บิ๊กดีลควบรวม ทรู-ดีแทค… วัดใจ กสทช.ชุดใหม่ ฟังธงเลือก ปชช. หรือโยนเผือกร้อนให้ กขค./บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

บิ๊กดีลควบรวม ทรู-ดีแทค…

วัดใจ กสทช.ชุดใหม่

ฟังธงเลือก ปชช.

หรือโยนเผือกร้อนให้ กขค.

เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากในสังคมไทย เมื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” ที่ถือหุ้นใหญ่โดยกลุ่มซีพี หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ที่บริษัทแม่ เทเลนอร์จากนอร์เวย์ ดูแลอยู่ ประกาศการควบรวมในลักษณะบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture) จัดตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด (Citrine Global)” จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ สัดส่วนของดีแทค 42.1% และสัดส่วนของทรู 57.9% เท่ากับว่ากลุ่มทรูจะมีอำนาจบริหารเหนือกว่าดีแทค

ประชาชนส่วนใหญ่จึงตั้งคำถามกับดีลนี้ว่าเป็นการผูกขาดทางการค้าหรือไม่ และมีความกังวลว่าจะไม่มีการแข่งขันด้านราคา รวมไปถึงคุณภาพการให้บริการ ทำให้ประชาชนเป็นผู้รับเคราะห์กรรม

เผือกร้อนเลยตกไปที่หน่วยงานกำกับหลักอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือสำนักงาน กสทช. ที่ได้มีการเรียกกลุ่มทรูและดีแทคเข้าไปพูดคุยถึงการควบรวมดังกล่าว

โดยมีข้อสรุปคร่าวๆ ว่าให้ทั้งสองแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการต่อสำนักงานให้ทราบเป็นระยะ เพื่อให้สำนักงานประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรการกำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ

ถือว่าเป็นการเทกแอ๊กชั่นที่เบามาก สอดคล้องกับที่รองเลขาธิการ กสทช.สายงานโทรคมนาคม นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ที่ตอบไว้ว่า เป็นการควบรวมของบริษัทแม่ หรือบริษัทโฮลดิ้ง โดยบริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช.

ส่วนบริษัทลูกที่ กสทช.สามารถเข้าไปมีอำนาจจัดการได้คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) กับบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม ถ้าจะมีการรวมบริษัทลูกขึ้นมาก็ต้องมีการทำกฎระเบียบของ กสทช.อย่างเคร่งครัด

จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาดูการควบรวม

 

ล่าสุด ประธาน กขค. นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 ที่ได้บัญญติไว้ว่า มิให้ใช้บังคับแก่การกระทำของธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า การควบรวมทรู-ดีแทค อาจต้องปล่อยให้ทาง กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล แต่ทาง กขค.เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิเคราะห์ในภาพรวมเพื่อนำไปกำกับดูแลป้องกันในอนาคต แต่ในกรณีนี้คงต้องจับตาต่อไป เพราะยังไม่มีความชัดเจนมากในเรื่องการควบรวมดังกล่าว

กลายเป็นเรื่องที่โยนกันไปโยนกันมาเสียอย่างนั้น ทำให้ประชาชนมีคำถามว่า สามารถไว้ใจองค์กรกำกับเหล่านี้ได้หรือไม่

โดยมีคนตั้งข้อสังเกตถึงสำนักงาน กสทช. ว่ามีความใกล้ชิดกับเอกชนมากเกินไป จนไม่มีการส่งเรื่องสำคัญให้กับบอร์ด กสทช.พิจารณา พร้อมกับกรรมการบางคนได้รับใบสั่งมาหรือไม่

รวมไปถึงทาง กขค.ที่มีการปล่อยให้กลุ่มซีพีเทกโอเวอร์ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสได้สำเร็จมาแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชน

 

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้ออกมาชี้ช่องอำนาจของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมได้ เนื่องจากมีประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ระบุความหมายของการควบรวมกิจการ วิธีการและขั้นตอนของการขออนุญาตควบรวม

และที่สำคัญที่สุดคือ ประกาศหมวดที่ 2 ข้อ 8 ที่ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเกณฑ์ “เชิงปริมาณ” ในการวัด “ระดับการครอบงำตลาด” อย่างชัดเจน ด้วยการพิจารณาจากค่าดัชนีการกระจุกตัว หรือดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Herschman index – HHI) ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาด ก่อนและหลังการควบรวม

ก่อนการควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค ค่า HHI เท่ากับ 3,624 ซึ่งสูงกว่า 1,800 ตามหลักเกณฑ์ในประกาศข้อ 8(2) หากการควบรวมประสบความสำเร็จ ค่า HHI จะเท่ากับ 5,032 แสดงว่าการควบรวมกิจการทำให้ตลาดมี “การกระจุกตัวสูง” ให้ถือว่าการควบรวมส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันจนถือว่าเป็น “การครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง”

อย่างไรก็ตาม ได้มีประกาศใหม่ในปี 2561 ถ้าค่า HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ เท่ากับว่าประกาศฉบับใหม่นี้ “ยินยอมให้มีการควบรวมโดยปริยาย” การกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูงมากต่อ กสทช. แถมยังไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะสำเร็จ

ทั้งนี้ ทีดีอาร์ไอมีความเห็นเพิ่มเติมว่า กสทช.ควรเร่งแก้ไขประกาศ กสทช. ปี 2561 ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต/ใบอนุญาตอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดขอบเขตการใช้ดุลพินิจ ซึ่งอย่าให้กว้างมากเหมือนประกาศปี 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์ การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 มาตรา 21(7) เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน ดุลพินิจที่ใช้จะต้องสามารถหาหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมาแสดงต่อสาธารณะได้

ถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากสำหรับว่าที่ กสทช.ชุดใหม่ 5 คน ต้องเข้ามาพิจารณากฎระเบียบต่างๆ ของ กสทช. ให้มีการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ