8 ปีเก้าอี้นายกฯ-เรื่องร้อนปี 2565/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

8 ปีเก้าอี้นายกฯ-เรื่องร้อนปี 2565

 

ในแง่สถานการณ์บ้านเมืองหลายๆ ปีมานี้ เมื่อเข้าสู่วาระปีใหม่ มักจะมีคำถามว่า ในปีหน้าเราจะต้องเจอวิกฤตหนักหนาสาหัสขนาดไหน ไม่ว่าจะวิกฤตทางการเมือง หรือวิกฤตทางเศรษฐกิจ ยิ่ง 2 ปีมานี้ มีวิกฤตโรคระบาดเข้ามากระหน่ำซ้ำ ที่ย่ำแย่มานับสิบปี ก็เลยยิ่งเสื่อมทรุดจนมองไม่เห็นอนาคต

แทนที่ปีใหม่ จะเป็นปีแห่งความสดใส ปีที่ประเทศชาติจะก้าวต่อไปข้างหน้าเพื่อสิ่งที่ดีกว่า โดยมีรัฐบาลที่นำพาประชาชนรุดต่อไปข้างหน้า

แต่สำหรับประเทศไทยเราอยู่ในความมืดมนมากว่าสิบปีแล้ว

ปีใหม่ จึงไม่ใช่การไปสู่ความหวังใหม่ๆ แต่กลายเป็นว่า ในปีหน้าจะต้องเตรียมเผชิญกับเรื่องเลวร้ายกันอย่างไร!?

เหตุใดบ้านเมืองเรา จึงมีแต่เรื่องแย่ มีแต่ถอยหลัง นั่นเพราะปมการเมืองของเราเป็นเรื่องสำคัญสุด

ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจจะดี ชีวิตประชาชนจะต้องดีขึ้น

นั่นเป็นความจริง พิสูจน์ให้เห็นจริงมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก

ถ้าเป็นประชาธิปไตยเสรี อำนาจในมือประชาชนมีส่วนกำหนดการเมือง เมื่อนั้นการเมืองจะตอบสนองประชาชนอย่างถึงที่สุด แต่ถ้าการเมืองผูกขาดอยู่กับกลุ่มอำนาจที่ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ย่อมตอบสนองประโยชน์ให้กับกลุ่มคนหยิบมือเดียว

สำหรับไทยเรา นับจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็คือความพยายามฉุดบ้านเมืองให้ถอยหลังย้อนยุค ใช้อำนาจทหารมาปกครอง มาจัดระเบียบประเทศ กระหน่ำซ้ำด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั่นคือ การทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศไทย กลับไปสู่ยุคอำนาจอนุรักษนิยมทางการเมือง

ไม่ยอมให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นได้แค่ประชาธิปไตยนิดๆ หน่อยๆ ประชาธิปไตยแต่เปลือก

จึงได้คณะนายทหารเข้ามาควบคุมอำนาจ นำมาซึ่งการถอยหลังทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ ไปจนถึงด้านเศรษฐกิจ ครั้นมีวิกฤตโควิดเข้ามา ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นรัฐบาลที่ยากจะเชี่ยวชาญด้านแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาโรคระบาด

ดังนั้น เมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2565 จึงมีแต่คำถามที่ว่า ปีหน้านี้เราจะเจอปัญหาอะไรที่ลำบากยากเข็ญบ้าง

ถ้าการเมืองยังเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่เราจะเข้าสู่ปีใหม่แบบสดใสมีอนาคต

 

แต่กระนั้นก็ตาม สถานการณ์หลายอย่างทำให้มีแนวโน้มอย่างสูงว่า ในปี 2565 การเมืองไทยจะเข้าสู่ความยุ่งยากอย่างขนานใหญ่ โอกาสที่ไปสู่จุดแตกหัก ไปสู่จุดที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีอยู่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี

นอกจากประเด็นความเหมาะสม ในด้านความเชี่ยวชาญของนายกฯ ที่มาจากกองทัพ ซึ่งไม่ใช่ผู้จะมาแก้ปัญหาวิกฤตทั้งโรคระบาดและเศรษฐกิจที่ทรุดหนักได้แล้ว

การเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2557 ผ่านมา 7-8 ปีแล้ว ในท่ามกลางความเสื่อมทรุดในด้านชีวิตปากท้อง จึงเริ่มเกิดกระแสความเบื่อหน่าย และเสียงเรียกร้องพอได้แล้ว เปลี่ยนคนใหม่ได้แล้ว

กระแสนี้จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อผนวกเข้ากับประเด็นการตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องไม่เกิน 8 ปี ซึ่งมีฝ่ายที่ตีความว่า จะครบ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม 2565

พูดง่ายๆ ว่า ย่างเข้าสู่ปี 2565 จะเริ่มเกิดประเด็นการนับอายุการเป็นนายกฯ อย่างเข้มข้น

โดยพรรคฝ่ายค้านยืนยันว่า การนับวันเริ่มต้นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มนับจากการได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ หลังการรัฐประหาร ซึ่งมีประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 เท่ากับว่าจะต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมตรีในวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2565 เพราะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี

นั่นเป็นการนับสูตรแรก โดยมีสูตรการนับวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ 3 สูตรด้วยกัน

สำหรับสูตรที่ 2 เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เมษายน 2560 โดยมองว่า ไม่ควรใช้ย้อนหลังกับการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้น หมายความว่าจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 5 เมษายน ปี 2568 หรือถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระ 4 ปีในปี 2566 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น

ส่วนสูตรที่ 3 เริ่มนับตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2562 อันเป็นวันประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อเนื่องได้จนถึง 8 ปี คือครบในวันที่ 4 มิถุนายน 2570 หรือเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใน 2 วาระเต็ม

แน่นอนว่าพรรคฝ่ายค้านนั้นยึดตามสูตรที่ 1 ยืนยันว่าจะต้องครบในกลางปีหน้า

ฝ่ายที่ออกแนวกลางๆ เห็นว่าควรนับวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 เริ่มใช้ แต่สูตรนี้เท่ากับจะครบ 8 ปี ใน พ.ศ.2568 เท่ากับว่าการเลือกตั้งสมัยหน้าก็จะมีปัญหา หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อก็จะอยู่ได้แค่ประมาณ 2 ปีเท่านั้น แล้วจะมีพรรคไหนที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือจะมีใครเลือก พล.อ.ประยุทธ์

ส่วนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็จะต้องตีความตามสูตรที่ 3 คือ ให้อยู่ยาวไปถึงปี 2570 โน่นเลย!!

 

ที่แน่ๆ เมื่อเข้าสู่ปีหน้า พรรคฝ่ายค้านก็คงจะเริ่มโหมกระแส วันครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ 23 สิงหาคม 2565 โดยคงจะมีการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ขณะที่ประชาชนซึ่งเบื่อหน่ายนายกฯ ที่มาจากกองทัพ ต้องการนายกฯ ที่เป็นคนทันโลกทันสมัย มีความรอบรู้ในการแก้ไขวิกฤตสาธารณสุข และเชี่ยวชาญในการฟื้นเศรษฐกิจ ต้องร่วมสนับสนุนการตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นเก้าอี้ในปี 2565 นี้

เพื่อให้ได้นายกฯ ใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับวิกฤตของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันม็อบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะมีประเด็นให้ออกมาร่วมขับไล่นายกฯ คนนี้อีก

ประเด็นนี้จึงจะร้อนแรงอย่างแน่นอนในปี 2565

อีกทั้งไม่ว่าจะตีความสูตรไหน ก็เกิดปัญหาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น

เช่น สูตรที่ 2 ออกกลางๆ แต่สุดท้ายก็แปลว่า เมื่อครบวาระแรกในปี 2566 จากนั้นก็จะเป็นนายกฯ ต่ออีกแค่ 2 ปี เช่นนี้แล้วก็เท่ากับเป็นอีก 2 ปีที่ไร้ประโยชน์ ไม่มีความเหมาะสม หากยังจะเป็นนายกฯ ต่อไปอีกในการเลือกตั้งสมัยหน้า

ส่วนสูตรที่ 3 อยู่ยาวถึงปี 2570 เหมือนจะช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ต่อลมหายใจไปอีกยาวๆ

แต่พอเอ่ยคำว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ถึงปี 2570 นะ!?!

สำหรับคนอีกฝ่าย สำหรับประชาชนที่ไม่พึงพอใจต่อวิกฤตโรคระบาด และวิกฤตเศรษฐกิจ ได้ฟังคำว่า ประยุทธ์จะอยู่ต่อถึงปี 2570

นับได้ว่า เป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การยั่วยุอย่างสูงสุด

อาจจะยิ่งเข้าเงื่อนไขให้การปลุกกระแสไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผลอย่างทันตาก็เป็นได้

ปัญหาก็คือ จะรักชอบ พล.อ.ประยุทธ์กันขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้ามาดูความจริงที่ประเทศเราเผชิญอยู่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องหาผู้นำที่มากด้วยความรอบรู้ มีวิสัยทัศน์ สำหรับแก้ไขสถานการณ์โควิด และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ประการนี้แล้ว จะเห็นด้วยที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปจนถึงปี 2570 ได้ลงคอหรือ!?