สิ่งแวดล้อม : ฤทธิ์ ‘ไต้ฝุ่น-ทอร์นาโด’ ปิดท้ายปี / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]

 

ฤทธิ์ ‘ไต้ฝุ่น-ทอร์นาโด’ ปิดท้ายปี

 

ปรากฏการณ์ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ราอี” พัดถล่มเกาะเซียร์เกา ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และพายุทอร์นาโด พัดถล่มรัฐต่างๆ ในสหรัฐเป็นอีกปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์พากันตั้งข้อสงสัยว่าอะไรเป็นต้นเหตุทำให้พายุทั้ง 2 จุดนี้ยกระดับความรุนแรงความเร็ว และมีอานุภาพทำลายล้างสูงมาก

“ราอี” ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ในระยะแรกเป็นแค่พายุดีเปรสชั่น ระดับความเร็วลมเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม อยู่ที่ 55.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.)

เมื่อมาถึงชายฝั่งเกาะเซียร์เกา ในวันที่ 17 ธันวาคม มีความเร็วลม 260 กม./ชม. พร้อมกับหอบมวลน้ำมหาศาลทำให้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมอย่างฉับพลัน

ฤทธิ์เดชของ “ราอี” ยังไม่หมด เมื่อถล่มเกาะเซียร์เกาจนพังยับเยินแล้ว ก็มุ่งหน้าขึ้นฝั่งที่เมืองร็อกซา เกาะปาลาวัน อยู่อีกฝั่งทะเล ระยะทางห่างกันราว 800 กิโลเมตร

หมู่บ้านบนเกาะเซียร์เกา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังและเป็นเมืองหลวงกีฬากระดานโต้คลื่นของฟิลิปปินส์ รวมทั้งบนเกาะปาลาวันถูกทำลายได้รับความเสียหายราว 10,000 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตราว 100 คน

เจ้าหน้าที่กาชาดฟิลิปปินส์ตั้งฉายาซูเปอร์ไต้ฝุ่นราอีว่า พายุอสูร ถือเป็นพายุที่มีพลังแรงลมสูงสุดที่พัดผ่านฟิลิปปินส์ในรอบปี 2564

แม้ “ราอี” พัดผ่านฟิลิปปินส์เข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลาง มุ่งหน้าไปยังเกาะไหหลำ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม แต่ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางยังแรงวัดได้ 195 กม./ชม.

 

 

ส่วนพายุเทอร์นาโด หรือพายุลมงวงเกิดขึ้นในสหรัฐ ก่อนซูเปอร์ไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์ เป็นการก่อตัวของพายุทอร์นาโดจำนวน 36 ลูก

แต่ที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดมีเพียงลูกเดียวซึ่งพัดผ่านรัฐเคนทักกี รัฐเทนเนสซี รัฐอาร์คันซอส์ รัฐอิลลินอยส์ รัฐมิสซูรี และรัฐมิสซิสซิปปี ระยะทางรวม 320 กิโลเมตร

ทอร์นาโดลูกนี้ทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาลและผู้เสียชีวิตทั้งในรัฐเคนทักกีและรัฐเทนเนสซีไม่น้อยกว่า 80 คน

พายุทอร์นาโดหรือพายุลมงวง เกิดจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลักษณะเป็นลำเหมือนงวงช้างยื่นออกมาจากฐานเมฆ หมุนวนบิดเป็นเกลียว ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในที่ราบกว้างใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณที่ราบ “Great Plain” ของสหรัฐมีทอร์นาโดเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่ช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

ชาวอเมริกันที่อยู่ในเส้นทางพายุจะเรียกว่า “ฤดูกาลทอร์นาโด”

แต่ละปี ฤดูกาลทอร์นาโดในสหรัฐมีพายุเกิดขึ้นราว 1,200 ลูก ถือว่ามากที่สุดในโลก

บริเวณฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียก็มีทอร์นาโด มักเกิดแถวๆ รัฐวิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ แต่ไม่มากเฉลี่ยปีละ 60 ลูก

เป็นที่น่าสังเกตว่า พายุทอร์นาโดที่ถล่มสหรัฐครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวถือเป็นพายุนอกฤดูกาล

ระหว่างที่เกิดทอร์นาโด อุณหภูมิในพื้นที่ที่พายุพัดผ่านเพิ่มสูง เช่น เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี อยู่ที่ 26.6 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่ในเดือนธันวาคม ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิในเมืองเมมฟิสอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียส

ย้อนดูสถิติอุณหภูมิในวันเดียวกันของเดือนธันวาคม ปี 2461 หรือ 103 ปีที่แล้ว เมืองเมมฟิสมีอุณหภูมิ 23 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิของเมืองเมมฟิส ช่วงทอร์นาโดถล่มครั้งนี้ถือว่าทำสถิติใหม่สุด

 

ปีนี้ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดปรากฏการณ์ลานีญา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในอ่าวเม็กซิโกเพิ่มสูงขึ้นและพัดเข้ามาในแผ่นดินพื้นที่ตอนใต้และตอนกลางของสหรัฐจึงสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

ปรากฏการณ์ลานีญา-อุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้นผิดปกติ จะมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดพายุทอร์นาโดมากน้อยแค่ไหน นักวิทยาศาสตร์กำลังคลำหาข้อสรุปอยู่

แต่มีหลายฝ่ายๆ รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เชื่อไปแล้วว่า ทอร์นาโดที่พัดถล่มเมืองเมย์ฟิลด์ รัฐเคนทักกี จนพังพาบเป็นหน้ากลองมีต้นเหตุมาจากภาวะโลกร้อน

ปกติแล้วพายุทอร์นาโดออกฤทธิ์ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาทีก็สงบ แต่ทอร์นาโดลูกนี้กลับมีพลังแรงออกฤทธิ์นานหลายชั่วโมง ลมหมุนควงเป็นเกลียวสว่านพัดผ่าน 6 รัฐระยะทางไกลถึง 320 กิโลเมตร

อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นที่มากขึ้น เติมเต็มพลังให้กับทอร์นาโดจนสามารถออกฤทธิ์ยาวไกลใช่หรือไม่?

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศสันนิษฐานว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้พายุทอร์นาโดยกระดับความรุนแรง อุณหภูมิสูงยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเหมือนยาโด๊ปให้ทอร์นาโดแผลงฤทธิ์เดชมากขึ้นเท่านั้น

ความเร็วลมของเทอร์นาโดที่พัดผ่านรัฐเคนทักกี วัดได้ 209-257 กม./ชม. นักวิทยาศาสตร์ยอมรับว่า ช่วงเดือนธันวาคม ระดับความแรงของทอร์นาโดไม่เป็นเช่นนี้มาก่อน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาข้อสรุปได้ว่าภาวะโลกร้อนเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย ไฟป่าในสหรัฐ และในยุโรป

รวมทั้งการเกิดพายุไต้ฝุ่น พายุไซโคลนในแถบทวีปเอเชีย และการเกิดภัยแล้ง คลื่นความร้อนในหลายๆ ส่วนของโลก

 

สำหรับพายุทอร์นาโดที่แรงฤทธิ์เป็นเพราะภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากในอดีตข้อมูลพายุทอร์นาโดยังมีไม่มากนัก ไม่มีใครเก็บสถิติได้ละเอียดลออจนสามารถวิเคราะห์หาข้อสรุปที่ชัดเจนได้

ข้อมูล “ทอร์นาโด” ของสหรัฐเพิ่งจัดเก็บเป็นระบบเมื่อราว 35 ปีที่แล้วนี่เอง หลังจากนำเทคโนโลยีดาวเทียมและเรดาร์มาใช้ติดตามเส้นทางที่พายุพัดผ่านได้แม่นยำขึ้น

ปรากฏการณ์ทอร์นาโดที่สหรัฐและซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่ฟิลิปปินส์ เป็นเครื่องบอกย้ำเตือนให้ชาวโลกได้รู้ว่าเวลานี้มหันตภัยทางธรรมชาติเพิ่มระดับรุนแรงหนักหน่วง

การคิดแผนรับมือกับมหันตภัยเหล่านี้ ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่