ทุจริต ‘การลงโทษ’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ทุจริต ‘การลงโทษ’

 

ไม่นานมานี้ มีประเด็นลดโทษให้นักการเมืองที่ถูกศาลตัดสินว่าทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงในทางที่ว่ากรมราชทัณฑ์ทำเรื่องไม่สมควร

คดีทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ควรจะมีการลดโทษ หรืออภัยโทษให้

มีการหยิบยกเหตุผลมากมายมาอ้างถึงการต่อต้านการลดโทษให้นักการเมืองที่ทุจริตคดโกงงบประมาณของชาติ มีความพยายามอย่างมากที่จะชี้ให้เห็นว่าคอร์รัปชั่นเป็นเชื้อร้ายทำลายประเทศชาติ

ต้องไม่ยอมอภัย หรือลดโทษทัณฑ์ให้เด็ดขาด

เหมือนกับว่าผู้คนในบ้านเมืองเรานี้ทนไม่ได้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด

แต่การเอาเป็นเอาตายกับคอร์รัปชั่น เอาเข้าจริงเมื่อมองไปที่กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกือบทั้งหมดเป็นคนที่ถูกจัดไว้ในคนละฝ่ายกับนักการเมืองที่ได้รับประโยชน์จากการลดโทษ

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงช่วยไม่ได้ที่จะเกิดความรู้สึกว่า การต่อต้านนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ตัดโอกาสของนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น

ยิ่งมองย้อนให้ลึกลงไป คนพวกนี้ไม่เคยที่จะออกมาต่อต้านหากนักการเมืองที่ได้รับประโยชน์นั้นถูกจัดเป็นพวกเดียวกัน

เป็นแค่ความพยายามใช้กลไกของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นโทษกับฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเอง

ทนได้กับการลดโทษในความผิดอื่นๆ ทนไม่ไหวกับการลดโทษให้นักการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม แต่นิ่งเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกตัวเอง ทั้งที่เป็นความผิดที่ไม่ต่างกันหรือเป็นเรื่องเดียวกัน

เป็นเกมการเมืองที่จะทำลายคนที่อยู่กับแต่ละฝ่ายมากกว่า

 

การสรุปเช่นนี้ดูจะสอดคล้องกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด

ในการสำรวจเรื่อง “การลดโทษในคดีสำคัญ”

เมื่อถามว่า “คิดอย่างไรกับการลดโทษให้กับนักโทษคดีทุจริต คอร์รัปชั่น มีร้อยละ 50.04 ตอบว่าไม่เห็นด้วย

เหมือนว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะเอาเป็นเอาตายกับเรื่องนี้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลดโทษให้ผู้ทำความผิดอื่นแล้ว จะพบว่าความรู้สึกของประชาชนมีความน่าสนใจ

เพราะสำหรับนักโทษคดีผลิต นำส่ง ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด มีถึงร้อยละ 74.03 เห็นว่าไม่ควรลดโทษ

เช่นเดียวกับนักโทษในคดีสะเทือนขวัญ เช่น คดีฆ่าข่มขืน ร้อยละ 85.88 เห็นว่าไม่ควรลดโทษ

ซึ่งถ้าเทียบกับคดีทุจริตแล้ว ความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทนกับคดีที่เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า

 

เป็นเรื่องถูกต้องที่ว่าการทุจริตประพฤติมิชอบของนักการเมือง ข้าราชการ หรือใครก็ตามควรจะต้องตรวจสอบและปราบปรามให้เด็ดขาด เพราะงบประมาณที่สูญเสียไปกับการใช้อำนาจในตำแหน่งโกงกินสร้างความเสียหายใหญ่หลวงกับประเทศมายาวนาน

แต่การจัดการกับการทุจริตแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เอาเป็นเอาตายกับฝ่ายตรงกันข้าม ละเลยที่จะจัดการฝ่ายที่เป็นพวกตัวเอง ยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายเลวร้ายกันไปใหญ่

เนื่องจากไม่เพียงไม่แก้ปัญหาเพราะไม่ใช่การปราบปรามเด็ดขาด

แต่เป็นเพียงอาศัยความผิดนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม ไม่ทำให้การทุจริตหมดไป