรักษาไว้ก็เกิดความแข็งทื่อขึ้นมา…”

 

พัฒนาการการปกครองคณะสงฆ์อาจกล่าวได้ว่าเริ่มเห็นจากมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบัน ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่กลางเดือนธันวาคมไม่กี่วันที่ผ่านมา กรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้ ไม่ได้ยึดสมณศักดิ์เป็นสำคัญ เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นว่ามีการแยกสมณศักดิ์ออกจากอำนาจทางการปกครอง เห็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

การบริหารกิจการคณะสงฆ์ในโลกยุคใหม่ การสร้างความเชื่อมั่นศรัทธามากยิ่งขึ้น และการแก้ไขปัญหากรณีการปลดและแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) จะเป็นโจทย์ใหญ่ของมหาเถรสมาคมชุดใหม่

หน่วยงานภาครัฐเช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้บริหารระดับนโยบาย ตลอดถึงรัฐบาลจะเป็นพลังขับเคลื่อนถวายงานกิจการคณะสงฆ์

หากจะกล่าวถึงภัยคุกคามศาสนา บางท่านอาจนึกถึงภัยคุกคามที่มาจากคนต่างศาสนา อันที่จริงหลักทุกศาสนาล้วนวางบรรทัดฐานที่ดี ที่มีปัญหาส่วนมากก็เกิดจากศาสนิกนำไปใช้ผิดถึงขั้นเข่นฆ่ากัน

ภัยของพระพุทธศาสนาบางทีก็มาจากพุทธบริษัท 4 นี่แหละ ละเลยไม่สนใจใส่ใจในหลักธรรม ไม่อุปถัมภ์สถาบันคณะสงฆ์ให้เข้มแข้งเป็นเหตุสร้างความสั่นคลอนศรัทธา

ไม่วิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของพระศาสนาด้วยความเมตตาปรารถนาดี

ในสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะมีเวทีเสวนาเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการศาสนา พระทั้งฝ่ายวิชาการ และพระวิปัสสนาจารย์ เพื่อระดมความเห็นวางโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ อันจะนำไปสู่การออกกฎ ระเบียบที่เอื้อต่อการสืบทอดพระศาสนา

อันจะทำให้ได้แง่คิดมุมมองในอีกมุมมองหนึ่ง